รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2023 สำหรับสตรีผู้วิจัยเรื่อง “ผลลัพธ์ของตลาดแรงงานสตรี”

ช่วงต้นเดือนตุลาคมเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนระลึกได้ว่าได้เขียนคอลัมน์ “ดาวพลูโตมองดูโลก” ครบ 1 ปีเต็มย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านยังคงติดตามกันเหมือนปีที่ผ่านมากันนะครับ

สำหรับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2023 (the Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel 2023) มอบแก่ ดร.คลอเดีย โกลดิน (Claudia Goldin) สำหรับการอุทิศตนในงานวิจัยเรื่อง ผลลัพธ์ของตลาดแรงงานสตรี ซึ่งปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลเพียงท่านเดียวมิใช่รางวัลร่วม

ดร.คลอเดีย โกลดิน เป็นสุภาพสตรีท่านที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ อันทรงเกียรตินี้

และเป็นสุภาพสตรีท่านแรกที่ได้รับรางวัลนี้แบบมิใช่รางวัลร่วม (มอบให้แก่ผู้เดียว)

 

 

ประวัติโดยสังเขปของ ดร.โกลดิน เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1946 สัญชาติอเมริกัน มีเชื้อสายยิว ปัจจุบันอายุ 77 ปี

สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา จุดเริ่มต้นความสนใจในด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน

ได้รับแรงบันดาลใจจาก ดร.แกรี เบกเคอร์ อาจารย์ผู้ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 1992

อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คือ ดร.โรเบิร์ต โฟเกล ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ประวิติศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 1993 เช่นกัน

เรียกได้ว่า ดร.โกลดิน มีอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ระดับเจ้าของรางวัลโนเบล ถึง 2 ท่านด้วยกัน!

ภายหลังสำเร็จการศึกษา ดร.โกลดิน ได้สอนระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

 

สําหรับงานวิจัยเรื่องผลลัพธ์ตลาดแรงงานสตรี เป็นงานวิจัยที่ยกระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดแรงงานสตรี จากอดีต สู่ปัจจุบัน และต่อยอดถึงอนาคต

เป็นการผสมผสานระหว่างเทคนิคองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ เข้ากับเทคนิคองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่อย่างแยบยล

โดยการนำข้อมูลในประวัติศาสตร์ กว่า 250 ปีที่ผ่านมา มาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน และใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ในการขจัดปัญหาของข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ในอดีต จนสามารถสร้างเป็นข้อมูลอนุกรมเวลาขนาดใหญ่ยาวนานในระดับ 200 ปี เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับตลาดแรงงานสตรี

ตลอดจนสามารถลบล้างความเชื่อดั้งเดิมที่ผิดในอดีต สร้างความรู้ใหม่ที่ชัดเจนในมุมมองต่างๆ ของตลาดแรงงานสตรี

ซึ่ง ดร.โกลดิน ทุ่มเทระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปี สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับแรงงานสตรีนี้

 

ทั่วโลกมีการจ้างแรงงานชายประมาณร้อยละ 80 ของจำนวนชายทั้งหมด แต่ไฉนกลับมีการจ้างแรงงานหญิงเพียงประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนผู้หญิงทั่วโลก

เหตุใดสัดส่วนการจ้างแรงงานสตรีจึงไม่เท่ากันกับการจ้างแรงงานบุรุษ

นอกจากอัตราการจ้างแรงงานหญิงน้อยกว่าแรงงานชายแล้ว แรงงานหญิงมักจะได้ค่าแรงหรือค่าตอบแทนการทำงานน้อยกว่าแรงงานชายอีกด้วย เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

ดร.โกลดิน เริ่มศึกษาข้อมูลตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงศตวรรษที่ 20 พบว่า กราฟการจ้างแรงงานสตรีมีลักษณะโค้งเป็นรูปตัวยู (U-shaved curve) มิใช่การจ้างงานเป็นเส้นตรงตามความเติบโตของเศรษฐกิจอย่างที่เชื่อกันในอดีต

ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลการสำรวจสำมะโนครัวในอดีต ข้อมูลสถิติอุตสาหกรรม ตลอดจนข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่มีการบันทึกไว้ในอดีตมักไม่ได้ให้ความสำคัญกับสตรีเพศและมีการนับที่น้อยกว่าความเป็นจริงมาก เมื่อนำมาวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อขจัดปัญหาของข้อมูลแล้ว

พบว่า ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 สุภาพสตรีที่แต่งงาน จะทำงานช่วยเหลือสามีในการทำกสิกรรม หรือธุรกิจในครัวเรือน ตลอดจนอุตสาหกรรมขนาดย่อมในครัวเรือนของตน เช่น สิ่งทอ หรือผลิตภัณฑ์จากนมวัว เป็นต้น

ซึ่งหักล้างกับตัวเลขสถิติเดิมที่จดบันทึกไว้น้อยกว่าความเป็นจริงถึง 3 เท่า

ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มีแรงงานสตรีที่แต่งงานมีสามีแล้ว ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากจากความยากลำบากในการจัดการทั้งเรื่องงานและเรื่องการดูแลครอบครัวเข้าด้วยกัน จนทำให้แรงงานสตรีลดลง

แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ความแตกต่างระหว่างค่าจ้างแรงงานชายและหญิง มีช่องว่างลดลง เนื่องจากในยุคนั้นมุ่งเน้นจำนวนสินค้าที่ผลิตได้เป็นสำคัญ ค่าจ้างแรงงานชายและหญิงจึงไม่แตกต่างกันมากขึ้นอยู่กับจำนวนชิ้นของสินค้าที่แต่ละคนผลิตได้ในแต่ละวัน ช่องว่างของรายได้ระหว่างแรงงานชายและหญิงจึงลดลง

และหญิงโสดมีอัตราการจ้างแรงงานสูงกว่าหญิงแต่งงานมีครอบครัว จากข้อมูลพบว่าหญิงมีครอบครัวมีการจ้างแรงงานเพียง 5% เท่านั้น

 

ศตวรรษที่ 20 โครงสร้างแรงงานเปลี่ยนแปลงไป มีการทำงานในรูปแบบออฟฟิศเพิ่มมากขึ้น จึงมีความต้องการแรงงานเสมียนหรือธุรการเพิ่มขึ้น แรงงานสตรีจึงมีอัตราการจ้างงานสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเติบโตของภาคบริการ และระดับการศึกษาของสตรีสูงขึ้นกว่าในอดีต จึงทำให้ความต้องการแรงงานสตรีเพิ่มขึ้น กราฟการจ้างแรงงานจึงยกตัวขึ้นเป็นรูปตัวยูในช่วงศตวรรษที่ 20 แต่ขณะนั้น ช่องว่างของอัตราค่าจ้างแรงงานระหว่างชายและหญิงเติบโตขึ้นอีกครั้ง จนกระทั่งปี 1930 เป็นต้นมาช่องว่างจึงเริ่มคงที่จนถึงปี 1980

ดร.โกลดิน อธิบายสาเหตุว่า “การแต่งงาน” สร้างผลกระทบสำคัญมากกว่าที่เราเคยเชื่อกันในอดีต

จากข้อมูลช่วงศตวรรษที่ 20 พบว่า สตรีมีความคาดหวังที่จะทำงานเพียงไม่กี่ปีก่อนแต่งงาน การพัฒนาฝีมือและทักษะการทำงานจึงอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่แรงงานเหล่านั้นคาดการณ์ไว้ว่าอีกไม่กี่ปีจะแต่งงานมีครอบครัว และเมื่อแต่งงานมีลูกก็จะหยุดงานไว้ช่วงหนึ่งจนกระทั่งลูกเติบโตพอที่จะเลือกแนวทางชีวิตของตนเอง จึงค่อยกลับมาทำงานอีกครั้งด้วยความรู้และประสบการณ์ที่เคยมีในอดีตท่านผ่านมานานหลายปีแล้ว

ซึ่งแน่นอนว่า การแต่งงานมีลูกและครอบครัว เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และยังมีผลต่อช่องว่างของอัตราค่าจ้างแรงงานระหว่างชายและหญิงให้ยิ่งห่างกันอีกด้วย

 

ในปัจจุบัน ประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ว่าสุภาพสตรีมีแนวโน้มมีระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงกว่าบุรุษก็ตาม แต่จากข้อมูลพบว่า แรงงานสตรียังคงมีรายได้น้อยกว่าแรงงานบุรุษประมาณ 10-20% แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะมีกฎหมายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศก็ตาม

สาเหตุยังคงเป็นเรื่องความเป็นแม่ที่ต้องดูแลบุตรเช่นเดิม

ผลกระทบจากความเป็นแม่นั้นสามารถอธิบายได้จากธรรมชาติของตลาดแรงงานในปัจจุบันที่นายจ้างยังคงคาดหวังให้ลูกจ้างหรือแรงงานต้องมาทำงานโดยสม่ำเสมอ และ แรงงานต้องว่างเจอหน้าตลอดเวลาที่นายจ้างเรียกหา

ซึ่งสุภาพสตรีมักมีภาระหน้าที่ในการดูแลบุตรมากกว่าสุภาพบุรุษ จึงเป็นการยากที่จะรักษาความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและการเพิ่มของเงินเดือน พร้อมๆ กันกับการดูแลครอบครัว

สุภาพสตรีจึงมักเลือกการลดชั่วโมงการทำงานลง หรือลดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของงาน

จากงานศึกษาชิ้นนี้ช่วยต่อยอดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างแรงงานหญิงและชาย เป็นพื้นฐานสำหรับการกำหนดนโยบายเพื่อขจัดความไม่ยุติธรรมเหล่านี้

สุดท้ายนี้ แม้ช่องว่างระหว่างรายได้ของแรงงานบุรุษและสตรีจะลดลงจากในอดีต แต่ก็มิได้หมายความว่าไม่มีช่องว่างของรายได้ระหว่างเพศ