ดิจิทัลวอลเล็ต : เจ้าเชื่อในประชาธิปไตยจริงบ่? | คำ ผกา

คำ ผกา

ฉันตามนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ยังเป็นนโยบายหาเสียง

และไม่แปลกใจที่มันจะเป็นนโยบายที่สร้างความตระหนกให้สังคม “จิตอ่อน” และ “ขี้กลัว” แบบสังคมไทย เหมือนที่เคยตระหนกและจิตอ่อนตอนทำ 30 บาทรักษาทุกโรค

เหมือนที่เคยจิตอ่อนเรื่องจำนำข้าว และเคยจิตอ่อนเรื่องรถไฟความเร็วสูงสองล้านล้าน จนทำให้ไทยตกขบวนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของระบบโลจิสติกส์

ที่สำคัญที่สุด และตกขบวนไปแบบพลาดแล้วพลาดเลย เอาเวลาที่ผ่านไปกลับคืนมาไม่ได้ ไม่ต้องลงรายละเอียดอีกว่าที่ตกขบวนไปนั้น ไม่ได้เกิดจากอะไรนอกจาก อคติและอวิชชา ที่มีต่อพรรคเพื่อไทยล้วนๆ

เป็นอคติและอวิชชาแห่งความเขลาและความแค้นเพราะพรรคที่ตัวเองเชียร์ไม่ได้เป็นรัฐบาล

 

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการที่อ้างตัวเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พากันมาลงชื่อคัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในนามของความห่วงใย วินัยการคลัง ภาระเงินกู้

เกือบทุกคนเอาปากไปอมสากไว้ทั้งอันครบเก้าปีในสมัยของประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กู้เงินมาแจกประชาชนแบบเบี้ยหัวแตก แจกทิ้งแจกขว้าง แจกกะปริบกะปรอย แจกเหมือนคนเป็นโรคนิ่วแล้วไปยืนฉี่ในทะเลทรายหวังจะสร้างความชุมชื้นขึ้นมาจากหยดฉี่กะปริบกะปรอยนั้น

ปากอมสากอยู่เก้าปีไม่เคยออกมาวิจารณ์สักคำ ไม่มีดอกพิกุลร่วงหล่นมาจากปาก

บ้างเป็นเทคโนแครตทางการเงินที่พาประเทศฉิบหายวายป่วงมาแล้วตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง

วันนี้ทำตัวเป็นนกแก้วรอบรู้ มีแสงออกจากปาก ออกมาคัดค้านนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างปราศจากความละอาย

นักวิชาการ เทคโนแครต ลูกกระโป่งเผด็จการ เก่งแต่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอยู่จริง

 

แล้วนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตคืออะไร?

วิธีคิดของพรรคเพื่อไทยคือ ในเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ใดๆ จากภาครัฐเลย หนักกว่านั้น การค้าการลงทุนกับต่างประเทศแทบจะเป็นศูนย์ ทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีการทำ FTA กับใครเลย

และการระบาดของโควิดทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 16 ของจีดีพีเราแทบจะเหลือศูนย์ และการรับมือกับโควิดของเราไม่มี exit strategy ไม่มีการเยียวยาผู้ประกอบการ ไม่มีการเตรียมพร้อมประชาชน เอกชน ให้กลับมาทำมาหากินได้เต็มศักยภาพหลังเปิดประเทศ มีแต่จะทยอยล้มหายตายจากไป

ส่วนภาคเกษตรนั้นไม่ต้องพูดถึง ถูกปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ทั้งวิถีการผลิต การตลาด น้ำท่วม สลับภัยแล้ง วนเวียนกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก ไม่มีนวัตกรรม พึ่งพาทั้งปุ๋ย ทั้งสารเคมี เครื่องจักรจากต่างประเทศเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

พูดง่ายๆ คือ ประเทศอยู่ในภาวะสิ้นเนื้อประดาตัว ถ้าเป็นคนไข้ก็เป็นคนไข้รอวันตายในห้องไอซียู มาตรการจากรัฐที่ผ่านมาเป็นแค่การหยอดน้ำข้าวต้ม ยืดระยะเวลาการตายให้ช้าลง แต่ไม่ได้ทำให้ฟื้นกลับมามีชีวิต มีสุขภาพดีหายป่วยได้

สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ ฟื้นฟูการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ มีการลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐ ไปพร้อมๆ กับแก้ไขปัญหาที่เป็น foundation หลักของพัฒนาประเทศ

เช่น ต้องทำระบบบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งหมด ทั้งเปลี่ยน “วิถีการผลิตในภาคเกษตร” ให้เป็นวิถีใหม่ ใช้เทคโนโลยี เรียกว่าปรับดิน ปรับน้ำ ปรับนวัตกรรม ปรับการตลาด

ซึ่งเพื่อไทยเรียกสิ่งนี้ว่า “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม” ฟังดูเชยๆ ไม่เก๋เหมือนคนที่กินอุปสรรคเป็นอาหารเช้า

แต่วิธีคิดของเพื่อไทยมันจะเรียบๆ ง่ายๆ แบบนี้ แต่การจะทำในเรื่องเหล่านี้เป็นโครงการระยะยาวที่ต้องใช้เวลา การเปลี่ยนผ่านวิถีการผลิตในภาคเกษตร อาจต้องใช้เวลายาวนานถึง 10 ปี

แต่ก็ต้องทำ เพราะมันหมายครอบคลุมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกมิติที่เราทุกคนเผชิญอยู่ด้วย

 

แต่ก่อนจะไปถึงความสำเร็จของโครงการระยะยาว เมื่อคำนึงถึง “เงิน” ที่รัฐบาลมีอยู่อย่างจำกัดในโจทย์ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่าย การผลิต ผ่านการบริโภคภายในประเทศครั้งใหญ่ต้องทำอย่างไร?

ในสมัยก่อนมีสิ่งที่เรียกว่า เฮลิคอปเตอร์มันนี่ รัฐบาลเอาเงินมาโปรยแจกไปเลย แต่ตอนนี้สถานะการเงินการคลังของเราไม่มีเงินจะเอามาแจกแบบนั้น

จึงเป็นที่มาของโครการดิจิทัลวอลเล็ต ที่หวังใช้กระสุนนัดเดียวยิงนกได้สองตัวคือ

หนึ่ง กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านการบริโภคภายในประเทศ และกระตุ้นทั้งอุปสงค์และอุปทานไปพร้อมๆ กัน

และ สอง ได้วางโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับคนไทยที่อายุ 16 ปีขึ้นไป

ย้ำ เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ก็ได้ แต่ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า โครงการนี้

ไม่ใช่โครงการแจกเงิน แต่เป็นโครงการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นและในระยะเวลาอันจำกัดคือ 6 เดือน เพื่อหวังผลต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจภาคการผลิตที่แท้จริงในเฟสต่อไป

ดังนั้น คำแนะนำที่ว่า ควรให้เฉพาะกลุ่มยากจน เปราะบาง ควรให้แบบทยอยให้ หรือควรใช้เงินก้อนนี้ไปลงทุนทำอย่างอื่นที่ประโยชน์กว่า เช่น เอาไปทำโซลาร์เซลล์ เอาไปอุดหนุนกองทุนการศึกษา บลา บลา จึงเป็นข้อเสนอแนะที่ผิดฝาผิดตัว

เพราะนี่ไม่ใช่การแจกเงินช่วยคนจน แต่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคและการใช้จ่าย

ดิจิทัลวอลเล็ตหนึ่งหมื่นบาท ไม่ใช่ “เงินบาท” ไม่ใช่ “เหรียญคริปโต”

ดังนั้น ตัวเลข “ห้าแสนหกหมื่นล้านบาท” จึงเป็นกรอบของเม็ดเงินที่คำนวณตามจำนวนหนึ่งหมื่นบาท คูณจำนวนประชากรไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ตามเงื่อนไขของคนที่จะได้รับ “สิทธิการใช้จ่ายหนึ่งหมื่นบาท”

สิทธิการใช้จ่าย หนึ่งหมื่นบาท จึงไม่เท่ากับการโอนเงินหนึ่งหมื่นบาทเข้าปัญชีธนาคารของประชาชน

 

ถ้าหากเข้าใจตรงนี้ก็จะเข้าใจว่ารัฐไม่จำเป็นต้องใช้เงินห้าแสนหกหมื่นล้านในทันทีที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเริ่มต้น

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีคือ การบริโภค การซื้อ การขาย ผ่าน “สิทธิการใช้จ่ายหนึ่งหมื่นบาท” ที่ต้องย้ำว่าสิทธินี้จะมีอายุแค่หกเดือนเท่านั้น ส่วนรัศมีการใช้จ่ายเงิน ทางพรรคเพื่อไทยบอกตั้งแต่แรกว่า รัศมี 4 ก.ม. เป็นตัวเลขที่ปรับและยืดหยุ่นได้

ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า เงินนี้จะไหลเข้ากระเป๋านายทุนใหญ่ ก็ต้องตอบว่าในระบบเศรษฐกิจที่อยู่กับมันในทุกวันนี้ จะมีหรือไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต เงินก็ไหลเข้าสู่ “ทุนใหญ่” อยู่แล้ว

ต่อให้ไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต โครงสร้างการผลิต การค้า การบริโภคของเราก็หนีทุนใหญ่ไปไม่พ้น

การเดินไปกินข้าวแกงร้านป้าข้างบ้าน ไม่กินข้าวเซเว่น แต่ไก่ที่ป้าข้างบ้านไปซื้อมาแกงก็คือ ไก่ซีพี ซื้อจากแม็คโคร โลตัส การกินไก่บ้าน ไก่อารมณ์ดี หมูหลุม หมูธรรมชาติ คือการไปกินในร้านเชฟเทเบิ้ล ไม่ใช่ร้านข้าวแกงข้างบ้าน

หรืออีกทางหนึ่งคืออยู่ในหมู่บ้าน ที่มีคนเลี้ยงไก่ แล้วฆ่าไก่มาขาย และราคาไก่บ้านสูงกว่าไก่ซีพีหลายเท่า ไม่มีแม่ค้าข้าวแกงคนไหนใช้ไก่บ้านมาทำข้าวราดแกงราคาถูกขาย

ดังนั้น ต้องเข้าใจว่า ดิจิทัลวอลเล็ตถูกออกแบบมาเพื่อเป็นโครงการกระตุ้น ปั๊มหัวใจทางเศรษฐกิจในระยะเวลาอันจำกัด ไม่ใช่โครงการแก้ปัญหาการผูกขาดของ “ทุนใหญ่”

ส่วนการแก้ปัญหาการผูกขาดของทุนใหญ่ และ empower ทุนขนาดเล็ก ทุนรายย่อย อยู่ในนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล ที่ทำควบคู่กันไป

โดยเฉพาะนโยบายอุดหนุน smes และการเปลี่ยนบทบาทจาก “รัฐควบคุม” มาสู่ “รัฐอำนวยความสะดวก”

 

เมื่อวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นไปเพื่อกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นทั้งดีมานด์ ซัพพลาย

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจึงไม่จำกัดว่า ซื้ออะไร ซื้อที่ไหน จะใช้สิทธิการบริโภคหนึ่งหมื่นบาทนี้ไปเพื่อซื้อของกินแล้วขี้ แล้วหมดไป หรือจะเอาไปต่อยอดทำธุรกิจ จะเอาไปซ่อมบ้าน เปิดร้านค้า เปลี่ยนส้วมซึมเป็นชักโครก ซื้อปุ๋ย ซื้ออุปกรณ์การเกษตร อะไรก็ได้หมด รัฐจะไม่ยุ่ง

เพราะเป้าหมายคือกระตุ้นการซื้อ การขายให้คึกคัก ให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน ที่จะเปลี่ยนจาก “สิทธิการใช้จ่ายหนึ่งหมื่นบาท” มาเป็น “เงินสด” ที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดจริง เก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มได้จริง ส่วนใครจะได้ใช้ “สิทธิการใช้จ่าย” นี้ไปเพิ่มคุณภาพชีวิตของตัวเอง ก็อนุโมทนาสาธุ ถือเป็น “ผลพลอยได้” ของโครงการที่น่าชื่นใจ

ส่วนใครจะเอาไปกินๆ ขี้ๆ ก็ไม่ว่ากัน อย่างน้อยก็เป็นหนึ่งในการมีส่วนร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มยอดขาย ยอดซื้อในตลาด

ส่วนการใช้บล็อกเชน พูดแบบชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ คือ เพื่อให้การทำธุรกรรมนี้ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้การทำธุรกรรมง่าย โปร่งใส ตัดปัญหาเรื่องการทุจริต ไม่ซื่อตรงของคนหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อในเรื่องบล็อกเชน ฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่ถกเถียงได้

ส่วนฉันคิดง่ายๆ ว่า ทุกวันนี้เราก็ใช้เทคโนโลยีสารพัดอย่าง โดยที่ไม่เคยตั้งคำถามว่า ปรัชญา หรือวิธีการทำงานเบื้องหลังมันคืออะไร?

เมื่อจบหกเดือน สิทธิการใช้จ่ายนี้จะจบลง เพื่อรัฐบาลจะเคลื่อนไปสู่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เตรียมไว้ หลังจากตลาดถูกปลุกให้ตื่น

สุดท้าย สิ่งที่รัฐคาดหวังระยะยาวกับโครงการนี้คือการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ไม่ได้แปลว่า ทุกคนที่ได้ “สิทธิการใช้จ่ายหนึ่งหมื่นบาท” นี้จะได้กลายเป็นผู้ค้าผู้ลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลทุกคน

แต่มันหมายความว่า หากเราทำระบบนี้สำเร็จ ในอนาคต เราจะไม่ตกขบวนเศรษฐกิจดิจิทัล

และหากมีคนไทยจะกระโจนเข้าไปในเศรษฐกิจดิจิทัล ก็สามารถเข้าไปได้ ไม่ตกขบวน

ใครอยากแค่มีวอลเล็ตของรัฐบาล จบโครงการหมื่นบาทแล้ว ไม่ได้เข้าไปใช้อีกเลย ก็ไม่มีใครว่าอะไร เหมือนเราสร้างสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกเมื่อครั้งเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนเกมส์

สร้างเสร็จก็ไม่ได้แปลว่าคนไทยทุกคนจะไปใช้ว่ายน้ำในสระมาตรฐานโอลิมปิกนั้นทุกคน แต่คนที่จะเป็นนักกีฬา ได้มีสระมาตรฐานไว้ฝึกซ้อมแน่นอน

 

สําหรับฉันในหลักคิดของดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีอะไรซับซ้อน และไม่ได้ใช้เงินหกแสนสี่หมื่นล้านในคราวเดียว และมีแนวโน้มว่า “จำนวนคูณ” ของการใช้จ่ายจะกลับมาสู่ระบบก่อนที่รัฐจะควัก “เงิน” ออกจากคลังไปเติมด้วยซ้ำ

มีแค่เรื่องในรายละเอียดเชิงเทคนิค เช่น จำเป็นต้องใช้ตามที่อยู่บัตรประชาชนไหม กำหนดระยะทางการใช้กว้างแค่ไหน อำเภอ จังหวัด? ซื้อเหล้า เบียร์ ได้หรือเปล่า? ซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือสินค้าออนไลน์ได้ไหม? ฯลฯ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ปรับได้ ไม่ยากอะไร

ฉันไม่ได้บอกว่านี่เป็นนโยบายที่ดีที่สุด ต้องประสบความสำเร็จล้านเปอร์เซ็นต์

ฉันไม่รู้หรอกว่ามันจะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ตรรกะของเรื่องนี้คือ มันเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง และเมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เขาก็ทำตามที่เขาหาเสียงเอาไว้

ถ้ามันล้มเหลว ใครรับผิดชอบ?

ระบอบประชาธิปไตยกำหนดว่า หากเราอยู่ในระบบนี้ แปลว่าเรายอมรับไว้ตั้งแต่แรกว่า เรายอมให้พรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากในสภา มีอำนาจรัฐในการดำเนินนโยบาย ที่อาจจะสำเร็จและล้มเหลวได้เท่าๆ กัน

ถ้าไม่ยอมรับเรื่องพื้นฐานนี้ ก็แปลว่า เราไม่ได้เชื่อในหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมากจริงๆ อย่างที่ฉันบอกเสมอว่า ประชาธิปไตยไม่ได้การันตีเรื่องความสำเร็จ แต่มันการันตีว่า อำนาจรัฐที่รัฐบาลมีอยู่ เป็นเพียงอำนาจชั่วคราว และประชาชนเลือกใหม่ได้เสมอ

และความจริงที่อัปลักษณ์คือ เราก็อาจเลือกผิดๆ อยู่ร่ำไปก็เป็นได้

 

ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้ทำ ฉันคิดว่า ต้องทำใจ เพราะในเมื่อพรรคการเมืองที่มีนโยบายนี้เป็นหลักในการหาเสียงได้เป็นรัฐบาล เขามีความชอบธรรมที่จะทำตามอำนาจที่เขามี

ต่อให้คุณไม่ชอบ คุณก็แสดงความเห็นคัดค้านได้ แต่ห้ามไม่ให้เขาทำไม่ได้ เพราะคนที่เลือกพรรคการเมืองนี้ไปเขาเลือกเพราะอยากได้นโยบายนี้

เหมือนที่ฉันไม่เห็นด้วยกับโครงการแจกเงินสองพันบาทสมัยประชาธิปัตย์ หรือโครงการคนละครึ่ง ฯลฯ ฉันไม่เห็นด้วย ฉันคัดค้าน แต่ฉันก็ห้ามไม่ให้เขาไม่ทำไม่ได้

ย้ำอีกครั้ง คนที่ไม่เห็นด้วย ในเมื่อพรรคที่คุณเลือกไม่ได้เป็นรัฐบาล คุณต้องทำใจ และรอจนกว่าพรรคที่มีนโยบายถูกใจคุณจะชนะการเลือกตั้งจนตั้งรัฐบาลสำเร็จ (ไม่ใช่ชนะที่หนึ่งแต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะรวมเสียงข้างมากในสภาไม่ได้) และดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงเอาไว้

สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ต้องทำใจว่า การที่คุณไม่เห็นด้วย มันไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะไม่เห็นด้วยเหมือนกับคุณ และเสียงของคุณไม่ได้ดังกว่าคนอื่น เพียงเพราะคุณคิด