ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ตุลาคม 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แก่คนไทย 56 ล้านคน ที่ต้องใช้เงิน 560,000 ล้านบาท อาจเป็นนโยบายเดียวที่ประชาชนติดตามให้ความสนใจว่าเมื่อใดจะได้รับ
ในขณะที่นักวิชาการ อดีตผู้บริหารด้านการเงินการคลังของประเทศจำนวนไม่น้อยพร้อมออกมาเปล่งเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วย
ในขณะที่พรรคการเมืองเจ้าของนโยบายหลังจากประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกผ่านไปมากกว่า 1 เดือน ก็ยังไม่สามารถหาความชัดเจนได้ว่า จะมีวิธีการอย่างไรในการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านแหล่งที่มาของงบประมาณ และวิธีการในแจกจ่ายไปถึงประชาชน
ยิ่งกรณีที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ยังคงยืนยันถึงการแจกเงินดังกล่าวอย่างครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป และย้ำว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 อย่างแน่นอน
แต่การที่ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดต่างๆ ได้ โดยบอกให้ใจเย็นๆ ว่าจะได้คำตอบในรายละเอียดภายใน 2 สัปดาห์ และขยับออกทีละ 2 สัปดาห์ จนล่าสุดบอกว่า จะมีรายละเอียดภายในสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2566
ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการดำเนินการตามนโยบายอันเนื่องมาจากการไม่รอบคอบในการคิดนโยบาย
เพียงแต่มุ่งประสงค์เสนอตัวเลขเพื่อประโยชน์ในการจูงใจหาเสียงจนกลายเป็นภาระในการบริหารให้เกิดความสำเร็จตามนโยบายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเสนอแนวคิดเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อบ้านเมือง
ที่มาของงบประมาณ
ตามที่แจ้ง กกต.
กลับไม่ใช่ที่มาในทางปฏิบัติจริง
ตามมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ระบุให้การกําหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณา หากนโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดรายการ 3 ประการ คือ
1) วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการ
2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย
และ 3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย โดยต้องแจ้งต่อกรรมการการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้แถลงรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของงบประมาณ 560,000 ล้านบาทของพรรคเพื่อไทยว่ามาจากแหล่งงบประมาณจากการบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษี
1) จากประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 2.6 แสนล้านบาท
2) ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 1 แสนล้านบาท
3) การบริหารจัดการงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท
และ 4) การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท
เมื่อลงรายละเอียดในทางปฏิบัติจริง ปรากฏว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนการคลังระยะปานกลาง (พ.ศ.2567-2570) โดยระบุว่าปี พ.ศ.2567 รัฐบาลมีการประมาณการรายได้ 2.787 ล้านบาท จากเดิมที่เคยประมาณการในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.757 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 30,000 ล้านบาทเท่านั้น
ไม่ใช่ภาพสวยหรูที่ว่าจะได้เพิ่มถึง 260,000 ล้านบาท เท่ากับยังขาดอีก 230,000 ล้านบาท
ในด้านแหล่งที่มางบประมาณรายการที่สอง ที่ระบุว่ามาจากภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 1 แสนล้านบาทนั้น ยิ่งเป็นรายการที่ไม่สมควรนำมาคิด เนื่องจากเป็นผลพวงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากโครงการได้ดำเนินการไปแล้ว แหล่งที่มาของเงินควรเป็นแหล่งที่มีอยู่ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่แน่นอนในอนาคต
ยิ่งระบุว่าจะได้ค่าตัวทวีคูณ (Multiplier) ทางเศรษฐกิจจากการลงเม็ดเงิน 560,000 ล้านบาทกลับมาเพียง 100,000 ล้านบาท ยิ่งเป็นการฟ้องว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจโตขึ้น 3-4 เท่า แต่คิดแล้วเพียง 0.18 เท่าเท่านั้น
ความสามารถในการบริหารงบประมาณ
สําหรับงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ.2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท ความสามารถในการบริหารให้ประหยัดงบประมาณ 110,000 ล้านบาทเพื่อให้เป็นไปตามแหล่งที่มาของงบประมาณรายการที่สาม หรือคิดเป็นร้อยละ 3.16 ของงบประมาณแผ่นดินไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก หากมีการทบทวนในรายการรายจ่ายประจำต่างๆ ที่ไม่จำเป็นอย่างเข้มงวด
หากแต่ตัวเลขในรายการที่หนึ่งยังขาดอีก 230,000 ล้านบาท ในรายการที่สอง ไม่ใช่รายการที่มีในปัจจุบัน 100,000 ล้านบาท และในรายการที่สี่ เกี่ยวกับการทบทวนรายการสวัสดิการของรัฐที่ซ้ำซ้อนอีก 90,000 ล้านบาท ก็คาดว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่กล้าตัดออก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัตรสวัสดิการของรัฐ หรือเบี้ยตอบแทนคนสูงอายุ คนพิการ
ดังนั้น หากจะบริหารจากเงินงบประมาณที่มี จะต้องหาเงินมาเพิ่ม 530,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.22 ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งหากจะประหยัดจากงบประมาณรายจ่ายประจำ ถือว่ายากเย็นเข็ญใจที่สุด
ใช้งบประมาณในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ได้จริงหรือ
หากจะดูถึงปฏิทินงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่ล่าช้าเนื่องจากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว กว่าพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ.2567 จะประกาศใช้ได้ก็น่าจะล่วงเลยไปถึงกลางเดือนเมษายน พ.ศ.2567 โดยปัจจุบันยังอยู่ในขั้นทบทวนรายการใช้จ่ายงบประมาณโดยส่วนราชการ ยังไม่นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยซ้ำ และยังมีกระบวนการในการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวมแล้วอีกเกือบ 3 เดือน
การที่ทั้งนายกรัฐมนตรี ทั้งผู้บริหารของพรรคเพื่อไทย ยังตอกย้ำและให้ความหวังประชาชนว่า จะมีการแจกเงินดิจิทัลภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 จึงไม่สอดคล้องกับปฏิทินงบประมาณที่สามารถใช้งบประมาณในรายการใหม่ได้ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน พ.ศ.2567 เป็นต้นไป
ซึ่งเชื่อว่าผู้เป็นรัฐบาลต้องรู้ถึงข้อจำกัดดังกล่าวและหาวิธีการใช้เงินจากแหล่งอื่นที่ไม่เป็นไปตามรายละเอียดที่แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เช่น การใช้มาตรการหรือนโยบายกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal Policy) โดยการกู้ยืมเงินจากธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน มาใช้ในโครงการดังกล่าวและตั้งงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยในอนาคต
ซึ่งจะมีผลให้ขาดโอกาสในการตั้งรายการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินในอนาคตที่เป็นประโยชน์แต่ต้องมาใช้หนี้แทนและยังเป็นการขัดวินัยการเงินการคลังของรัฐ
สะบัดกลับก็เขิน
คงเป็นการยากที่พรรคเพื่อไทยจะทบทวนยกเลิกการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะถือเป็นนโยบายเรือธง (Flagship policy) และเมื่อยืนยันประกาศความชัดเจนทั้งกลุ่มประชาชน 56 ล้านคนและกำหนดการแจกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ทำให้ประชาชนรากหญ้าหรือแม้แต่คนชั้นกลางในเมืองตั้งความหวังกับเงินก้อนพิเศษดังกล่าวเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยทั้งในรายการจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ตาม
การถอยกลับนโยบายจึงเป็นเรื่องยากของพรรคเพื่อไทย เพราะหมายถึงการเพิ่งเริ่มต้นก็ล้มเหลว ไม่สามารถทำได้จริงตามนโยบายการหาเสียงที่เคยเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทยมาตลอด
แม้เสียงทักท้วงจะมากเพียงไร เงิน 560,000 ล้านบาทก็คงถูกแจกจ่ายออกไปเพื่อให้เป็นตำนานว่า นี่คือนโยบายของพรรคที่จะสร้างแรงพายุหมุนทางเศรษฐกิจตามที่โฆษณาไว้
แต่จะเป็นอีกตำนานที่สร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองอีกรอบและจบลงด้วยเคราะห์กรรมของผู้ริเริ่มและบริหารงบประมาณดังกล่าวเช่นเดียวกับหลายคนในอดีตหรือไม่ คงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง
เพราะวันนี้ เขาเขินเกินไปที่สะบัดกลับนโยบายแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022