เมืองศรีเทพ-เมืองละโว้ นับถือ ‘จันทรวงศ์’

เมืองศรีเทพ (เพชรบูรณ์) กับเมืองละโว้ (ลพบุรี) อยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน คือ ลุ่มน้ำป่าสัก โดยเมืองศรีเทพอยู่ตอนบน ส่วนเมืองละโว้อยู่ตอนล่าง

นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายถึงลุ่มน้ำมูล-ชี ที่เชื่อมถึงลุ่มน้ำโขง อาจมีลักษณะอย่างปัจจุบันเรียก “บ้านพี่เมืองน้อง”

หมู่บ้านเริ่มแรก

เมืองศรีเทพกับเมืองละโว้ มีชุมชนหมู่บ้านเริ่มแรกพร้อมกัน ราว 3,000 ปีมาแล้วนับถือศาสนาผี มีความเชื่อเรื่องขวัญ

ชุมชนเมือง

เมืองศรีเทพกับเมืองละโว้ เติบโตเป็นชุมชนเมือง บนเส้นทางการค้าทองแดงของ “สุวรรณภูมิ” ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ.500

นับถือศาสนาผี มีความเชื่อเรื่องขวัญ มีประเพณีฝังศพครั้งที่ 2

มีคนจากหลายทิศทางเคลื่อนย้ายไปมาแล้วตั้งบ้านเรือนหนาแน่น

ค้าขายอินเดีย-จีน

เมืองศรีเทพกับเมืองละโว้ มีการติดต่อค้าขายทั้งอินเดียและจีน ส่งผลให้เมืองมั่งคั่งขยายตัวเติบโต

นับถือศาสนาผี มีความเชื่อเรื่องขวัญร่วมกัน

มีคนหลายชาติพันธุ์มากกว่าเดิม

พระกฤษณะ เจ้าเมืองทวารกา หรือทวารวดี [ปฏิมากรรมศิลา (วัฒนธรรมทวารวดี) พบที่เมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์]
รับศาสนาจากอินเดีย

เมืองศรีเทพกับเมืองละโว้ รับศาสนาจากอินเดีย คือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ผสมกับศาสนาผี เริ่มผี-พราหมณ์-พุทธ หลัง พ.ศ.1000

มีความเชื่อปนกัน ขวัญกับวิญญาณ

ชนชั้นสูงมีเผาศพและเก็บกระดูกไว้บูชา

 

ชื่อเมือง

ศรีเทพ เป็นชื่อสมมุติใหม่ แต่เริ่มสมมุติเมื่อไร? ไม่รู้ ส่วนชื่อจริงว่าอะไร? ไม่พบหลักฐาน

ละโว้ เป็นชื่อจริงตามคำพื้นเมืองดั้งเดิม มีรากจาก ลโว หรือลูโว เป็นภาษาละว้า แปลว่า ภูเขา (จิตร ภูมิศักดิ์)

ทวารวดี

แปลว่าเมืองที่มีประตูจำนวนมากเป็นกำแพง หมายถึงเมืองที่มั่งคั่งและมั่นคงด้วยการค้าทุกทิศทาง

เป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะ ซึ่งเป็นอวตารพระวิษณุนารายณ์ในคัมภีร์จากอินเดีย

เจ้าเมืองศรีเทพและเจ้าเมืองละโว้ ยกย่องทวารวดีเป็นนามขลังและศักดิ์สิทธิ์ จึงเชิญเป็นชื่อเมือง (ในพิธีกรรม) ของเครือข่ายเครือญาติทั้งศรีเทพและละโว้ว่าทวารวดี

บันทึกจีน “โตโลโปตี”

พระถังซำจั๋งจารึกแสวงบุญไปอินเดีย แล้วมีบันทึกว่ามีดินแดน “โตโลโปตี” อยู่ติดดินแดน “อี้ซานนาปู้หลอ” (อีศานปุระ) คือกัมพูชา

ต่อมานักปราชญ์ตะวันตกถอดคำจีน “โตโลโปตี” ตรงกับคำสันสกฤตว่า “ทวารวดี” มีตำแหน่งอยู่บริเวณฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องกับกัมพูชา ซึ่งตรงกับลุ่มน้ำป่าสัก โดยมีเมืองสำคัญคือศรีเทพกับละโว้

พระกฤษณะ จันทรวงศ์

พระกฤษณะเป็นเจ้าของเมืองทวารวดีในคัมภีร์จากอินเดีย

เมืองศรีเทพ พบปฏิมากรรมขนาดใหญ่ สลักหิน รูปพระกฤษณะ

เมืองละโว้ พบจารึกระบุนาม “วาสุเทพ” บิดาพระกฤษณะ หรือหมายถึงพระวิษณุนารายณ์ก็ได้

พระกฤษณะอยู่ในจันทรวงศ์ (หรือโสมวงศ์) หมายถึงวงศ์พระจันทร์ (ส่วนพระรามอยู่ในสุริยวงศ์)

มหากาพย์มหาภารตะระบุว่าปุรุราวัส (ปฐมกษัตริย์จันทรวงศ์) มีหลานชายชื่อ ยยาติ ซึ่งมีลูกอีก 5 คน ชื่อว่า ยทุ, ตุรวาสุ, ทรุหยุ, อนุ และปุรุ อันเป็นชื่อของชนเผ่าโบราณทั้ง 5 ที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวท

ตำนานจันทรวงศ์ถูกสร้างขึ้นเพื่อผูกโยงความเป็นเครือญาติระหว่างเผ่าต่างๆ ในอินเดีย ที่เก่าก่อนพุทธกาลให้เป็นพวกเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับสายตระกูลที่ถูกนับเป็นพวกเดียวกันว่ามีเชื้อสายของเทพเจ้า

มหาภารตะยังระบุด้วยว่าพระกฤษณะซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์เกิดในราชวงศ์ยทุวงศ์ จึงถือกันว่าพระกฤษณะเป็นสาย “จันทรวงศ์”

[จากบทความเรื่อง คำว่า “พงศาวดาร” เป็นร่องรอยความเชื่อเรื่องวงศ์วานของเทพเจ้า โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17-23 กุมภาพันธ์ 2566]

พระกฤษณะปราบช้างและสิงห์ ปูนปั้น เรือน พ.ศ.1800 บนทับหลังศิลาแลงมุขด้านทิศใต้ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เป็นความทรงจำศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำเมืองละโว้ สืบมรดกตกทอดจากชนชั้นนำทวารวดี ตั้งแต่เรือน พ.ศ.1000 (ภาพโดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

จันทรวงศ์ เมืองละโว้

พระราชพงศาวดารเหนือระบุว่าพระเจ้าจันทโชติได้เสวยราชสมบัติกรุงละโว้ พ.ศ.1595 มีอัครมเหสีทรงพระนามพระนางปฏิมาสุดาดวงจันทร์ มีพระราชโอรสทรงพระนามพระนารายน์ราชกุมาร

พระเจ้าจันทโชติสิ้นพระชนม์ พระนารายน์ราชกุมารยังเยาว์อยู่ เชื้อพระวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (พงศวาดารเหนือเรียกมหาอำมาตย์) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาบ้านเมืองแทนสืบมาร่วม 11 ปี สิ้นอายุลงใน พ.ศ.1623

พระนารายน์จึงได้เสวยราชสมบัติ ขณะนั้นมีพระชันษา 25 ปี

ครองกรุงละโว้อยู่ระยะหนึ่งก็ย้ายลงมาสร้างเมืองอโยธยา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ตั้งข้อสังเกตถึงนามพระเจ้าจันทโชติ มีคำว่า “จันทร์” เป็นเครื่องชี้ให้รู้ว่าเมืองละโว้นับถือพระกฤษณะแห่งจันทรวงศ์ แม้นามมเหสีมีคำว่า “ดวงจันทร์” ก็จันทรวงศ์

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) แนะนำหลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้ว่าทับหลังมุขด้านใต้ของพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี มีปูนปั้นรูปพระกฤษณะปราบช้างและสิงห์ เหล่านี้มาจากความทรงจำที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าเมืองละโว้ คือ ทวารวดีของพระกฤษณะ ตั้งแต่หลัง พ.ศ.1000

ครั้นหลัง พ.ศ.1600 มีการเปลี่ยนแปลง 2 เรื่อง คือ (1.) ชนชั้นนำบางกลุ่มนับถือศาสนาพุทธ เถรวาท แบบลังกา และ (2.) สร้างเมืองอโยธยา เป็นศูนย์กลางของพุทธ เถรวาท แบบลังกา

ส่วนละโว้ยังครองตนเป็นเมืองและประชาชนนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธมหายาน แล้วถูกเรียกว่า “ขอม” ตั้งแต่นั้นมา •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ