คงไม่รู้จัก คลองขวาง

ปริญญา ตรีน้อยใส

คงไม่รู้จัก คลองขวาง

 

ฉบับที่ผ่านมา พาไปมองคลองผดุงกรุงเกษม คลองช่องนนทรี และคลองถนนตรง (ถนนพระรามที่สี่)

ฉบับนี้ จะพาไปมองอีกคลอง ที่อยู่ใกล้เคียง และมีที่มาจากคลองถนนตรง เพียงแต่ว่าทั้งชื่อ ทั้งคลอง ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขยายเขตพระนคร มาถึงคลองผดุงกรุงเกษมนั้น พื้นที่บริเวณนอกคลองอยู่ไกลจากพระนคร ยังไม่มีผู้คนตั้งถิ่นฐาน เส้นทางสัญจรทางน้ำ จึงมีเพียงคลองช่องนนทรีและคลองแสนแสบเท่านั้น

ในแผนการขุดคลองถนนตรง จากคลองผดุงกรุงเกษม ไปถึงพระโขนงนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองอีกสายหนึ่ง แยกจากคลองถนนตรง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปจนถึงคลองบางรัก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อคลองขุดนี้ มีทิศทางตัดขวางคลองถนนตรง เลยเป็นที่มาของคำเรียกขานว่า คลองขวาง

ดังที่ปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 25 กล่าวถึงการขุดคลองและการสร้างสะพานข้ามคลอง

ดังนี้

 

…เมื่อปีระกา พ.ศ.2404 โปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม เปนแม่กอง พระอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเปนนายงาน…

…ให้ขุดคลองขวางแต่บางรักไปถึงถนนตรง ตรงศาลา (แดง) ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ สร้างไว้ ทิ้งดินทางฝั่งใต้ทำเปนถนนอีกสายหนึ่ง ตัดกว้าง 5 วา 2 ศอก ถมดินสูงกว่าพื้นเดิม 2 ศอกคืบ ค่าจ้างขุดคลอง เปนเงิน 8,194 บาท…

หลังการขุดคลอง และทำทางดินข้างคลองแล้วนั้น เฉพาะปลายคลองตรงย่านบางรัก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ที่พอจะมีอาคารบ้านเรือนอยู่บ้าง ส่วนบริเวณต้นคลอง ที่เริ่มจากศาลาแดง ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ สร้างไว้ ริมคลองถนนตรง มีเพียงชาวต่างชาติสร้างบ้านเรือนแบบฝรั่งไม่กี่หลัง

พื้นที่ตรงกลางๆ ยังคงเป็นทุ่งให้แขกเลี้ยงวัว ชาวจีนและชาวยุโรปจึงเห็นเป็นโอกาส ขอพระบรมราชานุญาตใช้ที่ดินสร้างสุสานหลายราย

ด้วยสภาพพื้นที่เป็นที่ทุ่งโล่ง อากาศดี มีลมพัดคลายร้อนตลอดเวลา ชาวต่างชาติจึงโยกย้ายมาอยู่เพิ่มขึ้น และสร้างบ้านเรือนหลังใหญ่ ในบริเวณกว้าง ชาวต่างชาติยังนำเครื่องสีลมขนาดใหญ่ แบบในต่างประเทศ มาใช้ระบายน้ำในคลอง

จึงเป็นที่มาของการเรียกขานคลองขวางว่า คลองสีลม และถนนขวางว่า ถนนสีลม Wind Mill Road

 

นอกจากบ้านพักอาศัยแล้ว ยังมีพ่อค้าสร้างตึกแถว และสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา ทำให้จำนวนผู้คนและยานพาหนะบนถนนเพิ่มขึ้น ในขณะที่การสัญจรในคลองลดน้อยลง จนคลองตื้นเขิน มีแต่ผักตบชวาขึ้นหนาแน่น

รัฐบาลจึงให้ถมคลองเพื่อขยายผิวจราจร ในปี พ.ศ.2500 เพื่อรองรับความเจริญของประเทศ ตามแผนพัฒนา ให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ บริการ และการท่องเที่ยว

อาคารสิ่งก่อสร้างบนถนนสีลม จึงเปลี่ยนจากบ้านพัก ตึกแถว โรงงาน และสุสาน กลายเป็นอาคารใหญ่พิเศษ อาคารสูงระฟ้า เป็นสำนักงาน ธนาคาร โรงแรม เป็นคอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในวันนี้ •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส