ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก : (6) ทฤษฎีพัวพันอย่างสร้างสรรค์และโลกที่ดอลลาร์สหรัฐเป็นเจ้า

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก

: (6) ทฤษฎีพัวพันอย่างสร้างสรรค์และโลกที่ดอลลาร์สหรัฐเป็นเจ้า

 

โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์วิเคราะห์ความขัดแย้งของทุนอเมริกันกับทุนจีนในบริบทระบบทุนนิยมโลกปัจจุบันเมื่อต้นปี 2022 (https://thedigradio.com/podcast/clash-of-empires-w-ho-fung-hung/) ต่อจากตอนก่อนดังนี้ :

แดเนียล เดนเวอร์ : อาจารย์หงเขียนไว้ว่า “การที่รัฐบาลประธานาธิบดีคลินตันของสหรัฐก่อหวอดทฤษฎี ‘พัวพันอย่างสร้างสรรค์’ (constructive engagement) ขึ้นมาซึ่งเสนอว่าการค้าเสรีกับจีนอาจเสริมสร้างพลังอำนาจให้กับเหล่าวิสาหกิจเอกชนของจีนและชนชั้นกลางได้ และพลังเหล่านี้ก็จะไปผลักดันการเปิดเสรีทางการเมืองอีกที” นั้นเป็นแค่ “การอธิบายให้ความชอบธรรมย้อนหลัง” เท่านั้นเอง แต่อันที่จริงนี่มันเป็นความคิดหลักของทศวรรษ 1990 เลยทีเดียวนะครับ

อย่างงี้แล้วจะพูดได้ไหมครับว่าโวหารสากลนิยมแบบเสรีนิยมที่ว่านี้ซึ่งคอยปกป้องโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่น่ะ เอาเข้าจริงมันปิดงำอำพรางแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่พื้นฐานยิ่งกว่าอยู่เสมอนั่นแหละ?

โฮเฟิง หง : ผมว่ามันเป็นคำอธิบายให้ความชอบธรรมแบบเฉพาะกิจนะครับ และเอาเข้าจริงผมเห็นว่ามันน่าทึ่งตะลึงงันที่มันเทียบเคียงได้กับการถกเถียงโต้แย้งทุกวันนี้เรื่องแซงก์ชั่นเลยทีเดียว อย่างเช่น กฎหมายสหรัฐ ที่ป้องกันการเกณฑ์แรงงานอุยกูร์ซึ่งจำกัดสินค้าเข้าจากจีนที่ผลิตด้วยแรงงานเกณฑ์น่ะ (https://www.cbp.gov/trade/forced-labor/UFLPA) มันเหมือนเรากำลังประสบพบเห็นการรื้อฟื้นข้อโต้แย้งถกเถียงสมัยทศวรรษ 1990 กลับขึ้นมาใหม่อีกครั้งก็ว่าได้ครับ

 

ตอนต้นทศวรรษที่ 1990 น่ะ พวกสากลนิยมแบบเสรีนิยมคิดว่าการแซงก์ชั่นเหล่านี้จะสร้างแรงจูงใจ กดดันให้จีนเปิดเสรีทางการเมือง ทว่าต่อมาหลังกลุ่มทุนการเงินวอลล์สตรีตกับเหล่าบรรษัทอเมริกันเป็นฝ่ายชนะเหนือพวกสากลนิยมแบบเสรีนิยมแล้ว รัฐบาลคลินตันก็กลับปรับเปลี่ยนไปใช้ทฤษฎีพัวพันแบบสร้างสรรค์แทน กล่าวคือ ไม่ต้องไปถงไปถามอะไรเรื่องสิทธิมนุษยชนกับจีนหรอก คุณแค่ค้าขายกับจีนไป แล้วในที่สุดคุณก็จะสร้างเสริมพลังอำนาจให้ชนชั้นกลางกับวิสาหกิจเอกชนของจีนขึ้นมาเอง ท้ายที่สุดแล้วถึงตอนนั้น ชนชั้นกลางกับวิสาหกิจเอกชนก็จะส่งเสริมประชาธิปไตยและการเปิดเสรีทางการเมืองในจีนเองนั่นแหละ

เนื่องจากพวกบรรษัทพากันล็อบบี้อย่างเข้มข้น ทฤษฎีพัวพันอย่างสร้างสรรค์นี้ก็เลยขึ้นครอบงำอยู่พักหนึ่ง แต่ก็เฉพาะช่วงปลายทศวรรษ 1990 เท่านั้นนะครับ ตอนนั้นน่ะแม้แต่ในบรรดานักวิชาการจีนศึกษาเองก็มีหลายคนที่เชื่อจริงๆ ว่าการพัวพันอย่างสร้างสรรค์จะใช้การได้

แต่แล้วทฤษฎีนี้ก็ถูกความจริงลดทอนความน่าเชื่อถือของมันลงไปตอนปลายทศวรรษที่ 1990 ต่อต้นทศวรรษที่ 2000 ในวงการจีนศึกษานั้น ผู้คนพากันหมดหวังที่จะเห็นพรรคคอมมิวนิสต์จีนเปิดเสรีในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 เพราะมีการปราบปรามการก่อความไม่สงบของแรงงาน นิกายศาสนาต่างๆ และในทิเบต รวมทั้งประเด็นปัญหาอื่นสารพัดตอนปลายทศวรรษที่ 1990

พอขึ้นต้นทศวรรษที่ 2000 มันก็นำไปสู่งานเขียนชุดใหม่ในทางจีนศึกษาซึ่งพยายามอธิบายความยืดหยุ่นคงทนของระบอบอำนาจนิยมจีนครับ

 

ช่วงทศวรรษที่ 1990 งานเขียนดังกล่าวตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่ ทำไมและอย่างไรจีนถึงจะเปิดเสรีทางการเมือง หรือมิฉะนั้นก็อาจกระทั่งล่มสลายลงเหมือนสหภาพโซเวียต ตอนต้นทศวรรษที่ 2000 คำถามนี้หลีกทางให้แก่การอภิปรายในแวดวงนโยบายต่างประเทศและจีนศึกษาซึ่งล้อมรอบคำถามที่ว่าทำไมเอาเข้าจริงรัฐอำนาจนิยมจีนถึงได้เข้มแข็งขึ้นทั้งๆ ที่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ

งานศึกษาชิ้นแล้วชิ้นเล่าทยอยกันออกมาชี้ว่า บรรดาชนชั้นกลางกับผู้ประกอบการเอกชนในจีนหาได้สนใจการเปิดเสรีและการสร้างประชาธิปไตยไม่ ฉะนั้น แต่ไหนแต่ไรมาพวกเขาจึงสนับสนุนรัฐคอมมิวนิสต์อำนาจนิยม

ดังนั้น พอย่างเข้าต้นทศวรรษที่ 2000 อุดมคติเรื่องการพัวพันอย่างสร้างสรรค์กับการค้าเสรีก็ตายไปเงียบๆ ในทางเป็นจริงนะครับ มันกลายเป็นเรื่องน่าหัวเราะเยาะที่ยังจะมามัวเสนอแนะว่าการค้ากับการพัวพันทางเศรษฐกิจจะส่งเสริมการเปิดเสรีทางการเมืองในจีน แต่กระนั้นเหล่าบรรษัทอเมริกันก็ยังคงค้าขายและลงทุนในจีนต่อไปอยู่ดี

ความข้อนี้แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีพัวพันอย่างสร้างสรรค์น่ะอันที่จริงก็เป็นแค่ม่านบางๆ ที่บดบังผลประโยชน์ของบรรษัทไว้เท่านั้นเองล่ะครับ

แดเนียล เดนเวอร์ : ในหนังสือของอาจารย์ อาจารย์เถียงว่าเศรษฐกิจบูมของจีนนั้นเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจสหรัฐและระบบโลกซึ่งสหรัฐปกครองเกินกว่าที่จีนจะสามารถสร้างระเบียบต่างหากมาแข่งขันด้วยได้ จีนพึ่งพาอาศัยการส่งสินค้าออกไปสหรัฐ และสินค้าออกเหล่านั้นก็พึ่งพาอาศัยการที่จีนกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมาไว้ เพื่อที่ว่าชาวอเมริกันจะสามารถใช้จ่ายเงินเกินตัวได้ และเพื่อที่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะสามารถสำแดงแสนยานุภาพเกินตัวได้ด้วย ทว่าการแซงก์ชั่นอย่างหนักหน่วงเหลือเชื่อที่สุมใส่รัสเซียเผยให้เห็นว่าสหรัฐนั้นเต็มใจจะใช้อำนาจที่ตนได้จากการที่เงินสกุลดอลลาร์ครองความเป็นเจ้ามาเป็นอาวุธทางภูมิรัฐศาสตร์

การนี้จะกระตุ้นให้จีนแตกหักกับการครองความเป็นเจ้าของดอลลาร์สหรัฐในท้ายที่สุดไหมครับ หรือว่าโดยพื้นฐานแล้วมันเหลือวิสัยที่จีนจะทำอย่างนั้นต่อให้อยากทำก็ตาม?

 

โฮเฟิง หง : มันมีแรงจูงใจแน่ชัดให้จีนปลีกตัวออกมาจากการพึ่งพาอาศัยเงินสกุลดอลลาร์ครับ จีนกับรัสเซียตระหนักดีว่าสหรัฐเต็มใจจะใช้การที่พวกตนต้องพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์ในระบบธุรกรรมโลกมากดดันเอากับพวกตนในประเด็นขัดแย้งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และนโยบาย แล้วจีนเองก็มีแรงจูงใจให้ส่งเสริมการใช้เงินตราสกุลหยวนหรือเหรินหมินปี้ของตัวเองในธุรกรรมระหว่างประเทศด้วยเพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์ทำธุรกรรม

ตอนนี้น่ะธุรกรรมระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ชำระบัญชีกันด้วยเงินสกุลดอลลาร์ครับ เวลาจีนซื้อน้ำมันจากแถบตะวันออกกลาง ก็ชำระบัญชีกันเป็นดอลลาร์ เวลาจีนส่งออกข้าวของไปเอเชียหรือไปแอฟริกา บริษัทจีนทั้งหลายก็เรียกเก็บเงินเป็นดอลลาร์ จีนได้เพียรพยายามส่งเสริมการใช้เงินสกุลหยวนทางสากล แต่ปัญหาคือมันมีความขัดแย้งขั้นมูลฐานในประเด็นนี้ครับ

การจะให้เงินตราสกุลหนึ่งกลายเป็นที่ยอมรับสำหรับใช้ชำระหนี้ได้กว้างขวางขึ้นนั้น เงินสกุลดังกล่าวต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเสรี หมายความว่าใครหน้าไหนก็แล้วแต่ที่ถือเงินสกุลนั้นอยู่ต้องสามารถค้าขายแลกเปลี่ยนมันกับเงินสกุลอื่นๆ หรือเอามันไปลงทุนในสิ่งต่างๆ ได้โดยง่าย ทว่าเงินตราสกุลของจีนยังซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ไม่เต็มที่ครับ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนลังเลอย่างยิ่งที่จะเปิดอ้าตลาดการเงินและระบบการเงินของตนออกมา

พวกเขาคิดว่าขืนเปิดอ้าระบบการเงินของตนออกมาเพื่อปล่อยให้เงินตราของตนซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี มันก็จะนำไปสู่การไหลเวียนเก็งกำไรของเงินร้อน แล้วจีนก็จะล่อแหลมอย่างยิ่งต่อพวกนักเก็งกำไรการเงินสากล

 

แดเนียล เดนเวอร์ : และจะว่าไปพวกเขาก็คิดไม่ผิดนะครับเรื่องนั้นน่ะ

โฮเฟิง หง : พวกเขาคิดไม่ผิดครับ ต้องบอกว่าพวกเขาคิดถูกเผงเลยเทียว สิ่งท้ายสุดที่จีนอยากเปิดอ้าออกมาก็คือระบบการเงินของตน และนี่คือเหตุผลที่ทำไมธนาคารต่างชาติทั้งหลายไม่ค้าขายเงินตราสกุลจีนอย่างเสรี ถ้าคุณทำมาหาเงินได้ในเมืองจีน มันยากมากนะครับที่จะเอาเงินนั้นออกมา มีบทลงโทษและระเบียบกฎเกณฑ์กำกับไม่ให้ทำเช่นนั้น ข้อความจริงที่ว่าเงินตราสกุลจีนซื้อขายแลกเปลี่ยนไม่ได้อย่างเสรีเป็นตัวคอยขัดขวาง ใครก็แล้วแต่ที่นึกอยากจะชำระบัญชีการค้าของตัวด้วยเงินสกุลหยวนครับ

ตัวอย่างเช่น สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลา จีนเสนอปล่อยเงินกู้ให้เวเนซุเอลา แลกกับน้ำมัน แรกทีเดียวจีนเสนอปล่อยกู้ให้เป็นเงินสกุลหยวน ซึ่งชาเวซตอบว่า “ถ้าคุณปล่อยกู้เป็นเงินตราสกุลของคุณ ผมจะไปหาผู้ปล่อยกู้เจ้าเดิมแทน” ในที่สุด จีนต้องปล่อยกู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้ชาเวซยอมรับเงินกู้ก้อนนี้

เวลาถือเงินดอลลาร์สหรัฐในมือ คุณซื้อของจากประเทศต่างๆ ได้สารพัดนะครับ จะเอาไปลงทุน และค้าขายแลกเปลี่ยนเงินตราก็ได้ แต่ถ้าถือเงินเหรินหมินปี้ละก็ โดยพื้นฐานแล้วคุณเอามันไปใช้ทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากซื้อของจากจีน ดังนั้น มันก็ยืดหยุ่นพลิกแพลงน้อยกว่า

ฉะนั้น มันจึงมีความขัดแย้งขั้นมูลฐานอยู่ล่ะครับระหว่างความกระหายใคร่ทำให้เงินหยวนใช้ได้ทั่วสากลเพื่อจะได้ลดการพึ่งพาอาศัยเงินดอลลาร์ลง กับความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีเรื่องการควบคุมระบบการเงิน

การทำให้เงินหยวนซื้อขายแลกเปลี่ยนได้แล้วใช้มันแทนเงินดอลลาร์จึงลำบากยากยิ่งด้วยเหตุนี้แหละครับ

 

ที่ผ่านมาเอาเข้าจริงเงินตราสื่อกลางที่จีนใช้ได้อย่างสบายใจได้แก่เงินสกุลยูโรครับ ข้อมูลบ่งชี้ว่า การค้าระหว่างรัสเซียกับจีนได้เลิกใช้เงินดอลลาร์เป็นสื่อกลางไปในรอบสิบปีหลังมานี้นับแต่เกิดวิกฤตไครเมีย เมื่อปี 2014 (“วิกฤตการณ์ไครเมีย ปมขัดแย้งรัสเซียยูเครน : ทันโลกกับที่นี่ Thai PBS”, 21 มกราคม 2565, https://www.youtube.com/watch?v=zvAqjz_EYbc) แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปค้าขายกันด้วยเงินสกุลรูเบิลหรือหยวนนะครับ 80% ของการค้าระหว่างจีนกับรัสเซียชำระบัญชีกันด้วยเงินสกุลยูโรมากกว่า

การที่รัสเซียกับจีนหันไปใช้เงินสกุลยูโรค้าขายกันแทนดอลลาร์เผยให้เห็นสมมุติฐานของทั้งสองประเทศว่ามีลิ่มมหึมาตอกแยกสหรัฐกับยุโรปออกจากกันอยู่

แดเนียล เดนเวอร์ : ชั่วแต่มันไม่จริงอีกต่อไปแล้วนี่ครับหลังรัสเซียบุกยูเครนต้นปีนี้ (ค.ศ.2022)

โฮเฟิง หง : ใช่ครับ วิกฤตยูเครนส่งผลแปลกประหลาดผิดคาดสำหรับพวกเขาในสภาพที่สหรัฐกับยุโรปหันกลับมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยพร้อมเพรียง ดังนั้น ข้อสมมุติฐานของพวกเขาก็ไม่จริงอีกต่อไป

เอาเข้าจริงนี่ก็เป็นสมมุติฐานของซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีอิรักแต่ก่อนด้วยนะครับ สมัยปลายทศวรรษที่ 1990 ต่อต้นทศวรรษที่ 2000 น่ะ ภูมิหลังประการหนึ่งของการที่สหรัฐรุกรานอิรักครั้งที่สองก็คือ เมื่อเงินตราสกุลยูโรถือกำเนิดขึ้นในจังหวะเปลี่ยนเข้าสู่ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนั้นน่ะ ซัดดัม ฮุสเซน มีความเข้าใจกันโดยพื้นฐานกับฝรั่งเศสและเยอรมนีว่าถ้าสองประเทศนั้นช่วยเขาทะลุทะลวงมาตรการห้ามค้าขายกับอิรักของสหประชาชาติแล้วละก็ น้ำมันอิรักจะหลั่งไหลออกขายในเงินสกุลยูโร ไม่ใช่ในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ นี่นับเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อฐานะเป็นเจ้าของดอลลาร์สหรัฐตอนนั้นครับ

บางคนไปไกลถึงขั้นเถียงว่านี่เป็นเหตุผลรองรับอย่างหนึ่งที่ทำไมพวกอนุรักษนิยมใหม่หรือนีโอคอนส์ ในสหรัฐ (neoconservatives ดู เกษียร เตชะพีระ, “ภาคหนึ่ง : ระบอบบุช”, บุชกับทักษิณ: ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน, 2547) เห็นซัดดัม ฮุสเซน เป็นภัยคุกคาม กล่าวคือ เขาสามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของตลาดน้ำมันและทำให้เงินสกุลยูโรเป็นตัวเลือกแทนเงินดอลลาร์สหรัฐได้ ดังนั้นเอง ซัดดัม ฮุสเซน รัสเซีย และจีนจึงสันนิษฐานเสมอมาว่าพวกเขาสามารถตอกลิ่มให้ยุโรปแตกแยกกับสหรัฐได้ด้วยการเลิกใช้เงินดอลลาร์ และหันไปใช้เงินยูโรแทน

แต่มาบัดนี้เราอยู่ในโลกที่ต่างออกไปและข้อสมมุติฐานนี้ก็ไม่จริงอีกต่อไปแล้วล่ะครับ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)