จาก ‘โดกู’ … สู่โปเกมอน Baltoy | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

ช่วงนี้เราพูดถึงซอฟต์เพาเวอร์กันบ่อย และคงจะพูดถึงไปอีกสักพักใหญ่เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล ผมจึงอยากยกตัวอย่างเล็กๆ ซึ่งน่าจะช่วยให้เห็นซอฟต์เพาเวอร์อย่างเป็นรูปธรรม และออกแนวน่ารักเสียด้วย เป็นกรณีศึกษาของญี่ปุ่นในเชิงวัฒนธรรมครับ และเมื่อพูดถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่น หลายอย่างคงผุดขึ้นมา ไม่ว่าพิธีชงชา เจป๊อป มังงะ อะนิเมะ และอื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อหลายปีก่อน คือในช่วงวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2561 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เคยจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในโอกาสครบ 130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น หัวข้อ “วิถีแห่งศรัทธาจากศิลป์ทัศน์ญี่ปุ่น” โดยจัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

ในนิทรรศการครั้งนั้นมีโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งที่โดดเด่นมากจนไม่มีใครเดินผ่านไปเฉยๆ เพราะเห็นแล้วเป็นต้องเข้าไปมองใกล้ๆ และมักจะเก็บภาพกันไปทุกคน นั่นคือ ตุ๊กตาดินเผาโดกู

ตุ๊กตาดินเผา “โดกู”
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

คําว่า “โดกู (Dogu)” ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า วัตถุรูปร่างคล้ายคนที่ทำจากดิน เป็นโบราณวัตถุที่พบเฉพาะในสมัยโจมน (Jomon period) ซึ่งเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ราว 14,000 ถึง 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช ตรงกับสมัยหินใหม่ของประวัติศาสตร์โลก ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะญี่ปุ่นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า ตกปลา ล่าสัตว์ ยังไม่รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์

หนังสือ ‘วิถีแห่งศรัทธาจากศิลป์ทัศน์ญี่ปุ่น’ ซึ่งเป็นเอกสารประกอบนิทรรศการนี้ระบุว่า ตุ๊กตาโดกูตัวนี้สร้างขึ้นจากดินเผาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยโจมนตอนปลาย อายุราว 3,000-2,400 ปีมาแล้ว มีความสูง 35.7 เซนติเมตร พบที่บิซุดะ อาซาเอะ ทาจิริคาบุกุริ เมืองโอซากิ จังหวัดมิยากิ ในญี่ปุ่นจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญ

อ้อ…หนังสือ ‘วิถีแห่งศรัทธาจากศิลป์ทัศน์ญี่ปุ่น’ นี่กรมศิลปากรแจกไฟล์ pdf ด้วยนะครับ ค้นเน็ตด้วยชื่อนี้ได้เลยครับ

ตุ๊กตาดินเผาโดกูทำเป็นรูปบุคคล มีดวงตากลม สวมชุดที่ตกแต่งเป็นลวดลายต่างๆ แขนและขามีลักษณะคล้ายเต้านม มือและเท้าเล็ก ตุ๊กตาดินเผาโดกูเริ่มปรากฏขึ้นในสมัยโจมนโดยในช่วงระยะแรกเริ่มทำเป็นรูปสตรีมีเต้านม ในขณะที่บางตัวเป็นรูปสตรีตั้งครรภ์ ตุ๊กตาดินเผาโดกูบางแบบมีหน้าเป็นรูปหัวใจ แสดงถึงความสามารถในการออกแบบสร้างสรรค์งานศิลปกรรมให้สอดคล้องกับคติความเชื่อของผู้คนในวัฒนธรรมโจมนได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันพบตุ๊กตาดินเผาโดกูแล้วกว่า 18,000 ตัว ส่วนตัวที่ญี่ปุ่นส่งมาให้เราคนไทยได้ชมและผมเก็บภาพมาฝากนี่ถือว่าพิเศษสุด เพราะว่ากันว่าเวลาคนญี่ปุ่นคิดถึง “โดกู” ภาพที่อยู่ในใจก็คือโดกูแบบนี้นี่เอง

น่าสนใจว่าสถานที่บางแห่ง เช่น สถานีรถไฟคิซุคุริมีรูปปั้นโดกูแบบนี้ขนาดยักษ์ด้วย เพื่อนผมคือ คุณกรองกาญจน์ เพชรแอน ซึ่งอยู่ที่ญี่ปุ่นบอกว่า ตอนที่รถไฟจะออกหรือมาจอด โดกูยักษ์ตัวนี้จะมีไฟกะพริบที่ตาอีกด้วย!

สถานีรถไฟคิซุคุริ
ที่มาของภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Kizukuri_Station

รูปร่างหน้าตาแปลกๆ ของโดกูแบบนี้ชวนให้จินตนาการเตลิดเปิดเปิง ไม่ว่าจะเป็นหัวโตๆ แขนขาเป็นก้อนๆ ปลายแหลม มือเท้าเล็กๆ ลวดลายบนตัว แต่ที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือ ดวงตาที่บ้างก็ว่าคล้ายตาแมลง บ้างก็ว่าคล้ายสวมแว่น โดกูแบบนี้จึงเรียกว่า โดกูแบบฉะโคขิ (Shakoki-dogu) คำว่า ฉะโคขิคือแว่น

หนังสือประกอบนิทรรศการให้ข้อมูลไว้ว่า “สันนิษฐานว่าตุ๊กตาลักษณะนี้ได้รับการทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมอันเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ การเกิดใหม่ รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับการคลอดบุตรอย่างปลอดภัย” อันเป็นการให้ความหมายโบราณวัตถุลักษณะนี้ตามแบบฉบับ

อย่างไรก็ดี นายอีริก ฟอน ดานิเกน (Eric von Daniken) ผู้เสนอสมมุติฐาน “พระเจ้าจากอวกาศ” กลับมองว่าโดกูแบบนี้คือ มนุษย์ต่างดาวจากอวกาศที่เคยมาเยือนโลกในอดีต และใช้ภาพโดกูแบบนี้บนปกหนังสือชื่อ In Search of Ancient Gods เป็นหนึ่งในหลักฐานสนับสนุนสมมุติฐานของเขา คือมองว่าเป็น ‘โดกูมนุษย์ต่างดาว’ นั่นเอง

‘โดกูมนุษย์ต่างดาว’ ยังปรากฏในวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกหลายแห่ง ใครเป็นแฟนภาพยนตร์โดราเอมอน ตอน โนบิตะและกำเนิดญี่ปุ่น คงจะจำได้ว่ามี “สึจิดามะ” (แปลว่า “วิญญาณแห่งดิน”) เป็นตัวร้ายในเรื่อง

เจ้าสึจิดามะเป็นหุ่นดินเผามีชีวิตทำจากเซรามิกจำรูป (shape-memory ceramic) ซึ่งแม้ว่าจะแตกไปแล้ว แต่สามารถกลับมาต่อกันฟื้นคืนชีวิตได้ใหม่อย่างน่าอัศจรรย์ สึจิดามะเป็นสมุนตัวเอ้ของกิกะซอมบี้ที่เดินทางข้ามเวลามาจากศตวรรษที่ 23 เพื่อมาเปลี่ยนประวัติศาสตร์ให้เป็นไปดังใจปรารถนา

เรื่องสึจิดามะนี่ ผมต้องขอบคุณ คุณ Kanokphorn Taweepun และคุณ Ton Aonang เพื่อนใน facebook ที่ช่วยเชื่อมโยงให้ครับ

สึจิดามะ ในภาพยนตร์โดราเอมอน

เท่านี้ยังไม่พอ ลูกคนโตของผมซึ่งชื่นชอบโปเกมอน พอเห็นโดกูเข้าก็บอกว่าคุ้นมาก แถมไปค้นมาให้ว่ามีโปเกมอนชื่อ Baltoy (บัลทอย) ซึ่งมีดวงตาเหมือนกับ ‘โดกูมนุษย์ต่างดาว’ เป๊ะ!

ข้อมูลจาก Bulbapedia ระบุว่า Baltoy เป็นโปเกมอนตุ๊กตาดิน ที่สำคัญคือมีดีไซน์รูปลักษณ์มาจากโดกูแบบฉะโคขิในสมัยโจมนนั่นเอง ส่วนชื่อ Baltoy สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า balance (สมดุล) + toy (ของเล่น)

อดคิดไม่ได้ว่าพี่ยุ่นเก่งในการนำแง่มุมจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาเชื่อมโยงกับปัจจุบันอย่างมีสีสัน ไม่ว่าจะเป็นโดกูยักษ์ประจำสถานีรถไฟท้องถิ่น หรือสึจิดามะ ไปจนถึงโปเกมอน Baltoy ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก

พูดได้ว่าเป็นการใช้จินตนาการได้อย่างมีพลังและสร้างสรรค์ ทำให้วัตถุโบราณที่อยู่นิ่งๆ กลับฟื้นขึ้นมามีชีวิต มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนมากในปัจจุบันได้ แง่มุมนี้เป็นหนึ่งในแก่นสาระสำคัญของซอฟต์เพาเวอร์ของญี่ปุ่นซึ่งในที่นี้คืออะนิเมะเรื่องโปเกมอนนั่นเอง

สุดท้าย…ขอฝากจินตนาการสนุกๆ ของคนไทยไว้บ้าง คุณ ‘ไอแอม อ๊อบ’ (ชื่อใน facebook) ได้แต่งกลอนสำหรับตุ๊กตา ‘โดกูมนุษย์ต่างดาว’ ไว้ว่า

ตุ๊กตาเอเลี่ยนเวียนมาบ่อย
โดนแตนต่อยลูกกะตาน่าสงสาร
แกร้องไห้เรียกหาพยาบาล
ยืนอยู่นานกลายเป็นหินสิ้นท่าเอย!

โปเกมอน Baltoy
ที่มา : http://wallsdesk.com/wp-content/uploads/2016/10/Baltoy-HD.jpg