อุษาวิถี (49) อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (49)

อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

 

ที่สำคัญคือ สังเกตได้ว่าขนบจารีตที่กระทำผ่านพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้มุ่งเพื่อประโยชน์ในทางเกษตรกรรมเป็นสำคัญ โดยความเชื่อยังมิใช่ลักษณะหลักในทางพิธีกรรม

สิ่งที่ควรตระหนักอย่างยิ่งก็คือว่า ขนบจารีตเหล่านี้ หรืออื่นๆ ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ไพร่สร้างขึ้นนี้ จัดเป็นวัฒนธรรมของคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งทำให้วัฒนธรรมไพร่ถูกเน้นย้ำให้เป็นวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมไพร่จึงแพร่กระจายเป็นวัฒนธรรมหลักได้ยาก และยิ่งไพร่มีโอกาสเคลื่อนย้ายตัวเองได้น้อย ลักษณะเฉพาะถิ่นก็ยิ่งเข้มข้น

และยิ่งเมื่อมูลนายสามารถสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กันเองได้อย่างกว้างขวางด้วยแล้ว วัฒนธรรมของมูลนายจึงเป็นมาตรฐานที่มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นสถูป วิหาร พระพุทธรูป การเทศน์มหาชาติ ประเพณีการบวช ประเพณีสงฆ์ และวัฒนธรรมทางศาสนาอื่นๆ ที่มูลนายเป็นผู้อุปถัมภ์ต่างล้วนมีลักษณะที่เหมือนกัน และทำให้วัฒนธรรมของมูลนายกลายเป็นกรอบโครงที่ครอบงำวัฒนธรรมไพร่ ที่แตกต่างหลากหลายให้รวมอยู่ในโครงร่างที่สามารถชี้หมายได้

โดยโครงครอบนี้ไม่อาจทำลายความอิสระของขนบจารีตของไพร่ไปได้

เหตุฉะนั้น ขนบจารีตของมูลนายจึงมีฐานะไม่ต่างกับสิ่งที่เชื่อมร้อยให้ไพร่เข้ามาอยู่ในระบบความสัมพันธ์ ในสถาบันทางการเมืองที่มูลนายทรงอำนาจและอภิสิทธิ์นั้นเอง

 

ความแตกต่างราวฟ้ากับดินระหว่างมูลนายกับไพร่แม้จะทำให้เห็นได้ว่า ชีวิตไพร่ไม่ใช่ชีวิตที่น่าอภิรมย์มากนักก็ตาม แต่ก็เชื่อกันว่า สภาพดังกล่าวคงไม่ได้ปรากฏไปทุกหนทุกแห่งและทุกเวลา

เพราะการที่ระบบไพร่ดำรงสืบต่อมาได้ช้านานนั้น ในด้านหนึ่งย่อมแสดงว่าระบบนี้จะต้องมีความดีและความเหมาะสมพอสมควรจึงดำรงอยู่ได้

ทั้งนี้ หากพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่งแล้วจะเห็นได้ว่า พวกไพร่หรือประชาชนธรรมดานั้นมีความเป็นอยู่ค่อนข้างสบาย อาชีพหลักคือการเกษตร ผลผลิตที่ได้มานอกจากเพื่อกินอยู่ภายในครัวเรือนแล้ว ส่วนที่เกินยังถูกนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราและสิ่งของ

รวมทั้งเสียภาษีอากรให้แก่รัฐ

และเมื่อหมดฤดูเกษตรแล้วก็จะอยู่ว่าง เว้นเสียแต่จะตรงกับช่วงที่ต้องเข้ารับราชการเป็นไพร่สมหรือไพร่หลวงในแต่ละช่วงของปีเท่านั้น จากสภาพเช่นนี้ทำให้ไพร่มีความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์กับบรรดามูลนายขึ้นมาด้วยการพึ่งพาอาศัยกันและกัน

ที่สำคัญ ความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไพร่ดังที่กล่าวไปนี้หมายมุ่งไปยังชายชาวสยามอย่างเป็นด้านหลัก

ด้วยเหตุนี้ หญิงไพร่จึงกลายเป็นหลักทางเศรษฐกิจของครอบครัว สิทธิและเสรีภาพของหญิงเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว และมีอิสระมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับหญิงมูลนาย ซึ่งดูเหมือนจะถูกหวงห้ามไม่ให้มีบทบาทมากในที่สาธารณะ

อันเป็นการเลียนแบบชีวิตชาววังของกษัตริย์และเจ้าเมืองอีกชั้นหนึ่ง

ความเข้าใจที่ว่า หญิงสยามถูกเอารัดเอาเปรียบในปัจจุบันจึงไม่เพียงเป็นการใช้ทัศนะตะวันตกในการมองเท่านั้น หากยังเป็นไปได้ว่า เป็นการมองจากฐานของหญิงมูลนายในอดีตที่นักสิทธิสตรีไทย (ซึ่งมีการศึกษาสูงตามมาตรฐานตะวันตก) เห็นได้ง่ายกว่าอีกด้วย

 

5 ทาส กล่าวกันว่า ทาสในสยามประเทศมีที่มาเริ่มแรกจากการเป็นทาสเชลยศึก ซึ่งถูกกวาดต้อนให้มาเป็นแรงงานโดยฝ่ายที่ชนะสงคราม ในสมัยรัฐอยุธยาและรัฐกรุงเทพฯ นั้น ทาสแบ่งได้เป็นสองพวก

พวกแรก เรียกว่า “ทาสสินไถ่” เป็นทาสที่สามารถซื้ออิสรภาพของตนเองคืนได้ คือเป็นทาสที่มีภูมิหลังเป็นไพร่ที่เกิดยากจนลง แล้วไปกู้เงินจากเจ้านายหรือขุนนางมาใช้จ่าย แล้วไม่สามารถหาเงินมาคืนได้ตามกำหนด จึงต้องขายตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวไปเป็นทาส เมื่อมีเงินอีกครั้งหนึ่งจึงไปซื้ออิสรภาพกลับคืนมา

พวกที่สอง เป็นทาสเชลยศึกและลูกทาสเชลยซึ่งไม่มีสิทธิใดๆ

ทาสจึงจัดเป็นคนส่วนน้อยของสังคม โดยมีกฎหมายลักษณะทาสคุ้มครอง เช่น ห้ามมิให้นายทาสหรือนายเงินฆ่าหรือทำทารุณกรรมต่อทาส หรือห้ามมิให้ทาสไถ่ตัวระหว่างที่กำลังใช้แรงงานตามฤดูกาล เป็นต้น

นอกจากนี้ ทาสยังไม่มีสิทธิฟ้องนายเงินจนกว่าจะไถ่ตัวเองเสียก่อน ยกเว้นแต่จะฟ้องร้องความผิดของนายเงินที่จัดว่าเป็นโทษมหันต์เท่านั้น

พ้นไปจากสิทธิในทำนองดังกล่าวแล้ว ที่เหลือนอกนั้นก็คือ การที่นายเงินที่ใช้สอยทาสจะต้องชุบเลี้ยงทาส และมีโอกาสที่นายเงินจะปล่อยตัวทาสให้ทำงานเลี้ยงชีพโดยอิสระ ด้วยการกำหนดให้ส่งส่วยเป็นรายปี ซึ่งในพุทธศตวรรษที่ 23 ค่าส่วยตกปีละ 4-8 บาท

ด้วยเหตุนี้ ชีวิตทาสจึงดูมีหลักประกันมากกว่าไพร่ เป็นอยู่แต่ว่าจะถูกชดเชยด้วยขนบจารีตที่ทาสจะต้องยอมรับการดูถูกเหยียดหยามของสังคม และการได้รับหลักประกันจากกฎหมายและรัฐน้อยกว่าไพร่

ขนบจารีตในการดูถูกเหยียดหยามผ่านคำด่าตามที่กฎหมายระบุเอาไว้ เช่น คำด่าที่ว่า ขี้ครอก ขี้ขายคนกินทั้งโคตร ขี้ข้า เป็นต้น

เห็นได้ชัดว่า ทาสผูกพันกับไพร่อย่างแนบแน่นในฐานะที่เป็นทางออกที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับระบบไพร่ และต่อมาได้กลายเป็นหนทางหนึ่งของไพร่ในการหนีจากระบบไพร่ในชั้นหลัง

ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงอันใดก็ตามที่จะมีมาถึงระบบไพร่จึงย่อมส่งผลถึงระบบทาสไปด้วย

 

6 ภิกษุสงฆ์ ในช่วงที่ชนมุสลิมเริ่มเข้าไปมีอิทธิพลอยู่ในอินเดียเมื่อพุทธศตวรรษที่ 13 นั้น เป็นช่วงเดียวกับที่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทได้เข้ามามีบทบาทในสยามประเทศแล้ว และสามารถนำการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงให้แก่สยามประเทศในเวลาต่อมา

ความโดดเด่นที่สำคัญก็คือ การก่อกำเนิดกลุ่มชนที่มีฐานะพิเศษ ซึ่งอยู่นอกเหนือระบบไพร่และศาสนาพราหมณ์ที่เรียกว่า “ภิกษุสงฆ์” ขึ้นมา