แด่ทุกต้นกล้าความฝัน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เวียนมาอีกครั้ง

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

 

แด่ทุกต้นกล้าความฝัน

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เวียนมาอีกครั้ง

 

นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปลี่ยนปฏิทินการเปิดปิดภาคเรียนการศึกษา เป็นเทอมต้นเริ่มเรียนช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งก็เป็นมาเกือบสิบปีแล้ว

การบรรยายในวิชาการเมืองการปกครองไทยสมัยใหม่ของผมสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะพอดีกับหัวข้อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พอดีตามลำดับการบรรยายในช่วงปลายกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม

ในตลอดสิบปีที่ผมสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของนักศึกษาต่อความเข้าใจเหตุการณ์นี้ผมต้องบอกได้เลยว่า ผมเกิดความเข้าใจมากขึ้นว่า “ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของคนเป็น” มากกว่าเป็นเรื่องของคนตาย

ไม่ใช่ว่าสังคมไม่รู้หรือไม่เข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มันไม่ใช่ช่องว่างของประวัติศาสตร์อย่างที่เคยเข้าใจ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจเรื่องนี้

มันสำคัญแต่เพียงว่าบรรยากาศของสังคมขณะนั้นเป็นอย่างไร

ความเป็นประชาธิปไตยของสังคมมากแค่ไหน มันก็จะผลักดันพื้นที่ความทรงจำให้ถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ยามใดสังคมหดหู่สิ้นหวังหรือปกครองด้วยรัฐบาลอำนาจนิยมมันก็ผลักดันให้เหตุการณ์ 6 ตุลา มืดมนพร่ามัวไป

ไม่เกี่ยวกับว่าเวลาผ่านไปมากน้อยเพียงใด

 

“แล้วเราจะจดจำเหตุการณ์นี้อย่างไร” เป็นคำถามที่ผมถามในห้องเรียน ทุกครั้งที่การบรรยายหัวข้อนี้สิ้นสุดลง

ข้อถกเถียงนี้ เคยถูกนำขึ้นมาหยิบยกโดย อ.เกษียร เตชะพีระ ในบทความ “ทำไม 6 ตุลาถึงจำยาก” เมื่อเกือบสามสิบปีมาแล้ว โดยนำประเด็นการจัดการความทรงจำของ อ.ธงชัย วินิจจะกุล และ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขึ้นมาเทียบเคียง

แบบแรกคือการมอง 6 ตุลาในฐานะพื้นที่หลากหลายความทรงจำทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา มันจึงเหมาะสมกว่าในการมองภาพ 6 ตุลาในฐานะนักอุดมคติ

ขณะที่ อ.สมศักดิ์ พิจารณาว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องบอกว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือผู้ปรารถนาสังคมนิยม และพวกเขาก็อุทิศชีวิตเพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้

ในบทความของ อ.เกษียรได้วิเคราะห์เรื่องเหล่านี้โดยละเอียดไปแล้ว ผมไม่ขออธิบายซ้ำ แต่ขอถ่ายทอดความเห็นของนักศึกษาปี 2 ซึ่งพวกเขาส่วนมากเกิดในปี 2547-2548 หรืออายุราว 19-20 ปี ในปี 2566 นี้เอง

“ผมเคยถามคนรุ่น 6 ตุลาฯ แม้แต่คนที่สูญเสีย เขาก็ยังไม่อยากจดจำว่าตัวเองเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นสังคมนิยม หรือแม้แต่คนที่มีส่วน พวกเขาก็อยากสร้างข้อสรุปว่าพวกเขาทำเพราะความเข้าใจผิด ไม่มีคอมมิวนิสต์ หรือฝ่ายซ้ายในธรรมศาสตร์…บางทีเราก็มาถึงจุดที่ความเป็นซ้ายเป็นบาดแผลของคนรุ่นนั้น?” นักศึกษาคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต

“แต่หนูก็มองว่า ไม่ว่าจะนิยามตัวเองในปัจจุบันอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงเวลานั้นมันคือความปรารถนาในการสร้างสังคมนิยมจริงๆ ยิ่งถ้าเอามาตรฐานในปัจจุบันเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่เราพูดได้ตรงไปตรงมาต่อความคิดสังคมนิยมหรือต่อต้านทุนนิยม มันไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรเลยที่เราจะอธิบายว่า ความคิดฝ่ายซ้ายคือกระแสหลักในขณะนั้น และไม่ว่าจะมีความคิดแบบไหน ก็ไม่ทำให้ความชอบธรรมในความรุนแรงน้อยลง และไม่ทำให้ข้ออ้างว่าด้วยอุบัติเหตุและไม่ตั้งใจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะมันถูกเตรียมการมาไว้นานมากแล้ว”

 

ตามที่ผมได้บอกไปในช่วงแรกข้อถกเถียงเรื่องนี้ก็ยังคงมีรุ่นต่อรุ่นว่าด้วยความทรงจำของคนเป็นต่อคนตาย แล้วแต่จังหวะทางการเมือง และบรรยากาศในขณะนั้นที่จะจัดวางพื้นที่ของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

แต่สิ่งที่ผมอยากย้ำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีหน้าที่สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เราไม่สามารถเลี่ยงได้ ไม่ว่าเราจะรู้จักเหตุการณ์นั้นอย่างคร่าวๆ หรือลึกซึ้ง เจ็บปวดในหัวใจ หรือเพียงแค่รู้สึกกับมัน หน้าที่สำคัญคือการตอกย้ำให้เราเห็นถึงว่า คนธรรมดาล้วนมีความปรารถนาที่อยากให้สังคมนี้ดีขึ้น เท่าเทียมมากขึ้น เป็นของทุกคนมากขึ้น หรือยุติธรรมมากขึ้นไม่ว่าในความหมายใด

ผมเห็นเด็กนักเรียนจากสุพรรณบุรีส่งข้อความหาผมทางออนไลน์ว่าเธอสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างมาก เธอสงสัยว่าทำไมเธอต้องเป็นหนี้ กยศ.ตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย มันมีความผิดพลาดตรงไหนที่เกี่ยวกับตัวเธอเอง เธอยิ่งทำงานกลับยิ่งจน ยิ่งพยายามเรียนก็ยิ่งรู้สึกว่ามันไกลเกินฝัน

ผมว่านี่คือความฝันและความปรารถนาตัวเดียวกันกับเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้ล่วงมาแล้ว 47 ปีแล้ว

มีมิตรสหายที่กำลังตั้งครรภ์เธอถามผมว่า “ผู้ชายที่กล้าแสดงความเห็นสาธารณะว่าไม่ควรเพิ่มวันลาให้ผู้หญิงด้วยน้ำเสียงปรารถนาดีว่ากลัวผู้หญิงตกงานหมด…คนแบบนี้เติบโตมาอย่างไร?” เป็นคำถามที่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เราพบเจอสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอดแม้ผ่านมาเกือบครึ่งศตวรรษ

มีมิตรสหายแรงงานที่ต่อสู้แล้วโดนนายจ้างฟ้องปิดปากให้เงียบเสียง แต่พวกเขาก็ยังยืนยันและต่อสู้ต่อไป เดิมพันด้วยทุกสิ่งที่พวกเขามี

 

แม้เป็นยุคสมัยการทำงานทางการเมืองที่เปิดกว้าง

ผมเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ใช้แรงกำลังทุกอย่างที่พวกเขามี อยู่เบื้องหลังผลักดันงานทางนโยบายของพรรคการเมือง ให้ ส.ส. ให้แกนนำพรรคการเมืองได้หน้า ได้ยศถาบรรดาศักดิ์

ผมเจ็บปวดที่พวกเขายังมีชีวิตที่เปราะบางในสังคม แต่ยังยืนยันแนวทางรัฐสภา แนวทางประชาธิปไตย แม้ระบบการเมืองจะบิดเบี้ยว และมีนักฉวยโอกาสมากมาย แต่พวกเขาคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของประเทศนี้-คนที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย

ทั้งหมดมันคือต้นกล้าแห่งความฝัน การตั้งคำถามของคนธรรมดารุ่นแล้วรุ่นเล่า ต่อความผิดปกติของสังคมนี้

ตั้งคำถามต่อความร่ำรวยบนความยากจน

ตั้งคำถามต่อการมีอภิสิทธิ์เหนือชีวิตสามัญชน

ตั้งคำถามต่อความเมินเฉยและเงียบเสียงต่ออำนาจ

ซึ่งคือแก่นแท้สำคัญของการตั้งคำถามเพื่อ “ยืนยันความเป็นมนุษย์ของเรา”