สถานที่สรง ‘น้ำอมฤต’ จากการกวนเกษียรสมุทร บนภูเขาเปหนังกุนกันในภาคตะวันออกของเกาะชวา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ภูเขาเปหนังกุนกันอยู่ห่างจากเมืองทรอวูลัน ทางภาคตะวันออกของเกาะชวา ไปทางทิศตะวันออกไม่ไกลนักนะครับ (คือใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ราวหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น)

ตามตำนานฮินดู-พุทธพื้นเมืองอย่างชวาที่ชื่อ “ตันตุปังเกลารัน” เล่าว่า นานมาแล้วเหล่าเทพทั้งหลายช่วยกันยกเขามหาเมรุ (ก็ภูเขาลูกเดียวกันกับที่คุ้นปากคนไทยว่า เขาพระสุเมรุ นั่นแหละ) จากชมพูทวีปมาประดิษฐานไว้ทางทิศตะวันออกของเกาะชวา

แต่ระหว่างทางยอดทั้งแปดของเขาเมรุได้หักตกลงมาเสียก่อน จึงกลายเป็นเขาเปหนังกุนกัน

ส่วนตัวเขามหาเมรุเองได้นำไปประดิษฐานสำเร็จกลายเป็นภูเขาเมรุ ภูเขาที่สูงที่สุดบนเกาะชวา ซึ่งอยู่ถัดลงไปทางด้านทิศใต้ของภูเขาเปนังกุนกัน ใกล้กับเมืองมาลัง ศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่งของอารยธรรมชวาภาคตะวันออกนั่นเอง

จากตำนานที่ผมเล่ามาข้างต้น จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่ภูเขาเปหนังกุนกันจะเป็นที่ตั้งของจันทิ (ชนชาวชวาเรียกศาสนสถาน ไม่ว่าจะเป็นในศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู และสิ่งปลูกสร้างปะธานในนั้นว่า จันทิ คล้ายกันกับที่เขมรใช้คำว่า ปราสาท) มากมายถึง 81 แห่ง เพราะถือได้ว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์

และก็คงศักดิ์สิทธิ์มาแต่ดั้งเดิม ก่อนที่วัฒนธรรมอย่างพุทธ อย่างพราหมณ์-ฮินดู จากชมพูทวีปจะเข้ามามีบทบาทในเกาะชวาอย่างไม่ต้องสืบเลยทีเดียว

 

จันทิเก่าแก่ที่สุดที่พบอยู่บนภูเขาลูกนี้ตั้งอยู่ที่ไหล่เขาทางด้านทิศตะวันตกคือ “จันทิโจโลทุนโด” เป็นสถานที่สรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยมีจารึกระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1520 ครึ่งศตวรรษหลังจากที่ศูนย์กลางความเจริญของเกาะชวา ย้ายจากภาคกลางมาทางทิศตะวันออกของเกาะ

แม้ว่าจะไม่มีจารึกระบุว่าใครเป็นผู้สร้างจันทิหลังนี้ แต่ศักราชในจารึกดังกล่าวก็ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าอุทายานะ กษัตริย์ผู้เสด็จมาจากเกาะบาหลี (บางท่านสันนิษฐานต่างไปว่า คือพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 1 แห่งเมืองพระนคร กัมพุชเทศ) และได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงของชวาตะวันออกที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ของชวาภาคกลาง จนได้มีอำนาจปกครองบริเวณพื้นที่แถบนี้ การขุดแต่งที่จันทิแห่งนี้ยังได้พบจารึกของพระเจ้าอุทายานะด้วย

บันทึกของ J.W.B. Wardenaar ชาวยุโรปคนแรกผู้ได้ไปเยือนจันทิแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ.2358 ระบุว่า ตรงกลางของสระน้ำมีน้ำพุที่มีนาคพันอยู่ที่ฐาน แต่ Wardenaar คงไม่รู้ว่า นาคที่เขากล่าวถึงนั้นยังได้พันอยู่ที่ฐานของลึงค์หลายยอด ที่เจาะรูอยู่ที่ส่วนบนสำหรับให้น้ำไหลออกอีกด้วย

อย่างไรก็ดี บันทึกดังกล่าวถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเพราะเมื่อมีการบูรณะจันทิแห่งนี้ ลึงค์หลายยอดที่ว่าได้ถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่อื่นแล้ว

จันทิโจโลทุนโด บนภูเขาเปหนังกุนกัน สร้างเมื่อ พ.ศ.1520

การที่ลึงค์หลายยอดมีนาคพันอยู่ที่ฐาน มองดูคล้ายกับการกวนเกษียรสมุทรสำหรับคั้น “น้ำอมฤต” ที่ดื่มแล้วเป็นอมตะนะครับ

เพราะในปรัมปราคติของพ่อพราหมณ์ รูปร่างของลึงค์หลายยอดก็คล้ายคลึงกับเขาจักรวาลตามปรัมปราคติอยู่ไม่น้อย ในเชิงสัญลักษณ์แล้ว “ภูเขา” ในฐานะแกนของโลกก็ถูกกล่าวถึง หรือแสดงแทนด้วยภาพของ “ลึงค์” คืออวัยวะเพศชายอยู่เสมอ

ยิ่งเมื่อสร้างขึ้นบนภูเขาเปหนังกุนกันที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับเขาพระสุเมรุแล้ว ก็ยิ่งชวนให้คิดไปได้ว่าจันทิโจโลทุนโดเกี่ยวข้องกับคติการกวนเกษียรสมุทรเข้าไปใหญ่

เราอาจจะคุ้นชินเรื่องเล่าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในดินแดนต้นกำเนิดอย่างอินเดียว่า การกวนเกษียรสมุทรใช้ “เขามันทระ” เป็นแกนกลาง แต่นั่นเป็นเพราะเรารับรู้มาจากตำนานแขกชมพูทวีป ที่ฝรั่งไปศึกษา และประมวลมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม

และตำราแม่บทที่ว่าก็ไม่สามารถใช้ไปได้ทุกที่ เพราะในมหาภารตะฉบับภาษาชวาเก่า ภาคอาทิบรรพ ประพันธ์ขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1450-1550 กล่าวถึงการกวนเกษียรสมุทรโดยใช้เขาศูนย์กลางของจักรวาลอย่าง “เขาพระสุเมรุ” เป็นแกนกลางต่างหาก

(แน่นอนว่า ถ้าพ่อพราหมณ์จากอินเดียมาได้ยินเข้า ก็คงจะงงเป็นไก่ตาแตก ไม่ต่างจากผู้ยึดถือว่าหากเป็นเรื่องของพราหมณ์-ฮินดูแล้ว คัมภีร์จากอินเดียจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น พร้อมกับกล่าวหาว่า เอกสารโบราณของอุษาคเนย์นั้นได้รับการจดบันทึกมาอย่างเข้าใจผิดไปเสียอย่างนั้น)

ลึงค์หลายยอด ซึ่งเคยประดิษฐานเป็นประธานอยู่ที่จันทิโจโลทุนโด ส่วนยอดเจาะเป็นรูสำหรับให้น้ำไหลออกเหมือนน้ำพุ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่มิวเซียมเมืองทรอวูลัน

ปกรณัมความเชื่อที่มีรายละเอียดต่างไปจากอินเดียในทำนองเดียวกันนี้ก็มือยู่ในพิธีอมเรนทราภิเษก หรือการชักนาคดึกดำบรรพ์ (มาจากภาษาเขมรว่า ตึ๊ก-ตะบัน แปลว่าการตำน้ำ ไม่ได้หมายถึงความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์) คือพิธีการกวนน้ำอมฤต ในกฏหมายตราสามดวงของอยุธยา ที่ก็เขียนเขาพระสุเมรุเป็นแกนเหมือนกัน คติที่ต่างไปจากอินเดียเรื่องนี้มีอยู่ในอยุธยาแน่แต่จะเกี่ยวกับชวาหรือไม่จำต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในชั้นหน้า

สถานที่สรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่โจโลทุนโดนี้ เกี่ยวข้องกับคติน้ำอมฤตอย่างชัดเจน แต่แนวคิดในการสร้างสถานที่สรงน้ำเช่นนี้ ไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนในภาคกลางของชวา วัฒนธรรมอื่นๆ ในอุษาคเนย์ รวมถึงต้นแบบของวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ในชมพูทวีป หรือลังกาทวีปเลย เพิ่งจะมีปรากฏก็ในชวาภาคตะวันออกนี่แหละ

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามาจากที่ไหน ต้องเป็นคติพื้นเมืองแน่ เพียงแต่เอาเทพปกรณ์พราหมณ์อินเดียมาฉาบทับไว้เท่านั้นแหละครับ

สถานที่สรงน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งอื่นๆ เองดูจะไม่เชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องน้ำอมฤตชัดเจนเท่ากับที่โจโลทุนโดนัก

 

จันทิเบลาหันสร้างขึ้นบนเขาเปหนังกุนกัน โดยพระเจ้าไอร์ลังคะมหาราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอุทายานะ เป็นสถานที่สรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ แต่น้ำที่ไหลลงสู่ในสระออกมาพระถัน สัญลักษณ์ของเพศแม่ และความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน เทวีองค์นี้มักจะถูกอธิบายว่าคือ พระลักษมี ชายาของพระวิษณุ

การออกแบบสถานที่สรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองแห่งนี้จึงแตกต่างในเชิงแนวคิดกันค่อนข้างมาก ที่เบลาหัน สระน้ำเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด และดูเป็นพื้นเมืองมากกว่า สถานที่สรงน้ำอีกมากทั้งที่อยู่ในชวาภาคตะวันออกเอง และบนเกาะบาหลี ก็มักจะสร้างขึ้นในคติเดียวกับเบลาหัน เพราะมีแนวคิดในการออกแบบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ที่เราคิดว่าเป็นพราหมณ์ เป็นพุทธแน่ๆ แล้วชอบยกว่าเป็นของอิมพอร์ตมาจากอินเดียไปซะหมด จะได้เข้ม จะได้ขลัง ดูให้ดีแล้วจะรู้ว่าไม่มีหรอกในอินเดีย ของพื้นเมืองทั้งนั้น แค่จับบวชพุทธบวชพราหมณ์ให้ดูศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น

ในบ้านเราก็เหมือนกัน ที่อินเดียไม่มีหรอกครับ ทั้งโล้ชิงช้า ทั้งจับคนมาแต่งเป็นเทวดาในงานแรกนาขวัญ ยังไม่นับรวมอีกหลายพิธี ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวในศาสนาผีพื้นเมืองอุษาคเนย์ ที่ได้จับเอาเทพปกรณ์จากอินเดียมาฉาบทับไว้บังหน้าก็เท่านั้น •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ