รู้จัก ‘ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์’ ดาวสภาคนเชียงใหม่จาก ‘ก้าวไกล’

“ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์” คือคนเชียงใหม่โดยกำเนิด แม้จะมีชื่อเล่นว่า “ตี๋” แต่เขากลับเป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ

ภัทรพงษ์จบการศึกษาระดับมัธยมจากมงฟอร์ตวิทยาลัย แล้วเข้าเรียนปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ก่อนจะบินไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ สาขาโครงสร้าง ในหลักสูตรร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเอดินบะระ และมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ที่สกอตแลนด์

หลังประกอบอาชีพเป็นวิศวกร ทำงานสายเอกชน และดำเนินธุรกิจส่วนตัวอยู่พักหนึ่ง คนหนุ่มรายนี้ก็หันเหตนเองเข้าสู่แวดวงการเมือง และกลายเป็น ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 (หางดง สันป่าตอง) ได้อย่างพลิกความคาดหมาย

ส.ส.ตี๋ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตนเองสนใจ “งานการเมือง” ผ่านรายการ “มีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เมื่อวันที่ 24 กันยายน ว่า

“ผมมองว่าการแก้ไขปัญหา มันต้องเริ่มจากในสภาผู้แทนราษฎรก่อน อย่างแรกเลยที่ผมเริ่มเข้ามาในการเมือง ก็คือปี 2561 จะมีโครงการชื่อ ‘ไทยนิยมยั่งยืน’ ที่จะให้ชุมชนละสองแสนบาท

“ตอนนั้น ก็ยังไม่มีความเข้าใจในการเมืองอะไรเลย แต่ว่าผู้นำชุมชนเขาอายุค่อนข้างสูง แล้วเขาไม่สามารถที่จะทำได้ เขาก็เลยมาขอให้เราที่เพิ่งจบวิศวกรโครงสร้างมาช่วยทำ ผมก็รับปาก เพราะอยากทำอะไรเพื่อบ้านที่เราเกิดมาอยู่แล้ว

“เราเริ่มจากขั้นตอนแรก ประชามติเสร็จ จัดทำแผนเสร็จ ทำทุกอย่างเสร็จแล้ว ขั้นตอนที่เราผ่านมาทั้งหมด เราเห็นถึงสิ่งที่มันไม่ควรต้องเกิดขึ้นในการเมืองไทย ในปีที่มันโมเดิร์น (เป็นยุคสมัยใหม่) แล้ว

“พอเราเห็นเรื่องนี้ เรา ‘ข้ามเรื่องนี้’ ได้ทั้งหมด พูดตรงๆ เลยก็คืออาจจะมีเรื่องใต้โต๊ะ เรื่องคอร์รัปชั่น การยื่นข้อเสนอต่างๆ พอเราทำโครงการแล้วเสร็จ เราใช้งบประมาณเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย สองแสนผมใช้เต็มๆ สองแสน แล้วมันจึงเกิดการเปรียบเทียบระหว่างโครงการของเรากับโครงการอื่นๆ

“เมื่อประชาชนเห็นการเปรียบเทียบ ประชาชนมีความสุขกับโครงการที่เขาได้รับอย่างเต็มๆ ทุกครั้งที่ผมขับรถผ่าน (ถนน) เส้นนี้ ผมจะเห็นประชาชนใช้โครงการที่ออกกำลังกายผู้สูงวัย ก็คือมีหลังคา มีโซลาร์เซลล์ แสงสว่างเวลากลางคืน พอผมเห็นความสุขของประชาชนที่มาใช้บริการตรงนี้ ผมก็มีความสุขไปด้วย

“ผมเลยเริ่มมีความคิดว่า ถ้าเราสามารถทำโครงการเล็กๆ แบบนี้ แล้วประชาชนมีความสุข แล้วผมมีความสุขมากขนาดนี้ ถ้าเกิดเราสามารถทำอะไรที่มันใหญ่กว่านั้นได้ ผมเชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมาก”

 

อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองแรกที่ภัทรพงษ์เข้าไปเรียนรู้งานการเมือง กลับเป็นพรรคเพื่อไทย

“ช่วงประมาณกลางปี 2562 ได้เริ่มทำความรู้จักกับการเมืองจริงๆ ศึกษาการเมืองจริงๆ เริ่มต้นจากการทำงานกับพรรคเพื่อไทยในส่วนของท้องถิ่นก่อน

“เหมือนเป็นการเปิดโลกทางการเมือง เพราะตอนนั้นเราค่อนข้างใหม่มาก จบจากเมืองนอกมา ทำงานวิศวกรมา แล้วก็ไม่เข้าใจการเมืองในแบบที่เข้าใจในปัจจุบัน ก็จะมีความเชื่อที่ว่าการไปงานศพเป็นการไม่ให้เกียรติเจ้าภาพหรือเปล่า? เพราะว่าเราเป็นเหมือนไปหาเสียงในงานของเขา

“แต่เราไม่ได้เข้าไปแบบน้ำเต็มแก้ว เราเข้าไปเพื่อที่จะเรียนรู้ เราเลยเข้าใจว่าการที่เราไป (งานศพ) แบบนี้ ประชาชนเขามองว่าเป็นการให้เกียรติเขา เราก็เริ่มทำความคุ้นเคยในหลายๆ มุมมองไปเรื่อยๆ แล้วก็เข้าใจความคิดของประชาชนมากขึ้น และเข้าใจว่าการเมืองมันเป็นแบบนี้ เราจะมาทำแบบใหม่อย่างเดียวที่เราคิดว่ามันถูกต้อง ไม่ได้

“เราต้องมองในบริบทของวัฒนธรรมทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมาด้วย”

เมื่อพิธีกรอย่าง “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ซักต่อ ถึงเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกอำลาพรรคเพื่อไทย ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 ตอบคำถามนี้ไว้ว่า

“ประเด็นหลักๆ เลยที่เป็นสาเหตุให้ผมรู้สึกว่าต้องย้ายพรรค นั่นก็คือเรื่องของการทำงานมาระหว่างหนึ่งปี ผมยังไม่ได้จับประเด็นเชิงนโยบายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้จริงๆ ก็เป็นเรื่อง (สร้างเครือข่าย) การเมืองอย่างเดียว

“จนทำให้ผมรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่ทางที่จะตอบโจทย์กับผม ผมจึงต้องออกจากทางนั้น แล้วมาหาทางใหม่ๆ ที่เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้จริงๆ”

 

แต่กว่าจะกลายเป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกลได้ ภัทรพงษ์ต้อง “ฝ่าด่านอรหันต์” มามากมายหลายยก

“ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมปี 2563 ก้าวไกลมีการโพสต์ทางเฟซบุ๊ก รับสมัครว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ผมก็สมัครในเฟซบุ๊กไปเลย แล้วก็มีการยื่นซีวี (เอกสารประวัติส่วนตัวและประสบการณ์การทำงาน) ไป หลังจากนั้น ประมาณ 4-5 เดือน ก็มีการติดต่อกลับมาว่า คุณผ่านในขั้นตอนของซีวี

“วันนั้นเป็นวันที่ผมจำไม่ลืม โทรศัพท์สายนั้นผมจำไม่เคยลืม โทรศัพท์มาบอกว่าคุณภัทรพงษ์ครับ คุณสนใจที่จะมาสมัครเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกลไหม? ผมก็ตอบกลับแบบไม่อายเลย สนใจครับ

“แล้วเขาก็เลยส่งรายละเอียดทางอีเมลกลับมาว่า เราต้องทำอย่างไรต่อ ก็คือจะเป็นกูเกิลฟอร์ม กรอกชื่อ-นามสกุลใหม่หมด คราวนี้จะมีคำถามพ่วงด้วย

“จะมีทั้งหมด 5 คำถาม เราเลือกตอบได้ 3 คำถาม ผมจำรายละเอียดไม่ได้ชัดเจน แต่มีข้อหนึ่งที่จำได้ก็คือ ความแตกต่างของระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ และสิ่งที่คุณต้องการจะให้เป็น อันนี้ก็พูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ

“พอมีขั้นตอนของคำถามเสร็จ เมื่อผ่านก็จะมีโทรศัพท์มาอีกรอบหนึ่ง บอกว่า ผ่านขั้นนี้แล้ว ก็ขั้นตอนต่อไป นั่นคือการส่งคลิปวิดีโอ ตอนนั้น มีสองคำถาม คำถามแรก คำถามยอดฮิตก่อน ทำไมถึงต้องก้าวไกล? คำถามที่สอง ถ้าเป็น ส.ส. แล้วคุณจะผลักดันประเด็นอะไร?

“หลังจากผ่านรอบคลิปนี้ก็ยังไม่จบ มีอีกรอบหนึ่ง ตอนนั้นเป็นช่วงของโควิดเลยต้องเป็นการสัมภาษณ์ผ่านซูม อันนี้ตื่นเต้นมาก เนื่องจากพรรคเราเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ ผู้สัมภาษณ์ตอนนั้นก็จะเป็นคนของจังหวัด (ผู้ประสานงานจังหวัด) ของภาคเหนือ (ผู้ประสานงานภาคเหนือตอนบน) แล้วก็ส่วนกลาง (ส.ส. และคณะกรรมการบริหารพรรค) มาร่วมสัมภาษณ์

“ทั้งหมดน่าจะประมาณ 5-6 คน แต่คนที่ถามผมเยอะๆ ก็จะเป็นท่านรองประธาน (สภาผู้แทนราษฎร) ปัจจุบัน พี่อ๋อง (ปดิพัทธ์ สันติภาดา) คำถามก็ค่อนข้างที่จะโหดอยู่เหมือนกัน เป็นเรื่องของประเด็นนโยบายต่างๆ แล้วก็เรื่องวิสัยทัศน์ เรื่องของแนวคิดทางการเมือง

“ผ่านด่านนี้คือผ่านแล้ว (สัมภาษณ์รอบสุดท้าย) น่าจะประมาณช่วงเดือนมิถุนายน (2564) เดือนกรกฎาคมก็หายเงียบไป แล้วประมาณช่วงต้นเดือนสิงหาคมก็มีโทรศัพท์จากท่านรองประธานอีกเช่นเคย หมออ๋องก็โทร.มาบอกว่ายินดีด้วยครับ (คุณ) ได้เป็นว่าที่ผู้สมัครจังหวัดเชียงใหม่”

 

ตลอดสองปี จาก พ.ศ.2564-2566 ภัทรพงษ์ รวมทั้งเพื่อนผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล โซนภาคเหนือตอนบน ได้เข้าทำงานในพื้นที่อย่างหนักและต่อเนื่อง แต่กระนั้น ความมั่นใจทางการเมืองเพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี่เอง

“ตั้งแต่วันที่มีการรับสมัคร วันแรกที่ได้เบอร์ วันนั้นผมประเมินว่าค่อนข้างที่จะสูสีมากๆ พอมาช่วงสงกรานต์ เริ่มมั่นใจว่าเรามีการนำ จากการตอบรับของประชาชน สิ้นเดือนเมษายน ผมมั่นใจแล้วว่าตอนนี้เราสามารถชนะได้ เพราะว่าเรามีนโยบายที่ชัดเจน แล้วเราสื่อสารกับประชาชนได้อย่างเต็มที่มากที่สุด”

ความมั่นใจดังกล่าวได้รับการยืนยันด้วยผลการเลือกตั้ง ซึ่งในเขตที่ 8 ของจังหวัดเชียงใหม่ ภัทรพงษ์ได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียง 50,878 คะแนน ทิ้งห่างอันดับสอง คือ “ณัฎฐ์พัฒน์ รัฐผไท” จากเพื่อไทย ที่ได้ 35,237 คะแนน

เมื่อเข้าสภามา ผู้แทนราษฎรสมัยแรกรายนี้ ก็ได้รับคำชมเป็นอย่างมากจาก “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ประเมินว่า ส.ส.ตี๋ คือหนึ่งในผู้แทนฯ ก้าวไกล ซึ่งมีผลงานการอภิปรายโดดเด่น ในวาระการแถลงนโยบายรัฐบาลที่เพิ่งผ่านพ้นไป

เรื่องนี้ เจ้าตัวยกเครดิตให้แก่ “ครูสอนการอภิปราย” สองคนของเขา คือ “หมอเก่ง-วาโย อัศวรุ่งเรือง” และ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” สอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เคยมีประสบการณ์ในสภามาแล้วคนละหนึ่งสมัย

“ผมจำคำสอนของหมอเก่งได้ครั้งหนึ่งชัดเจนเลย ตอนนั้นเป็นการ learning by doing คือพูดให้แกฟัง แล้ววันนั้นเป็นคอมเมนต์ที่ผมจำไม่เคยลืม เป็นคอมเมนต์ตรงๆ ที่ดีมาก แกบอกว่า ‘ถ้าเป็นอย่างนี้ ผมไม่เลือก’ ซึ่งมันก็จริง เพราะตอนนั้น เราพูดแบบเป็นกราฟตรงเลย ฟีดแบ็กแบบนั้นทำให้เราได้รู้ข้อเสียของตัวเอง แล้วเราก็พัฒนาขึ้นได้…

“พี่วิโรจน์จะไม่ได้สอนในเชิงของการต้องดุเดือด พี่วิโรจน์จะสอนว่า เราควรจัดเนื้อหาอย่างไร เราควรวางสคริปต์อย่างไรมากกว่า แล้วก็เรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย อันนี้ได้พี่วิโรจน์เต็มๆ

“แกก็จะมีการแนะนำว่า ต้องมีแอ๊กชั่นที่แสดงให้เห็นความจริงจังบ้าง เพราะเราจะไปยึดติดกับสคริปต์อย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำให้คนฟังทราบว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องการสื่อสารออกมาจริงๆ”