E-DUANG : ยุทธศาสตร์ ไม่”เลือกตั้ง”

หากติดตามบทบาทของ “พรรคประชาธิปัตย์”ในห้วงนับแต่เดือน พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา

จะสัมผัสได้ใน “ความร้อนแรง”

ร้อนแรงจากกรณี “ยางพารา” ไปยังกรณีอันปะทุขึ้นระหว่าง ครม.”สัญจร” ที่สงขลา ปัตตานี

ตามมาด้วย จดหมายเปิดผนึกจาก ชวน หลีกภัย

ตามมาด้วย การออกโรงในเรื่องแก้ไขพรป.ว่าด้วยพรรคการ เมือง และลงเอยที่ “พรรคประชารัฐ”

แล้วเข้าสู่การตั้งแง่ต่อ”มาตรา 44″

ไม่ว่ามาตรา 44 ต่อปัญหา “ยางพารา” ไม่ว่ามาตรา 44 ต่อพรป.ว่าด้วย “พรรคการเมือง”

ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ

 

ความเด่นชัดมิได้อยู่ในประเด็นเพียง 1 คสช.ไม่เอาพรรคการเมืองเก่าซึ่งหมายรวมพรรคประชาธิปัตย์อยู่ด้วย

หาก 1 คือ ภาวะไม่แน่นอนเรื่อง “เลือกตั้ง”

มีความเชื่อโดยพื้นฐานมานานพอสมควรแล้วว่า คสช.และพันธมิตรไม่อยากให้มี “การเลือกตั้ง”

เพราะเลือกตั้งเมื่อใดก็ “แพ้”เมื่อนั้น

ไม่ว่าจะแพ้ต่อพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะแพ้ต่อพรรคประชาธิปัตย์

ล้วนเป็นสัญญาณ”ร้าย” ต่อ “คสช.”

แค่ได้ยินคำว่า “เลือกตั้ง” ก็สยดสยองในหัวใจของคสช.อย่าง ยิ่งแล้ว เพราะหมายถึงการนับถอยหลังในทางการเมือง และหมายถึงความพ่ายแพ้

เท่ากับยืนยัน รัฐประหาร”เสียของ”อีกครั้ง

 

เมื่อนำเอาความแข็งกร้าวไม่ยอม”ปลดล็อก” และความพยายามในการแก้ไขพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ไม่ว่าแก้โดย”มาตรา 44″ ไม่ว่าแก้โดย”สนช.”

เป้าหมายปลายทางล้วนเป็นอย่างเดียวกัน นั่นก็คือ การยื้อและการยืดเพื่อทอดเวลา “การเลือกตั้ง”

กระทั่งเป็นไปได้ว่า “ไม่เลือก” ได้ก็จะยอดเยี่ยม

เพราะยุทธศาสตร์”ไม่เลือกตั้ง”นั่นแหละจะก่อสภาพการณ์ทางการเมืองในแบบเดียวกับที่ปรากฏในพรรคประชาธิปัตย์

นั่นก็คือ คสช.จะกลายเป็น”ตำบลกระสุนตก”