อิสลามการเมือง และหลังอิสลามการเมือง (1)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

อิสลามการเมือง

และหลังอิสลามการเมือง (1)

 

ตัลมีด อะห์มัด (Talmiz Ahmad) อดีตเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำโอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสถาบัน Ram Sathe สำหรับการศึกษาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Symbiosis International ในเมือง Pune อินเดีย กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านในโลกมุสลิมจากอิสลามการเมืองจนมาถึงการสลายตัวลงของอิสลามการเมืองเอาไว้อย่างน่าสนใจสรุปได้ว่า

การแสดงออกที่มุ่งสู่การนำเอาแนวคิดจากศาสนาอิสลามมาปรับใช้ในทางการเมืองทั้งหมดกำลังถูกลบเลือนจากพื้นที่สาธารณะทั่วเอเชียตะวันตกอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ เขาได้ตั้งคำถามว่าจะมีอะไรมาแทนที่อิสลามการเมืองได้บ้างและจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน?

ทั้งนี้ อิสลามการเมืองในการแสดงออกที่หลากหลาย – ไม่ว่าจะเป็นระเบียบของรัฐวะฮาบีในซาอุดีอาระเบีย ขบวนการภราดรภาพมุสลิมที่ถือกำเนิดในอียิปต์ หรือขบวนการญิฮาดอันถือเป็นแนวทางแห่งการนำอิสลามทางการเมืองมาใช้ ต่างก็เข้าครอบงำการเมืองในเอเชียตะวันตกมานานกว่าสี่ทศวรรษ ซึ่งโดยปกติแล้วในแต่ละแนวความคิดก็จะแสดงพลังให้เห็นในกลุ่มก้อนของตนเอง

อิสลามในฐานะที่เป็นอิทธิพลทางการเมืองในยุคร่วมสมัยเริ่มปรากฏให้เห็นในปลายทศวรรษ 1960 เมื่อกองทัพอียิปต์และซีเรียประสบความพ่ายแพ้ในปี 1967 การพ่ายแพ้ดังกล่าวได้เปลี่ยนอิทธิพลของภูมิภาคจากสาธารณรัฐอาหรับที่ฝักใฝ่ระบอบฆราวาสนิยมไปสู่ระบอบกษัตริย์ซึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบีย

ราชอาณาจักรนี้ไม่ยอมสูญเสียเวลาไปในการยืนยันความเป็นผู้นำของโลกอาหรับและอิสลามโดยการจัดประชุมสุดยอดของประเทศอิสลาม (Islamic Summit) ในกรุงราบัตในปี 1969 หรือเมื่อ 54 ปีที่แล้ว

จากนั้นจึงจัดตั้งการประชุมอิสลามผ่านองค์กรที่เรียกว่าองค์กรการประชุมอิสลาม (OIC) ในนครญิดดะฮ์ในปีเดียวกัน

ต่อมาในปี 2008 องค์กรนี้เปลี่ยนชื่อเป็นองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)

 

ญิฮาดระดับโลกในอัฟกานิสถาน

นอกเหนือไปจากการควบคุมของรัฐ ปัญญาชนชาวอาหรับบางคนในทศวรรษที่ 1960 ยังใช้หลักการและค่านิยมของอิสลามมาพัฒนาอุดมการณ์การต่อต้านเพื่อเผชิญหน้ากับผู้เป็นศัตรูที่มองว่าเป็นศัตรูของศรัทธาและผู้ยึดมั่นในศาสนา รวมถึงการเผชิญหน้ากับระบอบเผด็จการในภูมิภาคและมหาอำนาจตะวันตกที่พยายามควบคุมพวกเขา ผ่านการสนับสนุนทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร

เริ่มจากการชุมนุมของผู้นับถือศาสนาอิสลามที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐและการไตร่ตรองของปัญญาชน ซึ่งทำให้พวกเขาได้พบพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ในอัฟกานิสถานในปี 1979 ที่ซึ่งรัฐและนักคิดร่วมมือกันระดมการทำ “ญิฮาดทั่วโลก”

หรือการใช้ความพยายามและการต่อสู้ในหนทางของศาสนาเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต ซึ่งสนับสนุนอุดมการณ์ “ไม่มีพระเจ้า” ในประเทศมุสลิม

การญิฮาดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 20 หลังจากที่สุลต่าน (สุลฏอน) ออตโตมานประกาศใช้การญิฮาดในปี 1914 การต่อสู้ดังกล่าวได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยสามรัฐซึ่งเป็นพันธมิตรในสงครามเย็น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย และปากีสถาน ซึ่งให้ทุนสนับสนุน ปลูกฝัง ติดอาวุธ ฝึกฝนและมอบประสบการณ์ในสนามรบให้กับเยาวชนมุสลิมหลายพันคนจากประเทศต่างๆ และชุมชนมุสลิมเกือบทั้งหมด รวมทั้งรัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันตกและที่อื่นๆ แข่งขันกันเพื่อส่งนักรบศักดิ์สิทธิ์ไปยังสมรภูมินี้ ที่ซึ่งผู้ศรัทธาต่อสู้กับความไม่มีพระเจ้า

การญิฮาดได้รับการหนุนช่วยด้านการบริหารและการขนส่งจากอุซามะฮ์ บิน ลาดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลธุรกิจชั้นนำของซาอุดีอาระเบีย ในปี 1988 เขาตั้งชื่อองค์กรของเขาว่า อัลกออิดะฮ์ หรือฐาน

การญิฮาดระดับโลกที่รัฐสนับสนุนในอัฟกานิสถานมีผลกระทบที่ไม่ได้เป็นความตั้งใจตามมา

นั่นคือกลุ่มนักต่อสู้ที่ใช้การญิฮาด (Jihadis) มองว่าการถอนกำลังออกไปของโซเวียตในปี 1989 เป็นชัยชนะที่พระเจ้าประทานให้

นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญครั้งแรกในการใช้อาวุธของชาวมุสลิมเพื่อการต่อต้านมหาอำนาจโซเวียตในรอบหลายศตวรรษ

ดังนั้น อัฟกานิสถานจึงวางรากฐานของการญิฮาดข้ามชาติเอาไว้บนผืนแผ่นดินแห่งนี้และเปิดฉากการต่อต้านอำนาจรัฐทั้งใกล้และไกลที่เป็นศัตรูของความเชื่อ รวมทั้งผู้ปกครองในเอเชียตะวันตกและผู้ให้การสนับสนุนจากต่างประเทศ

การญิฮาดในอัฟกานิสถานทำให้การนำอิสลามมาเป็นหัวใจของการเมืองในเอเชียตะวันตกขยายตัวต่อมาอีกยาวนานถึง 40 ปี

 

การแสดงออกของการใช้อิสลามการเมือง

อิสลามการเมือง หรืออิสลามนิยม เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาเพื่ออธิบายหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่ใช้โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อกำหนดระเบียบทางการเมืองที่มาจากศาสนาอิสลาม

ผู้เชื่อในอิสลามการเมืองทุกคนยืนยันว่าหลักการของศาสนาอิสลามตามที่เข้าใจนั้นมาจาก “ยุคทอง” แห่งความศรัทธา

มันเป็นช่วงเวลาที่มาจากศาสดาและสหายของท่าน ช่วงเวลานี้เรียกว่ายุคของสลัฟ อัซศอลิฮ์ (Salaf al-Salih) ซึ่งเป็น “บรรพบุรุษที่เคร่งครัดศาสนา” ที่มักจะหมายถึงผู้คนสามรุ่นแรกของชาวมุสลิม

นับเนื่องจากอัลกุรอานและสิ่งที่ศาสดาได้กล่าวเอาไว้และทำให้เห็น (หะดีษหรือจริยวัตร) ในช่วงเวลานี้ ตลอดจนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลเหล่านี้ที่มาจากนักวิชาการรุ่นหลัง ผู้นับถือศาสนาอิสลามเชื่อว่าสังคมมุสลิมในอุดมคติสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ในปัจจุบัน

ดังนั้น อิสลามที่เดินตามแนวคิดของคนในยุคต้นจึงถูกเรียกว่าอิสลามตามแนวคิด “สลาฟี”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้นับถือศาสนาอิสลามจะกลับไปสู่แหล่งที่มาดั่งเดิมของอิสลาม แต่ความหมายที่พวกเขาได้รับจากแหล่งที่มานั้นแตกต่างกันมาก

อิสลามการเมืองในปัจจุบันจึงมีสามการแสดงออกหลัก คืออิสลามนิยมแบบเงียบเฉย

อิสลามแบบเคลื่อนไหว

และอิสลามที่ถูกนำมาตีความไปในทางสุดโต่งและไม่ตรงกับคำสอนที่แท้จริง

อิสลามนิยมแบบเงียบเฉยเป็นแนวทางแห่งความเคร่งครัดที่มีอยู่ในอิสลามการเมือง ผู้นับถือศาสนาอิสลามตามวิถีเช่นนี้ยืนกรานที่จะศึกษาอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับแหล่งที่มาเบื้องต้นของอิสลามและการเรียนรู้คำสอนที่แท้จริงของศาสนา ในพื้นที่ทางการเมือง

พวกเขาเชื่อฟังผู้ปกครองแม้กระทั่งผู้ปกครองที่กดขี่ข่มเหง พวกเขาปฏิเสธการกบฏอย่างเปิดเผยและสนับสนุนคำแนะนำของผู้ปกครองโดยแทบจะไม่ตั้งคำถามใดๆ

วิถีการนับถือศาสนาอิสลามตามรูปแบบนี้สะท้อนให้เห็นได้ดีที่สุดในการใช้หลักคำสอนตามแนวคิดวะฮาบีอันเป็นรากฐานของระเบียบรัฐของซาอุดีอาระเบีย

ซึ่งอำนาจทางการเมืองตกอยู่กับผู้ปกครองซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน

ในทางกลับกัน ประชาชนก็กลายมาเป็นหนี้ความภักดีและการเชื่อฟังผู้ปกครองอย่างไม่มีข้อกังขา

กิจการของกลุ่มอิสลามนิยมตามแนวทางนี้สะท้อนให้เห็นในอุดมการณ์ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) องค์กรนี้ตั้งขึ้นในประเทศอียิปต์เมื่อปี 1928 โดยนักวิชาการที่มีชื่อว่าหะซัน อัล-บันนา (Hasan al-Banna) เพื่อต่อต้านอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือโลกมุสลิม

 

Al-Banna ปฏิบัติภารกิจของเขาด้วยการส่งเสริมคุณค่าและหลักการของศาสนาอิสลามในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกฎหมายและบรรทัดฐานของอิสลาม

เขาเรียกร้องให้ “กลับคืนสู่อิสลาม” โดยอิสลามในมุมมองของเขาคือ “ศรัทธาและพิธีกรรม ชาติและสัญชาติ ศาสนาและรัฐ จิตวิญญาณและการกระทำ คัมภีร์อันประเสิรฐและดาบ”

เมื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิมรวบรวมผู้ติดตามจำนวนมากในอียิปต์เข้าด้วยกันได้มันได้นำไปสู่ความตื่นตระหนกกับสถาบันกษัตริย์และผู้นำพรรคสาธารณรัฐในเวลาต่อมาอย่างกะมั้ล อับดุลนาซิร (นัสเซอร์) อันวาร์ ซาดัต และฮุสนี มุบาร็อก ซึ่งเห็นว่ากลุ่มภราดรมุสลิมเป็นภัยคุกคามทางการเมือง

เกือบตลอดศตวรรษที่ผ่านมา กลุ่มภราดรมุสลิมจึงถูกห้าม สมาชิกของกลุ่มต้องทำงานใต้ดินและให้บริการในระดับรากหญ้า

กลุ่มภราดรภาพมุสลิมยังมีพันธมิตรทางอุดมการณ์ในหลายประเทศอาหรับ แม้ว่าส่วนใหญ่ทำงานอย่างเป็นอิสระจากองค์กรในอียิปต์ก็ตาม

จากทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นไปสมาชิกของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่มีอายุน้อยกว่าในประเทศอาหรับต่างๆ เริ่มผสมผสานหลักการของศาสนาอิสลามเข้ากับหลักการของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยอาศัยความเข้าใจในแหล่งที่มาของอิสลาม

พวกเขาให้ความสำคัญกับแนวคิดที่เป็นแกนกลางของมัสละฮะ (masalaha – สวัสดิการสาธารณะ) ที่นำมาจากหลักการอิสลามดั้งเดิมของการชูรอ (การปรึกษาหารือ), อัดล์ (ความยุติธรรม), กะรอมะฮ์ (ศักดิ์ศรี), แนวคิดประชาธิปไตยและเสรีภาพทางศาสนา, ความเสมอภาค, ความหลากหลายและความรับผิดชอบของผู้ปกครอง

 

ปัญญาชนอิสลามสมัยใหม่ที่ต้องการนำเอาหลักการอิสลามมาใช้ในทางปฏิบัติเป็นครั้งแรกที่กำเนิดขึ้นในกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อผู้นำทางปัญญาและการเมืองของอินเดีย (ต่อมาเป็นปากีสถาน) เมาลานา อบุล อลา เมาดูดีย์ (Maulana Abul Ala Maududi) และนักวิชาการชาวอียิปต์ ซัยยิด กุฏบ์ (Sayyid Qutb) ให้ความสำคัญกับการญิฮาด (Jihad) หรือการต่อสู้ดิ้นรนในหนทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกป้องอิสลามจากศัตรูและสร้างระเบียบของพระเจ้าขึ้นบนโลก

ซัยยิด กุฏบ์ เรียกร้องให้มี “การปฏิวัติที่เปิดกว้างและสมบูรณ์” เพื่อแทนที่ระบอบการปราบปราม การกักขัง และการทรมาน

ทั้งนี้ ทั้งอัล-บันนา และกุฏบ์ มีความเชื่อว่า “สังคมที่มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง” ยังไม่เห็นขอบเขตใดที่จะประนีประนอมกับศัตรูของพระเจ้าได้