เบิ่งอีสานภายหลังการปฏิวัติ : ตะลอนไปกับทีมปาฐกถาประชาธิปไตย (5)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

เบิ่งอีสานภายหลังการปฏิวัติ

: ตะลอนไปกับทีมปาฐกถาประชาธิปไตย (5)

 

เมื่อการปฏิวัติ 2475 คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชาธิปไตย ไปสู่ประชาธิปไตย เป็นการเปลี่ยนแปลงจากการปกครองที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ไปสู่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเหมือนหนึ่งการทำ “สังคมสัญญา”

ปรีดี พนมยงค์ ตีความการปฏิวัติ 2475 ว่า คือการทำสัญญาประชาคมให้พระมหากษัตริย์คืนอำนาจกลับสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอยู่แต่เดิม ดังการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในฐานะตัวแทนระบบราชาธิปไตยเหนือกฎหมาย ได้โอนอำนาจของระบบนั้นกลับคืนให้ปวงชนเป็นข้อตกลงอันเป็นสัญญาระหว่างระบบเก่ากับปวงชนชาวไทยที่จะได้สิทธิประชาธิปไตยสมบูรณ์ ข้อตกลงชนิดนี้คือ สังคมสัญญาที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งไม่อาจะละเมิดได้ (ปรีดี , 2516)

เขมชาติ บุณยรัตนพันธุ์ และหนังสือ “นักการเมือง” (2478)

ความตื่นตัวของชาวอีสาน

อย่างไรก็ตาม แม้เหล่าข้าราชการระดับสูงให้การสนับสนุนกลุ่มอนุรักษนิยม แต่ข้าราชการระดับล่างและราษฎรในอีสานให้การสนับสนุนระบอบใหม่

ดังกรณีของ ส.ต.ท.พริ้ง วัฒรุ่ง สถานีตำรวจสุรินทร์ ยื่นเรื่องต่อพระยาพหลฯ ให้ตรวจสอบ ร.ต.ต.เล็ก โปษะกะบุตร พูดจายุยงส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าข้างฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลของพระยาพหลฯ เป็นกบฏ

รวมทั้งยังมีจดหมายจากจังหวัดขุขันธ์ (ศรีสะเกษ) เสนอให้รัฐบาลยกเลิกหรือย้ายพวกข้าราชการและเจ้าเมืองชั้นเก่าในภาคอีสานให้พ้นไปจากอำนาจปกครอง ด้วยเหตุผลว่า “ไม่ใคร่มีหัวมาในทางปกครองแบบใหม่” และ “ชอบคนเลีย” อีกทั้งยังคอยกีดกันไม่ให้ผู้น้อยได้มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถ ทำให้ “ก๊กปกครองอย่างเก่ากีดกันก๊กปกครองอย่างใหม่” (ประวิทย์, 240-241)

ครั้งนั้น พลเมืองอีสานจำนวนหนึ่งสนับสนุนรัฐบาลปราบกบฏ ตามกำลังและความสามารถของพวกเขา เช่น พระธรรมฐิติญาณ รับอาสาจะจัดการให้พระมหาเปรียญออกไปเทศนาชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านในตำบลสำคัญต่างๆ มุขดา ปรานีทรัพย์ ราษฎรชัยภูมิและพรรคพวก โชเฟอร์ขับรถรับจ้างอยู่ในจังหวัดขอนแก่น อาสานำรถรับจ้างของตนคอยช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาลรับส่งทหาร ตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนช่วยเหลือการขนถ่ายสัมภาระและเสบียงอาหารต่างๆ

มุขดาโชเฟอร์รถรับจ้างให้เหตุผลว่า “การที่ข้าพเจ้าได้ทำการช่วยเหลือรัฐบาล…โดยความมานะอดทน กระทำการช่วยเหลือตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อพลีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ด้วยความบริสุทธิ์ใจทุกประการ” (ประวิทย์, 235)

แม้นจะมีชาวอีสานให้การสนับสนุนรัฐบาลในการปราบกบฏบวรเดชก็ตาม แต่สำนักงานโฆษณาการเห็นว่า ความรู้สึกของราษฎรโดยรวมในช่วงเวลานั้นยังอยู่ในภาวะแกว่งไกว ว่า ราษฎรที่ “พอใจและนิยมชมชอบ” ในระบอบประชาธิปไตยมีร้อยละ 25 ที่ไม่พอใจมีร้อยละ 15 ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 นั้น “ไม่รู้ไม่ชี้อะไรด้วยเลย” (สำนักงานโฆษณาการ, 2477, 5)

แต่ด้วยเหตุที่กลุ่มอนุรักษนิยมสามารถระดมทหารจากหัวเมืองก่อกบฏบวรเดชนั้น ทำให้รัฐบาลตระหนักว่า ราษฎรที่อาศัยอยู่ในชนบทแดนไกลนั้นยังคุ้นเคยกับวัฒนธรรม ความเชื่อค่านิยมของระบอบเก่า โดยยังไม่ตระหนักในสิทธิเสรีภาพและความเป็นเจ้าของประเทศตามระบอบประชาธิไตยที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่

ดังนั้น รัฐบาลตระหนักดีถึงความจำเป็นในการให้ความรู้และข่าวสารที่ถูกต้องแก่ราษฎรเพื่อให้ราษฎรสนับสนุนรัฐบาล มิให้กลุ่มอนุรักษนิยมที่ไม่นิยมระบอบใหม่เพิ่มจำนวน ดังนั้น รัฐบาลต้องมั่นแสวงหาการสนับสนุนจากราษฎรและมั่นอบรมสั่งสอนให้ราษฎรรู้จัก คุณค่าและเกิดความนิยมชมชอบในระบอบการปกครองใหม่นี้ โดยแนบแน่นประทับใจ (สำนักงานโฆษณาการ, 2477, 5-7)

สตรีชาวแก่งคอย ช่วยรัฐบาลปราบกบฏบวรเดช ทำหน้าที่ ณ กองเสบียง

คาราวานเผยแพร่ประชาธิปไตยของคณะราษฎร

ในช่วงต้นระบอบใหม่ แผนกปาฐกถา ของสำนักงานโฆษณาการ มีบทบาทมากในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยให้ราษฎร เนื่องจากผู้คนยังขาดการศึกษา อ่านออกเขียนได้น้อย ดังนั้น รัฐบาลจึงใช้นโยบายเชิงรุกในการเดินทางเข้าหาราษฎรในชนบทในที่ทุรกันดารต่างๆ อธิบายด้วยพูด อธิบายถึงตัว ปาฐกถาให้ฟังแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง การเดินทางปาฐกถาแต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 3 เดือน (สุวิมล พลจันทร์, 24)

ไพโรจน์ ชัยนาม บรรยายการเดินทางไปอีสานในครั้งนั้น ใครจะเดินทางไปอีสานมักจะได้ยินคำตอบว่า “ไม่ไหว เป็นดินแดนที่ยังห่างไกลความเจริญมาก มีแต่ป่าดงพงไพร ทางคมนาคมเลวทรามที่สุด เต็มไปด้วยฝุ่นและทราย บ้านเมืองกันดารแห้งแล้ง น้ำที่ขุดได้จากบ่อมักมีรสเปรี้ยว ยิ่งในฤดูร้อนแล้วอากาศอบอ้าวเป็นที่สุด พลเมืองเกียจคร้าน ไม่เห็นมีอะไรที่น่ารู้น่าเห็น นอกจากความโง่เขลาและความยากจนของพลเมืองซึ่งอยู่เดียรดาษ” (ไพโรจน์ ชัยนาม, 2504, 548)

การเดินทางในภาคอีสานเพื่อปาฐกถานั้นยากลำบาก บางพื้นที่ต้องเดินทางด้วยการขี่ม้า บางแห่งเดินทางด้วยเกวียน บางแห่งเดินทางด้วยรถยนต์ การนับระยะทางแต่ละแห่งที่ทราบจากเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นนั้น นับระยะทางเป็นเส้น รถยนต์ไม่สามารถวิ่งเร็วได้ด้วยไม่มีถนน ต้องวิ่งบนทางเกวียน ดังนั้น ผู้ใดนั่งส่วนหลังของรถยนต์จะสะบักสะบอมมาก ระหว่างเดินทางต้องฟันต้นไม้เป็นเครื่องหมายป้องกันการหลงทาง บางครั้งเส้นทางยังมีไฟไหม้ป่า บางช่วงของการเดินทางเข้าหนองบัวลำภูต้องขับรถขึ้นเขา รถไม่มีกำลังเพียงพอ เราต้องผูกรถยนต์ไว้กับต้นไม้ ให้ผู้โดยสารและขนของหนักลงเพื่อให้รถแล่นต่อไปได้ (ไพโรจน์ ชัยนาม, 2515, 14)

เส้นทางคมนาคมในอีสาน ภายหลังสิ้นระบอบเก่า 2479 เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton

“ใครจะเป็นอะไรก็ช่าง”

ความรู้สึกของราษฎรต่อข่าวผู้นำระบอบเก่า

เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ หนึ่งในสมาชิกคณะปาฐกถาเผยแพร่รัฐธรรมนูญในชนบท เคยเขียนหนังสือ “นักการมือง” (2478) บอกเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งนั้นว่า สาเหตุที่เขาเขียนหนังสือเล่มคือชักชวนราษฎรทั้งหลายมีความรู้และผูกพันต่อระบอบการปกครองใหม่ให้มากขึ้น (เขมชาติ บุญยรัตนพันธุ์, คำนำ)

โดยหนังสือเล่มนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของราษฎรในการกำหนดอนาคต บทบาทของนักการเมือง พร้อมทัศนะทางการเมืองของข้าราชการ กรมโฆษณาการที่เปี่ยมไปด้วยความตั้งใจในการส่งเสริมการปกครองใหม่ให้ประชาชนเข้าใจ

ในช่วงที่เขาทำงานกับสำนักงานโฆษณาทำหน้าที่การส่งเสริมการปกครอง และกระตุ้นให้ราษฎรมีความแข็งขันทางการเมือง เขาอยู่ในทีมของไพโรจน์ ชัยนาม อำพัน ตัณฑวรรธนะ และสมบูรณ์ เหล่าวานิช ในคราตระเวนเผยแพร่ความรู้ไปทั่วประเทศในถิ่นทุรกันดาร

เขมชาติบันทึกถึงสิ่งที่เขาสังเกตความรู้สึกของคนไทยในชนบทภายหลังการปฏิวัติ 2475 เมื่อราษฎรทราบข่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สละราชย์ไว้ว่า “…หลังจากแสดงปาฐกถาแล้ว ผู้แสดงได้บอกข่าวเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงลาออกจากราชสมบัติ ให้ราษฎรซึ่งมาประชุมฟัง เมื่อบอกแล้ว ข้าพเจ้าได้คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลง อันคาดว่าจะเกิดจากสีหน้า หรืออาการของผู้ที่มาฟังบ้าง แต่เปล่าเลย ไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงหรือตื่นตกใจแต่อย่างใดเลย ราษฎรทั้งหลายได้ฟังและได้ยิน แต่ทว่า ข่าวที่ได้ยินนั้น ไม่ทำให้เขารู้สึกดีใจ เสียใจ หรือประหลาดใจแต่อย่างใด เสมือนหนึ่งว่า เรื่องที่บอกนั้น ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวข้องแก่เขา ใครจะเป็นอะไรก็ช่าง” (เขมชาติ, 2478)

ในช่วงที่เขาเดินทางไปทั่วนั้น ปาฐกถาให้ราษฎรฟังจนทำให้เขาป่วยเป็นมาลาเรียเจียนตาย แต่ทำให้เขาพบเห็นชีวิตของผู้คนและความรู้สึกนึกคิดของราษฎรมากมาย ดังที่เขาเล่าว่า ชาวบ้านในอีสานมีชีวิตยากลำบากวนเวียนแต่ชีวิตชาวนามานาน

ส่วนคนทางใต้สุดนั้น ส่วนใหญ่พูดไทยไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมให้ราษฎรทางใต้รู้ภาษาไทย ส่วนธรรมเนียมประเพณี ศาสนาทางใต้นั้นเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล รัฐบาลไม่ควรแทรกแซงเรื่องเหล่านี้

ในฐานะองค์ปาฐกเผยแพร่ประชาธิปไตยในครั้งนั้น เขาบันทึกความรู้สึกในภารกิจที่เขาทำไว้ว่า “นับแต่ลัทธิประชาธิปไตยได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักแห่งการปกครองของประเทศแล้ว อำนาจอธิปไตยซึ่งแต่ก่อนเคยตกอยู่ในกำมือของคนคนเดียวได้คลายออกและกระจายไปอยู่ในมือของประชาชนชาวสยามโดยทั่วกัน” (เขมชาติ, 2478)

หนังสือปาฐกถาการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ (2479) และไพโรจน์ ชัยนาม กำลังปาฐกถาประชาธิปไตย
รถยนต์เผยแพร่ประชาธิปไตยของสำนักงานโฆษณาการในครั้งนั้น