การเมืองวัฒนธรรมแบบ ‘ก้าวไกล’

สองสัปดาห์ก่อน มีโอกาสไปเดินสำรวจงาน “เรื่องเหล้า ต่อจากนี้…” ที่บางกะเจ้า สมุทรปราการ ซึ่งจัดโดย ส.ส.เจ้าของพื้นที่ สังกัดพรรคก้าวไกล

เนื่องจากสังเกตเห็นว่าระยะหลังๆ ก้าวไกลได้จัดกิจกรรมทำนองนี้อย่างสม่ำเสมอ กระจายในหลายจังหวัด โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ จึงอยากทราบว่ามีความเคลื่อนไหวอะไรภายในงานบ้าง

ประสบการณ์แรกที่สัมผัสได้ทันที คือ การมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งในเชิงคุณภาพ รสชาติ และที่มา (ตั้งแต่ลำพูนลงไปถึงตราด น่าสังเกตว่าผลิตภัณฑ์จำนวนไม่น้อยถูกส่งตรงมาจากจังหวัด/อำเภอ ที่มีคนของก้าวไกลเป็น ส.ส.เขต หรือจังหวัดที่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ก้าวไกลสูงเป็นอันดับหนึ่ง)

ประสบการณ์ลำดับถัดมาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ พอตรวจสอบดูแล้ว พบว่าวันเสาร์นั้น ทาง ส.ส.ก้าวไกล ได้แบ่งทีมไปจัดงานแนวนี้พร้อมกันถึงสามพื้นที่ ได้แก่ สมุทรปราการ, ฝั่งธนบุรีในกรุงเทพฯ และปราจีนบุรี

พอได้พูดคุยกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามบูธ ก็พบว่ามีบางผลิตภัณฑ์ที่เดินสายไปออกบูธในทั้งสามพื้นที่เลย ทั้งยังพบว่ามีสินค้าจากบางจังหวัดที่เคยจัดกิจกรรมแนว “เรื่องเหล้า” มาก่อนหน้านี้ เดินทางมาเปิดบูธในงานที่บางกะเจ้าด้วย

หมายความว่าในประเด็นเรื่อง “สุราชุมชนชน/สุราท้องถิ่น” ก้าวไกลได้ทำงานเชิงรูปธรรมกับเครือข่ายชาวบ้านตามพื้นที่ต่างๆ ไปเยอะแยะและกว้างขวางกว่าที่หลายคนคิด

ผ่านกิจกรรมที่พยายามสร้างสรรค์-ขับเคลื่อนให้วัฒนธรรมการบริโภคและพลังการผลิต “สุราพื้นบ้าน” กระจายตัวไปทั่วในวิถีชีวิตประจำวันของชุมชนและผู้คน หรือพยายามผลักดันให้เกิดเครือข่ายผู้ผลิตและตลาดกลางย่อยๆ ทั่วประเทศ

พูดอีกอย่างคือ ในเชิงวัฒนธรรม พรรคก้าวไกลได้ขยับเขยื้อนการต่อสู้เรื่องนี้ไปได้ไกลพอสมควร ก่อนจะขึ้นเวทีรณรงค์เคลื่อนไหวว่าด้วยประเด็น “กฎหมายสุราก้าวหน้า” ในระดับมหภาค อีกหนึ่งยก

 

เสาร์ที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา มีโอกาสนั่งฟัง “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” ไปขึ้นเวทีพูดเรื่องซอฟต์เพาเวอร์, เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และซีรีส์วายไทย ในงาน “FEED Y CAPITAL 2ND งานเมืองหลวงซีรีส์วายครั้งที่ 2”

ต้องยอมรับว่าพรรณิการ์สามารถลงรายละเอียด รวมทั้งสำรวจสภาพปัญหา-บริบทแวดล้อมของ “อุตสาหกรรมวาย” ได้อย่างลึกซึ้งรอบด้าน ก่อนจะตั้งคำถามกลับคืนสู่สังคม ผู้อำนาจ และผู้สร้างสรรค์ผลงาน ได้อย่างแหลมคม

สิ่งที่ทำให้ช่อ พรรณิการณ์ ดู “เหนือชั้น” มากๆ บนเวทีทอล์ก ก็คือ ช่วงท้ายๆ ที่เธอพูดจาท้าทายว่า ซีรีส์วายไทยนั้นมีพื้นที่ให้กับตัวละคร “หญิง-หญิง” (ยูริ) หรือเรื่องราวแบบ “เกิร์ลเลิฟ” น้อยมากๆ ท่ามกลางกระแสนิยมทะลักล้น-พุ่งสูง ที่มีให้กับตัวละคร “ชาย-ชาย” (ยาโอย) หรือเรื่องราวแบบ “บอยเลิฟ”

กระทั่งตัวอักษร “L” (เลสเบี้ยน-หญิงรักหญิง) ซึ่งเป็นตัวแรกของ LGBTIQ ถูกทอดทิ้งไป (เปรียบเสมือนเป็นชายขอบของชายขอบอีกที)

ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา การปลุกพลังให้แก่ “ยูริ/เกิร์ลเลิฟ” ของอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่และกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ยิ่งทำให้ผมรู้สึกทึ่งมากขึ้น

เมื่อมีการประกาศว่า “คู่ดาราวายหญิง-หญิงหนึ่งเดียว” ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล “ฟีดวายอวอร์ด” ประจำปีนี้ อย่าง “ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ” และ “เบ็คกี้-รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง” สามารถกวาดรางวัล “ยอดนิยม” (ที่ตัดสินจากคะแนนโหวตของแฟนๆ ซีรีส์วาย ทั้งในและนอกประเทศ) ไปมากถึงสามสาขา จนถือเป็น “ดาวเด่นที่สุด” ของงาน

หมายความว่า “นักการเมืองนอกระบบ” เช่นช่อ ดูจะเข้าอกเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึก (และวิถีการต่อสู้) ของแฟนซีรีส์วายร่วมสมัย ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ เป็นอย่างดี

 

จาก “งานเรื่องเหล้า” จนถึง “งานซีรีส์วาย” ทำให้พอจะมองเห็นภาพรวมว่า วิธีการทำงานด้าน “การเมืองวัฒนธรรม” (การขับเคลื่อนต่อสู้ทางการเมืองผ่านมิติ “วัฒนธรรม”) ของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้านั้น มีลักษณะเด่นอยู่ตรงการปฏิบัติงานผ่านเครือข่ายจาก “ล่างขึ้นบน” จาก “รอบนอก-ชายขอบสู่ศูนย์กลาง” จาก “ชุมชนขนาดย่อยสู่รัฐขนาดใหญ่”

รวมถึงการมีทักษะในการอ่านอารมณ์-ความปรารถนาของคนเล็กคนน้อยหรือผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมปัจจุบันได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้อ่านสำรวจปัญหา-ความใฝ่ฝันของคนทั้งหลายมาอย่างรอบคอบถ้วนถี่

มิใช่การทำงาน “การเมืองวัฒนธรรม” ในลักษณะ “บนลงล่าง” หรือจาก “กรรมการกลางไปสู่ผู้ปฏิบัติงาน” ซึ่งยึดโยงอยู่กับประสบการณ์-ความรู้-โลกทัศน์ของ “ผู้มีอำนาจส่วนกลาง/ระดับบนสุด” ดังที่สังคมไทย ทั้งในระบบราชการและภาคเอกชนแบบเดิมๆ มักคุ้นชิน •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน