การเกษตรระดับเซลล์ เทรนด์ใหม่แห่งวงการแฟชั่น

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

การเกษตรระดับเซลล์

เทรนด์ใหม่แห่งวงการแฟชั่น

 

เมื่อกลางปี 2023 ที่ผ่านมา วงการอาหารต้องสั่นสะเทือน เมื่อภัตตาคารระดับดาวมิชลินในซานฟรานซิสโก และวอชิงตัน ดี.ซี. เสิร์ฟเนื้อที่เลี้ยงจากเซลล์ในห้องแล็บ เพราะนั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรม

ด้วยจำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แค่ปี 2023 ปีเดียวก็เกือบๆ จะแตะร้อยล้านคนไปแล้ว ซึ่งสวนทางกับผลผลิตทางการเกษตร ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโลก ที่ลดลงแบบดิ่งเหวเพราะสภาพอากาศที่พลิกผัน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบหน้ามือเป็นหลังมืออาจจะเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

และนั่นหมายความถึงความเสี่ยงที่น่ากังวลในระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเกษตรกรรม

เพื่อไม่ให้เกิดทุพภิกขภัยหรือวิกฤตข้าวยากหมากแพง การเพิ่มปริมาณการผลิตทั้งอาหาร ยา และเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการนั้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อพื้นที่ที่สามารถเอามาใช้เป็นที่อยู่ เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์นั้นมีอยู่อย่างจำกัด มันจึงเหมือนเป็นการหนีเสือปะจระเข้

ถ้าจะเพิ่มพื้นที่เพื่อผลิตพืชหรือสัตว์อาหาร ก็อาจจะต้องทำลายป่า หรือลดปริมาณการผลิตพืชเชื้อเพลิง พืชยา และพืชเส้นใย (สำหรับถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม) ในขณะเดียวกันถ้าอยากเพิ่มพื้นที่เพื่อผลิตพืชเชื้อเพลิง ก็ต้องยอมสละพื้นที่ผลิตพืชและสัตว์อาหาร ยา เส้นใยหรืออาจจะเป็นพื้นที่ป่าไป

ประเด็นในเรื่องพื้นที่ที่สามารถเอามาใช้ได้ หรือที่เรียกว่า Land use นั้น เป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ระดับโลกที่วิกฤตไม่แพ้การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่การทำเกษตรแบบดั้งเดิมอาจจะไม่ตอบโจทย์เพราะภาวะโลกร้อน โลกรวน และโลกเดือด

https://www.vitrolabsinc.com เว็บไซต์ของแล็บหนังวัวเพาะเลี้ยงดาวรุ่ง “วิโทรแลบส์”

“วิกฤตอาหารระดับโลกนั้นหนักหนาสาหัสมาก จนการให้ความช่วยเหลือโดยการบริจาคอาหารและสาธารณูปโภคไม่สามารถช่วยบรรเทาได้อีกต่อไป” บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) เจ้าพ่อแห่งวงการไอที มหาเศรษฐีใจบุญที่ทุ่มทุนก้อนมโหฬารก่อตั้งมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) กล่าว

แบบจำลองสภาพอากาศโลกที่ทีมของเขาได้สร้างขึ้นมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าสภาพอากาศที่แปรปรวนในเวลานี้กำลังก่อให้เกิดวิกฤตในการผลิตพืชอาหารเรียบร้อยแล้วในหลายประเทศ

วิกฤตมารอจ่ออยู่ตรงหน้า “เราต้องทำอะไรซักอย่างในทันที เราต้องการนวัตกรรมทางการเกษตรที่พลิกวิกฤต” บิลล์กล่าวก่อนที่จะย้ำว่า สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่นวัตกรรมธรรมดา แต่ต้องเป็นอะไรที่สามารถพลิกโลก อาจจะเป็นสายพันธุ์ของ “เมล็ดพันธุ์มหัศจรรย์ (magic seeds)” ที่ถูกปรับปรุงจนสามารถเจริญงอกงามได้ในสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนอย่างในปัจจุบันได้

เล็งเห็นซึ่งปัญหา บิลล์ทุ่มเงินบริจาจำนวนมหาศาลเพื่อวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์พืชนวัตกรรม ทว่า ลงทุนไปแล้วเป็นทศวรรษ เมล็ดพันธุ์มหัศจรรย์ที่เขาใฝ่หา ก็ยังไม่มีออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นให้ชื่นใจ

และนั่นทำให้หลายคนเริ่มหันมามองว่า “เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic biology)” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากแล็บ” อาจจะเป็นคำตอบที่น่าสนใจสำหรับปัญหานี้

 

แม้ว่าจะไอเดียเนื้อสัตว์จากแล็บนั้นจะคุยกันมาเป็นเวลานานเกือบศตวรรษ ตั้งแต่ยุควินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) แต่ตัวเทคโนโลยีนั้นกลับพัฒนาเชื่องช้าราวกับเต่าคลาน กว่าจะเริ่มเดิน กว่าจะเริ่มคลานก็ใช้เวลาไปนานโข เรียกว่าแทบจะนิ่งงัน

แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1990s พอเริ่มมีสตาร์ตอัพมากมายเริ่มหันมาสนใจเทคโนโลยีนี้อย่างเอาจริงเอาจัง ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป

เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเริ่มพัฒนา การเพาะเลี้ยงในระดับใหญ่เริ่มทำได้ง่ายขึ้น และพอมีผู้สนใจมากขึ้น ต้นทุนอาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงก็เริ่มผลิตได้ในราคาที่ต่ำลง ทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด

ข้อดีคือเลี้ยงได้ไม่ยาก ใช้พื้นที่ไม่มาก สภาวะทั้งหมดควบคุมได้ และเริ่มขยายขนาดได้จนถึงระดับอุตสาหกรรม และนั่นทำให้พวกนักลงทุนเริ่มมองเห็นโอกาสในเทคโนโลยีนี้แม้ว่าราคาต้นทุนจะแพงหูฉี่และเทคโนโลยีที่ยังไม่สุกงอมเมื่อเทียบกับการเพาะเลี้ยงในฟาร์ม

พอมีเงินลงทุนสะพัด เทคโนโลยีก็พัฒนาไปได้ไกล การออกสู่ตลาดของเนื้อสัตว์จากเซลล์ทำให้วงการเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรต้องหันกลับมาประเมินนวัตกรรมเซลล์เพาะเลี้ยงกันอีกรอบ

บางคนเชื่อมั่นมากถึงขนาดที่กล้าออกปากทำนายว่านวัตกรรมพลิกโลกที่ตอบโจทย์วิกฤตอาหารในอนาคต อาจจะไม่ใช่ “เมล็ดพันธุ์มหัศจรรย์” แต่อาจจะเป็นเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงจากห้องทดลอง!

 

แม้ว่าถ้าเทียบราคาจริงๆ แล้ว เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากเทคโนโลยีนี้จะยังไม่พร้อมแข่งขันในท้องตลาด แต่ถ้ามองในแง่เทคโนโลยี ก็ต้องยอมรับว่าก้าวมาได้ไกลเกินฝันแล้ว และการชดเชยราคาด้วยการเสิร์ฟในภัตตาคารหรูระดับดาวมิชลินที่ปกติก็ราคาเว่อร์วังอยู่แล้ว ก็เป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจในการสร้างการยอมรับเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากแล็บแบบนี้ในสังคมในฐานะวัตถุดิบพรีเมียม

แม้จะแพงไปหน่อย แต่ถ้ามองในแง่ land use เทคโนโลยีเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงนี้ถือว่าประหยัดพื้นที่เพาะเลี้ยงได้อย่างมหาศาลอีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คำถามที่ว่านอกจากเลี้ยงมากิน เทคโนโลยีนี้จะเอาไปใช้อะไรต่อได้อีกมั้ยจึงเกิดขึ้นในหัวของนักวิจัยและพัฒนาหลายทีม

คุณภาพก็คุมได้ ใช้พื้นที่ก็น้อยกว่า ยั่งยืนกว่า แถมยังไม่ต้องเข่นฆ่าเบียดเบียนชีวิตสัตว์ แล้วใยจึงต้องเอามาผลิตแค่อาหาร ซึ่งถ้ามองในแง่ราคาก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เป็นไปได้มั้ย ที่จะเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อผลิตเครื่องอุปโภค บริโภคอื่นๆ ที่มีมูลค่ามากกว่านี้

คำตอบคือ “ได้…และมีคนเริ่มทำแล้วด้วย”

 

แนวคิดนี้เรียกว่า “การทำการเกษตรระดับเซลล์ (Cellular Agriculture)” ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตามองในวงการเทคโนโลยี และที่น่าสนใจคือเทคโนโลยีนี้ลามเข้าไปในวงการแฟชั่น

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นกระแสบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์วงการแฟชั่นและวัสดุได้อย่างชัดเจน” ฟิโอนา มิสเชล (Fiona Mischel) ผู้อำนวยการสื่อ Built with Biologyในลอนดอนกล่าว “เป้าหมายของพวกเขาก็คือปฏิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยวัสดุที่ยั่งยืน”

ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2016 วิโทรแลบส์ (Vitrolabs) สตาร์ตอัพสายเทคโนโลยีชีวภาพในแคลิฟอร์เนีย เริ่มปฏิบัติการสร้างหนังวัวแท้ที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาจากเซลล์ในห้องทดลอง

พวกเขาเขียนพาดหัวในเว็บไซต์ของพวกเขาว่า “ชิ้นเนื้อเล็กๆ เพียงชิ้นเดียวจากแม่วัวตัวนี้ สามารถผลิตกระเป๋าสตรีได้เป็นล้านใบ ในขณะที่เธอยังคงเล็มหญ้าได้อย่างสบายใจ ในที่ที่เราปล่อยเธอเอาไว้”

พาดหัวนี้กระแทกใจทีมบริหารของบริษัทแฟชั่นชั้นนำอย่างเคริง (Kering) ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ดังอย่างกุชชี่ (Gucci) อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน (Alexander McQueen) และบาเลนเซียกา (Balenciaga) ซึ่งทำให้เคริงยอมจับมือร่วมงานกับวิโทรแลบส์มาตั้งแต่ปี 2018

เป้าหมายของพวกเขาก็คืออยากจะพัฒนาหนังสัตว์ทางเลือกใหม่ที่สวยงาม และดีต่อโลก พวกเขาเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ลูกค้าไฮเอนต์ของเคริงอยากจะเห็น

 

และเมื่อไม่นานมานี้ เทคโนโลยีหนังสัตว์เพาะเลี้ยงของวิโทรแลบส์ก็เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง พวกเขาสามารถผลิตชิ้นหนังที่สวยงามออกมาได้จากห้องทดลองของพวกเขาโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปคร่าชีวิตโคกระบือที่น่าสงสาร

และนั่นทำให้นักลงทุนอีกมากมายเริ่มหันมาสนใจเทคโนโลยีของพวกเขา

และด้วยความร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการแฟชั่นอย่างแคริง ทำให้ทีมวิโทรแลบส์เติบโตและได้รับความเชื่อถืออย่างท่วมท้น และนั่นทำให้พวกเขาสามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้อย่างมหาศาล ราวๆ หนึ่งพันเจ็ดร้อยล้านบาทจากนักลงทุนมือหนัก ซึ่งรวมถึงพระเอกชื่อดังอย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Leonardo DiCaprio) ได้ในปี 2022

ถ้ามองการเปิดตัวของเทคโนโลยีเนื้อสัตว์จากแล็บในร้านมิชลินถือเป็นก้าวแรกของการปฏิวัติวงการอาหาร และอีกไม่นาน กระเป๋าหนังแม่วัวจากแล็บก็น่าจะเปิดตัวอย่างอลังการเพื่อปฏิวัติวงการแฟชั่นให้ยั่งยืน

นี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมากของวงการเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ แต่ถ้ามองในมุมของประเทศ บางทีเราอาจจะต้องเริ่มมองเกษตรกรรมในอีกมุม…