วิสัยทัศน์ ‘ซอฟต์เพาเวอร์-ซีรีส์วาย’ ของ ‘ส.ส.น้ำ-ช่อ พรรณิการ์’

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

วิสัยทัศน์ ‘ซอฟต์เพาเวอร์-ซีรีส์วาย’

ของ ‘ส.ส.น้ำ-ช่อ พรรณิการ์’

 

หมายเหตุ เนื้อหาบางส่วนจากการทอล์กหัวข้อ “พลังของ ‘ซีรีส์วาย’ ในสังคมวัฒนธรรมไทย และโอกาสในอุตสาหกรรมความบันเทิงโลก” โดย “จิราพร สินธุไพร” (ส.ส.น้ำ) ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย และ “พรรณิการ์ วานิช” (ช่อ) กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในงาน “FEED Y CAPITAL 2nd เมืองหลวงซีรีส์วาย ครั้งที่ 2”

จิราพร สินธุไพร

จิราพร สินธุไพร

ที่ผ่านมา เราพูดถึงซีรีส์วาย เราพูดถึงความรักระหว่างเพศเดียวกัน ความรักของ LGBTQ ส่วนใหญ่เป็นในมุมมองของในเชิงมิติเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราต้องทำงานควบคู่กันไปกับการพัฒนามิติของสังคม

ต้องเรียนว่า ที่ผ่านมา ความสำเร็จ ความนิยมของซีรีส์วาย ถือว่าเป็นพลังเชิงบวก ที่ทำให้ประเทศไทย คนไทย ถูก normalize ถูกทำให้ความรักระหว่างเพศเดียวกัน ความรักของ LGBTQ ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดบาปเหมือนหลายปีที่ผ่านมา

แต่ก็ต้องเรียนว่า ในความเป็นจริงแล้ว เราจะทำอย่างไรที่จะใช้โอกาสนี้ ที่สังคมเริ่มเปิดกว้างแล้ว ทำให้คนไทยได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ อย่างแท้จริง ทำให้ทุกคนได้ช่วยกันตระหนักว่า จริงๆ แล้ว กลุ่ม LGBTQ ยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างในการใช้ชีวิตคู่ ในการที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน

จะทำอย่างไรในการที่จะทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันกับคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงกลุ่มคน LGBTQ เพราะฉะนั้น ดิฉันต้องเรียนว่าสำหรับพรรคเพื่อไทยเอง ช่วงที่ผ่านมา เราพยายามที่จะตั้งรัฐบาลให้เสร็จเร็วที่สุด เพื่อที่จะทันในการยืนยันร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ค้างในสภา

แต่ปรากฏว่าเราตั้งรัฐบาลไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถที่จะยืนยันร่างกฎหมายนั้น ทำให้ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แล้วก็กฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอีกหลายสิบฉบับต้องเป็นอันตกไป

แต่ดิฉันเรียนว่า ยังไงเราก็จะสานต่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และดิฉันก็ขอเชิญชวนทางพี่น้องชาววายทุกท่าน ไม่ว่าคุณจะเป็น LGBTQ หรือไม่ ให้ทุกคนได้ร่วมกันสนับสนุนกฎหมายที่จะส่งเสริมให้คนได้มีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันทุกเพศทุกวัย

ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่โอบรับความหลากหลายทางเพศได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซีรีส์วายของประเทศ แล้วสุดท้าย ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

สุดท้ายนี้ ดิฉันต้องขอเรียนนะคะว่าการผลักดันนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ของพรรคเพื่อไทย เรามีเป้าหมายใหญ่ที่จะยกระดับชีวิตของคนไทย ยกระดับเศรษฐกิจของไทย เปลี่ยนจากประเทศไทย ที่ตอนนี้ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

เราต้องการที่จะใช้ซอฟต์เพาเวอร์ในการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนไทย เราต้องการที่จะใช้ซอฟต์เพาเวอร์ในการที่จะทำให้ประเทศไทยและคนไทยกลับมามีที่ยืนในเวทีโลกอีกครั้ง

การผลักดันนโยบายซอฟต์เพาเวอร์จึงไม่ใช่เพียงแค่วาระของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่วาระของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นวาระของคนไทยทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปด้วยกันค่ะ

พรรณิการ์ วานิช

พรรณิการ์ วานิช

ทุกวันนี้ ประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ภูมิใจที่จะบอกว่าฐานคนดูซีรีส์วายเพิ่มขึ้น 328 เปอร์เซ็นต์ คนดูเยอะมาก สาววาย ต่อไปนี้ ยังมีหนุ่มวาย เพิ่มขึ้นเยอะมาก แล้วยังไงต่อกับตัวเลขนี้?

ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์จัดงานแมตชิ่งเอาของไปขาย กสทช. กับกระทรวงวัฒนธรรม บอกให้ผู้กำกับฯ ซีรีส์วาย ต้องขึ้นเตือนข้างหน้านะว่า “เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม ห้ามลอกเลียนแบบ” ซีรีส์วายต้องขึ้นป้ายบอกนะว่า “ไม่แนะนำให้เด็กเยาวชนดู” คือมันต้องมีการแปะป้ายเตือน

ประเทศไทยจะมีซีรีส์วายเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” อันนี้คือนโยบายกระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียว ส่วนกระทรวงอื่นหรือหน่วยงานอื่นรู้สึกว่าอันนี้เป็นเรื่องที่ “ไม่มีจริยธรรม” อันนี้เป็นเรื่องที่ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศไทย” ถ้าเป็นแบบนี้ ถามว่ามันจะไปกันรอดหรือไม่?

นโยบายของรัฐบาลจึงไม่ใช่แค่การไปหาตลาด จึงไม่ใช่แค่การจับคู่ทางธุรกิจ จับนักลงทุนต่างชาติมาดูซิ ซื้อขายซีรีส์วายกันได้กี่เรื่อง โอ้โห! ได้ 300-400 ล้าน ดีใจจังเลย

สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำเป็นอย่างแรก ถ้าจะให้ซีรีส์วายถูกส่งเสริมได้จริงๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ด้วย (คือ) ทำให้สิ่งนี้เป็นที่ยอมรับ

เมื่อสักครู่นี้ คุณน้ำก็เพิ่งพูดถึงสมรสเท่าเทียมไป สมรสเท่าเทียมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎหมาย ที่จะทำให้คุณรู้สึกว่า เฮ้ย! มันไม่ใช่แค่ซีรีส์วายเป็นสินค้านะ แต่มันเป็นวัฒนธรรมแบบนี้ ความหลากหลายทางเพศแบบนี้ ที่ได้รับการยอมรับจริงๆ

สมรสเท่าเทียมต้องผ่าน คำนำหน้านามตอนนี้กำลังเป็นกระแสที่ถกเถียงกันในสังคมอารยะของโลกเหมือนกัน ว่าจะต้องทำอย่างไร? กฎหมายคำนำหน้านามต้องเปลี่ยนไหม? ใช้โดยสมัครใจหรือเปล่า?

จะเป็นผู้หญิงทรานส์ (ผู้หญิงข้ามเพศ) ผู้ชายทรานส์ (ผู้ชายข้ามเพศ) จะเป็นนอน-ไบนารี (ไม่อยู่ในระบบสองเพศ ชาย-หญิง) ความหลากหลายทางเพศต้องถูกคุ้มครองโดยกฎหมาย และไม่มีใครจำเป็นต้องถูกบังคับให้มีคำนำหน้านามที่ตัวเองไม่ต้องการ

สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นเบื้องต้นของการสร้างระบบนิเวศที่ไม่ใช่ทำให้ซีรีส์วายเป็นแค่สินค้า แต่คือคุณค่าคือวัฒนธรรม ที่สังคมไทยยอมรับ และสามารถส่งไปขายอย่างภาคภูมิใจ

ให้ประเทศอื่นเขารู้สึกว่ากรุงเทพฯ ประเทศไทย มันไม่ได้ขายซีรีส์วายอย่างเดียว แต่มันเป็นสวรรค์ของคนหลากหลายทางเพศ เป็นที่ที่น่าอยู่ของคนหลากหลายทางเพศ เคารพในความหลากหลายทางเพศ

นี่คือจุดเริ่มต้นของการที่จะทำให้ซีรีส์วายสามารถกลายเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศได้จริงๆ ต่อไปคนเกาหลี คนจีน ดูซีรีส์วายเสร็จเกิดแรงบันดาลใจมาเที่ยวประเทศไทย สรุปยังเหยียดกะเทยกันอยู่เลย มันจะใช่ไหม?

มันก็ต้องทำให้ทั้งระบบนิเวศมันสอดคล้องและมีคุณค่าไปในทางเดียวกัน