33 ปี ชีวิตสีกากี (39) | คดียาก…แต่ไม่ใช่ข้ออ้างของตำรวจ

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

เมื่อผมจบไปทำงานเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนแล้ว คดีที่มีความลำบากในการติดตามจับกุมคนร้ายมากลำดับต้นๆ ก็คงจะเป็นคดีที่ประทุษร้ายต่อทรัพย์ เพราะผู้เสียหายกับคนร้าย บางครั้งไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาก่อนเลย การสืบสวนที่จะอาศัยความเชื่อมโยงกันจึงทำได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างของตำรวจ เพราะยังมีอีกหลายวิธีที่จะสามารถสืบสวนจนจับคนร้ายได้

หลักการตรวจสังเกตการณ์ประทุษกรรมของคนร้าย

1. ตรวจวิธีการกระทำความผิดของคนร้ายว่า ทำด้วยวิธีใด เช่น โดยการตัด เจาะ งัดแงะ หรือการใช้กุญแจปลอม

2. เวลาที่คนร้ายกระทำความผิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนประทุษกรรม เช่น บางพวกทำการในเวลากลางวัน ตอนตี 4 ตี 5 หรือตอนเช้ามืดในขณะที่ผู้คนกำลังส่งของ หรือในตอนบ่ายเวลาที่จ่ายตลาด

3. ตรวจสังเกตเกี่ยวกับทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย เช่น ทรัพย์เฉพาะอย่าง อาจเป็นเครื่องลายคราม ซึ่งมักเป็นพวกที่มีอาชีพบังหน้า หรือทรัพย์ทั่วๆ ไป

4. คนร้ายมีพฤติกรรมแปลกประหลาดอะไรที่ทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ เช่น บางพวกชอบเบื่อสุนัข บางพวกชอบกินอะไรในครัว บางพวกชอบอุจจาระทิ้งไว้ บางพวกชอบทำอนาจารข่มขืน

5. เป็นคนร้ายที่มีสมัครพรรคพวกมาร่วมด้วยหรือไม่ โดยดูจากร่องรอยสถานที่เกิดเหตุว่ามีรอยเท้าหรือดูจากลักษณะทรัพย์ที่ถูกโจรกรรมไปว่ามีขนาดเท่าใด

6. คนร้ายมียานพาหนะมาประกอบการกระทำความผิดด้วยหรือไม่ เพราะคนร้ายมีความชำนาญในการใช้ยานพาหนะใด ก็มักจะใช้อยู่เสมอ เช่น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์

7. หนทางเข้าและออกของคนร้าย ดูให้ออกให้ได้ว่า คนร้ายชอบเข้าออกทางใด ซึ่งพวกนี้มักจะต้องวางแผนในการหนีเสียก่อน เช่น อาจจะมาเปิดประตูหลังแล้วทิ้งไว้ ถ้ามีเหตุใดก็จะหนีได้ทัน

 

เมื่อเกิดเหตุ ผู้ชำนาญต้องทำการถ่ายรูป ในที่เกิดเหตุทุกแง่ทุกมุม ซึ่งอาจขวนขวายหาเครื่องมือมาถ่ายเอง หรือติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่กรมตำรวจจัดไว้มาถ่ายให้ ในคดีอุกฉกรรจ์ ก็ให้จัดเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานมาร่วมในการถ่ายรูป โดยถ่ายตามร่องรอยที่เกิดเหตุเพื่อประกอบเป็นพยานหลักฐาน มีการถ่ายภายนอกโลเกชั่นต่างๆ และถ่ายภายใน ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องเป็นผู้ชี้แนะให้เจ้าหน้าที่ทำการถ่ายภาพ

ในคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่เกินกว่าแสนบาท ทางกองพิสูจน์หลักฐานก็จะมาร่วมถ่ายรูปประกอบสำนวนการสอบสวน แต่ถ้าทรัพย์น้อยกว่า ทางพนักงานสอบสวนก็จะต้องถ่ายเอง นอกจากเกิดกรณีพิเศษ คือ ปรากฏร่องรอยการประทุษร้าย รูปถ่ายที่ถ่ายต้องมีการบันทึกวันเดือนปี อธิบายภาพ ลงชื่อตำแหน่ง ติดสำนวนการสอบสวนไว้

ให้ทำการตรวจบริเวณสถานที่ที่ใกล้เคียงกับบริเวณสถานที่เกิดเหตุโดยต่อเนื่องอย่างละเอียดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคดี หาร่องรอยทางเข้าทางออก ว่าคนร้ายพาทรัพย์ออกไปทางใดบ้าง เช่น

ในกรณีที่คนร้ายเอาทรัพย์ไปหลายๆ อย่าง อาจทำตกหล่นไว้บ้าง หรือมีสุนัขเห่าหอน เมื่อคนร้ายผ่านไป

หรือเราสงสัยว่า คนร้ายทิ้งร่องรอยไว้ว่า ได้นำทรัพย์เข้าไว้ในบ้านเรือน เราก็สามารถที่จะทำการตรวจค้นตาม ป.วิ.อาญา ได้

ให้ทำการสอบถามหรือสอบสวนเจ้าทรัพย์ ผู้ดูแลทรัพย์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์หรือผู้ที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ หรือให้รู้ถึงตำหนิรูปพรรณ ราคาของทรัพย์ สถานที่เก็บทรัพย์ หรือประวัติของทรัพย์ที่มีมานาน ทรัพย์บางอย่าง ผู้ดูแลทรัพย์เป็นคนดูแล เราจะต้องสอบถามถึงความผิดสังเกตุ เช่น มีคนมาสอบถามถึงทรัพย์และต้องสอบถามผู้ที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุและใกล้เคียง แม้จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์ก็ตาม อาจจะถามว่าได้เห็นรถยนต์หรือมีเสียงรถยนต์หรือไม่ ทราบข่าวหรือรู้เรื่องเกี่ยวกับทรัพย์อย่างไร

ให้บันทึกตำหนิรูปพรรณทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย พร้อมทั้งนำไปส่งโรงรับจำนำในท้องที่ใกล้เคียงในทันที โดยบันทึกในสมุด ส่งไปตามโรงรับจำนำต่างๆ นอกจากนี้แล้วต้องส่งไปยังท้องที่ใกล้เคียงเพื่อเป็นการสกัดคนร้าย

นอกจากนั้น ยังต้องจดตำหนิรูปพรรณไปยังแผนกสืบจับทรัพย์สินหายภายใน 24 ช.ม. เพื่อประกาศสืบจับ

ในอดีตยังต้องส่งไปยังกองกำกับการสืบสวนในท้องที่ที่ทรัพย์หาย แล้วกองกับการสืบสวน ก็ส่งไปยัง กองกำกับการสืบสวนท้องที่อื่น การจดตำหนิรูปพรรณจะต้องจดให้ละเอียดที่สุดจนคนที่ไม่เคยเห็นทรัพย์นั้น สามารถมองเห็นภาพออก คือ ต้องจดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และต้องไม่ลืมตำหนิพิเศษที่เจ้าทรัพย์บอกไว้

ให้ทำบันทึกแผนประทุษกรรมส่งแผนกประวัติอาชญากร กรมตำรวจ โดยกรอกลงในแบบฟอร์ม เพื่อที่แผนกประวัติอาชญากร จะได้นำไปหาตัวคนร้ายต่อไป

 

ทั้งหมดนี้ หลายกรณีในปัจจุบันนี้ ก็ยังคงคล้ายคลึงกับกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 30-40 ปีที่ผ่านมา และสามารถนำมาปรับใช้ในยุคปัจจุบันนี้ได้

ที่จังหวัดภูเก็ต มีคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เกิดขึ้นเป็นรายวัน แทบจะทุกวันติดต่อกัน บางครั้งก็ทิ้งระยะห่าง 2-3 วัน ก็เกิดขึ้นอีก

คนร้ายใช้วิธีบุกเข้าไปในบริษัทห้างร้าน แล้วทำการทุบตู้เซฟนิรภัยขนาดใหญ่ ที่อยู่ในสำนักงานของบริษัทห้างร้านเหล่านั้น กวาดเอาทรัพย์สินสิ่งของมีค่าไปเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหาย จำนวนหลายล้านบาท เกิดความตระหนกตกใจ ต่อสังคมคนภูเก็ตเป็นอย่างยิ่ง

แต่ด้วยความเพียรพยายามและอดทนของทีมงานสืบสวนสอบสวน ใช้หลักการตามที่ผมกล่าวมาทั้งหมด ในที่สุด ก็จับกุมคนร้ายที่ออกอาละวาดในคราวนั้นได้สำเร็จ

เป็นกลุ่มคนร้ายที่เคยไปทำการบุกทุบตู้เซฟนิรภัยในร้านรวงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาก่อน ตำรวจสุราษฎร์ธานี มีข้อมูลแผนประทุษกรรม เมื่อทีมงานประสานไปขอข้อมูลเหล่านี้ และมาสานต่อ จนรวบตัวคนร้ายได้ นำมาดำเนินคดีได้นับ 10 คดีได้ในที่สุด

จากเดิมเป็นคดีลักทรัพย์โดยไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด

 

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับคดีการประทุษร้ายต่อทรัพย์ จึงเป็นหลักการสำคัญที่จะทิ้งไปไม่ได้เลย คือ

1. การสืบสวนโดยอาศัยรอยพิมพ์นิ้วมือ รอยฝ่ามือ

2. สืบสวนจากประวัติของคนร้ายที่แผนกทะเบียนประวัติอาชญากร กรมตำรวจ

3. การสืบสวนโดยความชำนาญของพนักงานสอบสวน หรือความจำดี มีเชาวน์ไหวพริบ

4. การสืบสวนจากแหล่งรับซื้อของโจร

5. การสืบโดยการติดต่อประสานงานสื่อข่าวกันระหว่างวงการตำรวจด้วยกัน

6. โดยมีผู้ที่ช่วยเหลือ เห็นเหตุการณ์ รู้เรื่องราวดี อาจจะเป็นญาติกันก็ได้

วัตถุพยานที่เหลืออยู่ในที่เกิดเหตุคดีประทุษร้ายต่อชีวิต

1. รอยพิมพ์ลายนิ้วมือ

2. รอยโลหิต สามารถจะตรวจได้ว่า เป็นของคนคนเดียวกันหรือไม่ เลือดกรุ๊ปเดียวกันหรือไม่ เป็นของคนหรือสัตว์ นอกจากนี้ รอยโลหิตยังทำให้รู้ทิศทางที่คนร้ายหนี และยังรู้ว่าคนร้ายวิ่งหรือเดิน ถ้าเดินรอยจะถี่ แต่ถ้าวิ่งรอยจะห่าง เช่น ถ้าระยะต่ำกว่า 8 นิ้ว รอยหยดเลือดจะเป็นหยดเล็กๆ แต่ถ้าระยะสูงกว่า 35 ซ.ม. รอยหยดของเลือดจะเป็นหยดกระจาย สังเกตการณ์แข็งตัวของหยดเลือด แล้วคำนวณเวลาที่เกิดเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว

3. เส้นผมหรือเส้นขน ของแต่ละชาติและเพศไม่เหมือนกัน

4. ปืน ลูกกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน หัวกระสุนปืน

5. พยานหลักฐานที่อยู่กับศพ เช่น บาดแผลที่อยู่กับศพ ลักษณะของบาดแผล ทำให้รู้ชนิดของอาวุธที่ใช้ประทุษร้าย