คณะทหารหนุ่ม (58) | รอยล้อประวัติศาสตร์ “เทเล็กซ์อัปยศ”

รอยล้อประวัติศาสตร์

หลังจากขึ้นบริหารประเทศเมื่อมีนาคม พ.ศ.2523 ปัญหาสำคัญประการแรกที่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต้องประสบคือวิกฤตการณ์จากเกิดการขาดแคลนน้ำตาลทรายภายในประเทศขณะที่ราคาในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ 2523 รัฐบาลจึงจำเป็นต้องประกาศขึ้นราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศจากกิโลกรัมละ 7.50-8.00 บาท เป็น 13.00 บาท ทำให้เกิดกระแสคัดค้านและโจมตีรัฐบาล รวมทั้งรัฐมนตรีที่รับผิดชอบอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ วิกฤตที่ต่อเนื่องมาจากสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็คือความผันผวนของราคาน้ำมันซึ่งส่งผลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีเศรษฐกิจภายใต้การกำกับดูแลของนายบุญชู โรจนสเถียร พรรคกิจสังคม พยายามแก้ไขโดยเปิดเจรจากับผู้ผลิตน้ำมันโดยตรง ทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า “เทเล็กซ์อัปยศ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ 2524

ขณะที่ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม พรรคชาติไทย เดินทางไปเจรจาขอซื้อน้ำมันดิบราคาตายตัว 2 ปีจากซาอุดีอาระเบีย แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จากพรรคกิจสังคมกลับส่งเทเล็กซ์ไปขอระงับการเจรจา เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพรรคชาติไทยและพรรคกิจสังคมซึ่งต่างโจมตีซึ่งกันและกันว่าอีกฝ่ายได้ผลประโยชน์

 

ในที่สุดวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2524 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงแก้ปัญหาด้วยการปรับคณะรัฐมนตรีให้พรรคกิจสังคมออกจากการร่วมรัฐบาล ขณะที่พรรคชาติไทยยังคงร่วมรัฐบาลต่อไป แล้วรับสหพรรคคือ สยามประชาธิปไตย เสรีธรรม และพรรครวมไทย เข้าร่วมรัฐบาลแทน

สถานการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ 2523 ถึงต้นปี พ.ศ.2524 ของรัฐบาลเปรม 1 จึงมิได้แตกต่างจากสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แต่อย่างใด โดยเฉพาะปัญหาของการแตกแยกอย่างหนักระหว่างพรรคชาติไทยกับพรรคกิจสังคม

ครั้งที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่นำพรรคกิจสังคมเข้าร่วมรัฐบาลเนื่องจากมั่นใจในเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภา จนกลายเป็นเหตุหนึ่งของปัญหาเสถียรภาพรัฐบาล ครั้นมาถึงรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พรรคกิจสังคมจึงเป็นพรรคการเมืองแรกที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางด้วยตนเองไปเชื้อเชิญหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงบ้านพักซอยสวนพลู แต่เพียงไม่ถึงปีถัดมา พรรคกิจสังคมก็ถูกปรับออกจากการร่วมรัฐบาล

อย่าลืมว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมนั้น ได้รับการตั้งสมญาจากสื่อมวลชนว่า “เฒ่าสารพัดพิษ”

 

คณะทหารหนุ่มไม่พอใจ

คณะทหารหนุ่มมีความไม่พึงพอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ซึ่งกำลังได้รับความชื่นชมจากเหตุการณ์โน่นหมากมุ่น ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในกรณีเทเล็กซ์ว่า

“อยากให้ทุกฝ่ายสามัคคีกันในการที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง ทหารก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง เมื่อเราเห็นการหาผลประโยชน์เข้าตัวเองแบบหน้าด้านๆ แล้ว ทหารทนไม่ได้ ข้าราชการทั่วไปโกงยังเอาเขาเข้าคุกได้ นักการเมืองโกงเราก็ควรเอาเข้าคุกเหมือนกัน”

ดร.บุญชนะ อัตถากร ก็มีความเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในระยะ 3 เดือนแรกของปี พ.ศ.2524 สอดคล้องกันว่า การต่ออายุราชการทำให้ความนิยมในหมู่ประชาชนต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลดน้อยลง และทำให้ทหารแตกแยกกัน ซึ่งไม่เป็นผลดี

ขณะที่ภัยคุกคามจากเวียดนามในกัมพูชาก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด

 

2524 คณะทหารหนุ่มผงาด…

ผลการโยกย้ายเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2523 สมาชิกคณะทหารหนุ่มเข้าคุมตำแหน่งสำคัญในการปฏิวัติรัฐประหารระดับกรมในกรุงเทพมหานครและใกล้เคียงไว้ได้เกือบทั้งหมด และยังมีนายทหารระดับผู้บังคับกองพันที่เป็นผู้สนับสนุนคณะทหารหนุ่มอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ดังนี้

กองทัพภาคที่ 1

กรมทหารราบที่ 1 กรุงเทพมหานคร พ.อ.ปรีดี รามสูตร เป็นผู้บังคับการกรม

กรมทหารราบที่ 11 กรุงเทพมหานคร คณะทหารหนุ่มไม่ได้เป็นผู้บังคับการกรม แต่ พ.ท.บุญยัง บูชา เป็นผู้บังคับกองพันที่ 2 โดยมี พ.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี แกนนำ จปร.5 เป็นผู้บังคับการกรม

กรมทหารราบที่ 31 ลพบุรี พ.อ.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล เป็นผู้บังคับการกรม

กรมทหารราบที่ 2 ปราจีนบุรี พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร เป็นผู้บังคับการกรม

กองพันทหารสารวัตรที่ 11 กรุงเทพมหานคร พ.อ.สาคร กิจวิริยะ เป็นผู้บังคับกองพัน

ส่วนบัญชาการกองทัพบก

กรมทหารช่างที่ 11 กรุงเทพมหานคร พ.อ.แสงศักดิ์ มังคละศิริ เป็นผู้บังคับการกรม

กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรุงเทพมหานคร พ.อ.นานศักดิ์ ข่มไพรี เป็นผู้บังคับการกรม

กรมทหารปืนใหญ่ที่ 21 ลพบุรี พ.อ.บวร งามเกษม เป็นผู้บังคับการกรม

กรมทหารราบที่ 19 กาญจนบุรี พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เป็นผู้บังคับการกรม

กรมทหารม้าที่ 1 กรุงเทพมหานคร พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ เป็นผู้บังคับการกรม

กรมทหารม้าที่ 4 กรุงเทพมหานคร พ.อ.มนูญ รูปขจร เป็นผู้บังคับการกรม

กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 กรุงเทพมหานคร พ.อ.บุญศักดิ์ โพธิ์เจริญ เป็นผู้บังคับการกรม

ส่วนการศึกษา

กรมนักเรียนนายร้อย กรุงเทพมหานคร พ.อ.วีระยุทธ อินวะษา เป็นผู้บังคับการกรม

จะเห็นได้ว่าสมาชิกคณะทหารหนุ่มคุมกำลังถึง 14 กรมด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีนายทหารระดับผู้บังคับกองพันในหน่วยต่างๆ ที่สนับสนุนคณะทหารหนุ่มรวมอยู่อีกจำนวนหนึ่งคือ

พ.อ.ถนัด พากษ์ปฏิพัทธ์ ผู้บังคับกองพันทหารสื่อสารที่ 1 กรุงเทพมหานคร

พ.ท.รณชัย ศรีสุวนันท์ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 17 สระบุรี

พ.อ.ประเสริฐ กาสุวรรณ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 11 ลพบุรี

พ.ท.สุทิน เชียงทอง ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 ลพบุรี

พ.ท.ไพฑูรย์ นาครัตน์ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 19 กาญจนบุรี

พ.ท.องอาจ ชัมพูนทะ ผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กรุงเทพมหานคร

พ.ท.สุรพล ชินะจิตร ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรุงเทพมหานคร

พ.ท.ประภาส พูนขำ ผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 ปราจีนบุรี

พ.ท.วรเชษฐ์ วัชรบุญโชติ ผู้บังคับกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 ปราจีนบุรี

 

นอกจากนั้น หน่วยกำลังรบสำคัญที่วางกำลังพร้อมรบเต็มอัตราศึกเพื่อรักษาอธิปไตยตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ล้วนเป็นหน่วยในความรับผิดชอบของคณะทหารหนุ่มเกือบทั้งสิ้น ได้แก่ กรมทหารราบที่ 2 ของ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร กรมทหารราบที่ 9 ของ พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี และ กรมทหารราบที่ 31 ของ พ.อ.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล ทั้ง 3 กรมนี้มีความพร้อมรบทั้งด้านกำลังพล ยานพาหนะ และอาวุธยุทโธปกรณ์

ทั้งหมดสามารถเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครได้โดยใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 3 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน สมาชิกคณะทหารหนุ่มซึ่งต่างปกปิดตัวเองมาโดยตลอดนับแต่เริ่มรวมตัวเมื่อ พ.ศ.2516 ครั้นถึงต้นปี พ.ศ.2524 จึงเริ่มเปิดเผยตัว

พ.อ.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล ให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกต่อหนังสือพิมพ์ประชามิตร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2524 และในเดือนเดียวกันนี้ พ.อ.ธานี เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ก็ให้สัมภาษณ์มติชนสุดสัปดาห์

โดยก่อนหน้านี้ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร และ พ.อ.จำลอง ศรีเมือง แกนนำคณะทหารหนุ่มก็ได้ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นเป็นระยะๆ มาก่อนแล้ว

 

แล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ

เอกสารประกอบการประชุม 27 มิถุนายน พ.ศ.2523 “ปฏิญญา 27 มิถุนายน” มีข้อความสำคัญบางส่วนที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับสถานการณ์เมื่อต้นปี พ.ศ.2524 ได้แก่

“การเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะสถานการณ์ทางการเมืองและในทางกองทัพเป็นปัจจัยผลักดัน และเข้าไปเพราะความจำเป็นบีบบังคับ”

“เราจำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะเราไม่อาจฝากความมั่นคงของชาติไว้กับนักการเมืองโสโครกเหล่านั้น หรือแม้แต่กับผู้ใหญ่ในกองทัพที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ยอมตัวอยู่ภายใต้ระบบการเมืองอันเน่าเฟะเหล่านั้น เพียงเพื่อเสวยสุขกับผลประโยชน์ที่นักการเมืองเหล่านั้นหยิบยื่นให้”

“ระบบการเมืองของเราในปัจจุบันยังไม่อาจได้รับความไว้วางใจว่าจะเป็นระบบที่มีเสถียรภาพ และสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสมต่อเนื่องนี่เองที่กลุ่มของเราจำเป็นต้องเข้าไปพัวกันกับการเมืองอยู่เสมอ”

“การเลือกเข้าไปมีบทบาทในปัญหาสำคัญๆ ที่มีลักษณะวิกฤต เราก็เลือกเกี่ยวข้องเฉพาะกรณีที่เกิดปัญหาวิกฤตจริงๆ เท่านั้น”

“เมื่อเราไม่อาจทนนิ่งเฉยดูดายต่อสภาพการณ์เช่นนั้นได้ เราจึงเริ่มเคลื่อนไหวด้วยการเสนอแนะข้อคิดเห็น ด้วยการผลักดันให้ผู้ใหญ่ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อความรับผิดขอบอันควรมี”

และที่น่าสนใจเป็นพิเศษ…

“ในบางครั้งเมื่อเราเข็น (ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อปัญหา) ไม่ขึ้นจริงๆ เราต้องถึงกับลงทุนกระทำแบบรับผิดชอบตนเองไปก่อน แล้วจึงเชิญผู้ใหญ่มาเป็นประธานงานที่เราทำเสร็จไปแล้ว”

แล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ…