อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย

อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย มีหลักฐานเริ่มแรกความเป็นมาของอโยธยาราว พ.ศ.1600-1700 พบวรรณกรรมไทยในอโยธยาราว พ.ศ.1778 แต่สุโขทัยมีพัฒนาการหลังจากนั้นราว 100 ปี

แต่ชนชั้นนำสมัยชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” ต้องการให้สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย

นับแต่นั้นมาเมืองอโยธยาถูกบังคับสูญหายจากความทรงจำของไทย

กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมากกว่า 100 ปีมาแล้ว จากนั้นถูกสถาปนาเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยเพื่อใช้ครอบงำสังคมไทย ผ่านสถานศึกษาทุกระดับ และผ่านสื่อสารพัดทั้งของราชการและของเอกชน ยังมีอิทธิพลสืบเนื่องจนทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างใหม่เรื่องกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เสมือนเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ หมายถึงคิดต่างไม่ได้ หรือคัดค้านไม่ได้ว่าสุโขทัย “ไม่ใช่” แห่งแรก หากละเมิดหรือคิดต่างจะถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน เท่ากับต้องอยู่ยาก

สุโขทัยเป็นเมืองสมัยหลังอโยธยา แต่ถูกสร้างใหม่เป็น “แดนเนรมิต” สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย สนองการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” (ภาพกลางเมืองสุโขทัย ที่ถูกทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว)

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเมืองแบบประชาธิปไตย มีนักค้นคว้าและนักวิชาการทั้งไทยและสากลศึกษาค้นคว้าวิจัย พบว่ากรุงสุโขทัย “ไม่ใช่” ราชธานีแห่งแรกของไทย โดยสรุปดังนี้

(1.) ไม่พบหลักฐานวิชาการสนับสนุนว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย

(2.) ที่ว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ถูกสร้างขึ้นลอยๆ เพื่อหวังผลโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติ” เรื่องคนไทย เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์

(3.) กรุงสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย ถูกสร้างทางการเมืองให้เป็น “รัฐในอุดมคติ” แต่วิชาการสากลไม่เชื่อถือ ในที่สุดกรุงสุโขทัยกลายเป็น “แดนเนรมิต” ที่ตลกขบขันของวงวิชาการสากล

กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย มีเหตุจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลักฐานวิชาการหลายอย่างเกี่ยวเนื่องกัน ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเหล่านั้น ศรีศักร วัลลิโภดม นักปราชญ์สยามประเทศ (บรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ประมวลข้อมูลทั้งหมดเป็นบทความวิชาการเมื่อ 42 ปีที่แล้ว หรือ พ.ศ.2524 เรื่อง ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ.2524 หน้า 5-14)

(4.) หลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา สนับสนุนหนักแน่นว่าอโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย ดังนั้น อโยธยาเป็นเมืองตั้งต้นคนไทย, ภาษา ไทย และประเทศไทย

(5.) ชนชั้นนำต้องการให้สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ถ้ายอมรับอโยธยาเป็นเมืองมีอายุเก่าแก่กว่าก็เท่ากับสุโขทัยไม่เป็นราชธานีแห่งแรก ย่อมกระทบเรื่องสำคัญอื่นๆ ที่เพิ่งสร้าง ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย ฯลฯ ดังนั้น เมืองอโยธยาต้องถูกด้อยค่าและถูกบังคับสูญหายจากความทรงจำ ทำให้สังคมไม่รู้จัก หรือรู้จักน้อยเกี่ยวกับเมืองอโยธยา ด้วยการไม่กล่าวถึงเมืองอโยธยาในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย พบหลักฐานในอโยธยาว่าเป็นเมืองตั้งต้นคนไทยและภาษาไทย แล้วไฉนจะทำลายเมืองอโยธยาด้วยรถไฟความเร็วสูง? แผนที่พระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน แสดงพื้นที่ในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง ที่ตั้งเมืองโบราณทับซ้อนกัน 2 เมือง ได้แก่ (ขวา) อโยธยา (เมืองเก่า) เริ่มมีราว พ.ศ.1600 บริเวณที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง (ซ้าย) อยุธยา (เมืองใหม่) แรกมีราว พ.ศ.1893 (ปรับปรุงจากแผนที่ฯ ของกรมศิลปากร พ.ศ.2558)

สุโขทัยราชธานีแห่งแรก

ไม่มีอีกแล้วในหนังสือกรมศิลปากร

“สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทยไม่มีในเล่มนี้” พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร บอกผู้ฟังเมื่อหลายปีมาแล้วในงาน “เปิดตัว” หนังสือสุโขทัยเมืองพระร่วง (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2562) ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เท่ากับจะให้หมายความว่า “สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย”

“สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” ยังถูกตัดออกไปไม่มีให้เห็นในงานอื่นๆ ของกรมศิลปากร ดังนี้

1. “สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” ไม่มีให้เห็นอีกแล้วในงานนิทรรศการพิเศษของกรมศิลปากร เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2562

2. “สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” ไม่มีให้เห็นอีกแล้วในหนังสือเล่มล่าสุดของกรมศิลปากร ประกอบนิทรรศการพิเศษฯ เรื่อง “นครรัฐไทยบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม-25 ตุลาคม 2562

เมื่อหลายปีก่อน กรมศิลปากรพยายามหลีกเลี่ยงวลี “สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” แต่ไปไม่สุด เพราะยังออกอาการเขื่องๆ อย่างคลุมเครือโดยใช้ข้อความว่า “สุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกที่ถือว่าเป็นอาณาจักรของคนไทย” ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558 หน้า 76)

อาณาจักร เป็นคำแสดงความหมายพื้นที่อำนาจที่มีกว้างขวางเกินประมาณ เช่น อาณาจักรโรมัน เป็นต้น แต่สุโขทัยมีพื้นที่อำนาจแคบๆ ระดับรัฐหรือนครรัฐเท่านั้น (ยังห่างชั้นคำว่าอาณาจักร) แต่ประวัติศาสตร์ไทย มัก “เว่อร์” เรียกอาณาจักรทุกแห่ง นอกจากนั้นช่วงเวลาร่วมสมัยมีหลายรัฐที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง ได้แก่ รัฐหลวงพระบาง เป็นต้น

ตั้งแต่ พ.ศ.2562 กรมศิลปากรไม่เรียกอีกแล้วว่าสุโขทัยเป็น “อาณาจักรแรกๆ” แต่เรียก “รัฐสุโขทัย” (ในหนังสือ นครรัฐไทยบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562 หน้า 39) เท่ากับกลับคืนอยู่ในร่องในรอยทางวิชาการสากล •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ