เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ พระเกจิดังสมุทรสงคราม

“หลวงพ่อช่วง อินทโชติ” หรือ “พระครูวิมลศีลาจาร” วัดปากน้ำ จ.สมุทรสงคราม เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวแม่กลองเคารพนับถือมาก

สร้างพระเครื่อง วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังไว้มากมายหลายชนิด เชื่อกันว่าเข้มขลังมาก ตะกรุดโทนในสมัยนั้น หลวงกล้ากลางสมร มือปราบชื่อดังพกติดตัวอยู่ตลอด

แต่ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก”

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2471 เพื่อแจกเป็นระลึกในงานทำบุญอายุครบ 6 รอบ 72 ปีของหลวงพ่อ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างประมาณ 2,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงหยดน้ำข้างกระบอก มีหูในตัว ด้านหน้า มีขอบรอบนอกเป็นลายกนก และทำเส้นขอบรูปทรงเดียวกับเหรียญอีกชั้นหนึ่ง ภายในเป็นรูปเหมือนครึ่งร่าง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ โดยรอบรูปเหมือนนั้นเป็นอักษรระบุถึงที่มาของการสร้างเหรียญพระเครื่องนี้ขึ้นมาว่า “พระครูวิมลศีลาจาร วัดปากน้ำ ที่รฤกในงานทำบุญอายุครบ ๖ รอบปี พ.ศ.๗๑”

ด้านหลัง พื้นเหรียญเรียบ มีขอบเนื้อล้นของเนื้อโลหะตรงขอบเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปองค์พระภควัมบดี หรือ พระปิดตา และโดยรอบพระปิดตาเป็นอักขระขอม ซึ่งเป็นคาถามหาอุด อ่านได้ว่า อุด อัด อัด พัด อะ ละ นัง ล้อม ภควัม

เหรียญหลวงพ่อโชติ รุ่นแรก

ประวัติหลวงพ่อช่วงนั้น ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ในปีระกา ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) ทรงกล่าวถึงดังความต่อไปนี้ “วัดอัมพวานี้คงจะได้คิดจะให้เป็นของคู่กันกับวัดสุวรรณดารารามจึงได้ทรงสร้างบางอย่างทุกๆ รัชกาลมา จะทิ้งให้สาบสูญเสียเห็นจะไม่ควร ข้อขัดข้องสำคัญนั้นคือ หาเจ้าอธิการไม่ได้ แต่ก่อนมาเป็นวัดพระราชาคณะอยู่เสมอ แต่ได้โทรมเข้าเลยโทรมไม่ฟื้น เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่ การที่ไม่ยอมไปอยู่นั้นเห็นจะเป็นด้วยปราศจากลาภผล ไม่เหมือนวัดบ้านแหลมและวัดพวงมาลัย ซึ่งได้ผลประโยชน์ในทางขลังต่างๆ แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารดีนึ้ จนราษฎรในคลองอัมพวาก็พากันเข้าไปทำบุญเสียวัดปากน้ำลึกเข้าไปข้างใน การที่จะแก้ไขไม่ให้ร้างไม่มีอย่างอื่น นอกจากหาสมภารที่ดีมาไว้”

วัดปากน้ำที่ทรงกล่าวถึงในพระราชหัตถเลขานี้ ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.แควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีอดีตเจ้าอาวาสรูปหนึ่งที่ยังคงมีชื่อติดหูผู้คนทั่วไป คือ พระครูวิมลศีลาจาร (ช่วง อินทโชติ)

หลวงพ่อช่วง อินทโชติ

เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ปีมะโรง พ.ศ.2399 ที่บ้านตำบลบางพรม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นบุตรของนายรอด และนางแจ่ม อาชีพทำสวน

อายุ 9 ปี บิดานำไปฝากเป็นศิษย์เรียนหนังสือไทยและขอมกับหลวงพ่อกลัด วัดบางพรม ร่ำเรียนจนเขียนอ่านได้ดีแล้ว จึงออกมาช่วยบิดามารดาทำสวน

เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดบางพรม โดยมีพระอธิการเพ็ง วัดบางแคใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการกลัด วัดบางพรม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการขาว วัดปากน้ำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายานว่า อินทโชติ

จำพรรรษาที่วัดปากน้ำ ศึกษาเล่าเรียนทั้งมูลกัจจายน์ บุพสิกขาวรรณา พระธรรมบท มงคลทีปนี บาลีไวยากรณื ทั้งยังมีความอุตสาหะท่องบทสวดมนต์จนจบพระปาฏิโมกข์ ทั้งยังได้ชื่อว่าจารหนังสือขอมได้สวยงาม ทั้งเทศน์ทำนองไพเราะ มีความรู้ทางช่างเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาร่ำเรียนคาถาอาคมจากพระอธิการเพ็ง พระอุปัชฌาย์ ในด้านรุกขมูล อันเป็นที่นิยม ก็เคยเข้าร่วมในกลุ่มธุดงค์ของหลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก อ.อัมพวา อันเป็นพระอาจารยธุดงค์ชื่อดังในยุคนั้น ออกธุดงค์ท่องไพรไปปจนถึงนครวัด ประเทศกัมพูชา พระเจดีย์ชเวดากองของพม่า และธุดงค์ไปถึงหลวงพระบางของประเทศลาว

กลับจากธุดงค์ หลวงพ่อช่วง รับหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม อีกทั้งยังได้สร้างโรงเรียนสำหรับเป็นที่ศึกษาของลูกหลานชาวบ้าน เมื่อครั้งที่ได้รับสมณศักดิ์เป็นที่ “พระครูวิมลศีลาจาร” โรงเรียนที่ตั้งขึ้นมีชื่อว่า “โรงเรียนวิมลอุปการ” ซึ่งโรงเรียนเดิมคือ โรงเรียนอมราบำรุงรักษ์ ก่อตั้งโดยพระอมรโมลีตั้งแต่ปี พ.ศ.2435 ในด้านโรงเรียนปริยัติธรรม จัดหาครูจากวัดระฆังโฆสิตารามไปสอน เนื่องจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นสหธรรมิกกัน

 

ส่วนในการเรียนกรรมฐานวิปัสสนาธุระจะเป็นผู้สอนด้วยตนเอง วัดปากน้ำในตอนที่อุปสมบทใหม่ๆ มีพระอธิการขาวเป็นเจ้าอาวาส ครั้นเมื่อพระอธิการขาวมรณภาพ พระอาจารย์เทศ เป็นเจ้าอาวาสวัดสืบต่อ ตามด้วยพระอาจาย์เกตุ และจากนั้นพระครูวิมลศีลาจาร จึงได้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา

ครั้นมาถึงยุคของหลวงพ่อช่วง พัฒนาวัดปากน้ำให้เจริญก้าวหน้าทั้งในด้านถาวรวัตถุ และการเรียนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูวิมลศีลาจาร” เจ้าคณะอำเภออัมพวา พ.ศ.2458 และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

เข้าสู่วัยชรา ในฐานะที่เป็นเจ้าคณะอำเภออัมพวา จึงขอให้หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอ และเป็นอุปัชฌาย์ช่วยแบ่งเบาภาระ จนเมื่อมรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อคง เป็นเจ้าคณะอำเภอสืบไป แต่ไม่ยอมรับ จึงต้องย้ายพระครูสุทธิสาร (ใจ) วัดเสด็จ เจ้าคณะอำเภอบางคนที มาเป็นเจ้าคณะอำเภออัมพวาแทน

มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ.2478 สิริอายุ 79 ปี พรรษา 59 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]