ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |

ล้อง อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ล้อง”
การสะกดชื่อชุมชนหรือหมู่บ้านในแถบภาคเหนือโดยทั่วไปมักจะพบคำว่า ร่อง ร้อง ล้อง นำหน้า ซึ่งตามหลักความเป็นจริงเชิงภูมินามวิทยาน่าจะใช้ ล้อง มากกว่า ในที่นี้จึงขอกล่าวถึง ล้อง ในความหมายโดยรวมและการนำมาเป็นคำขึ้นต้นชื่อบ้านนามเมืองเป็นลำดับไป
ล้อง เป็นได้ทั้งคำกริยาและคำนาม
ในความหมายที่เป็นคำกริยามี 3 ความหมาย คือ กรอก สวนกลับ ย้อน และขุดลอก เช่น
ล้องยางัว คือเอาน้ำยาใส่กระบอกแล้วกรอกใส่ลำคอวัว
ล้องคอ คือดื่มน้ำตามหลังกินหรือกลืนยา
ล้องส้าว หมายถึง สวนกลับ อย่างการยิงรังผึ้งด้วยกระสุน แล้วผึ้งก็ “ล้องส้าว” คือพุ่งเลาะแนวกระสุนมาต่อยผู้ยิงในฉับพลัน
ล้องหลัง ได้แก่ การย้อนไปกระทำเมื่อเจ้าของเผลอไปทำอย่างอื่น เช่น ค่ำนั้นเขากินข้าวในบ้านเพื่อนสักพักก็ออกจากบ้านเพื่อนมา ตกดึกก็ย้อนกลับไป “ล้องหลัง” คือแอบเข้าไปเป็นชู้กับเมียเพื่อน ขณะที่เพื่อนออกไปหาปลา
ล้องเหมือง หรือลองเหมือง หมายถึง การขุดลอกเอาดินหรือทรายตลอดจนเศษสวะใบไม้กิ่งไม้ที่น้ำพัดมาตกค้างในลำเหมืองที่ส่งน้ำเข้านาออก ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมสำคัญที่ชาวนาที่ใช้น้ำร่วมกันจะต้องช่วยกันทำก่อนถึงฤดูทำนาในแต่ละปี
ส่วนความหมายที่เป็นคำนามนั้น หมายถึง ลำเหมืองสำหรับชักน้ำเข้านาหรือระบายน้ำออกจากนา และรวมไปถึงบริเวณที่ลุ่มที่มีน้ำขัง

น้ำไหลลงล้องไปหานาเข้า
แปลว่า น้ำไหลลงล้องไปสู่นาข้าว
กล่าวถึง “ล้อง” ที่ปรากฏในชื่อบ้านนามเมืองทั่วไปในแถบภาคเหนือ เป็น ล้อง ที่เป็นคำนามใช้นำหน้าสิ่งที่โดดเด่นเป็นที่สังเกต เช่น
ล้องกวาง คือชุมชนที่มีต้น “กวาง” อันได้แก่ ต้นเต็งรังที่มียางเป็นชัน และเป็นน้ำมันใช้คลุกกับเศษไม้เป็นเชื้อเพลิงจุดเป็นไต้ส่องสว่างขึ้นบริเวณลำเหมืองผ่านนา หรือแหล่งน้ำนั้น
ล้องขี้เหล็ก คือชุมชนที่มีต้นขี้เหล็กขึ้นบริเวณลำเหมืองผ่านนา หรือแหล่งน้ำดังกล่าว
ล้องขุ่น คือชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณล้องที่มีน้ำขุ่นขาว
ล้องเดื่อ คือชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณล้องที่มีต้นเดื่อโดดเด่น
ล้องห้า คือชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณล้องที่มีต้นหว้าป่าเป็นสัญลักษณ์
ล้องอ้อ คือหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณล้องที่มีต้นอ้อขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
เป็นธรรมดาของภาษาที่มักมีการเขียนคำที่มีเสียงใกล้เคียงกันอย่าง ร กับ ล จึงมีการสะกดเป็น ร้อง-กวาง ร้องขี้เหล็ก ร้องขุ่น ร้องเดื่อ ร้องห้า และ ร้องอ้อ แต่การเขียนเป็น ร้อง ก็จะทำให้การอธิบายที่มาแปรเปลี่ยนไป เช่น ร้องกวาง เป็นบริเวณที่มีกวางมาส่งเสียงร้อง ร้องอ้อ คือบริเวณที่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์หรือตำนานมาถึงแล้วอุทานว่า “อ้อ!!!” หรือ ร้องขุ่น บางถิ่นเขียนเป็น ร่องขุ่น เพื่อจะบอกว่าบริเวณมีลักษณะเป็นร่อง แต่ ร่อง เป็นเพียงทางเดินน้ำขนาดเล็กก็ดูไม่สมเหตุผล
อย่างไรก็ตาม การให้ชื่อไปแล้วก็คงตามไปแก้ไขยาก เพียงแต่ให้รู้ที่มาจะได้เข้าใจถูกต้อง และถ้าเป็นไปได้ รู้แล้วแก้ไขย่อมจะเป็นเรื่องที่ดี ลูกหลานรุ่นหลังจะได้ไม่สับสน อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือจะได้ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการอ่านออกเสียง ร เป็น ฮ พากันอ่าน ฮ้องกวาง ฮ้องขี้เหล็ก ฮ้องขุ่น ฮ้องเดื่อ ฮ้องห้า และ ฮ้องอ้อ ซึ่งไม่มีความหมายทางภาษาถิ่นแต่ประการใด •
ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022