คุยกับทูต | ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี พลังแห่งมิตรภาพไทย-อิหร่าน (2)

อิหร่านกับสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E.Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ให้ความเห็นว่า

“อิหร่านพยายามสร้างสันติภาพและความสงบสุขทั่วโลกมาโดยตลอด เรามีประสบการณ์ที่ดีในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายดาอิช (Daesh) ในอิรักและซีเรียตามคำเชิญของรัฐบาลทั้งสองประเทศ”

“ในกรณีของประเทศไทย เราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลไทยและชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ โดยเชื่อว่าหากรัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาคใต้ ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายจะคลี่คลายลง เพราะการลงทุนทางเศรษฐกิจและการสร้างงานจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย”

“โดยส่วนตัว ผมได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้นำมุสลิมบางคนเพื่อทำความคุ้นเคยกับแนวคิดและความคาดหวังของพวกเขา เป็นการช่วยขจัดความเข้าใจผิด ผมได้อธิบายให้ผู้นำมุสลิมทราบว่า เขาสามารถรักษาสิทธิของเขาด้วยการเจรจาอย่างสันติวิธีแทนการใช้ความรุนแรงหรือการก่อความไม่สงบ”

“เราเชื่อว่า ความไม่มั่นคงมีสาเหตุมาจากความยากจน แนวทางของรัฐบาลที่จะเพิ่มการลงทุนในภาคใต้ให้มากขึ้น จะช่วยส่งผลในการธำรงสันติภาพและเสถียรภาพที่นั่น”

“ในฐานะเอกอัครราชทูตมุสลิมประจำราชอาณาจักรไทย ผมพยายามอย่างเต็มที่ในการให้ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในภาคใต้”

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E.Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

ประเทศไทยแสดงความยินดีต่อการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยพร้อมจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทั้งสองประเทศ

“ผมเชื่อว่าการกลับมาเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและส่วนอื่นๆ ทั้งนี้ ประเทศมุสลิมทั้งสองเป็นมหาอำนาจขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันตกซึ่งมีความคล้ายคลึงกันหลายประการ”

“เตหะรานยินดีต้อนรับการสถาปนาสันติภาพในทุกส่วนของโลก เช่นเดียวกับยินดีต่อการสร้างสายสัมพันธ์กันใหม่อีกครั้งระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะนำรัสเซียและยูเครนเข้าสู่โต๊ะเจรจา”

“ผมหวังว่าประเทศไทยและอาเซียน (ASEAN) จะสามารถใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ยุคใหม่ระหว่างอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าและราคาพลังงานที่มีเสถียรภาพ”

ทางรถไฟสายทรานส์อิหร่าน (Trans-Iranian railway) มรดกโลกทางวัฒนธรรม ภาพ – A.H Mansouri

อิหร่านกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน

“อิหร่านมีความก้าวหน้าอย่างมากในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ แม้จะมีภัยคุกคามและการคว่ำบาตรจากตะวันตก อย่างไรก็ตาม มีการเน้นย้ำหลายครั้งว่า อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของเรามีวัตถุประสงค์เพื่อสันติ”

“อิหร่านแสดงให้โลกเห็นถึงโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของประเทศเป็นโครงการเพื่อสันติ ด้วยการลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 (JCPOA) กับ 6 ชาติมหาอำนาจโลก”

“ท่านผู้นำการปฏิวัติอิสลามยังได้ออกฟัตวา (fatwa ) หรือกฤษฎีกาทางศาสนา โดยประกาศว่า การได้มา การพัฒนา และการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เป็นการละเมิดหลักการอิสลาม และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งต้องห้าม โดยกล่าวว่า จนถึงขณะนี้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)ได้ประกาศไปแล้ว 15 ครั้งตามปีที่ขยายออกไป โดยมีการตรวจสอบว่า ไม่ได้มีการเบี่ยงเบนในกิจกรรมทางนิวเคลียร์อย่างสันติของอิหร่าน”

“ซึ่งผมจะอธิบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่านในตอนต่อไป”

พระราชวังโกเลสถาน (Golestan Palace) มรดกโลกทางวัฒนธรรม ภาพ -Stefan Krasowsk

มองอนาคตของอิหร่านทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

“อิหร่านมีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความรู้และเทคโนโลยี แม้ว่าจะมีมาตรการคว่ำบาตรที่โหดร้ายและไม่ยุติธรรม ซึ่งส่งผลเสียต่อชีวิตของคนทั่วไป และเชื่อว่าการคว่ำบาตรจะค่อยๆ ไร้ผล โดยเฉพาะเมื่อใช้สกุลเงินอื่นที่เริ่มต้นจากหลายประเทศ”

“อิหร่านอยู่ในอันดับหนึ่งในการถือครองแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซทั้งหมดของโลก อันดับที่ห้าในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และอันดับที่หกในด้านนาโนเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ผลิตและส่งออกศัลยแพทย์หุ่นยนต์”

“ดังนั้น ในปัจจุบัน อิหร่านจึงเป็นหนึ่งในมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และผมหวังว่าความก้าวหน้าของอิหร่านจะดำเนินต่อไปมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน”

หมู่บ้าน Uramanat ตั้งอยู่ในหุบเขาตะวันออก-ตะวันตกบนพื้นที่ลาดชัน มรดกโลกทางวัฒนธรรม ภาพ Fars Media

กีฬาและการท่องเที่ยวอิหร่าน

“ชาวอิหร่านรักกีฬาหลายประเภท โดยเฉพาะฟุตบอลและมวยปล้ำ อิหร่านเป็นมหาอำนาจด้านกีฬาที่สำคัญในเอเชียและในโลกในบางกรณี ซึ่งนักกีฬาเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันหลายรายการ”

“ผู้อ่านบางท่านอาจทราบว่า อิหร่านอยู่ในอันดับที่ 10 ของจำนวนสถานที่ทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของ UNESCO อิหร่านยังได้รับประโยชน์จากการมีสภาพอากาศสี่ฤดู ซึ่งทำให้เหมาะสำหรับการเดินทางตลอดทั้งปี”

“ฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูที่น่ารื่นรมย์ในการไปเยือนอิหร่าน ซึ่งการเดินทางช่วงไฮซีซั่นจะเริ่มในเดือนมีนาคมและต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม หรือเลือกเพลิดเพลินกับกีฬาฤดูหนาว เช่น สกี ทางตอนเหนือของกรุงเตหะราน (ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) โดยมีเที่ยวบินตรงสองเที่ยวบินต่อสัปดาห์จากกรุงเทพฯ ไปยังกรุงเตหะราน”

“น่าเสียดายที่ผู้คนส่วนใหญ่ทั่วโลกรับเนื้อหาข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับอิหร่านเป็นประจำทุกวันในสื่อกระแสหลักตะวันตก แต่หากมีโอกาสได้เดินทางไปยังประเทศที่มีอารยธรรมอายุเจ็ดพันปี ก็จะได้สัมผัสประสบการณ์ที่ตรงกันข้าม”

ระบบชลศาสตร์เก่าแก่แห่งชูชแทร์ (Sushtar) มรดกโลกทางวัฒนธรรม ภาพ – Ali Afghah

กิจกรรมในยามว่าง

“ผมสนใจการเล่นวอลเลย์บอลมาก ถือเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งที่ชอบมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว รวมทั้งชอบการเดินและอ่านหนังสือด้วย”

“อย่างที่ทราบกันดีว่า เรามีนักกีฬาและทีมกีฬาอิหร่านเก่งๆ มากมายเดินทางมาที่กรุงเทพฯ เป็นประจำ ผมจึงพยายามไปดูการแข่งขันของพวกเขาทุกครั้งที่มีเวลา”

“ส่วนในช่วงสุดสัปดาห์อาจไปช้อปปิ้ง หรือเดินทางไปยังเมืองใกล้ๆ กรุงเทพฯ กับครอบครัว”

ทะเลทรายลูท Lut Desert (Dasht-e Lut) ทะเลทรายร้อนแรงแห่งอิหร่าน มรดกโลกทางธรรมชาติ ภาพ – yeowatzup – Kaluts, Iran

เรื่องที่เป็นความภาคภูมิใจที่สุดเมื่อนึกถึงประเทศอิหร่าน

“ประเทศของเรามีหลายสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ เพราะอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่นี้ เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดของโลก และเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในเอเชียตะวันตกซึ่งเป็นภูมิภาคที่ประสบปัญหามากมาย”

“อิหร่านมีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์การเมืองที่เป็นพิเศษ โดยมีทะเลแคสเปียนทางตอนเหนือและอ่าวเปอร์เซียทางตอนใต้ซึ่งเชื่อมต่อกับมหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่ในทางแยกระหว่างเอเชียกลาง เอเชียใต้ และรัฐอาหรับในตะวันออกกลาง ที่นี่ถือเป็นประตูสู่ประเทศตุรกีและยุโรปผ่านทางพรมแดนด้านตะวันตก”

“อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศในโลกที่มีสี่ฤดูกาลในคราวเดียว แม้ว่าทางตอนเหนือจะปกคลุมไปด้วยหิมะ แต่ทางตอนใต้จะสามารถสัมผัสได้ถึงอากาศเขตร้อนที่น่ารื่นรมย์”

“ชาวอิหร่านเป็นคนอัธยาศัยดี มีน้ำใจ เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของกันและกัน พวกเขาก่อการปฏิวัติต่อต้านเผด็จการในปี 1979 และสร้างประชาธิปไตยเชิงศาสนา (Religious democracy) ชาวอิหร่านพยายามยืนบนลำแข้งของตนเองอย่างเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง นักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และอวกาศ โดยการพึ่งพาความรู้และพลังงานจากภายในประเทศ” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin