วิกฤติศตวรรษที่21 : ผู้นำขบวนการเตรียมพร้อม

Demonstrators walk along Regent Street towards Parliament Square on an anti-austerity rally and march organised by campaigners Peoples' Assembly, in central London, Britain July 1, 2017. REUTERS/Peter Nicholls

การเตรียมพร้อมของพลเมือง (6)

ผู้นำขบวนนักเตรียมพร้อมบางคน

การนำในขบวนนักเตรียมพร้อมนั้นเป็นการนำในสามด้านหลัก ได้แก่ ทางความคิด เทคนิค และประสบการณ์ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายหรือชมรมเพื่อการแลกเปลี่ยนในสามประการข้างต้น

ผู้นำในขบวนมีหลากหลายอาชีพ มีทั้งคนงานกรรมกร ผู้ทำงานด้านเทคนิคข่าวสารและการสื่อสารนักวิเคราะห์ตลาดเงิน อดีตทหาร อดีตเจ้าหน้าที่รัฐทางด้านข่าวสาร นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน

เผยแพร่งานของตนผ่านอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย มีทั้งเว็บไซต์ โทรทัศน์และวิทยุ เผยแพร่หนังสือเล่มทั้งในรูปสารคดีและนวนิยาย

ผู้นำการเคลื่อนไหวนี้ส่วนใหญ่มีแนวคิดเอียงไปทางขวา แต่ก็มีอิทธิพลของฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายเพิ่มขึ้น และผสมกันไปโดยยึดการเตรียมพร้อมเป็นแกนหลัก

จะกล่าวถึงผู้นำกลุ่มผู้นำและองค์กรของคนเหล่านี้เป็นตัวอย่าง 3 ข้อคือ

1)ทอม มาร์ติน (Tom Martin) ผู้ก่อตั้ง “เครือข่ายนักเตรียมพร้อมอเมริกัน” (American Preppers Network- APN ปี 2008) เขาทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกแถบฝั่งตะวันตก ขนส่งอาหารและของใช้ประจำวัน มีประสบการณ์ตรงที่ทำให้ตระหนักว่าสังคมอเมริกันนี้มีความเปราะบางมาก ขึ้นอยู่กับระบบขนส่งโดยเฉพาะรถบรรทุก

เขากล่าวว่า “ผมอยู่ในอุตสาหกรรมขนส่งมา 15 ปี ผมรู้ดีว่าโซ่อุปาทานของเราเปราะบาง…ร้านขายของชำทั้งหลายมีของที่จะวางขายบนชั้นเพียง 3 วัน ถ้าหากมีอะไรทำให้โซ่อุปาทานนี้หยุดชะงัก คุณจะเห็นว่าของจะเกลี้ยงชั้นไปอย่างรวดเร็ว”

AFP PHOTO / MOHD RASFAN

ประสบการณ์นี้มีงานเขียนของนักวิชาการหลายคนกล่าวถึงไว้ เช่น ในปี 2016 นักวิเคราะห์ระบบคือ อลีซ ฟรีดแมนน์ ได้เขียนอธิบายเรื่องนี้ถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ในหนังสือชื่อ “เมื่อรถบรรทุกหยุดวิ่ง” (When Trucks Stop Running : Energy and the Future of Transportation) เตือนว่าเมื่อรถบรรทุกหยุดวิ่ง อารยธรรมก็จะหยุดวิ่งไปด้วย เราต้องเตรียมพร้อมรับภัยคุกคามนี้

มาร์ตินริเริ่มตั้งเครือข่ายนี้อย่างมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้เป็นเครือข่ายระดับชาติ สร้างพันธมิตร ขยายหุ้นส่วนไปอย่างกว้างขวาง ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อถึงปี 2014 สมาชิกราว 50,000 คนที่เป็นแฟนในเฟซบุ๊กราว 130,000 คน ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ประสบและเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เช่น เมืองนิวออร์ลีนส์ นิวยอร์ก และเมืองในแนวพายุเฮอริเคน (ดูบทความของ Anthony Fannal ชื่อ The moderate minds of prepper movement ในรายการมองอนาคตของโทรทัศน์ออสเตรเลีย abc.net.au 03.12.2014)

ผู้ที่มาร่วมและเป็นหุ้นส่วนในเครือข่ายของเขาที่สำคัญได้แก่ ฮิวห์ เวล (Hugh Vail) เชี่ยวชาญด้านการผลิตและการตุนอาหาร

ฟิล เบิร์นส์ (Phil Burns) เป็นวิศวกรซอฟต์แวร์และผู้จัดการโครงการการค้า ตัวเบิร์นส์เองเกิดในครอบครัวนักเตรียมพร้อม

และ เกลน มาร์ติน (Glen Martin) เชี่ยวชาญในการอยู่รอดในธรรมชาติ เคยทำเครือข่ายวิทยุเพื่อนักเตรียมพร้อม สิ่งที่มาร์ตินทำให้แก่ขบวนนักเตรียมพร้อมได้แก่

ก) การสร้างเครือข่ายและชมรมนักเตรียมพร้อมในระดับชาติขึ้นจนกลายเป็นชมรมนักเตรียมพร้อมใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

ข) การสร้างภาพลักษณ์ใหม่แก่ขบวน เดิมมักมองเห็นว่านักเตรียมพร้อมเป็นผู้ตื่นตูมหรือซ่อนเร้นเพื่อเอาตัวรอด เรียกกันว่า เป็นนักอยู่รอด (Survivalist) เขาเปลี่ยนเสียใหม่ว่านักเตรียมพร้อมเป็นผู้ตระเตรียมอย่างมีสติ มีเหตุผล และตามความเหมาะสม

“เครือข่ายนักเตรียมพร้อมอเมริกัน” (เอพีเอ็น) ในปัจจุบันมีความเชื่อและพันธกิจดังนี้ ในด้านความเชื่อมีสองระดับ ได้แก่ ระดับใจกลางเชื่อว่า

“ทุกครอบครัวอเมริกันควรพยายามที่จะพึ่งตนเอง เพื่อให้พวกเขาสามารถรับมือกับภัยพิบัติ มหันตภัย และความยากลำบากที่เราต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน…(และท้ายสุด) เชื่อว่าการเตรียมพร้อมอย่างเหมาะสม สามารถเอาชนะภัยพิบัติได้ในระดับบุคคล ครอบครัว เพื่อนบ้านและชุมชน”

ความเชื่อใจกลางนี้เป็น การเปิดกว้างให้บุคคลหรือองค์กรที่มีความเชื่อเช่นนี้ เข้ามาเป็นเพื่อนร่วมทางหรือแนวร่วมได้ทั้งสิ้น

ส่วนความเชื่อระดับรอง มีลักษณะเอียงขวาดำรงอยู่ทั่วไปในกลุ่มคนงานคริสเตียนผิวขาว ซึ่งประกอบเป็นส่วนใหญ่ในขบวนนักเตรียมพร้อมสหรัฐ ความเชื่อนี้กล่าวว่า “เอพีเอ็นเป็นองค์กรของคริสเตียน เข้าข้างอเมริกัน สนับสนุนสาธารณรัฐ ไม่เชื่อทฤษฎีสมคบคิด และเป็นองค์กรเอกชนอนุรักษนิยม”

ซึ่งใกล้เคียงกับคำขวัญของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการหาเสียงว่า “อเมริกันเหนือชาติอื่นใด”

ความเชื่อในระดับรองข้อนี้ได้สร้างความชัดเจนมีการขยายพันธมิตรและหุ้นส่วน

ความเชื่อระดับรองอีกข้อหนึ่ง กล่าวว่า “เอพีเอ็นไม่ได้ส่งเสริมการเตรียมพร้อมบนพื้นฐานของภาพอนาคต “การสิ้นสุดของโลก” แต่ส่งเสริมการเตรียมพร้อมในฐานะที่เป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตประจำวัน (ซึ่งครอบคลุมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับ “การสิ้นสุดของโลกอยู่แล้ว)” ในด้านพันธกิจหรือเป้าประสงค์ขององค์กร กล่าวว่า “เพื่อนำความรู้และความเข้าใจของแบบดำเนินชีวิตที่พึ่งตนเองไปสู่กระแสหลัก ปลูกฝังความรู้ความเข้าใจนี้ในทุกครัวเรือนของอเมริกา”

ถ้าหากองค์กรนี้สามารถปฏิบัติพันธกิจดังกล่าวได้สำเร็จก็น่าจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้ เนื่องจากมีพลเมืองที่เข้มแข็งมาก

2)กลุ่มนักเขียนนวนิยาย ขณะที่ขบวนการฮิปปี้มีนักร้องนักแต่งเพลงเป็นจุดเด่น ขบวนนักเตรียมพร้อมก็มีนักเขียนนวนิยายเป็นจุดขายสำคัญ

ขบวนนี้ได้สร้างนวนิยายประเภทใหม่ขึ้น เรียกว่านวนิยายนักเตรียมพร้อม (Prepper Novel/Fiction)

นักเขียนนวนิยายเชิงนักเตรียมพร้อมมีอยู่มากด้วยกัน จะกล่าวถึงแบบรวมๆ ไป ได้แก่

ก) เนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดในสังคมหลังมหันตภัยซึ่งนักเตรียมพร้อมเรียกว่าสถานการณ์ “เมื่อขี้ถูกพัดลม” (When Shit Hits The Fan ย่อว่า WSHTF/ SHTF) หรือ “การสิ้นโลกที่เรารู้จัก” (The End of the World As We Know It-TEOTWAWKI)

สถานการณ์นี้เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น สงครามนิวเคลียร์ โรคระบาด การก่อการร้าย และเหตุการณ์ไม่คาดคิดอื่นๆ

ผู้ร้ายมักได้แก่ คนเกาหลีเหนือ รัสเซีย จีน กลุ่มผู้ก่อการร้าย เป็นต้น

ตัวเอกมักเป็นคนผิวขาวรักชาติที่ต้องดิ้นรนเผชิญกับความไม่แน่นอน ความชั่วร้าย อันตรายรอบด้าน และผู้ปกครองที่กดขี่ในสังคมนี้

This undated picture released from North Korea’s official Korean Central News Agency (KCNA) on April 14, 2017 shows North Korean leader Kim Jong-Un (C) inspecting the “Dropping and Target-striking Contest of KPA Special Operation Forces – 2017” at an undisclosed location in North Korea.
North Korean leader Kim Jong-Un has overseen a special forces commando operation, state media said on April 13, as tensions soar with Washington over Pyongyang’s nuclear programme. / AFP PHOTO / KCNA VIA KNS / STR / South Korea OUT / REPUBLIC OF KOREA OUT —EDITORS NOTE— RESTRICTED TO EDITORIAL USE – MANDATORY CREDIT “AFP PHOTO/KCNA VIA KNS” – NO MARKETING NO ADVERTISING CAMPAIGNS – DISTRIBUTED AS A SERVICE TO CLIENTS
THIS PICTURE WAS MADE AVAILABLE BY A THIRD PARTY. AFP CAN NOT INDEPENDENTLY VERIFY THE AUTHENTICITY, LOCATION, DATE AND CONTENT OF THIS IMAGE. THIS PHOTO IS DISTRIBUTED EXACTLY AS RECEIVED BY AFP. /

แต่ในบางชุด พระเอกคล้ายคนธรรมดามากกว่า ไม่ได้มีความสามารถพิเศษอะไร อาศัยจิตใจพึ่งตนเองและการร่วมกับผู้อื่นในการอยู่รอด

นิยายเหล่านี้มักเจือด้วยความคิดรักชาติ แต่ก็มีบางชุดที่ตั้งคำถามลึกกว่านั้นว่าอารยธรรมและความเป็นมนุษย์คืออะไร

ข) นิยายนักเตรียมพร้อมนิยมทำเป็นชุด ซึ่งสะดวกในการเดินเรื่องและสร้างความต่อเนื่อง เมื่อสร้างตัวละครขึ้นมาแล้วก็ใช้แสดงในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่อง

ในเมืองไทย นิยายชุดที่อาจจัดในกลุ่มนวนิยายนักเตรียมพร้อม (นักอยู่รอด) ได้แก่ “ล่องไพร” ของ “น้อย อินทนนท์” (นามปากกาของ มาลัย ชูพินิจ) เผยแพร่ตอนแรก ปี พ.ศ.2498 (ค.ศ.1955) ที่มีเป้าประสงค์ให้ “คนหนุ่ม (สาว) ของเรารู้จักค่าของชีวิต ที่มั่นคงแข็งแรงทั้งกายและใจ ชีวิตป่าให้ความสำนึกถึงความเสียสละ ภราดรภาพ และความเป็นไท อย่างชีวิตอื่นยากที่จะให้ได้”

ต่อมามีการรวมพิมพ์เป็นชุดมี 14 เล่ม

ค) นักเขียนจำนวนไม่น้อยเคยมีอาชีพเป็นทหาร บางคนอยู่หน่วยรบพิเศษ มีประสบการณ์ตรงหรือได้สัมผัสกับสถานการณ์คับขันต่างๆ ที่ต้องเอาตัวรอด รวมทั้งการรู้จักใช้อาวุธ

ง) เหตุที่นิยายแบบนี้ขายได้และขายดี เนื่องจากว่านิยายเหล่านี้แสดงถึงความสามารถของบุคคลหรือพระเอกในการปรับตัว สร้างนวัตกรรม และแสดงอย่างโลดโผน เพื่อที่ให้อยู่รอดในสถานการณ์เลวร้ายที่พวกเขาไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นระทึกใจกว่าการรับสาร คำแนะนำ เป็นต้น เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมในยามมหันตภัยหรือฉุกเฉิน หรือการล่มสลายที่ปรากฏในเว็บไซต์ต่างๆ และคำแนะนำเหล่านี้มักไม่ชัดเจนว่าจะใช้ในสถานการณ์ที่เป็นจริงแบบไหน อย่างไร และแค่ไหน

แต่ในนิยายนักเตรียมพร้อมจะแสดงชัดถึงสถานการณ์ต่างๆ และการใช้เครื่องมือและเทคนิคอะไรอย่างไร การเขียนนิยายประเภทนักเตรียมพร้อมต้องค้นคว้ามาอย่างดี ให้ผู้อ่านได้รับข่าวสารที่จำเป็นจำนวนที่พอเพียง กล่าวอย่างสั้นนิยายนักเตรียมพร้อม ช่วยให้ผู้อ่านเกิดวิจารณญาณว่า จะปรับแผนฉุกเฉินและการเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์อย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล

(ดูบทความของ Franklin Horton ชื่อ Some of my favorite Post-Apocalyptic / Prepper Novels ใน franklinhorton.com 12.07.2015)

สำหรับนักเขียนที่มีชื่อเสียง ที่เป็นรุ่นเก่า เช่น สตีเฟน คิง (Stephen King เกิดปี 1947) เขียนเรื่อง “ผู้หยัดยืน” (The Stand เผยแพร่ครั้งแรกปี 1978 และมีการปรับปรุงจนมีความยาวราว 1,200 หน้า) เมื่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นในโครงการอาวุธชีวภาพในค่ายทหารสหรัฐแถบแคลิฟอร์เนียแพร่ออกมา ทำให้คนตายถึงกว่าร้อยละ 99 ของประชากรทั้งหมด ผู้ที่เหลืออยู่จะต้องเลือกหรือถูกเลือกว่าอยู่ฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมไม่มาก

สำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ ยกตัวอย่าง 5 คนได้แก่

ก) วิลเลียมส์ อาร์. ฟอร์สเชน (William R. Forstchen เกิด 1950) เป็นนักประวัติศาสตร์เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ การสงครามและอาวุธ เป็นนักเขียนติดอันดับขายดีของนิวยอร์กไทม์ส เขียนเรื่อง “หนึ่งวินาทีหลังจากนั้น” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 2009)

ในสถานการณ์สหรัฐแพ้สงครามในพริบตาเดียว เมื่อถูกโจมตีด้วยรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า (เป็นรังสีแกมมา เมื่อจุดระเบิดที่ความสูง 300 ก.ม. เหนือพื้นดิน มีอำนาจทำลายล้างทั้ง 48 รัฐของสหรัฐ) มีหนังสือในชุดนี้ตามมาอีกสองเล่ม แสดงว่าจะอยู่รอดในสังคมที่ล่มสลายแบบนี้ได้อย่างไร

ข) แองเกอรี อเมริกัน (Angery American เป็นนามปากกา) เขียน นวนิยายชุด “ผู้อยู่รอด” (The Survivalist 8 เล่ม เล่มแรกชื่อ “กลับบ้าน” เผยแพร่ปี 2012 เล่มสุดท้ายชื่อ Home Invasion เผยแพร่ปี 2017) เป็นเรื่องการเผชิญภัยของตัวเอกบนระยะทาง 250 ไมล์จากบ้าน เผชิญสถานการณ์หลังการโจมตีด้วยรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า รถของเขาตายรวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดก็เสีย ต้องเดินเท้ากลับบ้าน เขาต้องดิ้นรนหาอาหาร น้ำ และที่พักพอจะหาได้ ทั้งต้องป้องกันตนเองจากผู้คนที่สิ้นหวัง

เล่มสุดท้ายเป็นเรื่องของตัวเอกและครอบครัว ได้ช่วยกันสร้างบ้านและฟาร์มขึ้นมาอีกครั้ง ผู้คนที่เหลืออยู่ยอมรับความจริงว่าจำต้องร่วมมือกัน

ค) เกลน เทต (Glen Tate) เขียนนิยายชุด “299 วัน” มีสิบเล่ม (เผยแพร่ระหว่างปี 2012-เขาเกิดในครอบครัวยากจนในรัฐวอชิงตัน สร้างตัว จนเข้าสู่สนามการเมืองได้ เขาได้ประจักษ์ความฉ้อฉลในวงการนี้ ซึ่งจะนำมาสู่การล่มสลายของสังคมอเมริกันในไม่ช้า แต่เป็นการล่มสลายในบางส่วน ตัวเอกในนิยายชุดนี้เคลื่อนไหวด้านการเตรียมพร้อมร่วมกับผู้อื่นสร้างชุมชนขึ้นมา

ง) สตีเวน คอนโคลี (Steven Konkoly) เขียนนิยายหลายชุด ชุดที่ได้รับการยกย่องได้แก่ “หายนะพายุดาวตก” มีสี่เล่ม (เผยแพร่เล่มแรกปี 2013) สถานการณ์เมื่อโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐถูกโจมตี

จ) สตีเวน เบิร์ด (Steven Bird) เขียนนิยายชุด “แนวหน้าใหม่” (The New Homefront) มีห้าเล่ม เนื้อหาว่าด้วยพลเมืองที่ต้องตกอยู่ในภาวะสงครามที่ความสิ้นหวังทำให้ผู้คนละทิ้งความมีอารยธรรมและความเป็นมนุษย์ได้

มนุษย์มีด้านที่งามและด้านที่น่าเกลียด

3)เดซี ลูเธอร์ (Daisy Luther) ในขบวนนักเตรียมพร้อม มีสตรีนักเคลื่อนไหวที่เป็นแม่ โดดเด่นอยู่หลายคน เดซี่ ลูเธอร์ เป็นหนึ่งในนั้น เธอมีประสบการณ์ตรงที่ผลักดันให้ไปดำเนินชีวิตแบบนักเตรียมพร้อม และประสบความสำเร็จ

เธออยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย เป็นนักเขียนอิสระ แนวคิดต่อต้านโลกาภิวัตน์ คัดค้าน การปกครองโลก เช่น โดยผ่านองค์การสหประชาชาติ

สนับสนุนตลาดเสรีสำหรับรายย่อย

มีคติพจน์ว่า “การเตรียมพร้อมสำหรับตัวเองเป็นการมองด้านดีและมีความหวังที่สุด ในโลกที่ให้ความสำคัญแก่การโด่งดังเฉพาะหน้าอยู่เหนือการยึดกุมความเป็นจริง”

ผลงานสำคัญของเธอได้แก่

ก) เขียนหนังสือเล่มบางหลายเล่ม เน้นเรื่องอาหารทำเองหรืออาหารสะอาด น้ำ และการใช้จ่ายแบบประหยัด

หนังสือเล่มล่าสุดชื่อ “หนังสือเบื้องต้นเกี่ยวกับห้องเก็บอาหาร” (The Pantry Primer : A Prepper”s Guide to Whole Food on a Half Price Budget เผยแพร่ปี 2015) เสนอให้มีการตุนอาหารสำหรับใช้ในหนึ่งปี ในประเด็นว่า เหตุใดทุกคนจึงต้องการมีอาหารสำรองในบ้านและเป็นปริมาณเท่าใด การมีห้องเก็บอาหารสัมพันธ์กับสุขภาพอย่างไร องค์ประกอบของห้องเก็บอาหารควรเป็นอย่างไร การช้อปปิ้งอย่างประหยัดช่วยสร้างห้องเก็บอาหารให้สำเร็จได้อย่างไร การวางแผนรายสัปดาห์สำหรับการสร้างไปจนถึงการดูแลรักษาห้องเก็บอาหาร

ข) สร้างเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จสูง ชื่อ The Organic Prepper มีรายงานความเคลื่อนไหวและบทความที่น่าสนใจ บทความของเธอมีการเผยแพร่ซ้ำในสื่อทางเลือกจำนวนมาก

ค) ร่วมสร้างสถาบันการศึกษาเสมือนจริง ชื่อ “มหาวิทยาลัยนักเตรียมพร้อม” (Preppers University)นอกจาก มีเธอเป็นผู้สอนแล้วยังมีผู้เชี่ยวชาญมาสอนด้วย โดยเฉพาะในด้านไม่มีไฟฟ้าใช้และการถูกโจมตีด้วยรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า

ง) สร้าง “ตลาดสำหรับนักเตรียมพร้อม” เป็นธุรกิจของครอบครัว ขายอาหารและอุปกรณ์สำหรับนักเตรียมพร้อม พร้อมด้วยคำแนะนำ

จ) สร้างเว็บไซต์ว่าด้วยข่าวรายวันสำหรับนักเตรียมพร้อม (preppersdailynews.com) เป็นการทำตามความ ชอบและความถนัดของเธอ ตัวอย่างหัวข้อข่าวที่นำขึ้นมาพูดล่าสุด (ต้นเดือนธันวาคม 2017) เช่น “ฮาวายทดสอบระบบเตือนภัยการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ” “แม้เงินเก็บ 1 ล้านดอลลาร์สำหรับการเกษียณอายุ ก็ไม่พอแล้ว (ในสหรัฐ)” “ระบบโลกเก่าทั้งหมดกำลังถูกทำลายลง”

ฉบับต่อไปเป็นตอนจบว่าด้วยนักเตรียมพร้อมปีกเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายและอนาคตของขบวนนักเตรียมพร้อม