ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายด้านเศรษฐกิจของไทยขณะนี้ กลายป็นคำถามสำคัญสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเริ่มเดินเครื่องบริหารประเทศ หลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจบไปแล้วเมื่อวันที่ 11-12 กันยายนที่ผ่านมา
“ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวสะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า โจทย์ท้าทาย มีหลักๆ อยู่ 2 ส่วน คือ ความท้าทายระยะยาว ซึ่งสำคัญกว่า ได้แก่ ปัญหาโครงสร้างต่างๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขมานาน โดยที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวด้วยการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่หลังโควิดมาท่องเที่ยวก็ยังกลับมาได้ไม่ได้ดีเท่าเดิม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงก่อนจะเกิดโควิด การท่องเที่ยวก็ถูกตั้งคำถามเรื่องความยั่งยืน หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้นอยู่แล้ว
ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิดก็คือ จะหา Engine of Growth อื่นๆ มาเสริมการท่องเที่ยวได้แค่ไหน เพราะเดิมประเทศไทยเป็น “ดีทรอยต์ออฟเอเชีย” แต่ตอนนี้ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเข้ามาทดแทนรถสันดาปภายใน ทำให้กระทบต่อการผลิตชิ้นส่วนค่อนข้างมาก
ซึ่งการจะปรับไปทำแบตเตอรี่ ไทยก็ไม่มีทรัพยากรที่จะสนับสนุน จึงเป็นได้แค่ผู้ประกอบแบตเตอรี่ ซึ่งคงได้มูลค่าเพิ่มไม่มาก
ขณะที่ด้านพลังงานก็มีปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยแนวโน้มระยะยาวราคาพลังงานจะแพงขึ้น เพราะว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงมีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการแก้ระยะยาวต้องพยายามลดทอนการใช้พลังงานที่ใช้อยู่ปัจจุบัน
“แต่กลายเป็นว่าระยะสั้น รัฐบาลจะพยายามลดราคาพลังงานลง ทั้งๆ ที่ราคาพลังงานอนาคตจะแพงขึ้น ก็จะเป็นการทำนโยบายสวนทางกับการโครงสร้างในระยะยาวที่จะลดการพึ่งพาพลังงาน แต่ว่าเราจะไปพยายามลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมันดีเซล โดยการไปลดภาษี หรือเพิ่มหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย”
อีกความท้าทาย คือเรื่อง “คน” ซึ่งสำคัญมาก และเป็นปัญหาที่ยากที่สุด ทั้งด้านการศึกษาของคนไทย และการที่เด็กมีจำนวนลดลง เพราะในอนาคตแรงงานก็จะน้อยลงไปด้วย รวมถึงเรื่องคุณภาพการศึกษาที่ยังมีปัญหา
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องคนแก่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน ในช่วงไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า หากไม่ดูแลสุขภาพให้ดี ก็จะเป็นภาระหนัก
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ส่วนระยะสั้น จากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่รัฐบาลบอกว่าต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นขึ้นมา โดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ “เคนเซียนอีโคโนมิกส์” บอกว่ากระตุ้นได้ เมื่อเศรษฐกิจเกิดการขาดความมั่นใจทั้งนักลงทุนและทั้งผู้บริโภค ทำให้ไม่บริโภคและไม่ลงทุน แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจมหภาคเอื้ออำนวยหรือเปล่า
“เพราะถ้าไม่เอื้ออำนวย คุณจะมีปัญหาว่าที่คาดหวังว่าจะกระตุ้นแรงๆ แต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนก็จะเกิดปัญหาได้”
ทั้งนี้ ในแง่ความเหมาะสม ปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณา คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด หากเกินดุล แปลว่าประเทศไทยส่งออกเกินการนำเข้า สะท้อนว่าภายในเศรษฐกิจมีกำลังการผลิตเหลือ เช่นนี้ก็สามารถกระตุ้นกำลังซื้อได้ เพราะกระตุ้นแล้ว จะมีการนำเข้าสินค้าทุนมาฟื้นการลงทุนในประเทศ แต่หากขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แปลว่าประเทศใช้จ่ายเกินตัว แล้วหากไปกระตุ้นอีก จะยิ่งทำให้ขาดดุลมากขึ้น
โดยช่วงหลังไทยไม่ได้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือน 6-7 ปีก่อน โดยปี 2564 ก็ขาดดุลกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2565 ก็ขาดดุลอีกประมาณ 14,700 ล้านเหรียญ มาช่วง 6 เดือนแรกปีนี้เกินดุลนิดเดียว คือ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เดือนกรกฎาคมล่าสุด ก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอีก 400 ล้านเหรียญ
“อันนี้มีความเสี่ยง ถ้าไปกระตุ้นมากๆ จะมีปัญหา เพราะว่าในการบริโภคของคนไทยจะมีสัดส่วนของการนำเข้าถึง 50% ของจีดีพี ถ้าใส่เงินเข้าไป เป็นไปได้มากเลยว่า ถ้าเอาไปบริโภค เงินจะไหลออกไปครึ่งหนึ่ง แม้กระทั่งปุ๋ยการเกษตรก็เป็นการนำเข้า 90% ถ้ากระตุ้นแบบนี้ รวมถึงนโยบายที่บอกว่าจะลดภาษี ทำให้น้ำมันดีเซลราคาลดลง ก็จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น”
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ถ้าจะกระตุ้น ต้องกระตุ้นซัพพลาย ไม่ใช่ดีมานด์ เพราะการกระตุ้นดีมานด์ จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น แล้วก็จะทำให้เกิด “ขาดดุลแฝด” เหมือนในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง
คือขาดดุลงบประมาณ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน
ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศที่ขาด 2 อย่างพร้อมกัน ไม่ค่อยดี ยกเว้นประเทศที่พิมพ์เงินเองอย่างสหรัฐ
ทั้งนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะมีข้อดีตรงที่ว่า ถ้ามั่นใจว่าขาดดุลเพราะนำเข้าสินค้าทุนมาลงทุนเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับเศรษฐกิจ แล้วจะทำให้เศรษฐกิจในอนาคตโตมากขึ้น มีผลผลิตมากขึ้น แล้วใช้คืนหนี้ได้ก็เป็นเรื่องดี
แต่นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ต้องใช้เงินก้อนใหญ่มาก คือกว่า 5 แสนล้านบาท เพิ่มความเสี่ยงเรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ โดยรัฐบาลจะต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้ทำนโยบาย และอีกส่วนก็ต้องเป็นการหมุนเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ โดยขยายกรอบวงเงินใช้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
“ถ้านโยบายนี้สำเร็จ จะทำให้จีดีพีเติบโต มีรายได้เงินภาษีเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่สำเร็จ คือไม่สามารถทำให้จีดีพีขยายตัวได้ตามคาดหวัง ก็จะทำให้รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณมากขึ้น และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะสูงขึ้น เพราะจีดีพีไม่ได้ขยายตัว ซึ่งโอกาสที่จะให้จีดีพีโต 5% ต่อเนื่องอย่างที่รัฐบาลต้องการ ยาก เพราะเป็นการกระตุ้นดีมานด์การบริโภค ไม่ได้จูงใจให้เกิดการลงทุนระยะยาว”
นอกจากนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่แค่ปัญหาระยะยาว แต่ระยะสั้นจะสังเกตได้ว่าเงินบาทเริ่มอ่อน ซึ่งก็จะทำให้เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น แล้วพอเงินเฟ้อขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จะขึ้นดอกเบี้ยอีก ซึ่งจะเป็นปัญหาตามมา
ดร.ศุภวุฒิกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยต้องขึ้นกับเศรษฐกิจโลก แต่ตอนนี้สหรัฐปราบเงินเฟ้อไม่ค่อยได้ ดอกเบี้ยเลยสูงต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่ดีสำหรับทั้งโลก เพราะกระทบต้นทุนของผู้ประกอบการ ขณะที่จีนก็ฟื้นไม่ค่อยดี เพราะมีปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก เศรษฐกิจจีนก็อาจจะฟื้นช้า โดยจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทย จึงทำให้ส่งออกของไทยไม่ดีไปด้วย
“ดูทิศทางก็ไม่ได้เอื้ออำนวยให้การฟื้นตัวของไทยเป็นไปได้ง่าย ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลในการจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ต้องกลับไปพลิกฟื้นเศรษฐกิจแบบแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเลย คือต้องใช้เวลานาน ถ้าหวังผลเร็ววันคงยาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่นักการเมืองไม่แก้ปัญหาระยะยาว ก็เพราะรู้ว่าต้องใช้เวลาหลายปี ขณะที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีเวลาทางการเมืองเท่าไหร่ ทำไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำสำเร็จหรือเปล่า แต่ทำอะไรสั้นๆ มันจะเห็นผลงาน ดังนั้น ปัญหาระยะยาวก็เลยไม่ได้ถูกแก้”
นั่นคือมุมมองที่น่าสนใจจาก ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กับทางเลือกที่รัฐบาลเศรษฐา เลือกเดินอยู่ในเวลานี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022