อุษาวิถี (46) อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (46)

อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

 

บนเงื่อนไขที่นำไปสู่การได้เปรียบของรัฐสยามนี้ ได้ส่งผลให้รัฐละโว้หันมาใกล้ชิดกับรัฐสยามมากขึ้น แต่กระนั้น ก็มิอาจปลอดพ้นจากภาวะความขัดแย้งไปได้อยู่ดี การช่วงชิงการนำระหว่างรัฐทั้งสองเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยผ่าน “ราชวงศ์” ในฐานะตัวแทนของทั้งสองเอง

จนในที่สุดราชวงศ์ของรัฐสยามได้หันไปร่วมมือกับรัฐสุโขทัย เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับตน กระทั่งสามารถรวมรัฐละโว้ให้มาเป็นหนึ่งเดียวได้ จากนั้นจึงได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาให้เป็นราชธานีสืบมา

ด้วยเหตุที่ฐานอำนาจนี้มีที่มาจากรัฐสยามเดิม ศูนย์กลางการปกครองของราชอาณาจักรที่กว้างใหญ่ไพศาลหลังจากนี้จึงเป็นที่รู้จักและเรียกกันว่า “สยามประเทศ” นับแต่นั้นสืบมา

ภายหลังจากที่อยุธยาถูกสถาปนาขึ้นเป็นเสมือนอาณาจักรกลางของสยามประเทศแล้วก็ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น กระทั่งกลายเป็นรัฐที่ถูกจัดว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองยุคหนึ่งของสยามประเทศไปในที่สุด

สถาบันทางการเมืองและขนบจารีต ที่มีพื้นฐานมาจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเมื่อก่อนหน้านี้นับร้อยปี ได้ถูกพัฒนาจนมีระบบระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน

 

หากแบ่งเป็นชนชั้นปกครองและชนชั้นผู้ถูกปกครองโดยภาพรวมแล้ว ชนชั้นปกครองจะประกอบไปด้วยกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง โดยสองชนชั้นหลังนี้มักเรียกรวมกันว่า “มูลนาย”

ส่วนชนชั้นผู้ถูกปกครองประกอบไปด้วยไพร่ ทาส และชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน

ในกรณีของชนชั้นไพร่และทาสนั้น ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการจากความจำเป็นของสังคมชาวนาที่จะต้องอิงสังคม หรือศูนย์กลางอำนาจที่ใหญ่กว่า ความจำเป็นนี้ที่ทำให้ชาวนาต้องถูกจัดให้เข้ามาอยู่ภายใต้ระบบไพร่ไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างชนชั้นทั้งสองดังกล่าวนี้ยังมีชนชั้นที่จัดว่าค่อนข้างพิเศษอยู่อีกชนชั้นหนึ่งคือ พระภิกษุในศาสนาพุทธ ที่ว่าพิเศษก็เพราะเป็นชนชั้นที่มีความใกล้ชิดกับชนชั้นปกครองและชนชั้นผู้ถูกปกครอง

จนมีฐานะไม่ต่างกับตัวกลางของชนชั้นทั้งสองไปโดยปริยาย

และจากบทบาทเช่นนี้ของพระภิกษุในศาสนาพุทธนี้เอง ที่ต่อมาได้เชื่อมร้อยสังคมของชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครองเข้าไว้ด้วยกัน

การเชื่อมร้อยนี้ได้ลดทอนขนบจารีตที่เข้มงวดกวดขันในลักษณะของอำนาจนิยม และความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่มีพื้นฐานมาจากศาสนาพราหมณ์ ให้คลายความตึงเครียดลงได้ไม่น้อย

จนกลายเป็นรากฐานวัฒนธรรมของสยามประเทศที่สำคัญและโดดเด่นในเวลาต่อมา

 

ชนชั้นทั้งหมดนี้ได้ผูกพันตนเองเข้าไปในโครงสร้างสถาบันทางการเมือง ควบคู่ไปกับขนบจารีตเฉพาะชนชั้นของตนที่ให้ต้องยึดถืออย่างแตกต่างกันออกไป ความผูกพันนี้เป็นไปอย่างเหนียวแน่น

เพราะนับแต่ที่อยุธยาได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรเมื่อก่อนสิ้นพุทธศตวรรษที่ 19 เรื่อยไปอีกกว่า 400 ปีนั้น ความขัดแย้งและการแย่งชิงอำนาจภายในหมู่ชนชั้นปกครอง และภัยคุกคามจากภายนอกที่มีมาเป็นระยะๆ หาได้ทำลายความผูกพันนี้ลงได้ไม่

ไม่เพียงเท่านั้น บนพื้นฐานของศาสนาพุทธเถรวาท ที่ทำให้สังคมของรัฐอยุธยามีความเป็นสังคมเปิดมากกว่ารัฐอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเมื่อตอนต้นนั้น ได้ทำให้รัฐนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าและการคมนาคมไปด้วยไม่น้อย

ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจของรัฐอยุธยาเกิดความเจริญมั่งคั่งขึ้นมา

ที่สำคัญ ยังได้นำมาซึ่งการเข้ามาของชนต่างชาติจำนวนมากอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มาจากทางจีนตอนใต้ที่เดินทางเข้ามาโดยทางทะเล

 

จากหลักฐานทางโบราณคดีได้ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนจากจีนตอนใต้เหล่านี้ได้เข้ามาตั้งรกรากทำการค้าและการเกษตรอยู่ในสยามประเทศ จนผสมผสานกลมกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ “ชาวสยาม” ไปในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ แม้รัฐอยุธยาจะสามารถดำรงตนอยู่ต่อไปได้ ภายใต้โครงสร้างสถาบันทางการเมือง และขนบจารีตที่รับมาจากอินเดียอย่างเป็นกระแสหลักก็ตาม แต่กล่าวในด้านเศรษฐกิจแล้วนับว่าจีนมีบทบาทอยู่ไม่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับต่างชาติอื่นๆ

สยามประเทศใต้เงารัฐอยุธยาที่รุ่งเรืองจากที่กล่าวมาได้ปิดยุคสมัยของตนลงภายหลังการบุกของกองทัพพม่าในต้นพุทธศตวรรษที่ 24 และหลังจากนั้นอีกประมาณ 6 เดือน พระยาตาก (สิน) ก็สามารถรวบรวมไพร่พลเข้าขับไล่พม่าได้สำเร็จ พร้อมกันนั้นก็สถาปนาตนขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี

การมีเชื้อสายจีนอย่างค่อนข้างชัดเจนของกษัตริย์พระองค์นี้ นับว่ามีความหมายต่อสังคมเศรษฐกิจการเมืองสยามอย่างลึกซึ้ง แต่ตลอดรัชสมัยนี้ก็ไม่ได้สืบสานสถาบันทางการเมือง และขนบจารีตเยี่ยงรัฐอยุธยาอย่างสมบูรณ์ไม่

ด้วยเหตุนั้น ภายหลังรัฐธนบุรีดำรงอยู่ไปได้ประมาณ 15 ปี อาณาจักรก็ล่มสลายไปในที่สุด หลังจากนั้นก็คือ การเข้ามาแทนที่ของรัฐรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ ในนามของราชวงศ์จักรี

 

แม้จะมีลักษณะการเมืองบางด้านที่รัฐกรุงเทพฯ ได้รับอิทธิพลมาจากรัฐธนบุรีก็ตาม แต่ก็ไม่มากเท่ากับการที่รัฐกรุงเทพฯ ได้ทำการสืบทอดสถาบันทางการเมืองและขนบจารีต ต่อจากรัฐอยุธยาตอนปลายให้ได้ใกล้เคียงที่สุด

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปอย่างเห็นได้ชัดคือ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในสมัยรัฐกรุงเทพฯ ที่มีอิทธิพลของการผลิตเพื่อการส่งออกเริ่มปรากฏขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ถึงที่สุดแล้วก็หนีไม่พ้นบทบาทของชาวจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดีของชนชั้นปกครอง

เหตุดังนั้น แม้รัฐกรุงเทพฯ จะตั้งต้นตนเองด้วยการพยายามสืบทอดรัฐในแบบอยุธยาก็ตาม แต่ชั่วเวลาที่ผ่านไปเพียงไม่กี่รัชสมัย ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่หลั่งทะลักเข้ามายังสยามประเทศก็ค่อยๆ ก้าวขึ้นมามีบทบาทที่สำคัญทางเศรษฐกิจการเมือง และได้กลายเป็นกลุ่มพลังที่มีความสำคัญต่อสยามประเทศในแทบทุกด้าน

แน่นอนว่า ภายใต้พลังดังกล่าวนี้ย่อมแยกไม่ออกจากรากฐานวัฒนธรรมจีนที่มีลัทธิขงจื่อเป็นกระแสหลัก และเป็นกระแสที่สอดรับกับกระแสเดิมที่สยามประเทศรับจากอินเดียมาช้านาน