ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
ชาวบ้าน : ทำไมคุณหาเสียงด้วยคำมั่นสัญญามากมาย แต่พอเลือกตั้งเสร็จคุณกลับเปลี่ยนคำพูดของคุณหน้าตาเฉย?
นักการเมือง : ก็ประชาชนไม่ลงคะแนนให้พรรคผมอย่างท่วมท้น พวกผมขอ “แลนด์สไลด์” แต่ผลออกมาประชาชนให้คะแนนเราต่ำกว่าที่เราต้องการมากกว่าครึ่ง
ชาวบ้าน : อย่างนี้ถือว่าเป็นความผิดของประชาชนหรือ?
นักการเมือง : ผมไม่ได้บอกว่าเป็นความผิดของประชาชน แต่ผมกำลังจะบอกว่าเมื่อเราขออะไรแล้วประชาชนไม่ยอมมอบให้เรา ก็อย่าได้คาดหวังว่าประชาชนจะได้สิ่งที่ต้องการจากเรา
ชาวบ้าน : นั่นแปลว่าถ้าคุณไม่ได้คะแนนตามที่คุณตั้งเงื่อนไขกับประชาชน คุณก็มีสิทธิ์จะเบี้ยวสัญญาอย่างนั้นหรือ?
นักการเมือง : เราไม่ได้บอกว่าเราเบี้ยวสัญญา เราเพียงแต่บอกว่าถ้าเราทำตามที่หาเสียงไว้ไม่ได้ ก็อย่าได้โทษเรา
ชาวบ้าน : แล้วจะโทษใคร?
นักการเมือง : โทษสังคมที่ไม่รู้ว่าพรรคเราดีเพียงใด
ชาวบ้าน : ประชาชนที่เลือกคุณ แต่ไม่มากเท่าที่คุณเรียกร้องต้องการ เขาผิดไหม?
นักการเมือง : เมื่อเขาไม่ช่วยไปบอกคนอื่นให้ลงให้พรรคเราให้เยอะๆ คนที่หย่อนบัตรให้เราก็จะมาต่อว่าเราไม่ได้ว่าเราทำตามสัญญาไม่ได้
ชาวบ้าน : พวกเขาทำให้คุณผิดหวัง เป็นความผิดของคนที่ลงคะแนนให้พรรคคุณอย่างนั้นหรือ
นักการเมือง : ก็เรารู้ด้วยว่าบางคนลงคะแนนเขตให้เรา แล้วไปลงคะแนนบัญชีรายชื่อให้อีกพรรคหนึ่ง จนพรรคนั้นชนะเรา อย่างนี้เราผิดหวัง แสดงว่าพวกเขาไม่จงรักภักดีต่อเราจริง
ชาวบ้าน : เป็นสิทธิ์ของประชาชนไม่ใช่หรือที่จะลงเขตให้คุณและลงบัญชีรายชื่อให้อีกพรรค
นักการเมือง : เขามีสิทธิ์จะปันใจให้อีกพรรค แต่เราก็มีสิทธิ์จะปันใจให้พรรคอื่นได้เหมือนกัน
ชาวบ้าน : แล้วที่คุณหาเสียงว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจเก่า ต่อต้านพวกสืบทอดอำนาจและจะไม่มีทางจับมือตั้งรัฐบาลกับอำนาจเก่าล่ะ?
นักการเมือง : นั่นเป็นเทคนิคการหาเสียง คุณต้องอยู่กับโลกความเป็นจริง
ชาวบ้าน : โลกความเป็นจริงที่คุณว่านี่คือต่อไปนี้เวลาคุณสัญญาอะไรในระหว่างการหาเสียง ประชาชนต้องเข้าใจว่ามันคือเทคนิคการหาเสียงเท่านั้น ใครหลงเชื่อก็เป็นความโง่ของตัวเองใช่ไหม?
นักการเมือง : คุณต้องเข้าใจว่าการเมืองมีสองโลก โลกหนึ่งคือก่อนเลือกตั้ง อีกโลกหนึ่งคือหลังเลือกตั้ง
ประชาชนที่ฉลาดย่อมจะเข้าใจสัจธรรมของการเมืองดี
ชาวบ้าน : สำหรับนักการเมืองการ “พูดความจริง” กับการ “อยู่กับความจริง” ต่างกันอย่างไรหรือ?
นักการเมือง : ตอนหาเสียงเราพูดความจริง หลังเลือกตั้งเมื่อรู้ผลแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่ได้เสียงข้างมากพรรคเดียว เราก็ต้องอยู่กับความเป็นจริง
ชาวบ้าน : คำว่า “ความจริง” กับ “โลกความเป็นจริง” ต่างกันอย่างไรสำหรับนักการเมือง?
นักการเมือง : เราพูด “ความจริง” เพื่อหาเสียงให้คุณลงคะแนนให้เรา เมื่อคุณให้เสียงเราไม่มากพอ, เราก็ต้องอยู่กับ “โลกความเป็นจริง”…แปลว่าเราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ชาวบ้าน : เพื่อจะได้เข้าสู่อำนาจเท่านั้นหรือ?
นักการเมือง : ไม่มีนักการเมืองคนไหนต้องการจะสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นฝ่ายค้าน
ชาวบ้าน : แม้จะต้องทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุณรับปากไว้กับประชาชนอย่างนั้นหรือ?
นักการเมือง : เราไม่ได้ทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่รับปากกับประชาชน เราเพียงแต่ขอให้ประชาชนได้ยอมรับว่าเราทำตามที่พูดเอาไว้ไม่ได้เพราะคุณไม่ให้คะแนนเรามากพอ
ชาวบ้าน : ประชาชนผิดอีกเช่นเคยใช่ไหม?
นักการเมือง : ถ้าประชาชนไม่ยอมเทคะแนนให้พรรคเรา ประชาชนก็ต้องรับผลที่ตามมา เพราะการเมืองคือคณิตศาสตร์ล้วนๆ
ชาวบ้าน : ถ้าการเมืองคือคณิตศาตร์ล้วนๆ อุดมการณ์และนโยบายพรรคคืออะไร?
นักการเมือง : อุดมการณ์กินไม่ได้ เก้าอี้รัฐมนตรีกินได้
ชาวบ้าน : ถ้าอย่างนั้น ที่คุณประกาศเป็นนโยบายว่าจะ “ปฏิรูป” ระบบราชการ, “ปฏิรูปกองทัพ”, “ปฏิรูปการศึกษา” มันมีความหมายอย่างไรเมื่อคุณมาเป็นรัฐบาล?
นักการเมือง : ตอนหาเสียง เราเรียกมันว่า “ปฏิรูป” หลังเลือกตั้ง เมื่อเราได้เป็นรัฐบาล เราเรียกมันว่า “ร่วมกันพัฒนา”
ชาวบ้าน : มันต่างกันอย่างไรหรือ?
นักการเมือง : “ปฏิรูป” ทำยากเพราะต้องจะไปกระทบผลประโยชน์ของคนที่อยู่ในตำแหน่งเดิมต่าง ๆ และตอนนี้เมื่อเรามาอยู่ในตำแหน่งเหล่านั้นแล้ว เราก็ไม่อยากจะเปลี่ยนอะไรไปจากเดิม
พอทำยากและไม่มีอะไรคืบหน้า เดี๋ยวประชาชนก็จะทวงถามอีกว่าทำไมเราไม่ทำ
แต่ถ้าเราบอกว่า “พัฒนาร่วมกัน” ประชาชนก็ไม่คาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะคำนี้มีความหมายที่สร้างสรรค์, ไม่สร้างความแตกแยก, ไม่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของใคร…รวมทั้งของเราเองด้วย
เพราะ “พัฒนาร่วมกัน” แปลว่าเราจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็ได้ อยู่ที่เราแล้ว เพราะเรามีอำนาจแล้ว
เอาไว้ให้เราตกจากอำนาจ เราค่อยกลับมาใช้คำ “ปฏิรูป” อีกทีก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก
ชาวบ้าน : ตอนนี้ พรรคคุณร่วมตั้งรัฐบาลได้สำเร็จแล้ว ก็สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้แล้วซิ?
นักการเมือง : ก็บอกแล้วไงว่านั่นเป็นเทคนิคการหาเสียงให้พวกคุณเลือกพรรคผมเยอะๆ …แต่เมื่อพวกคุณไม่เลือกพรรคผมให้ได้แลนด์สไลด์ ยังจะมาเรียกร้องอะไรอีก?
ชาวบ้าน : ก็รัฐบาลสลายขั้วมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและมีเสียงสนับสนุนในวุฒิสภาแล้ว พรรคคุณเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลก็สามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ซิ
นักการเมือง : คุณไม่เข้าใจ เราเป็นรัฐบาลผสม ทุกพรรคก็มีนโยบายหาเสียงของตัวเอง
ชาวบ้าน : ก็คุณประกาศหนักแน่นว่าพรรคคุณเป็นแกนนำรัฐบาล ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง พรรคคุณจะเอานโยบายหาเสียงของพรรคมาใช้เป็นแกนหลักแน่นอน
นักการเมือง : ก็ตอนนั้น พวกคุณด่าพรรคผมว่าตระบัดสัตย์ คนในพรรคบางคนก็หาว่าเราลืมอุดมการณ์ พวกในโซเชียลมีเดียก็ตะลุมบอนหนัก
พวกผมก็ต้องชูนโยบายมากลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ซิ
ชาวบ้าน : ถ้างั้น หาเสียงครั้งหน้าพวกคุณจะบอกกับประชาชนอย่างไร?
นักการเมือง : เราก็จะเตือนประชาชนว่าครั้งนี้ประชาชนผิดพลาดมากที่ไม่เทคะแนนให้เราให้ได้แลนด์สไลด์ ดังนั้น เลือกตั้งครั้งต่อไปอย่าได้ทำผิดซ้ำอีก เราจะให้อภัยยากขึ้นอีก
ชาวบ้าน : จะบอกไหมว่าประชาชนไม่ต้องเชื่อที่หาเสียงอีกแล้ว มันเป็นแค่เทคนิค
นักการเมือง : ถึงตอนนั้นชาวบ้านก็ลืมกันหมดแล้ว
ชาวบ้าน : ขอบคุณที่ให้ความกระจ่าง ชาวบ้านอย่างพวกเราจะได้ตัดสินใจให้ถูกต้องมากขึ้นอีกในครั้งหน้า
ว่าแต่ว่า ตอนนี้จะใช้สโลแกนอย่างไรจนกว่าจะถึงเลือกตั้งคราวหน้า?
นักการเมือง : สโลแกนของเราวันนี้คือเราคือผู้เสียสละ ยอมกลืนน้ำลาย กลืนเลือด ข้ามขั้วมาตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ ยอมจับมือกับอำนาจเก่าเพื่อแก้วิกฤตประเทศชาติไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ, วิกฤตรัฐธรรมนูญ และวิฤตความแตกแยกในบ้านเมือง
ชาวบ้าน : แล้ววิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อนักการเมืองล่ะ?
นักการเมือง : อย่าพูดเรื่องนามธรรม เราเชื่อในสิ่งที่ตีราคาได้เท่านั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022