ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี
ทำไม ‘ก้าวไกล’
ตรึงพื้นที่ ‘ระยอง’ อยู่หมัด?
ฟังทรรศนะนักวิชาการ-นักกิจกรรม
หมายเหตุ ความเห็นของนักวิชาการและนักกิจกรรมที่ช่วยกันอธิบายว่า เพราะเหตุใด พรรคก้าวไกลจึงสามารถรักษาพื้นที่ในการเลือกตั้งซ่อมระยอง เขต 3 เอาไว้ได้ หลังจาก “พงศธร ศรเพชรนรินทร์” ผู้สมัครก้าวไกล เอาชนะ “นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์” อดีต ส.ส. 3 สมัย จากประชาธิปัตย์ ไปอย่างขาดลอย กว่าหมื่นคะแนน
ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
(จาก) ผลการเลือกตั้งซ่อมและการเลือกตั้งใหญ่ก่อนหน้านี้ คือถ้านักการเมืองหรือกลุ่มตระกูลทางการเมืองตั้งข้อสังเกตบ้าง เขาก็จะเห็นเลยว่าการทำงานการเมืองแบบเดิมมันใช้การไม่ได้ ทั้งที่มีความพร้อมในแง่ทรัพยากร มีความพร้อมในเชิงเครือข่าย ทั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ส.ท. และอำนาจรัฐ มันเริ่มที่จะชี้นำการเมืองไม่ได้
ภาคตะวันออกอย่างที่คุณทิม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) บอก มันเป็นภาคที่เป็นฐานสำคัญเรื่องเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และเป็นภูมิภาคที่ผมเรียกว่า “glocalization” ก็คือมันมีทั้ง globalization (โลกาภิวัตน์) คือเป็นภูมิภาคที่เหมือนมีการเปลี่ยนแปลงในระดับสากลสูงมาก ขณะเดียวกัน มันมีภาวะความเป็น localization คือความเป็นท้องถิ่นนิยมด้วย ผสมผสานกันไป
แล้วผู้คนก็หลั่งไหลอพยพเข้าไปเยอะแยะมากมาย พอชีวิตเศรษฐกิจ-สังคมมันเปลี่ยน ปรากฏว่าภาพจำการเมืองแบบเดิม ที่มันเป็นการเมืองแบบเครือข่าย การเมืองแบบบ้านใหญ่ มันไม่ค่อยตอบสนองผลประโยชน์สาธารณะ แล้วบางครั้ง มันก็มีปัญหาทางการบริหารในเชิงลบ
ภาพจำเหล่านี้มันทำให้คนในภาคตะวันออกรู้สึกว่าเขาไม่โอเค เพราะเขารู้สึกว่าเขาเป็นพลเมืองใหม่ เป็นชนชั้นกลาง เขาเสียภาษี เขาอยากจะเห็นการบริหารที่ตรงไปตรงมา อยากจะเห็นการบริหารที่เขาได้ผลประโยชน์มากกว่ากลุ่มคนเล็กคนน้อยที่อยู่ใกล้ชิดนักการเมือง ไอ้ความรู้สึกแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นความรู้สึกร่วมกันของผู้คนในภาคตะวันออก
ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมามันจึงเป็นไปในลักษณะนั้น บวกกับนโยบายที่มาพร้อมกับก้าวไกล คือหลังจากคนไม่พอใจกับภาพจำทางการเมืองแบบเดิมที่อิงอยู่กับตระกูลทางการเมือง แล้วพรรคการเมืองที่จะมาเป็นคู่แข่งกับก้าวไกลนั้น มันไม่มีนโยบายอะไรที่เปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่เป็นเหตุเป็นผล มันมีแต่ลดแลกแจกแถม
แต่ก้าวไกลขายความฝันร่วม ที่เป็นเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง มันก็ไม่แปลก พอเป็นแบบนี้มันก็ไปตอบโจทย์ ถึงความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตของคนในภาคตะวันออก
ต้องยอมรับว่าพวกก้าวไกลเขาทำงานในเชิงพื้นที่เยอะ เขามีข้อมูลเยอะมากกว่านักการเมืองเดิม ที่รู้จักเฉพาะเครือข่าย อบต. ส.จ. พรรคพวกกลุ่มก้อน วงเหล้าต่างๆ แต่พวกก้าวไกล-ก้าวหน้านี่เขารู้จักปัญหาเยอะ เขาทำข้อมูลปัญหาเยอะมาก คือพูดง่ายๆ ว่าก้าวไกลเขาใช้ความรู้ในการทำงาน พอใช้ความรู้มันก็ไปตอบโจทย์ประชาชน
อย่างข้อมูลที่คุณโย (พงศธร ศรเพชรนรินทร์ ว่าที่ ส.ส.ระยอง เขต 3 พรรคก้าวไกล) พูดชัด ใช่ครับ เขต 3 เขาชะเมา แกลง ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องประมงมาก ประมงชายฝั่ง เรื่องการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน แถบชะเมานี่ก็จะมีปัญหาเรื่องช้างป่า ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต
ปรากฏว่าปัญหาเหล่านี้เราไม่เคยเห็น ส.ส.ระยอง (ชุดที่แล้ว) เอาจริงเอาจังกับมันเลยก่อนหน้านี้
แต่ปรากฏว่าใครก็ไม่รู้ที่สวมเสื้อก้าวไกล (กลับมารับฟังปัญหาเหล่านี้) คืออย่างน้อยชาวบ้านก็รู้ว่าปัญหานี้ไม่ได้แก้ง่ายๆ แต่มันมีคนยืนข้างเขา ให้เขาไว้เนื้อเชื่อใจ ว่าปัญหาของเขามันมีคนฟัง
ผมเคยจัดงานช่วยทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเรื่องที่ดินที่เขาชะเมา เรื่องช้าง เชื่อไหมครับ? ผมไม่เห็น ส.ส.ระยอง (ชุดก่อน) ผมเห็นทีมก้าวไกลตอนนั้นไปลงช่วยผมจัดโต๊ะจัดเก้าอี้ ฟังปัญหากับชาวบ้าน ไม่เห็น ส.ส.ระยอง (พรรคประชาธิปัตย์) เลย
คือชาวบ้านเขารู้ว่ามันไม่ได้แก้ง่ายๆ แต่ก้าวไกลเป็นเพื่อนเขาในการฟังปัญหาของเขา หรือ ส.ส.ท็อป ที่บ้านค่าย (ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ส.ส.ระยอง เขต 4 พรรคก้าวไกล) 3 นาที อภิปราย 12 เรื่อง อันนี้แสดงว่าปัญหามันทับถมมาเยอะมาก ตัวแทน (เดิม) ก็ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ
ภาณุพงศ์ มะณีวงศ์ (ไมค์ ระยอง)
นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
ก้าวไกลส่งเสาไฟลงก็ชนะครับ ผมมองว่ากระแสของพรรคประชาธิปัตย์เองเลย คุณหมอบัญญัติ (เจตนจันทร์) ตั้งแต่สมัยเลือกตั้งที่ผ่านมา ถ้าเขายังรักษาฐานเสียงเขาได้ (ประมาณนั้น) คือเทียบคุณหมอบัญญัติกับคุณสาธิต (ปิตุเตชะ) ที่เป็นตัวเต็งอยู่ในจังหวัดระยอง (คุณสาธิต) ยังพ่ายเลย แสดงว่าระยองก็เปลี่ยนไปแล้ว
ทุกวันนี้ ผมภูมิใจนะ เฮ้ย! ระยองไม่ใช่เมืองสลิ่มแล้วเว้ย! คือผมอาจจะพูดเว่อร์ไปว่าส่งเสาไฟก็ชนะ แต่ผมมองว่า โหวตเตอร์ในระยองที่สนใจก้าวไกล หรือเห็นด้วยกับแนวทางของก้าวไกล เนี่ยมีเยอะ ผมก็เลยคิดว่าเขาอยากเปลี่ยน
(ก่อนหน้านี้) เคยถามหลายๆ คนเหมือนกัน ว่าทำไมบ่นเขา (ประชาธิปัตย์) แล้วยังเลือกเขาอยู่ คือถ้าเป็นสมัยแต่ก่อน ก็บ่นว่า (ประชาธิปัตย์) ไม่ทำงานนู่นนี่ ทำไมยังเลือกเขา (ประชาธิปัตย์) อยู่ เขา (คนระยอง) บอกว่าไม่มีตัวเลือก คือไม่มีตัวเลือกที่คิดว่าเลือกแล้วจะมาแทนคนนี้แล้วดีกว่า ไม่มีแบบนั้น
แต่พอมาเจอก้าวไกล เขา (คนระยอง) มีตัวเลือกที่เขารู้สึกว่ามันเป็นความหวังของเขา เขาก็เลยเปลี่ยนในการเลือก
ไม่ต้องอะไรหรอก มีหลายๆ คนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ มาตลอดเวลา เปลี่ยนมาเลือกก้าวไกลในสมัยนี้ ก็มีเยอะมาก
คือผมมองอย่างนี้ด้วยว่าก้าวไกลเนี่ยมีอะไรที่น่าสนุกให้ประชาชนได้เลือก เข้าใจไหมครับ? แต่กับประชาธิปัตย์เอง เขาไม่ได้มีความสนุกขนาดนั้น…
แม้แต่คนเสื้อแดงในพื้นที่ที่เคยเป็นของเพื่อไทยมาแต่ก่อน ผมก็ได้คุยกับหลายคน เขาก็ไม่ได้เอาประชาธิปัตย์ (ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ – ตามกระแส “แดงแอนตี้ส้ม”) คือมันมีเรื่องของอำนาจผูกขาดด้วยในพื้นที่จังหวัดระยอง มันมีคำว่าบ้านใหญ่ มันมีนู่นนี่นั่นแทรกเข้ามา ทำให้คนเอือม
แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดจาก ส.ส.คนเก่า มันไม่ได้มีเยอะ คือพูดตรงๆ ว่าก้าวไกลเขาทำประเด็นได้เยอะกว่า ประเด็นข่าวต่างๆ ที่เขาทำอยู่ เขามีเพาเวอร์เยอะกว่า ถึงเขาเป็นฝ่ายค้าน เขาก็ไม่ได้มีภาพเสียมากขนาดนั้น เหมือนประชาธิปัตย์ที่ผ่านๆ มา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022