หากทำได้ก็คุ้มค่าที่จะข้ามขั้ว | คำ ผกา

คำ ผกา

รัฐบาลผสม 11 พรรคนำโดยพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาวันจันทร์ที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา

แน่นอนว่าเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลผสม ฉันคิดว่าการนำเสนอนโยบายครั้งนี้น่าจะต่างจากสมัยของไทยรักไทยที่มีเสียงมากถึง 377 เสียง

และต่างจากสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พรรคเพื่อไทยมีเสียงมากกว่าสองร้อยเสียงมีอำนาจเต็มและมีความชอบธรรมในการใช้นโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก

แต่เมื่อฟังการแถลงนโยบายโดยคุณเศรษฐาแล้วก็ประหลาดใจว่า นโยบายเกือบทั้งหมดเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยหมดเลย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยยาแรงอย่างดิจิทัลวอลเล็ต การเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง ยกระดับสามสิบบาทรักษาทุกโรค นโยบายเกษตรนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เปลี่ยนจากรัฐอุปสรรคเป็นรัฐ “สนับสนุน” ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนแต่เป็นนโยบายหลักที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงทั้งสิ้น

 

พูดให้เข้าใจง่ายและยืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงก็คือ การตั้งรัฐบาล “ข้ามข้ว” ครั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ยอมให้เพื่อไทย “ลีด” นโยบายโดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ

และแม้แต่การ “ปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย” (เลี่ยงการใช้คำว่าปฏิรูป) ก็ยอมให้ ส.ส.พลเรือนจากพรรคเพื่อไทยคือ สุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม และยอมให้ริเริ่มการลดจำนวนกำลังพลทหารกองเกิน การยกระดับคุณภาพชีวิตกำลังพลทหารกองเกิน (หรือที่เรารียกติดปากว่าทหารเกณฑ์) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนมาสมัครเป็นทหารกองเกินมากพอที่เราจะไม่ต้องทำการเกณฑ์ทหารอีก

เรียกได้ว่าพรรคเพื่อไทยได้รับ “ไฟเขียว” ให้ลุยได้ทุกนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ปากท้อง (ซึ่งเราจะเห็นด้วยกับสำนักคิดทางเศรษฐกิจของเพื่อไทยหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง)

แต่มีข้อแลกเปลี่ยนว่าห้ามไปแตะต้อง ยุ่งเหยิงในทุกประเด็น ทุกเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็สอดคล้องกับจุดยืนของพรรคเพื่อไทยแต่เดิมอยู่แล้ว

และนั่นแปลว่า จะต้องไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 และชัดเจนในการแถลงนโยบายครั้งนี้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยจะไม่แตะหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ตอนนี้ การเมืองแบ่งขั้วแบ่งข้างของสังคมไทยได้มีพลวัตไปอีกขั้นหนึ่ง

นั่นคือ จากเดิม เป็นขั้วเหลือง ที่หมายถึง กลุ่มคนที่เห็นว่าพรรคไทยรักไทย และทักษิณ ชินวัตร เป็นภัยคุกคามต่อสถาบัน ภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย และเป็นภัยคุกคามต่อ “ชาติไทย” (ในนามของทุนสามานย์ และทุนต่างชาติ ภายใต้วาทกรรมขายชาติ)

กับขั้วสีแดง ที่หมายถึงกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร คืนความเป็นธรรมให้ทักษิณในฐานะตัวแทนที่ประชาชนเลือก

ในระหว่างขั้วเหลืองและแดง มี “ขั้วปัญญาชน” สองไม่เอา ที่เห็นว่า ทักษิณก็ผิด เสื้อแดงก็ไม่ถูก แต่น่าสงสารถูกพรรคการเมืองหลอกใช้ และการรัฐประหารก็ผิด

ปัญญาชนกลุ่มนี้ออกมาม็อบ ออกมาประท้วง แต่เห็นว่า ประชาชนควรเป็น “ไท” จากทักษิณ และพรรคเพื่อไทย และมองว่าแม้ทักษิณจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ทักษิณก็ไม่จริงใจกับประชาชน และหักหลังประชาชนด้วยการไปเกี้ยเซียะกับชนชั้นนำเสมอ

จากขั้วเหลืองและแดง พัฒนามาสู่ขั้วของ กปปส. ที่จุดติดจากประเด็นนิรโทษกรรม “สุดซอย” และเหตุที่จุดติดเพราะเรื่องอันเปราะบางเรื่องเดียวคือ “เพื่อไทยทำทุกอย่างเพื่อเอาทักษิณกลับบ้าน” จนนำมาสู่การรัฐประหาร

แน่นอนว่า “ปัญญาชนสองไม่เอา” ก็เป็นกลุ่มคนที่ไปต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประณามพรรคเพื่อไทยเรื่องดีล และเกี้ยเซียะ ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดการรัฐประหาร ปัญญาชนกลุ่มนี้ก็ออกมาต่อต้านเผด็จการและรัฐประหาร

 

มาถึง ณ เวลานี้ พลวัตของการเมืองมาถึงจุดที่คนไทยจำนวนมากตกผลึกแล้วว่าเผด็จการไม่ใช่คำตอบ การรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ ห้วงเวลา 9 ปีที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในอำนาจ ทำให้เกิด “สำนึกใหม่” ขึ้นในผู้คน และมีพรรคการเมืองที่เสนอทางออกที่ตรงใจกับคนกลุ่มนี้ นั่นคือ พรรคอนาคตใหม่ที่ปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล

“ปัญญาชนสองไม่เอา” ได้ค้นพบบ้านของตัวเองที่พรรคก้าวไกล เพราะที่นี่ไม่มีทักษิณ ไม่มีตระกูลชินวัตร ไม่มีการเมืองกงสี บ้านใหญ่ ให้ทิ่มแทงหัวใจ

พร้อมๆ กับมีจุดยืนประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร เปลี่ยนประเทศให้อำนาจการเมืองเป็นของประชาชน แก้ไขปัญหาช้างในห้อง แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ปฏิรูปโครงสร้าง ฯลฯ

นี่คือข้อเรียกร้องที่ปัญญาชนสองไม่เอา แม้ครั้งหนึ่งจะเคยเป็นพันธมิตรหรือเป็น กปปส. ได้บรรลุแล้วว่า มันคือทางออกของประเทศ

พร้อมกันนั้น อดีตคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง นักต่อสู้ และคนรุ่นใหม่ที่ลงถนนไล่ประยุทธ์ ก็เห็นว่า หนทางเดียวของการเปลี่ยนประเทศไทยให้ดีกว่าเดิมคือ การวิ่งชนทะลุเพดานกล้าหาญเด็ดเดี่ยว

 

ฉันจะไม่บอกว่าสิ่งนี้ถูกหรือผิด แต่พูดได้ว่า คนในสังคมไทยมีสิทธิ์ที่จะเลือกหนทางนี้

และด้วยจุดยืน อุดมการณ์เช่นนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่า เพื่อไทยกับก้าวไกล เป็นพรรคคู่แข่งมากกว่าจะเป็นพรรคที่ร่วมเป็นพันธมิตร (ฉันเคยเชื่อเช่นนั้นในช่วงพรรคอนาคตใหม่เริ่มก่อตั้ง และวันนี้ขอสารภาพ ยอมรับว่าคิดผิด) ถ้าพูดอย่างเป็นกลางก็อาจพูดได้ว่า พรรคก้าวไกลทำการเมืองแบบ “อินดี้” ส่วนพรรคเพื่อไทยมีความประนีประนอมและมีความอนุรักษนิยมสูง

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าการ “ข้ามขั้ว” นั่นคือ เพื่อไทยตัดสินใจฉีก MOU เพื่อเดินหน้าตั้งรัฐบาลแม้จะต้องไปรวมกับพรรคที่เป็นศัตรูเก่าอย่าง พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ

จากจุดนี้เองที่นำไปสู่การแบ่งขั้วทางการเมืองอีกครั้งในสังคมไทย นั่นคือขั้วของก้าวไกลและผู้สนับสนุน

ชัดเจนว่า ขั้วนี้มองว่าประเทศไทยจะดีขึ้น เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง จะต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

พรรคที่ก่อตั้งโดยอดีตคณะรัฐประหารอย่างพลังประชารัฐ หรือรวมไทยสร้างชาติ กับพรรคฝั่งประชาธิปไตยไม่ควรต้อง “ผสมพันธุ์กัน”

การไปเจรจาต่อรองกับ “ขั้วอำนาจเดิม” คืออาชญากรรม คือการทรยศประชาชน

สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือ ให้ฝั่ง “เผด็จการ” ดันทุรังตั้งรัฐบาล เอาประวิตร วงษ์สุวรรณ หรืออนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกฯ ฝั่งประชาธิปไตยควรอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ยอมเป็นฝ่ายค้านพิสูจน์ หลักการ อุดมการณ์กับประชาชน

เพื่อจะชนะในสองทางคือ หากประวิตรเป็นนายกฯ มีการยุบพรรค ประชาชนจะลงถนนสู้ หรือประชาชนโกรธมาก จนทำให้พรรคฝั่งประชาธิปไตยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

 

แต่ในขั้วของเพื่อไทย และผู้สนับสนุนการตัดสินใจ “ข้ามขั้ว” ของพรรคเพื่อไทย มองว่า การลงถนน ไม่ใช่หนทางไปสู่ชัยชนะของประชาชน

แต่การถอยคนละก้าวกับคู่ขัดแย้งเดิม แม้จะต้อง “ผิดสัญญา” กับประชาชนตอนหาเสียง เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ยอมเสียหายเรื่องการ “ผิดสัญญา” แต่ได้ “ลีด” รัฐบาล และได้เข้าไปบริหารประเทศ จะเป็นชัยชนะที่จับต้องได้หรือพูดในภาษาที่เราคุ้นเคยคือสำหรับเพื่อไทยนี่คือ “ประชาธิปไตยกินได้”

นั่นคือที่มาของนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาว่า

นโยบายเร่งด่วนที่จะทำคือ

กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

นโยบายเร่งด่วน คือ พักหนี้, ลดภาระราคาพลังงาน, มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชน, ฟื้นฟูหลักนิติธรรม

ระยะกลางและยาว เป็นเรื่องปฏิรูปการศึกษา, กองทัพ, โลจิสติกส์, อุตสาหกรรมสีเขียว, อากาศสะอาด, สิทธิและความเท่าเทียม, ยาเสพติด, รัฐบาลดิจิทัล ฯลฯ

สำหรับฉันสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องพิสูจน์ให้สังคมไทยเห็นคือ ต้องทำให้คนเห็นว่า ทางเลือกที่พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ตั้งอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่อิงอุดมคติจนเกินไปเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง

เพราะมีคนไทยอีกเยอะมากที่บอบช้ำ เปราะบางจากฝีมือการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์มา 9 ปี เราไม่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตที่จะลงถนน และปล่อยให้ “คนไม่มีฝีมือ” บริหารประเทศอีกแม้แต่วันเดียว

 

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจอันเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย ฉันคิดว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยสามารถทำได้เลย และควรเติมเข้าไปในนโยบายหลัก นั่นคือ มาตรการคืนเสรีภาพให้แก่นักโทษทางความคิด ผู้ที่ต้องคดีเพราะการชุมนุมทางการเมือง

คนเหล่านี้ควรได้รับการประกันตัวทันที หรือได้รับการนิรโทษกรรมทันที เยาวชนที่ชุมนุมทางการเมืองที่ดินแดง เป็นเยาวชนไร้ชื่อเสียง ไม่มีต้นทุนทางสังคมใดๆ พวกเขาอยู่ในคุกนานเกินไปแล้ว ควรได้รับการปล่อยตัว

นักโทษคดีทางความคิดทั้งหมด ควรได้รับการประกันตัว นี่เป็นสิ่งที่ฉันคิดว่าพรรคเพื่อไทยในฐานะรัฐบาล และ รมว.กระทรวงยุติกรรมคนใหม่สามารถจัดการให้ลุล่วงได้โดยละมุนละม่อม

หากทำได้ จะเป็นการเริ่มต้นการเป็นรัฐบาลที่พูดเรื่องหลักนิติธรรมได้อย่างเต็มภาคภูมิ

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะมันคือหัวใจของแก้ไขทุกปัญหาที่ซับซ้อนในประเทศนี้ อำนาจของการปกครองส่วนท้องถิ่น ขอแค่กลับไปเหมือนก่อนรัฐประหาร ปี 2549 แค่นี้ก็ปล่อยพลังแห่งการปกครองตนเองของท้องถิ่นมหาศาล และเป็นการคืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชนคนไทยให้สมกับการมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

หากทำได้ก็คุ้มค่าที่จะข้ามขั้ว