กรุงเทพฯ เมืองนานาชาติ

ปริญญา ตรีน้อยใส

กรุงเทพมหานคร ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นมหานครแห่งความหลากหลายในด้านประชากรผู้อยู่อาศัยนั้น

นอกจากคนไทยที่มีภูมิลำเนาเดิมในพื้นที่ และผู้ย้ายภูมิลำเนาเข้ามา ทั้งแบบย้ายทะเบียน และไม่ย้ายทะเบียนแล้ว ยังมีคนเทศอีกมากมาย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศ

รวมกับผู้เข้ามาทำมาหากิน ทั้งแบบคอขาว คือ ทำงานบริหาร จัดการ ตามวิชาชีพหรือวิชาการต่างๆ คอดำ คือ แรงงานในภาคอุตสาหกรรม การค้า และบริการ และคอเทา คือ บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจสีเทาทั้งหลาย

จากสถิติของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2565 ประชากรที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 5,494,932 คน

แต่ตัวเลขดังกล่าว ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ชช. กำลังให้รวมผู้ที่อาศัยอยู่ แต่ไม่ย้ายทะเบียนบ้าน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนอีกสองสามล้าน

 

บังเอิญพบเอกสารประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับพลเมืองในกรุงเทพฯ จากการสำรวจสำมะโนครัว เมื่อร้อยปีที่แล้ว คือ พ.ศ.2464 ในหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ของเจ้าพระยายมราช สุขุม เสนาบดีนครบาล ซึ่งกำลังเตรียมการจัดตั้งมิวนีซีแปลิตี ที่มาจากคำว่า municipality หมายถึง เทศบาล ที่กรุงเทพฯ เคยเป็นมาก่อน

จำนวนพลเมืองในตอนนั้น มีคนไทย 225,729 คน จีน 116,431 คน แขก 14,193 คน ชาวยุโรปแลอเมริกา 1,447 คน ญวน 716 คน เขมร 523 คน พม่า 511 คน ยี่ปุ่น 232 คน เงี้ยว 9 คน และอื่นๆ อีก 55 คน

เมื่อรวมทุกเชื้อชาติ ตัวเลขจำนวนพลเมืองในกรุงเทพฯ เวลานั้น จึงมากถึง 359,846 คน ซึ่งหนึ่งในสามของจำนวนดังกล่าว เป็นคนต่างด้าว

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า จำนวนพลเมืองรวมในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในหนังสือกราบบังคมทูล ไม่ตรงกับฐานข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่รายงานว่า จำนวนประชากรในกรุงเทพฯ ก่อนหน้านั้น คือปี พ.ศ.2462 มีทั้งหมด 437,294 คน

ข้อมูลชุดเดียวกัน จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังรายงานว่า จากปี พ.ศ.2462 ที่มีผู้คนอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ถึงห้าแสนคนนั้น ได้เพิ่มเป็นสองล้านคนในปี พ.ศ.2503 หกล้านคนในปี พ.ศ.2533 และแปดล้านคนในปี พ.ศ.2553 มาถึงปีปัจจุบัน น่าจะเกินแปดล้านคน

ดังนั้น ช่วงเวลาร้อยปีผ่านมา จำนวนประชากรกรุงเทพฯ เพิ่มจากหลักแสน กลายเป็นหลักล้าน ยังไม่นับแรงงาน นักท่องเที่ยว และผู้เจ็บไข้ได้ป่วยมารักษาตัว หรือมาแปลงเพศ จากนานาประเทศ

 

นอกจากจำนวนผู้คนในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ความหลากหลายทางเชื้อชาติก็เพิ่มตามไปด้วย ทำให้กรุงเทพฯ วันนี้ กลายเป็นมหานครแห่งความหลากหลาย ที่เรียกขานว่าคอสโมโพลิแตน Cosmopolitan

คงเป็นเพราะคนไทยเป็นคนที่โอบอ้อมอารี มีน้ำใจกับคนต่างชาติ ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด คนไทยกับคนเทศ อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ไม่มีข้อขัดแย้ง เช่นในหลายประเทศ ที่สำคัญ เชื้อชาติไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาบ้านเมือง อย่างที่เห็นชัดว่า เจ้าสัวหม้ายสองคน ทำธุรกิจบริการให้กับผู้คนอย่างเต็มที่

สำหรับคนที่ชอบบ่นว่า เดี๋ยวนี้คนต่างชาติมาวุ่นวายมากเหลือเกิน คงต้องเลิกบ่น เพราะกรุงเทพฯ นั้น เป็นเมืองนานาชาติมาแต่ปางก่อน •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส