เบิ่งอีสานภายหลังการปฏิวัติ : ตะลอนไปกับทีมปาฐกถาประชาธิปไตย (2)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

เบิ่งอีสานภายหลังการปฏิวัติ

: ตะลอนไปกับทีมปาฐกถาประชาธิปไตย (2)

 

“หมู่บ้านต่างๆ ที่เราได้ผ่านมานี้ บางแห่งก็กันดารเหลือเกิน ชาวบ้านยังแต่งตัวสกปรก ทุกหมู่บ้านมีเด็กเล็กๆ เยอะ พอรถยนต์เราไปถึง เด็กก็กรูเกรียวกันมาดูเราทีเดียว บางทีก็วิ่งไล่แข่งกับรถไปตั้งระยะไกลเลยทีเดียว รู้สึกว่า พวกชาวอีสานนี้ ช่างมีลูกเก่งเสียนี่กระไร หมู่บ้านหนึ่งมีเด็กอย่างน้อยตั้ง 100 คน บางทีถึง 300-400 คน บางหมู่บ้านรถยนต์ก็ไม่เคยไป รถยนต์ที่เราไปถึงจึงเป็นคันแรกที่เราไปถึง ชาวบ้านบางคนไม่เคยเห็นรถยนต์เลยก็มี หญิงผู้เฒ่าคนหนึ่งเข้ามาจับรถยนต์ดูแล้วบอกว่า เกิดมาอายุ 60 ปี ไม่เคยเห็นรถยนต์สักครั้ง เป็นแต่ได้ยินเขาพูดกัน พึ่งมาพบวันนี้เอง” (ไพโรจน์, 2504, 565)

คำพรรณนาข้างต้นให้ภาพอีสานภายหลังการสิ้นสุดระบอบเก่าไม่นาน ตามสายตาของไพโรจน์ ชัยนาม เจ้าหน้าที่สำนักงานโฆษณาการของรัฐบาลคณะราษฎรที่ดั้นด้นบุกป่าฝ่าดงไปปาฐากถาเผยแพร่ประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ พร้อมความเป็นเจ้าของประเทศให้ชาวอีสานในครั้งนั้นทราบ

สภาพชาวอีสานมามุงดูรถยนต์ เมื่อ 2479 เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton

อีสาน คือเป้าหมายสำคัญ

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลและประชากรจำนวนมากของอีสาน อีกทั้งอีสานยังเคยเป็นฐานกำลังสำคัญของกบฏบวรเดชทำให้รัฐบาลคณะราษฎรให้ความสำคัญแก่ภาคอีสาน ด้วยการส่งคณะปาฐกถาเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนเพื่อสร้างสำนึกความเป็นเจ้าของประเทศและเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้แทนที่ความคุ้นเคยของประชาชนที่คิดว่าตนเป็นเพียงผู้ถูกปกครองตามระบอบเดิม

ไพโรจน์ ชัยนาม อดีตข้าราชการของสำนักงานโฆษณาการเล่าถึงโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยครั้งนั้นว่า เมื่อต้นปี 2477 สำนักงานจัดตั้งหน่วยปาฐกถาขึ้น 3 หน่วย แต่ละหน่วยมีหัวหน้า 1 คน ผู้ช่วย 1 คน และเสมียนผู้น้อย 1 คน ทางการกำหนดเบี้ยเลี้ยงในการออกปาฐกถาตามหัวเมือง หัวหน้าได้วันละ 1.50-2 บาท คนอื่นๆ 0.50-1 บาท ทางสำนักงานมีนโยบายให้ไปจัดแสดงปาฐกถาในภาคอีสานก่อน ด้วยเห็นว่าเป็นพื้นที่กันดารมากกว่าภาคอื่น

เมื่อปาฐกถาในภาคอีสานเริ่มต้นในมกราคม 2477 มีระยะเวลาเผยแพร่ 3 เดือนในทุกอำเภอและตำบลใหญ่ๆ ในภาคอีสาน จากความทรงจำของไพโรจน์ การไปภาคอีสานของคณะปาฐกถาครั้งนั้นมีความยากลำบากมาก แต่โชคดีที่คณะออกเดินทางในฤดูแล้ง การเดินทางจึงสะดวก

ตามแผนการปาฐกถาเริ่มที่จังหวัดขอนแก่น ตามด้วยอุดรธานี หนองคาย ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุบลราชธานี นครพนม สกลนคร เลย ขุขันธ์ (ศรีสะเกษ) สุรินทร์ และบุรีรัมย์ แต่ใน 4 จังหวัดหลังนั้น คณะไปเยือนน้อยกว่าจังหวัดอื่น แผนการปาฐกถาในชนบท ดำเนินการช่วง 2477-2479 หรือหลังจากรัฐบาลปราบกบฏบวรเดชแล้ว

เขาเคยบรรยายประสบการณ์ออกตะลอนอีสานทางวิทยุกระจายเสียง (2478) ให้ประชาชนรับทราบว่า ครั้งนั้น หากใครสักคนจะเดินทางไปอีสานมักจะได้ยินความว่า “ไม่ไหว เป็นดินแดนที่ยังห่างไกลความเจริญมาก มีแต่ป่าดงพงไพร ทางคมนาคมเลวทรามที่สุด เต็มไปด้วยฝุ่นและทราย บ้านเมืองกันดารแห้งแล้ง น้ำที่ขุดได้จากบ่อมักมีรสเปรี้ยว ยิ่งในฤดูร้อนแล้วอากาศอบอ้าวเป็นที่สุด พลเมืองเกียจคร้าน ไม่เห็นมีอะไรที่น่ารู้น่าเห็น นอกจากความโง่เขลาและความยากจนของพลเมืองซึ่งอยู่เดียรดาษ” (ไพโรจน์, 548)

สำหรับไพโรจน์ ข้าราชการสมัยการปฏิวัติแล้ว เขาเห็นว่า ที่ใดเจริญหรือไม่ สมัยที่ผ่านมามักพิจารณาจากการมีตึกสูง มีน้ำประปา หรือมีไฟฟ้าใช้หรือไม่ เขายอมรับว่า อีสานเป็นภูมิภาคที่ยังไม่เจริญทางวัตถุ แต่หากพิจารณาจากความงามทางศีลธรรมแล้ว อีสานมิได้อยู่ในระดับต่ำต้อย แต่ดูดีกว่าในภาคอื่นๆ ด้วย

เขาย้ำ แม้นอีสานจะยังไม่เจริญ แต่คนไทยควรรับทราบและระลึกว่า ภาคอีสานเป็นส่วนหนึ่งของประเทศของเราด้วยเช่นกัน (ไพโรจน์, 548, 551)

เด็กศรีสะเกษ ช่วงปี 2479 เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton

สภาพขอนแก่นภายหลังสิ้นระบอบเก่า

ไพโรจน์เล่าย้อนความทรงจำในฐานะสมาชิกคณะปาฐกถาว่า ในปี 2477 คณะปาฐกถาพร้อมกันที่สถานีรถไฟหัวลำโพงช่วงเช้า ขบวนรถเทียบสถานีนครราชสีมาในช่วงเย็น ใช้เวลาเดินทางถึง 8 ชั่วโมง คณะพักค้างแรมที่นครราชสีมา 1 คืนเพื่อรอเดินทางต่อไปขอนแก่นในวันรุ่งขึ้น

ขณะนั้น ขอนแก่นเป็นสถานีสุดท้ายของเส้นทางรถไฟที่สร้างมาแต่ครั้งระบอบเก่าอันเป็นจุดหมายปลายทางของสินค้าที่มาจากกรุงเทพฯ และนครราชสีมา สินค้าเหล่านี้จะถูกถ่ายเทส่งต่อไปยังอุดรธานี เลย หนองคาย และนครพนม ไพโรจน์เล่าว่า ขอนแก่นครั้งนั้นจึงเป็นเหมือนศูนย์กลางทางการค้า ทุกวันจะได้เห็นรถบรรทุกนับร้อยคันบรรทุกสินค้าและขนส่งผู้คนไปมาระหว่างขอนแก่น อุดรฯ หนองคาย และสกลนคร (ไพโรจน์, 551)

ขอนแก่นครั้งนั้นมีพลเมืองถึงเกือบ 4 แสนคน ไพโรจน์เห็นว่า ขอนแก่นเป็นเมืองที่เจริญขึ้นจากรถไฟที่ไปถึง เมื่อคณะลงจากสถานีรถไฟต้องนั่ง “จักรยานแท็กซี่” ซึ่งเป็นจักรยานพ่วงข้างเข้าไปในตัวเมืองอีกราว 5 นาที สิ่งที่เขาพบเห็นคือ ในขอนแก่นมีโรงน้ำแข็ง แต่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีตึกอาคารใหญ่โต มีแต่ตึกขนาดกลาง ถนนในเมืองบางสายดี แต่ถนนบางสายนั้นเต็มไปด้วยฝุ่นฟุ้งที่ตลบ มีตลาดเป็นศูนย์กลางของเมือง เขาสังเกตว่า การค้าส่วนมากอยู่ในมือของชาวจีน

รถประจำสำนักงานโฆษณาการสมัยแรก

สถานที่ราชการทรุดโทรมมาก หลายแห่งสมควรต้องรื้อสร้างใหม่ เช่น สโมสรขอนแก่นอยู่ในสภาพ “จวนจะพังมิพังแหล่” แต่กลับมีการชุมนุมคึกคัก ข้าราชการขอนแก่นนิยมมาสนทนา และเล่นกีฬาร่วมกัน ที่สำคัญขอนแก่นมีสนามบินสำหรับไปรษณีย์ด้วย ทว่า ขอนแก่นยังเป็นจังหวัดที่แห้งแล้ง หากใครต้องการน้ำต้องขุดบ่อบาดาล แต่ส่วนใหญ่น้ำมีรสเปรี้ยว จึงมีการซื้อขายน้ำจืดที่ตักมาจากบ่อในสนามบิน เทียมเกวียนขายกันทั่วไป

ในขณะนั้น ขอนแก่นมี 6 อำเภอ คือ พระลับหรือเมือง พล ชนบท กุดเค้า ภูเวียง และน้ำพอง สำหรับอำเภอพลนั้นต้องนั่งรถไฟออกไปอีก 3 ชั่วโมง ที่พลมีโรงสีข้าว ดารดาษไปด้วยกองข้าวเปลือกเป็นกองๆ อยู่ริมสถานีรถไฟ ที่อำเภอบ้านไผ่ในครั้งนั้น มีโรงแรมและร้านค้ามากมาย

หลังจากปาฐกถาเสร็จ คณะเดินทางจากอำเภอบ้านไผ่ไปชนบทด้วยรถสารอีก 1 ชั่วโมง สภาพการเดินทางครั้งนั้น “รถยนต์ของเราแล่นไปบนถนนขรุขระไม่เรียบ มีลักษณะเป็นทางเกวียนมากกว่าทางรถยนต์ เพราะเกวียนก็ใช้ถนนนี้เป็นทางสัญจรเหมือนกัน ขณะมาตามทาง เราได้พบราษฎรหมู่หนึ่งราว 15 คน คุมโคด่างราว 30 ตัวบรรทุกข้าวเปลือกมาหยุดพักอยู่ มาจากอำเภอผักปรัง ชัยภูมิ เพื่อจะนำข้าวไปขายที่บ้านไผ่ เมื่อฟังแล้วรู้สึกใจคอหดหู่ เพราะข้าวที่โคด่างบรรทุกตัวหนึ่งจะนำไปขายมีราคาเพียงราว 3-4 บาทเป็นอย่างมาก…” สิ่งที่เราพบเห็นสภาพสถานที่ราชการที่บ้านไผ่ครั้งนั้นทรุดโทรมมาก ถนนหนทางเต็มไปด้วยฝุ่นหนาท่วมหลังเท้า (ไพโรจน์, 2504, 558-559)

จากอำเภอชนบทจะไปกุดเค้า ไม่มีเส้นทางรถยนต์ด้วยมีลำชีขวางกั้นอยู่ รถจึงแล่นไปบนทางเกวียน ใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง ภายหลังปาฐกถาที่กุดเค้าแล้ว คณะต้องกลับมาตั้งต้นที่อำเภอเมืองใหม่เพื่อเดินทางไปยังภูเวียงบนถนนขรุขระถึง 7 ชั่วโมง ภูเวียงตั้งอยู่กลางวงล้อมของภูเขา มีเสือ ช้างและกวางชุกชุมมาก เมื่อเสร็จภารกิจปาฐกถาที่ภูเวียงแล้ว คณะต้องกลับมาที่อำเภอเมืองอีกครั้งเพื่อไปน้ำพองต่อไป จะเห็นได้ว่า ครั้งนั้นในชนบทไม่มีเส้นทางถนนเชื่อมระหว่างอำเภอ ต้องเริ่มต้นที่อำเภอเมืองร่ำไป

จากบันทึกภาคสนามของข้าราชการสำนักงานโฆษณาการที่เดินทางไปอีสานเพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตยครั้งนั้นจะเห็นว่า ที่ผ่านมาภาคอีสานถูกทอดทิ้งไว้กับความแห้งแล้งกันดาร การคมนาคมที่ไม่ดี ความเป็นอยู่ที่ยากแค้น แต่ด้วยภาคอีสานมีประชาชนจำนวนมาก ที่ผ่านมารัฐตักตวงแต่การเกณฑ์แรงงานราษฎร เมื่อระบอบเก่าสิ้นลงแล้ว อีสานจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลคณะราษฎรในการสร้างให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปกครองระบอบประชาธิปไตย

การแสดงปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยตามหัวเมืองของไพโรจน์ ชัยนาม