รำลึก อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2) มนุษย์ สังคม และสงคราม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

รำลึก อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2)

มนุษย์ สังคม และสงคราม

 

“สงครามของคนรวย และการต่อสู้ของคนจน”

สโลแกนของกลุ่มต่อต้านการเกณฑ์ทหารในนิวยอร์ก

ช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกัน, มิถุนายน 1861

 

ถ้าเราพิจารณาถึงพัฒนาการของความเป็น “ทหาร” ในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สังคม กับสงครามแล้ว คำถามที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ตั้งว่า “ทหารมีไว้ทำไม?” จึงเป็นประเด็นที่ชวนให้คิดต่ออย่างยิ่ง

ในตอนที่แล้ว ได้นำเสนอถึงมนุษย์กับสงครามในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ผู้ถืออาวุธจะทำหน้าที่เป็นนายพราน เพื่อล่าสัตว์มาเป็นอาหารในยามสันติ และพวกเขาพร้อมที่ใช้อาวุธปกป้องคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกินในยามที่เกิดความขัดแย้ง ดังที่กล่าวแล้วว่า นี่คือลักษณะของผู้คนในยุคบุพกาล

แต่เมื่อสังคมเริ่มก่อตัวขึ้น พร้อมกับการกำเนิดของอารยธรรมของมนุษย์ในช่วงราว 5 พันปีที่ผ่านมานั้น การกำเนิดอารยธรรมเช่นนี้ ทำให้ความขัดแย้งระหว่างสังคมเป็น “สงคราม” และเกิด “กองทัพ” ขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าสงครามถูกทำให้เป็น “สถาบันทางสังคม” (war as a social institution) ซึ่งในภาวะเช่นนี้ การสร้างกองทัพขนาดใหญ่ด้วยการเกณฑ์ไพร่พลในสังคม จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

กล่าวคือ การดำเนินการสงครามจะเป็นไปไม่ได้ โดยปราศจากมนุษย์ซึ่งทำหน้าที่เป็นทหาร และเขาเป็นผู้ขับเคลื่อนสนามรบ

 

จุดเปลี่ยน

หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์การสงครามของโลกแล้ว นักประวัติศาสตร์มีความเห็นร่วมกันว่า จุดเปลี่ยนใหญ่ของสงครามอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 16-18 (ค.ศ.1500-1750) หรือที่นักประวัติศาสตร์บางคนเรียกช่วงเวลาเช่นนี้ว่าเป็น “การปฏิวัติทางทหาร” ของยุโรป (The Military Revolution) แต่ก็มีนัยถึงการปฏิวัติทางทหารของโลกด้วย ฉะนั้น ในระยะเวลา 250 ปีของความเปลี่ยนแปลงทางทหารได้เกิดความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีทหารอย่างชัดเจน อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของสงคราม โดยเฉพาะการเปลี่ยนยุทธวิธีของการรบ

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติทางทหาร เช่น การค้นพบดินปืนที่นำไปสู่การกำเนิดของอาวุธปืน พัฒนาการของเทคโนโลยีทหาร การเกณฑ์กำลังพลจนทำให้เกิดกองทัพขนาดใหญ่ ขีดความสามารถของการสนับสนุนและการส่งกำลังบำรุง การจัดองค์กรทางทหารที่มีสายการบังคับบัญชาและมีความเป็นหน่วยทหารอย่างเป็นระบบ เช่น การเกิดของความเป็นหน่วยทหารราบแบบสมัยใหม่ ตลอดรวมถึงการเกณฑ์พลเรือนเข้าสู่กองทัพ พร้อมกับระบบการฝึกที่ทำให้เกิดระเบียบวินัยทางทหาร แตกต่างจากกำลังพลในแบบเก่าที่ไม่ได้รับการฝึกและขาดวินัยทหาร และมีระยะเวลาประจำการจำกัด

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้คือ การวางรากฐานสำหรับสงครามสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการกำเนิดของปืน ที่ส่งผลยุทธวิธีการรบของทหารราบต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และอีกส่วนคือการพัฒนาของปืนใหญ่ อันส่งผลทั้งต่อสนามรบของการสงครามทางบกและทางทะเล ดังจะเห็นได้จากการติดตั้งปืนใหญ่บนเรือรบ พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของขีดความสามารถในการต่อเรือ ที่เรือรบมีขนาดใหญ่ แตกต่างจากเรือฝีพายในยุคกรีก โรม หรือยุคกลางที่มีขนาดเล็ก และไม่มีขีดความสามารถในการทำยุทธนาวีสมัยใหม่

การปฏิวัติทางทหารเช่นนี้ส่งผลให้เกิดสภาวะของความเป็น “สงครามสมัยใหม่” (modern warfare) ที่องค์กรกองทัพมีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดทัพเก่าของเหล่าอัศวินในยุคกลาง สภาวะเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายขนาดของกำลังพล อันเป็นเงื่อนไขโดยตรงให้ต้องมี “การบริหารจัดการ” ในฐานะของความเป็นองค์กรทหารขนาดใหญ่ เช่น การจัดหน่วยด้วยการแบ่งระดับเป็นกองร้อย กองพัน และกรม ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดของกองทัพทั่วโลก การจัดดังกล่าวยังสร้าง “อัตลักษณ์หน่วย” (unit identity) ที่เป็นความรู้สึกร่วมของกำลังพลที่อยู่ในหน่วยเดียวกัน หรือเหล่าเดียวกัน

ทั้งหมดนี้ทำให้มีความจำเป็นต้องสร้างกองทัพให้เป็น “ทหารอาชีพ” เพราะสงครามมีพัฒนาการที่ซับซ้อนจากความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้น พลเรือนที่ถูกเกณฑ์เข้าสู่กองทัพจึงต้องถูกฝึกให้เกิดกองทัพที่มีวินัย (หรือดังที่คำสอนหนึ่งในวิชาทหารกล่าวเป็นข้อเตือนใจเสมอว่า กองทัพที่ไม่มีวินัยคือกองโจร) และทั้งยังต้องได้รับการฝึกให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธ เพราะไม่ใช่เรื่องของการใช้หอกและดาบแบบเดิม หากเป็นการฝึกยิงปืน หรือฝึกยิงปืนใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ต้องการทักษะของทหารสมัยใหม่อย่างมาก ทั้งยังนำไปสู่การกำเนิดของการจัดการศึกษาของกองทัพสมัยใหม่

เพราะผลของการปฏิวัติทางทหารทำให้ต้องการ “นายทหารที่มีความรู้” ในการควบคุมและบังคับบัญชากองทัพ

 

รัฐสมัยใหม่

ในขณะที่เราเห็นถึง “การปฏิวัติทางทหาร” นั้น ในทางรัฐศาสตร์ได้เกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญคู่ขนานคือ การกำเนิดของ “รัฐประชาชาติ” (The Nation-State) หรืออาจเรียกโดยทั่วไปว่า “รัฐสมัยใหม่” (The Modern State) ซึ่งเป็นหน่วยการเมืองที่เป็นรากฐานของการเมืองสมัยใหม่ หรือโดยนัยคือ การกำเนิดของความเป็น “ประเทศ” ในปัจจุบันนั่นเอง

การกำเนิดของรัฐเช่นนี้มีนัยสำคัญทั้งในทางการเมืองและการทหาร เพราะสิ่งที่ทำคลอดรัฐคือ “สงคราม”… สงครามคือผู้ให้กำเนิดรัฐ กล่าวคือผลของ “สงครามสามสิบปี” (ค.ศ.1618-1648) ที่เป็นการต่อสู้ระหว่างชาวคริสต์ 2 นิกายคือ สงครามระหว่าง “คาทอลิก vs โปรเตสแตนต์” ยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายโปรเตสแตนต์ พร้อมกับการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพที่เมืองเวสฟาเลีย (The Treaty of Westphalia) ในปี 1648

สนธิสัญญานี้ทำให้เกิดหน่วยทางการเมืองใหม่ ที่เป็น “รัฐ” (รัฐสมัยใหม่) และแตกต่างจากหน่วยทางการเมืองก่อนหน้านี้ เช่น รัฐโบราณในยุคกรีก-โรมัน หรือรัฐศักดินาแบบยุคกลาง ทั้งยังก่อให้เกิดแนวคิดในเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา หลักของการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐ ตลอดรวมถึงการวางแนวคิดในเรื่องของ “การทูตสมัยใหม่” (Modern Diplomacy) และการเปิดบทบาทของบุคคลในการเป็นทูต

เนื่องจากในการเจรจายุติสงครามนั้น ผู้แทนของศาสนาทั้ง 2 ไม่พร้อมที่จะคุยกันโดยตรง

 

เวทีการเจรจาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่มีลักษณะเป็น “เวทีใหญ่” ผ่านผู้แทนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการสงคราม ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส สเปน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นในทางการเมืองคือ การเปิดเวทีการเจรจาทางการทูตครั้งแรกของรัฐยุโรป หรือใช้ในภาษาปัจจุบันคือ เกิดการจัด “ระเบียบระหว่างประเทศ” ของรัฐยุโรปเป็นครั้งแรกนั่นเอง (ผลที่ตามมาในทางการศึกษาสำหรับพวกผมคือ การกำเนิดวิชารัฐศาสตร์ และสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมมักจะกล่าวกับลูกศิษย์เสมอว่า สาขาวิชาเราถือกำเนิดจากสงคราม ไม่ต่างจากรัฐ)

ที่กล่าวมาเช่นนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ 250 ปีจากศตวรรษที่ 16 จนถึงกลางศตวรรษที่ 18 เห็นการกำเนิดของ “การปฏิวัติทางทหาร” ที่นำไปสู่การมาของ “สงครามสมัยใหม่-กองทัพสมัยใหม่” พร้อมกันนั้น ก็เห็นถึง “การปฏิวัติทางการเมือง” จากการกำเนิดของ “รัฐสมัยใหม่” และกิจการของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐดำเนินผ่านงาน “การทูตสมัยใหม่” ด้วยความหวังว่าจะเป็นเครื่องมือของการป้องกันสงคราม เพราะสงครามสามสิบปีเป็นสงครามใหญ่ที่สร้างความสูญเสียให้กับสังคมยุโรปอย่างมาก และไม่มีใครต้องการเห็นสงครามหวนกลับมาอีก แต่มิได้หมายความว่ารัฐสมัยใหม่จะละเลยต่อการสร้างกองทัพ

ฉะนั้น ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นนี้ สถานะของบุคคลที่เคยอยู่ในฐานะของการเป็น “ไพร่” ที่เคยต้องเข้าสงครามด้วยเงื่อนไขของความสัมพันธ์ทางที่ดินในแบบยุคศักดินายุโรป ก็เปลี่ยนตามไปด้วย จำนวนบุคคลที่เป็น “เสรีชน” มีมากขึ้น พร้อมกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะเป็นทุนนิยม อันเป็นผลของการพัฒนาของ “ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา” (money economy)

การปลดปล่อยของกระบวนการผลิตเช่นนี้ ทำให้คนไม่ต้องอยู่ติดที่ดินในแบบเดิม และเข้าสู่ภาคการผลิตใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าการปลดปล่อยเช่นนี้เอื้ออย่างดีต่อการนำพลเรือนเข้าสู่กองทัพ ดังได้กล่าวแล้วว่ากองทัพในยุคนี้ต้องการจำนวนกำลังพลเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลจากการขยายขนาดของสงคราม โดยมีเส้นแบ่งสำคัญมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789… การปฏิวัติใหม่มาพร้อมกับสงครามใหญ่อย่างไม่คาดคิดที่เริ่มในปี 1792 ด้วยการที่บรรดารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตัดสินใจเปิดสงครามกับ “รัฐปฏิวัติ” ฝรั่งเศส

การประชุมสมัชชาแห่งชาติของฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคม 1793 เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของประวัติศาสตร์ทหาร เมื่อ “สมัชชาปฏิวัติ” ออกประกาศ “รัฐบัญญัติเกณฑ์ทหาร” ด้วยคำประกาศที่ตรงไปตรงมาคือ “ชายฉกรรจ์ทุกคนจะต้องไปรบ…”

ผลจากคำประกาศนี้ทำให้กองทัพปฏิวัติฝรั่งเศสขยายกำลังพลผสมทั้งจากทหารเก่าและอาสาสมัครใหม่ เป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านนายได้ในระยะเวลาสั้นๆ

 

สงครามสมัยใหม่

แต่จุดของความเปลี่ยนแปลงใหญ่ไม่ใช่เรื่องของจำนวน หากแต่นับจากสงครามนี้แล้ว “สงครามระหว่างราชวงศ์” (dynastic warfare) ซึ่งมีความหมายว่า “สงครามเป็นเรื่องของกษัตริย์” นั้น ปิดฉากลงแล้ว และสงครามใหม่เป็นสงครามของ “พลเมืองแห่งรัฐ” ที่ทุกคนพร้อมที่เข้าสู่สงคราม และตายในสนามรบด้วยความ “มีเกียรติ” ของการรับใช้รัฐ หรืออาจกล่าวได้ว่าสงครามถูกทำให้เป็นของทุกคนในรัฐ เช่นเดียวกับที่ทุกคนในรัฐได้เข้าร่วมในสงคราม อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรู้สึกว่า “สงครามเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน”

ในการสงครามนับจากยุคปฏิวัติฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน กองทัพแสดงบทบาทเป็นเครื่องมือของรัฐสมัยใหม่ และ “ทหาร” ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการสร้าง “กองทัพแห่งรัฐ” จึงเข้าสงคราม (หรือในเบื้องต้นคือเข้าสู่กองทัพ) ด้วยความเชื่อว่าการเป็นทหารคือการทำหน้าที่ปกป้องรัฐด้วยความมีเกียรติ หรือคำตอบจากการศึกษาในหลายประเทศต่อคำถามถึงพลเรือนที่เข้าสู่กองทัพ เป็นเพราะพวกเขาต้องการปกป้องมาตุภูมิ ปกป้องครอบครัว และปกป้องเพื่อนๆ ในสังคม… การกระทำเช่นนี้คือความมีเกียรติในการทำหน้าที่ให้แก่รัฐ โดยเฉพาะในยามสงคราม ที่มีนัยถึงความตาย และการบาดเจ็บ ดังเช่นทหารยูเครนในปัจจุบัน

คำตอบต่อบทบาทของทหารในยุคปัจจุบันดูจะไม่ต่างจากมนุษย์ตั้งแต่ยุคนีแอนเดอร์ทาล ที่บรรดานายพรานซึ่งเป็น “กลุ่มผู้ถืออาวุธ” ยุคแรกจะปกป้องครอบครัว ถิ่นฐานที่ทำกิน ซึ่งความต้องการเช่นนี้ถือเป็นเหตุผลพื้นฐานของการที่รัฐต้องมีกองทัพและมี “ทหาร” ประจำการไว้!