ครม.เศรษฐา 1 ทำทันที! ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตร ยืมรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัลหัวละหมื่น

รัฐบาล “เศรษฐา 1” เตรียมแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 11 กันยายนนี้ จากนั้นจะประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนัดแรก ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังป้ายแดง ประกาศว่า จะเดินหน้าลด “ค่าไฟฟ้า-ราคาน้ำมัน” ทันที

ล่าสุด นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้กำหนดนโยบายนี้ไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาแล้ว โดยแนวทางการดำเนินการจะมีเรื่องหลักเกี่ยวข้องกับ “องค์ประกอบ” ของราคาพลังงานหลายอย่าง อาทิ ภาษี ค่าการตลาด ภาระการเงิน และเงินกู้ บางองค์ประกอบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หรือต้นทุนราคาน้ำมันดิบ แต่สิ่งที่สามารถพิจารณาดำเนินการได้ก็คือ โครงสร้างและองค์ประกอบที่มารวมกันจนกลายเป็น “ราคาขาย” ของพลังงาน

“จะต้องมาดูว่ามีส่วนใดที่สามารถตัดทิ้ง หรือปรับลดลงได้บ้าง ‘เราก็จะทำทั้งหมด’ และเมื่อค่าใช้จ่ายลดลง ราคาพลังงานต่างๆ ก็จะสามารถปรับลดลงได้”

ขณะเดียวกัน ยังมองไปที่น้ำมันราคาถูกพิเศษสำหรับบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มชาวประมง สามารถซื้อน้ำมันที่เรียกว่า “น้ำมันเขียว” ในราคาพิเศษได้ และควรจะนำมาดำเนินการกับกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มเกษตรกรด้วย

นายพีระพันธุ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีนโยบายหลักสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ควรให้โอกาสเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ใช่การนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามากลั่นในประเทศ จนทำให้มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ควบคุมลำบากตามมา แต่นโยบายนี้จะเป็นการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ต้องมี “ค่าการกลั่น” หรือค่าใช้จ่ายอย่างอื่น

“หากใครสามารถนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปราคาถูกได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยรัฐจะเป็นผู้กำกับดูแลในการจัดการให้รวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้” นายพีระพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากการลดค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่จะดำเนินการทันทีแล้ว นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลยังรวมถึงการดูแลค่าก๊าซหุงต้มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย

 

ขณะที่การพักหนี้เกษตรกรนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รายงานว่า รัฐบาลได้เรียก ธ.ก.ส.เข้าไปหารือเรื่องแนวทางการพักหนี้เกษตรกรแล้ว แต่ยังไม่ได้เคาะออกมาว่าจะพักหนี้แบบไหน ลูกหนี้กลุ่มไหนที่จะเข้าข่าย โดย ธ.ก.ส.เพียงแต่ทำข้อมูลกลุ่มลูกหนี้ไปรายงาน ซึ่งแบ่งเป็นชั้นๆ ตามระดับการเป็นหนี้ เช่น กลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท, 200,000 บาท, 300,000 บาท, 400,000 บาท จนถึงไม่เกิน 500,000 บาท เป็นต้น

“แน่นอนว่าถ้ากำหนดวงเงินพักหนี้สูง ก็จะครอบคลุมจำนวนรายลูกหนี้มากขึ้นไปด้วย ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะพักแบบไหน ในอดีตก็มีหลายแบบ ตั้งแต่พักหนี้ให้กับกลุ่มหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อมาก็มีพักหนี้ให้กลุ่มเป็นหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท ครั้งนี้ คงต้องรอรัฐบาลแถลงนโยบายออกมาชัดเจนก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ทีมทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ระบุว่า โครงการพักหนี้เกษตรกร หากกำหนดผู้ที่จะได้รับสิทธิพักหนี้เป็นเกษตรกรที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 300,000-500,000 บาทต่อราย คาดว่ามูลหนี้ที่พักทั้งหมดจะอยู่ที่เกือบ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากที่ผ่านมีการพักหนี้เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า จะเป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก

 

ทั้งนี้ โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเป็นการเติมเงินให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน คาดว่าจะต้องใช้วงเงินประมาณ 560,000 ล้านบาท เบื้องต้นวางแนวทางไว้ว่า จะดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานอยู่กว่า 40 ล้านคน โดยช่วงที่ผ่านมาได้มีการเชิญผู้บริหารธนาคารกรุงไทยเข้าหารือแนวทางแล้ว ซึ่งอาจจะต้องมีการเพิ่มฟังก์ชั่นของโครงการแจกเงินดิจิทัลเข้าไปในแอพพ์เป๋าตัง คล้ายกับที่ทำโครงการ “คนละครึ่ง” ในช่วงที่ผ่านมา

โดยจะเป็นการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนในงวดเดียว เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน ในรูปของเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) โดยผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับเงินในทอดแรกๆ จะไม่สามารถเบิกเป็นเงินสดได้ แต่จะต้องนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้า-วัตถุดิบ เพื่อมาค้าขายต่อ เป้าหมาย เพื่อให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจ เช่น แม่ค้าข้าวเหนียวหมูปิ้ง เข้าโครงการรับ e-Money เข้าถุงเงิน จะไม่สามารถเอาเงินสดออกมาได้โดยตรง แต่จะต้องนำเงินที่ได้รับไปใช้ซื้อข้าวเหนียว หมู เครื่องปรุงต่างๆ เพื่อให้เงินที่ใส่เข้าไปหมุนในระบบหลายๆ รอบ

อย่างไรก็ดี จะมีการกำหนดคุณสมบัติ หรือเงื่อนไขบางอย่างสำหรับผู้ประกอบการที่จะสามารถนำเงินสดออกมาได้

นอกจากนี้ เงินดิจิทัลดังกล่าว มีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้จ่ายกับร้านค้าที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของประชาชน ดังนั้น จึงต้องการให้ออกมาทันก่อนช่วงสงกรานต์ปี 2567 ซึ่งคนไทยจำนวนมากจะเดินทางกลับบ้าน โดยที่จะมีเงิน 10,000 บาท กลับไปจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ไม่ให้การใช้จ่ายกระจุกอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ ในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่บังคับใช้ ก็คือ ต้องใช้มาตรการกึ่งการคลัง โดยยืมเงินรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเงินจากธนาคารของรัฐมาใช้ไปก่อน

โดยรัฐบาลจะตั้งงบฯ ชดเชยคืนให้ในภายหลัง ซึ่งจะมีกรอบวงเงินที่ใช้ได้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดว่า ยอดคงค้าง หรือภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ต้องไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันวงเงินตามมาตรา 28 ภายใต้กรอบของปีงบประมาณ 2566 เหลือแค่ราว 18,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ แนวทางที่ทำได้ก็คือ ต้องขยายเพดานกรอบวงเงินให้สูงขึ้น จากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

 

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่เคยพูดว่าจะต้องทำภายใน 100 วันแรก แต่คิดว่าไม่เกินไตรมาสแรกปีหน้า และจะเป็นการจ่ายงวดเดียว

สุดท้ายแล้ว การดำเนินนโยบายเร่งด่วนที่เน้นเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล “เศรษฐา 1” จะราบรื่นแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป