อนาคตรัฐสวัสดิการ ในยุครัฐบาลเพื่อไทยผสมฝั่งอำนาจนิยม? | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

หลังการเลือกตั้งถึงสามเดือนก็เป็นพรรคเพื่อไทยที่ประสบความสำเร็จในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

มีคำถามและข้อสงสัยมากมาย แม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคประชาชาติที่ได้ร่วมรัฐบาล ทั้งสองพรรคนี้มีจุดยืนที่ชัดเจนในนโยบายสวัสดิการหลายด้าน

นโยบายสวัสดิการจะเป็นเพียงแค่ “ช่วงโฆษณา” เหมือนประเด็นการ “ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคฝั่งอำนาจนิยม” ที่ถูกปฏิเสธไปว่าบรรยากาศตอนหาเสียง ทุกอย่างมันพาไป “ถึงเวลามองโลกตามความเป็นจริง”

ในบทความนี้จะพิจารณาถึงสามเหตุผล ที่การผลักดันรัฐสวัสดิการในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะไม่ง่ายนัก แต่ก็จะแสดงอีกสามเหตุผลที่การต่อสู้ก็นับว่ามาไกลอย่างก้าวกระโดดที่ประชาชนก็ต้องฉกฉวยจังหวะนี้เช่นกัน

 

1.ฐานความคิดของพรรค

แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการเมื่อ 20 ปีก่อน

ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อ 10 ปีก่อนในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีการผลักดันนโยบายการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันได

หรือย้อนไปในสมัยของสมัคร สุนทรเวช ก็มีนโยบายสวัสดิการที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี หรือการช่วยเหลือค่าไฟสำหรับครัวเรือนที่มีการบริโภคน้ำและไฟตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจอนุมานได้ว่าพรรคเพื่อไทยในปี 2566 ซึ่งได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับฝั่งอำนาจนิยมหลากหลายกลุ่มนั้นจะมีนโยบายที่เน้นไปทางด้านสวัสดิการเหมือนเมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อน

จากการให้สัมภาษณ์ของแกนนำ รวมถึงจุดยืนด้านนโยบายต่างๆ จะเห็นได้ว่าพรรคเพื่อไทยเองพิจารณาว่านโยบายสวัสดิการเป็นนโยบายที่ใช้ระยะเวลาในการผลักดันและแพงเกินไปในมุมมองของคนกำหนดนโยบายของพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น ฐานนโยบายส่วนมากของพรรคเพื่อไทยจึงเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นโดยเชื่อว่าเมื่อคนสามารถกลายเป็นผู้ประกอบการจะมีอำนาจในการต่อรองกับกลไกตลาดได้เอง รัฐบาลจึงพึงสนับสนุนคนในฐานะผู้ประกอบการมากกว่าประชาชนหรือว่าผู้ใช้แรงงาน

ความคิดนี้เป็นความคิดที่เคยเป็นที่นิยมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเสรีนิยมใหม่ถูกตั้งคำถามอย่างมากกับการสร้างความเหลื่อมล้ำและทรัพยากรที่ถูกจัดให้ในรูปแบบของมาตรการด้านภาษีแก่กลุ่มทุน เงินกู้เงินทุนระยะสั้น ถูกพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่

และงบประมาณนั้นส่วนมากก็จะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่สร้างความเหลื่อมล้ำต่อไป

ฐานความคิดของพรรคเพื่อไทยจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อลักษณะความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ณ ปัจจุบันนี้

 

2.รัฐบาลผสม

ถ้าพิจารณาถึงปัจจัยการเป็นรัฐบาลผสม แน่นอนที่สุดว่าย่อมมีการต่อรองเพื่อให้นโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ที่ได้มีการหาเสียงไว้ได้ถูกผลักดันไปพร้อมกัน

แต่ปัญหาสำคัญคือการทำงานร่วมกันของพรรคการเมืองไม่ได้มีจุดยืนทางการเมือง จุดยืนทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งจุดยืนทางสังคมร่วมกัน แต่มีจุดหมายร่วมกันก็คือการได้เป็นรัฐบาลและหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทางก้าวหน้าด้วยการกำจัดพรรคก้าวไกล

ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้รัฐบาลผสมมีเป้าหมายคือการแสวงประโยชน์จากการเป็นรัฐบาลซึ่งไม่ได้มีการรับรองว่าช่วงเวลาของการเป็นรัฐบาลนี้จะสั้นหรือจะยาวเพียงใด

นอกจากการมีรัฐบาลผสมที่มีอุดมการณ์แตกต่างกันแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งพรรคการเมืองอย่างพรรคภูมิใจไทยซึ่งได้คุมกระทรวงสำคัญอันเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานก็เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มจะสนใจกับแนวนโยบายที่นำภาคเอกชนเข้ามาจัดการตัวสวัสดิการหรือการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่

มากกว่าการกระจายทรัพยากรสู่ประชาชนในรูปแบบของรัฐสวัสดิการ

 

3.บทบาทของฝั่งอนุรักษนิยม

นอกจากรัฐบาลผสมแล้วในเงื่อนไขที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแลกมาเพื่อได้การจัดตั้งรัฐบาลคือการทำงานร่วมกับกลุ่มแนวคิดอนุรักษนิยมไม่ว่าจะเป็นวุฒิสมาชิก พรรคร่วมรัฐบาล หรือกลุ่มความเชื่อต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มความคิดด้านความมั่นคงของรัฐที่อยู่เหนือความมั่นคงของมนุษย์ กลุ่มความคิดที่สนับสนุนกลุ่มทุนผูกขาด รวมถึงกลุ่มความคิดอนุรักษนิยมที่ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม

พรรคเพื่อไทยจึงไม่ได้ทำงานในสุญญากาศ แต่การขายวิญญาณครั้งนี้คือการแลกด้วยการเปิดกล่องให้กลุ่มอนุรักษนิยมที่นิยมหายใจโรยรินได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ดังนั้น งบประมาณสวัสดิการหรือแม้กระทั่งการผลักดันฐานคิดด้านสวัสดิการจึงยังจำเป็นที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มความมั่นคงที่มองว่างบประมาณด้านการทหารหรือความมั่นคงภายในเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกว่าเบี้ยผู้สูงอายุหรือว่าเงินเลี้ยงดูเด็ก หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่มองว่าความคิดรัฐสวัสดิการหรือความเสมอภาคเป็นสิ่งที่มากเกินไป และจะเป็นการที่ทำให้สังคมมีความสามารถในการตั้งคำถามต่ออำนาจอนุรักษนิยมมากขึ้น

ข้อนี้จึงนับเป็นข้อท้าทายที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้จะพบว่าพรรคเพื่อไทยทำงานอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่การผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ ดูเป็นสิ่งที่น่าจะยากและลำบากมากขึ้น

แต่ในมุมมองของผู้เขียนก็มองว่าการเมืองไทยหลังวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ย่อมไม่เหมือนเดิม

ประชาชนจำนวนมากออกมาเลือกพรรคก้าวไกล รวมถึงคะแนนเสียงส่วนหนึ่งของพรรคประชาชาติและพรรคเพื่อไทยก็เป็นการลงคะแนนเสียงเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะไปเป็นประเด็นความเสมอภาคทางการเมืองหรือความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คนส่วนใหญ่ของประเทศพร้อมแล้วสำหรับการเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการ พวกเขาได้แสดงออกมาในการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ก่อนการเลือกตั้งพรรคก้าวไกลมีคะแนนเสียงในสภาเพียงแค่ 50 กว่าเสียงเท่านั้น หลังการเลือกตั้งพวกเขามีจำนวน ส.ส.ในสภามากเป็น 3 เท่าตัว และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า

พรรคการเมืองจึงยังเป็นหัวหอกสำคัญที่จะนำความโกรธเกรี้ยว ความไม่พอใจและการปรารถนาความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาได้

เพื่อลดแรงเสียดทานนั้นก็เป็นไปได้ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะยอมตอบสนองต่อนโยบายด้านสวัสดิการบางอย่างที่ไม่ได้กระทบต่อโครงสร้างและความพอใจของพรรคร่วมรัฐบาลหรือกลุ่มอนุรักษนิยมมากนัก

ปัจจัยข้อที่ 2 คือปัจจัยที่เกิดขึ้นในภาคประชาสังคมถึงแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะอ้างว่าได้สลายขั้วเหลืองแดงไปเรียบร้อยแล้วโดยการสามารถที่จะร่วมรัฐบาลกับกลุ่มอนุรักษนิยมได้ ทำให้ความขัดแย้งหายไป

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราต้องอย่าลืมว่าในการเมืองเหลืองแดงนั้นก็มีภาคประชาชนซ้อนอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน

ถ้าประชาชนที่พูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิชาติพันธุ์ สิทธิแรงงาน รวมถึงการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เคยอยู่กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 20 ปีผ่าน

พวกเขาจำนวนไม่น้อยทิ้งฐานความคิดอนุรักษนิยมและสนับสนุนพรรคก้าวไกล

สำหรับขบวนการเสื้อแดงที่มีฐานความคิดความเชื่อทางอุดมการณ์ซึ่งไม่ได้ผูกติดกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่มีอิทธิพลตามพื้นที่ทั่วไปเอง เปลี่ยนจากการสนับสนุนพรรคเพื่อไทยสู่การสนับสนุนพรรคก้าวไกล

จุดนี้จึงเป็นต้นทุนที่สำคัญที่เราเห็นว่าภาคประชาชนจำนวนมากปรารถนาการเปลี่ยนแปลง การสนับสนุนของภาคประชาชนกลายเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับการผลักดันรัฐสวัสดิการ

ประเด็นสุดท้าย ต้นทุนที่เราได้รับอย่างมากหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม นั่นก็คือการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่มีทางหมุนกลับไปสู่แนวคิดอนุรักษนิยม หรือแม้กระทั่งแนวคิดเสรีนิยมที่เอื้อประโยชน์ของกลุ่มทุน

การเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ จิตสำนึกของคนที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาพวกเขาไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เป็นของพรรคการเมืองใด บ่อยครั้งที่พวกเขาจะมีความก้าวหน้ามากกว่าพรรคการเมืองที่ก้าวหน้าที่สุดในสภา

จุดเปลี่ยนสำคัญจุดนี้จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการได้ปักธงในหัวใจของคนรุ่นใหม่

และไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้ว่า แม้หลายอย่างจะอยู่ในมือพวกเขา แต่เวลายังอยู่ข้างเราเสมอ