การเมืองก้าวหน้า หมายถึงอวสานของ ‘นักเลือกตั้ง’ | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

หากเรามีความหวังกับ “การเมืองก้าวหน้า” เราก็ต้องทิ้งความผิดหวังกับ “การเมืองเก่า” ที่เห็นตำตาจากการตั้ง “รัฐบาลสลายขั้ว” ขณะนี้

การยอมจำนนต่อ “อำนาจเก่า” ที่ยังดำรงความเป็น “ผู้กำหนดเกม” อยู่ข้างหลังย่อมไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นใหม่

หากมองในแง่ร้าย นี่คือหายนะของอนาคตประเทศชาติเพราะการเมืองไทยผ่านมากว่า 90 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นการสร้างประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม

แต่ผมเลือกที่จะมองในแง่ดีเพราะเริ่มมีสัญญาณที่ชัดขึ้นตลอดเวลาว่าความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้เริ่มปรากฏให้เห็น

ไม่ใช่เพียงเพราะคนรุ่นใหม่ที่มาตั้งพรรคการเมืองอย่าง “ก้าวไกล” เท่านั้นที่ทำให้เราเริ่มเห็นการเมืองอย่างมีคุณภาพ

แต่เป็นเพราะผมเห็นคนรุ่นใหม่ทั่วไปเริ่มจะเห็นการเมืองเป็น “ขบวนการสังคม” หรือ social movement ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

การเมืองไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภา

การเมืองไม่จำเป็นต้องทำโดย “นักการเมือง”

การเมืองคือการมีส่วนร่วมของพลเมืองในทุกๆ มิติของการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

การเมืองที่เกื้อหนุนและขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกกิจกรรมของสังคมถูกจับเข้ากระบวนการ democratization

อันหมายถึงการที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร, ให้ทุกคนมีสิทธิร่วมถกแถลงและมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในกิจกรรมสำคัญๆ ที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของผู้คนทุกภาคส่วน, ทุกรุ่นทุกวัยและทุกเฉดสีของความคิดเห็นที่หลากหลาย

 

นี่น่าจะเป็น “สงครามครั้งสุดท้าย” สำหรับกลุ่มนักเลือกตั้งรุ่นที่เรายังเห็นป้วนเปี้ยนอยู่ในเวทีการเมือง

คนเหล่านี้ยังใช้เส้นสนกลในและระบบอุปถัมภ์เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐโดยหวังจะ “แบ่งเค้ก” แห่งผลประโยชน์

โดยไม่สนใจไยดีว่าประชาชนคิดอย่างไรกับพฤติกรรมอัปลักษณ์เหล่านั้น

ไม่สนใจแม้แต่ “จริยธรรม” ระดับพื้นฐาน

ไม่แคร์ความรู้สึกของประชาชน

พอถามไถ่เรื่องมาตรฐานจริยธรรมก็บอกให้ไปฟ้องศาลปกครองเอาเอง

 

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาสอดคล้องกับกระแสของคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลาง (รวมถึงรุ่น Baby-boomers ที่ยอมรับถึงความสิ้นหวังของคนรุ่นเดียวกัน) ที่ต้องการเห็น “ความเปลี่ยนแปลง”

แม้ในบางประเด็นบางแนวทางจะไม่รู้แน่ชัดว่า “ความเปลี่ยนแปลง” ที่ว่านั้นมีรายละเอียดอย่างไร

แต่ก็พร้อมจะถกแถลงกันอย่างกว้างขวางและเปิดเผยยิ่งขึ้นถึงทิศทางของ “ความเปลี่ยนแปลง” เหล่านั้น

ด้วยเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ ประการเดียว

เพราะได้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่าการพยายามปกป้อง “สถานภาพปัจจุบัน” อย่างสุดฤทธิ์และต่อต้านสัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างเอาเป็นเอาตายนั้นไม่ใช่ทางออกของสังคมไทยอีกต่อไป

ถ้าหากเราฝากความหวังกับสถาบันการเมืองที่จะทำให้เกิด “ความเปลี่ยนแปลง” ที่พลเมืองเรียกร้องต้องการไม่ได้ไม่ได้ เขาก็จะแสวงหาจากข้างนอกสภา

อันหมายถึงการสร้างขบวนการในสังคมที่มาจากความตื่นตัวที่เกื้อหนุนโดยเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร, การสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางทางตรงโดยไม่ต้องผ่าน “ด่าน” ที่ผู้มีอำนาจเดิมเป็นผู้กำกับสั่งการได้อีกต่อไป

และเพราะการสื่อสารที่มีพลวัตอันเข้มแข็งขึ้นตลอดเวลานี่แหละที่จะทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใด

และในกระบวนกการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่จะกำหนดกดดันให้สถาบันนิติบัญญัติเองจะต้องยกเครื่องตัวเองครั้งใหญ่

นำไปสู่การปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยสอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของสังคมส่วนใหญ่ทั้งในด้านฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ

เพราะคุณค่าของคนรุ่นใหม่คือเรื่องความเป็นธรรม, ขจัดความเหลื่อมล้ำ, ธรรมาภิบาล, สิทธิมนุษยชน และความซื่อสัตย์สุจริตที่ไม่จำกัดเฉพาะค่านิยมในสังคมไทยเท่านั้น

หากจะยังนำพาสังคมไทยให้ยกระดับมาตรฐานเป็นสากลอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

 

ความเคลื่อนไหวของสังคมเพื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นจะมาทั้งในรูปแบบการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมในสังคมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อตั้งรับกับกระแส disruption ในโลก

ส่วนหนึ่ง (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) จะเคลื่อนไหวในแบบพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบพรรคก้าวไกล…แต่ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างหรือแนวปฏิบัติอย่างพรรคก้าวไกล

ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เราจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นก่อนจะถึงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าคือการปรากฏตัวของพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่และรุ่นกลางที่จะฉีกแนวออกจากพรรคการเมืองแบบดั้งเดิม

เมื่อมีความตระหนักแล้วว่าการตั้งพรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาล, ไม่จำเป็นต้องมี “สปอนเซอร์”, ไม่ต้องพึ่งพากลุ่มทุน และไม่ต้องอาศัย “บ้านใหญ่”

เราก็จะเห็นการรวมตัวของผู้มีความกระตือรือร้นที่จะผลักดัน “วาระสังคม” ที่เห็นพ้องต้องกันด้วยการตั้งเป็นพรรคการเมือง

เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนิติบัญญัติในการแก้กฎหมายและกติกาสังคมให้สอดคล้องกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ, การปฏิรูปโครงสร้างของสังคม, การเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อย, การลด, ละ, เลิกพฤติกรรมเก่าๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น

พรรคการเมืองใหม่ๆ ที่จะมีก่อตั้งขึ้นอาจจะมีวาระต่างกัน แต่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายหลวมๆ เพื่อประสานเป็นพันธมิตรเพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สอดคล้องกันในภาพใหญ่

การเมืองแบบใหม่จะเน้นที่ผู้เข้าร่วมจะต้องใช้ข้อมูลและปัญญาอันเกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำ, ตรงเป้าและตอบโจทย์ของสังคมได้มากขึ้น

การเมืองใหม่จะดึงดูดคนจากทุกสาขาวิชาชีพเข้ามาร่วมกิจกรรม “การเมืองสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบสร้างสรรค์” โดยที่ไม่จำเป็นต้องแปลงตนเองเป็น “นักการเมืองอาชีพ” ในนิยามแบบเดิมอีกต่อไป

เพราะในบริบทใหม่นี้ “การเมือง” จะเป็นวิถีประจำวันของคนทุกวิชาชีพ

เพราะ “การเมือง” มีความสำคัญต่อการสร้างสังคมใหม่เกินกว่าที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่, อำนาจและสิทธิของ “นักการเมือง” ในความหมายเดิมอีกต่อไป

 

การเมืองก้าวหน้าจะไม่จำกัดเฉพาะกิจกรรมในรัฐสภา และผู้ได้รับเลือกเข้าไปเป็น “ผู้แทนราษฎร” จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่เลือกเขาเข้าไปจริงๆ

มิใช่เป็นเพียงผู้รับคำร้องเรียนเรื่องปัญหาของแต่ละชุมชน

และเข้าไปแก่งแย่งงบประมาณรายจ่ายเพื่อนำมาสร้างความนิยมชมชอบของผู้มีสิทธิเลือกตั้งคราวหน้าเท่านั้น

แต่ “ผู้แทนราษฎร” จะต้องทำงานรับใช้ “ชุมชน” ต่างๆ ทั่วประเทศที่จะมีการรวมตัวที่เป็นระบบ และกำหนด “วาระ” ของแต่ละชุมชนที่ทำผ่าน “ขบวนการสังคม” ที่ส่งผ่านมายังรัฐสภา

ให้ดำเนินการตามความประสงค์ของ “วาระพลเมือง”

ดังนั้น คำว่า “นโยบายหาเสียง” ของพรรคการเมืองจึงจะหมดความหมายเมื่อการเมืองเข้าสู่มิติแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

ผู้อาสามาเป็น “ผู้แทนราษฎร” จะต้องนำเอา “วาระของประชาชน” ไปทำให้เกิดเป็นความจริง

เป็นการทำตามการบ้านที่มอบหมายโดยเจ้าของประเทศแทนที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายให้ประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ที่ “นักเลือกตั้ง” มาบอกกับประชาชนว่าพวกเขาจะทำอย่างนั้นอย่างนี้…และต่อมาหาข้อแก้ตัวว่าทำไม่ได้เพราะเหตุใด

เป็นปรากฏการณ์ที่จะถูกฝังกลบโดย “การเมืองก้าวหน้า” ที่ “ชุมชน” จะนำ “นักการเมือง”

และการเมืองจะไม่ใช่สิทธิพิเศษเฉพาะคนกลุ่มเดียวที่อ้างความเป็น “ท่าน ส.ส.” “ท่านรัฐมนตรี” หรือ “ท่านผู้มีพระคุณ” อีกต่อไป