นายกฯ เศษฐานั่งควบ รมว.คลัง หวังปั้นนโยบายฉลุย… เรียกศรัทธาสู่เพื่อไทย ประเดิมแจกถ้วนหน้า เงินดิจิทัล 1 หมื่น

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้นำรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นที่เรียบร้อย

ไทม์ไลน์หลังจากนี้ รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 นับหนึ่ง ครม.นิด 1 จะนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ 5 กันยายน และเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ 6 กันยายน ซักซ้อมนโยบายรัฐบาลที่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา วันที่ 11 กันยายน และจะประชุม ครม.อย่างเป็นทางการครั้งแรก วันที่ 12 กันยายนนี้

ตามโผรายชื่อ ครม.ที่โปรดเกล้าฯ นายกฯ เศรษฐาจะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย เรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่สปอตไลต์จับตั้งแต่ประกาศตัวเป็นแคนคิดเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ถือเป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ของไทย ความเชื่อมั่นผลักดันเศรษฐกิจประเทศจึงไม่เป็นที่กังขา

นอกจากนี้ ยังได้มือดี ดีกรีปลัดกระทรวงการคลัง “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ที่เพิ่งยื่นใบลาออกก่อนเกษียณ เพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง คนนอกโควต้าจากพรรครวมไทยสร้างชาติ มาช่วยบริหาร ก็ยิ่งน่าจะหายห่วง

 

นโยบายที่รัฐบาลเศรษฐา 1 จะเร่งขับเคลื่อนอันดับต้นๆ และยังเป็นนโยบายที่ประชาชนต่างให้ความสนใจ “กระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท” ที่นายเศรษฐาใช้หาเสียงตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งนั่นเอง!

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน เงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน เปิดเขตธุรกิจใหม่ เปิดนำร่อง 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเป็น 3 ล้านล้านบาท ยกระดับสนามบินนานาชาติให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยว 120 ล้านคน และปริมาณการขนส่งสินค้าคาร์โก จำนวน 3 ล้านตัน ที่จะรีบเร่งดำเนินแล้วเสร็จภายในปี 2570

นโยบายเกษตรและประมง เพิ่มรายได้เกษตรเป็น 3 เท่า นโยบายพลิกโฉมระบบคมนาคมทั่วประเทศ รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย และนโยบายสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย นัดคิวออนไลน์ ฯลฯ เป็นนโยบายเร่งด่วนด้านอื่นๆ ที่ลิสต์ไว้แล้วเช่นกัน

แต่ที่ดูเหมือนกำลังเป็นจุดสนใจ พุ่งเป้าโฟกัส คงหนีไม่พ้นนโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท” ตั้งเป้าแจกให้คนไทยทุกคนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นวัยทำงานตามกฎหมาย หากคำนวณดูแล้ว จะพบว่ามีผู้ได้รับสิทธิราว 56 ล้านคน และหากให้เงินเต็มจำนวนคนละ 1 หมื่นบาทต่อคน เท่ากับต้องใช้งบฯ หรือเม็ดเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท จึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม

เพราะรายจ่ายประจำของงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีมีการใช้จ่ายในสัดส่วนที่สูงอยู่ รัฐบาลใหม่จะเข้าไปตัดรายจ่ายส่วนใดก็คงกระทบ ไม่ว่าจะเงินเดือนข้าราชการ ค่าเบี้ยสวัสดิการต่างๆ หรือเม็ดเงินลงทุน รวมถึงจะสร้างความร้าวฉานกันกับพรรคร่วมรัฐบาลได้ หากไปตัดงบฯ กระทรวงอื่นๆ

รวมถึงนโยบายที่มาพร้อมกันอย่างลดราคาน้ำมัน ราคาพลังงาน และค่าไฟฟ้า ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมาก

 

ส่วนการจะเพิ่มรายได้ ก็ยังเป็นเรื่องยาก ในเมื่อการเก็บเพิ่มภาษี อาทิ ขยับภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% หรือการเก็บภาษีตัวใหม่ เช่น ภาษีขายหุ้น ก็ยังคงชะลอออกไปเรื่อยๆ และยังไม่ได้เริ่มต้นเก็บเสียที ทันทีที่เกิดเสียงร้องระงม เป็นต้น ขณะเดียวกันการอุดหนุนราคาน้ำมัน ด้วยการที่จะการจัดเก็บภาษีน้ำมันก็ทำให้รายได้ลดลง

ขณะที่ช่องทางการกู้เงินของรัฐบาล เป็นอีกทางเลือกที่ต้องพิจารณาให้ดี โดยทางแรก คือการกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณ โดยการปรับให้เต็มเพดานเงินกู้ชดเชยการขาดดุลที่ 7 แสนล้านบาท แต่อาจจะไม่สอดคล้องกับแผนการคลัง ที่ต้องการลดการทำงบประมาณขาดดุลให้กู้น้อยลง หลังจากปี 2566 ได้ปรับลดกรอบ 6.95 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2565 ที่ตั้งกรอบเต็มเพดาน 7 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้สาธารณะก็ยังอยู่สูง 61% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) จากเพดาน 70% ต่อจีดีพี เหลือพื้นที่ว่างราว 8-9%

อีกทางคือ ข้อเสนอจากความเห็นส่วนตัวของนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่ให้จัดทำวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 อีกสักประมาณ 50,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากกรอบวงเงินเดิม 3.35 ล้านล้านบาท เป็น 3.4 ล้านล้านบาท เพื่อให้การเบิกจ่ายมีความคล่องตัวมากขึ้น

ซึ่งหากหางบประมาณเพิ่มได้อีก 50,000 ล้านบาท ก็อาจจะทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น เป็นขาดดุล 6.43 แสนล้านบาท ดูเหมือนจะเยอะ แต่ก็ยังน้อยกว่าปีงบประมาณ 2566 ที่รัฐบาลขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท

 

ขณะที่อีกหนึ่งทางคือการใช้เงินนอกงบประมาณ หรือให้สถาบันการเงินของรัฐออกเม็ดเงินให้ก่อนแล้วรัฐบาลค่อยชดเชยทีหลัง ตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้เงินก้อนนี้จนเต็มเพดาน 30% ของงบประมาณประจำปี ไปกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร ถึงขนาดต้องขยายเพดานหนี้ส่วนนี้เป็น 35% ในช่วงราวปีงบประมาณ 2565 และในต้นปีงบประมาณ 2566 ได้ขยับลงมาที่ 32% ของงบประมาณ ทั้งนี้ หากขยับกลับไปที่ 35% ของงบประมาณจะทำให้มีเม็ดเงินใช้ได้ราว 2 แสนล้านบาท

แต่ปัจจุบัน “กระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท” ก็ยังไม่แน่ชัด ยังมีสมมุติฐานอีกว่าจะใช้เงินในรูปแบบดิจิทัล คือยูทิลิตี้ โทเคน ซึ่งก็ยังติดปัญหาเรื่องกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกมาห้ามให้ใช้ยูทิลิตี้ โทเคน ในการซื้อขายสินค้าและบริการ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท ดังนั้น รัฐบาลเศรษฐา หากจะทำจริงก็ต้องเดินหน้าขอหารือกับ ธปท. และ ก.ล.ต. เพื่อเปิดไฟเขียวให้ใช้รูปแบบยูทิลิตี้ โทเคน ได้

รัฐบาลนิด 1 ประเดิมนโยบายแรก แจกหนักด้วยเงินดิจิทัลแบบนี้ จะเป็นความหวังบูสต์เศรษฐกิจ พร้อมเรียกศรัทธาจากเอฟซีเสื้อแดงคืนสู่พรรคเพื่อไทย

หรือกลายเป็นวิกฤตการคลังในอนาคต ต้องมาลุ้นกัน