ม.44 ผ่าซีกเมืองอโยธยา ด้วยรถไฟความเร็วสูง

รถไฟความเร็วสูงผ่าซีกเมืองอโยธยา มีขึ้นอย่างเร่งรีบและรวบรัดตามอำนาจ ม.44 โดยไม่ต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ถึงผลกระทบต่อเมืองอโยธยา ซึ่งเท่ากับทำลายสิ้นซากประวัติศาสตร์ความเป็นมาของความเป็นคนไทย, ภาษาไทย, และประเทศไทย

เมืองอโยธยามีคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ใหญ่มาก 1,400 x 3,100 เมตร (หรือ 1.4 ก.ม. x 3.1 ก.ม.) อยู่ทางตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา (จ.พระนครศรีอยุธยา) บริเวณสถานีรถไฟอยุธยาปัจจุบัน ซึ่งการสร้างทางรถไฟ (สมัย ร.5) ได้ทำลายเมืองอโยธยาไปแล้วครั้งหนึ่ง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีแนวคิดอนุรักษ์เมืองโบราณในป่าดง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป ไม่ควรทำลายซ้ำ

1. รัฐประหาร เผด็จการทหารทำรัฐประหาร พ.ศ.2557 ยึดอำนาจล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วสถาปนาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากนั้นประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 บรรจุมาตรา 44 มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

2. มาตรา 44 สร้างรถไฟความเร็วสูง คสช. มีคำสั่งที่ 30/2560 ด้วยอำนาจตามมาตรา 44 ให้มีโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีเส้นทางผ่าเมืองอโยธยา ซึ่งเป็นเมืองโบราณอายุเกือบพันปี (เก่าแก่กว่าเมืองสุโขทัย) อยู่บนพื้นที่ต่อเนื่องของ “แหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา”

3. มรดกโลกสะเทือน ศูนย์มรดกโลก (ยูเนสโก) แจ้งไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศว่าห่วงกังวลเกี่ยวกับการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งอาจกระทบมรดกโลก นครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียง จึงขอให้ประเทศไทยในฐานะภาคี จัดทำรายการการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (Heritage Impact Assessment, HIAs) ก่อนดำเนินการ และหารือกับศูนย์มรดกโลก ก่อนเกิดปัญหาที่แก้ไม่ได้

4. สนับสนุนด้วยการหลีกเลี่ยงผ่าเมืองอโยธยา คณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อ 24 พฤษภาคม 2564 มีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาการก่อสร้างสถานี ในทางเลือกแนวทางที่ 1 การก่อสร้างอุโมงค์ลอดผ่านพื้นที่มรดกโลก หรือ แนวทางที่ 2 การเปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยอ้อมพื้นที่มรดกโลก โดยมอบหมายให้กรมศิลปากร หารือกรมการขนส่งทางราง และการรถไฟแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำ HIAS

5. โครงการรถไฟความเร็วสูง ดำเนินการก่อสร้างเป็นช่วงๆ ตามแผนงานที่วางไว้เพื่อทำลายเมืองอโยธยา โดยอ้างความเจริญทางเศรษฐกิจ และไม่รับรู้มติของคณะกรรมการแห่งชาติฯ

6. มติคณะกรรมการแห่งชาติฯ สนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เพียงให้หลีกเลี่ยงการทำลายมรดกโลกฯ ด้วยการสร้างอุโมงค์ หรือเปลี่ยนเส้นทางอ้อมพื้นที่มรดกโลก

 

เมืองอโยธยากับเมืองอยุธยา

เป็นคนละเมืองที่สืบเนื่องกัน

อโยธยา มาจากนามเต็มว่า “อโยธยาศรีรามเทพ” (แปลว่า) เมืองแห่งชัยชนะของพระรามอวตาร

อยุธยา มาจากนามเต็มว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” (แปลว่า) เมืองสวรรค์อันเป็นที่สถิตของพระกฤษณะและของพระราม [“อยุธยา” ถูกเรียกตั้งแต่เรือน พ.ศ.1893 พบในวรรณกรรมสมัยต้นอยุธยา และสมัยต่อมาด้วยชื่อต่างกัน เช่น อยุธยา, กรุงเทพทวารวดี, อโยธยา เป็นต้น]

อโยธยามีอายุเกือบพันปีมาแล้ว (เก่าแก่กว่าเมืองสุโขทัย) เป็นเมืองต้นกำเนิดอยุธยา (คือกรุงศรีอยุธยา)

หมายความว่า “อโยธยาเป็นเมืองเก่าของอยุธยา” ส่วน “อยุธยา เป็นเมืองใหม่ของอโยธยา” โดยศูนย์กลางอำนาจ (คือวังหลวง) มีที่ตั้งแยกออกจากกัน แต่พื้นที่ของเมืองทับซ้อนกัน

แผนที่พระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน แสดงพื้นที่ในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง ที่ตั้งเมืองโบราณทับซ้อนกัน 2 เมือง ได้แก่
(ขวา) อโยธยา (เมืองเก่า) เริ่มมีราว พ.ศ.1600 บริเวณที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง
(ซ้าย) อยุธยา (เมืองใหม่) แรกมีราว พ.ศ.1893
(ปรับปรุงจากแผนที่ฯ ของกรมศิลปากร พ.ศ.2558)

อโยธยา เมืองต้นกำเนิดประเทศไทย

เมืองอโยธยาเป็นที่รวมศูนย์ของคนและวัฒนธรรมจากทุกทิศทาง และก่อนสมัย เมืองอโยธยา ไม่พบคำว่า “ไทย” เช่น ภาษาไทย, วัฒนธรรมไทย, คนไทย, เมืองไทย

(1.) ภาษาไทย มีกำเนิดในอโยธยา มาจากตระกูลภาษาไท-ไต ผสมกลมกลืนกับภาษาของคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น มอญ, เขมร, มลายู ฯลฯ แพร่หลายไปทุกทิศทาง เพราะเป็นภาษากลางทางการค้าและการเผยแผ่เถรวาทไทย

(2.) วัฒนธรรมไทย มีกำเนิดในอโยธยา มาจากวัฒนธรรมไท-ไต ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับวัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ มอญ, เขมร, มลายู ฯลฯ

(3.) คนไทย มีกำเนิดในอโยธยา มาจากคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” กลายตนเป็นไทยด้วยการพูดภาษาไทยและมีวัฒนธรรมไทย

(4.) เถรวาทไทย มีกำเนิดในอโยธยา มาจากเถรวาทแบบลังกา ผสมผีกับ พราหมณ์ (แบบละโว้) แล้วแผ่ขึ้นไปเมืองสุโขทัยและบ้านเมืองอื่นๆ

(5.) พระราม (อวตารของพระนารายณ์) มีกำเนิดในอโยธยา “ศรีรามเทพ” เพราะก่อนหน้านั้นรัฐละโว้นับถือพระกฤษณะ (อวตารของพระนารายณ์) ไม่ยกย่องพระราม

(6.) วรรณกรรมไทย มีกำเนิดในอโยธยา เขียนเป็นภาษาไทย ด้วยอักษรเขมร หรืออักษรขอม เรียก “ขอมไทย” เป็นต้นทางวรรณกรรมภาษาไทย อักษรไทย

(7.) สมุดไทย มีพัฒนาการในอโยธยา ทำจากต้นข่อย เรียกสมุดข่อย ใช้เขียนวรรณกรรมไทย ต่อมาเรียกสมุดไทย

(8.) ประเทศไทย มีกำเนิดจากอโยธยา ผ่านอยุธยา, ธนบุรี, รัตนโกสินทร์, สยาม

 

ร. 5 เห็นความสำคัญของเมืองอโยธยา

เมืองอโยธยาเป็นที่รับรู้ของนักปราชญ์มากกว่า 116 ปีมาแล้ว และเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการสมัยต่อมา หลังจากนั้นจึงมีการศึกษาค้นคว้าสืบเนื่องตามหลักฐาน

1. ร.5 ทรงบอกเมื่อ 116 ปีมาแล้ว ว่าอโยธยาคือเมืองเก่าของอยุธยา อยู่ฝั่งตะวันออกของพระนครศรีอยุธยา มีสถูปเจดีย์วัดวาอารามสำคัญๆ ได้แก่ วัดพนัญเชิง, วัดใหญ่ชัยมงคล, วัดอโยธยา (วัดเดิม), วัดกุฎีดาว, วัดมเหยงคณ์ เป็นต้น

ทรงให้ความสำคัญมากต่อเมืองอโยธยาว่าเป็นเมืองเก่าของอยุธยา จึงมีพระราชดำรัสเมื่อ พ.ศ.2450 เปิด “โบราณคดีสโมสร” กล่าวถึงเมืองอโยธยาและวัดวาอารามสำคัญในเมืองอโยธยา

2. นักปราชญ์อื่นๆ อีกหลายคน ได้แก่ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์), ธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร), มานิต วัลลิโภดม (อดีตนักปราชญ์กรมศิลปากร), ศรีศักร วัลลิโภดม (นักปราชญ์ร่วมสมัย), หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร), จิตร ภูมิศักดิ์ (นักปราชญ์ของประชาชน), พเยาว์ เข็มนาค (ช่างสำรวจโบราณคดี กรมศิลปากร)

 

อโยธยาถูกบังคับสูญหาย

ประวัติศาสตร์ไทย “แห่งชาติ” ด้อยค่าแล้วบังคับสูญหายเมืองอโยธยา ด้วยเหตุดังนี้

1. ประวัติศาสตร์ไทย “แห่งชาติ” สถาปนา “สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก” และให้มีอายุเริ่มที่ประมาณ พ.ศ.1800 โดยไม่พบหลักฐาน

2. เมืองอโยธยา เริ่มประมาณ พ.ศ.1600-1700 มีอายุเก่าแก่กว่าเมืองสุโขทัยนับร้อยปี

ชนชั้นนำต้องการให้ “สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” แต่ถ้ายอมรับเมืองอโยธยามีอายุเก่าแก่กว่า ก็เท่ากับสุโขทัยไม่เป็นราชธานีแห่งแรก และประเด็นอื่นๆ ตามมาจะถูกยกเลิกความน่าเชื่อถือ ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย

เมืองอโยธยาถูกบังคับสูญหายจากประวัติศาสตร์ไทย จึงไม่มีใครรู้จัก หรือรู้จักไม่มาก

แต่ขณะนี้สุ่มเสี่ยงสูญหายสิ้นซากจากโลก เมื่อรถไฟความเร็วสูงถูกกำหนดสร้างสถานีมหึมากลางเมือง และสร้างรางรถไฟผ่าเมืองอโยธยา •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ