มงคล ‘พระกริ่งบาเก็ง’ วัดเอี่ยมฯบางขุนพรหม ‘พระอาจารย์ทิม’ เจ้าพิธี

“พระกริ่งบาเก็ง” เป็นพระกริ่งที่พบในประเทศกัมพูชา บนเขาพนมบาเก็ง จึงมีชื่อเรียกว่า “พระกริ่งบาเก็ง” หรือ “พระกริ่งนอก” เป็นพระกริ่งที่เก่ามาก ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างมานานเท่าใด พบในประเทศไทยบ้าง ตามกรุวัดต่างๆ แต่จำนวนน้อยมาก

สำหรับพระกริ่งที่สร้างล้อพิมพ์พระกริ่งบาเก็ง ที่สร้างในประเทศไทยนั้น มีของ “พระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร)” หรือที่ส่วนใหญ่เรียกขานในสมณศักดิ์เดิมว่า “ท่านเจ้าคุณศรี” วัดสุทัศนเทพวราราม สร้างโดยนำพระกริ่งบาเก็งนอกมาถอดพิมพ์ เริ่มสร้างรุ่นลองพิมพ์ใน ประมาณปี พ.ศ.2485 จำนวนไม่มาก

แต่ยังมีพระกริ่งบาเก็งอีกองค์ที่สร้างขึ้นมาและเป็นที่นิยม คือ พระกริ่งบาเก็งวัดเอี่ยมวรนุช ที่พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เป็นเจ้าพิธี

“พระครูวิสัยโสภณ” หรือ “หลวงปู่ทิม ธัมมธโร” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังวัดช้างให้ จ.ปัตตานี ผู้สร้างตำนานพระเครื่องหลวงพ่อทวดที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้

ในปี พ.ศ.2506 ได้รับนิมนต์ให้ขึ้นมาช่วยวัดประสาทบุญญาวาสที่ถูกไฟไหม้ ในครั้งนั้น ไปพักที่วัดเอี่ยมวรนุช และทางวัดได้จัดการสร้างวัตถุมงคลเพื่อเป็นที่ระลึกและเพื่อหาทุนมาบูรณะวัดเช่นกัน

พระกริ่งบาเก็ง วัดเอี่ยมวรนุช บางขุนพรหม สร้างโดยการถอดพิมพ์ของพระกริ่งบาเก็งนอก พระอาจารย์ทิมเป็นเจ้าพิธีในการสร้างและปลุกเสก เททองที่วัดเอี่ยมวรนุช เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2506 มีจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นประธานฝ่ายฆราวาส จำนวนสร้างประมาณ 3,000 องค์

เนื้อมวลสาร อาทิ โลหะปลอกกระสุนปืนใหญ่ จากกรรมสรรพาวุธทหารบก ชนวนเก่าพระกริ่งสายวัดสุทัศน์ แผ่นยันต์จากพระเกจิอาจารย์สายใต้ ฯลฯ

เนื้อองค์พระสีเหลืองนวลแซมสีน้ำตาล เทแบบหล่อตันทั้งองค์ แล้วจึงนำมาเจาะสว่านที่ใต้ฐาน บรรจุเม็ดกริ่ง ก่อนอุดด้วยทองชนวน

กล่าวได้ว่า ได้รับความสนใจมาก เป็นที่นิยมรองลงมาจากพระกริ่งของท่านเจ้าคุณศรีสนธ์เท่านั้น

พระกริ่งบาเก็ง วัดเอี่ยมวรนุช

สําหรับพระอาจารย์ทิม เดิมชื่อทิม พรหมประดู่ เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2455 ที่บ้านนาประดู่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เป็นบุตรของนายอินทอง กับนางนุ่ม พรหมประดู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 6 คน

เมื่ออายุ 9 ขวบ บิดามารดาฝากให้อยู่กับพระครูภัทรกรณ์โกวิท ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระแดง ธัมมโชโต เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เพื่อเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดนาประดู่ ต่อมาเมื่ออายุได้ 18 ปี ได้บวชเป็นสามเณร จากนั้นก็สึกออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา

จนอายุ 20 ปี จึงอุปสมบทที่วัดนาประดู่ โดยจำพรรษาที่วัดนาประดู่ 2 พรรษา แล้วจึงย้ายไปอยู่ที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม

ต่อมา ย้ายกลับมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดนาประดู่ หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2484 ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) โดยตอนแรกยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างวัดช้างให้กับวัดนาประดู่ เพราะยังคงเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดนาประดู่ด้วย

ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปัตตานี รถไฟสายใต้จากหาดใหญ่ไปสุไหงโก-ลก ต้องขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลายๆ เที่ยวและหลายขบวน ทำให้ประชาชนขวัญเสียหวาดกลัวภัยสงคราม

พระอาจารย์ทิม ต้องรับภาระหนัก คือต้องจัดหาอาหารและที่พักแก่ผู้ที่เดินทางผ่านวัดไม่เว้นแต่ละวัน นับเป็นผู้ทรงคุณธรรมที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาตั้งแต่ต้น

พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร

เมื่อครั้งที่ไปอยู่ที่วัดช้างให้ใหม่ๆ นั้น วัดช้างให้อยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้างทรุดโทรม จึงได้ริเริ่มตกแต่งสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดให้เป็นที่น่าเคารพบูชา

ดำริที่จะสร้างอุโบสถ โดยร่วมกับนายอนันต์ คณานุรักษ์ จัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด โดยทำพิธีปลุกเสกเป็นประธานในพิธีและนั่งปรกด้วยตนเอง ได้ปัจจัยจากผู้มีจิตศรัทธาที่มาเช่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดนำมาสร้างพระอุโบสถ และปรับปรุงบริเวณวัดช้างให้

ต่อมาเริ่มอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่หลอดอาหารตั้งแต่ พ.ศ.2510 และมรณภาพเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2512

แม้ว่ามรณภาพไปนานแล้ว แต่สิ่งที่สร้างไว้ อาทิ อุโบสถ วิหารสำหรับประดิษฐานหลวงปู่ทวด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาเคารพสักการะ สถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ทวดที่ติดกับทางรถไฟสายใต้ กุฏิที่อาศัยของพระเณร กุฏิเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ศาลาการเปรียญ ตลอดถึงวัตถุต่างๆ ที่มีอยู่ในวัดช้างให้ โรงเรียนวัดช้างให้หลังคาทรงเรือนไทยเป็นตึก 2 ชั้น ติดกับทางรถไฟหน้าวัด พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางวัดช้างให้ ฯลฯ

ล้วนสำเร็จด้วยความมุมานะของพระครูวิสัยโสภณหรือพระอาจารย์ทิม

นอกจากเหรียญหลวงปู่ทวดแล้ว พระกริ่งบาเก็งวัดเอี่ยมวรนุช บางขุนพรหม ก็เป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมเช่นกัน •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]