คณะทหารหนุ่ม (55) | เปรมต่ออายุ- จปร.7 ขึ้นเป็นแผง – อาทิตย์หลุด

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

แม้คณะทหารหนุ่มจะประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อย่างชัดเจนทั้งในทางเปิดเผยและในการประกาศจุดยืนในหมู่คณะทหารหนุ่มตามปฏิญญา 27 มิถุนายน 2523

แต่ในที่สุด เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2523 ที่ประชุมรัฐสภาก็มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแก่ พล.อ.เปรม เป็นเวลา 1 ปี

ถัดจากนั้นอีกไม่นานก็มีคำสั่งโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการซึ่งเริ่มด้วยนายทหารระดับนายพล

ที่เหนือความคาดหมาย พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ผู้รวบรวมลายชื่อทหารสนับสนุนการต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ให้ พล.อ.เปรม จนเป็นผลสำเร็จ และได้สร้างความไม่พอใจแก่คณะทหารหนุ่มเป็นอย่างมากกลับถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจ

แม้จะเป็นการโยกย้ายในระดับที่สูงขึ้นเป็นรองแม่ทัพ แต่เมื่อเทียบกับพลานุภาพแห่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์แล้วย่อมนำไปสู่คำถามและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่อาจห้ามได้ว่าเป็นเรื่อง “ไม่ปกติ”

ด้วยเหตุนี้ คำสั่งโยกย้ายนายทหารระดับพันเอกประจำปี 2524 ซึ่งยังคงเป็นอำนาจของผู้บัญชาการทหารบกนาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปอีก 1 ปีควบคู่ไปกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้รับความสนใจอย่างยิ่งว่า จะจัดวางคณะทหารหนุ่มที่คัดต้านการต่ออายุไว้ในตำแหน่งใด อย่างไร

 

เมื่อคำสั่งออกมา ปรากฏว่า แกนนำ จปร.7 ได้ขยับเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญกันทั่วหน้า อาทิ

พ.อ.ปรีดี รามสูต ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 กรุงเทพฯ กำลังสำคัญชี้ขาดในการปฏิวัติรัฐประหาร พ.อ.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 31 ลพบุรี พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 ปราจีนบุรี พ.อ.แสงศักดิ์ มังคละศิริ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 11 กรุงเทพฯ พ.อ.มนูญ รูปขจร ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 4 กรุงเทพฯ

ทุกตำแหน่งล้วนมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการกระทำหรือต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารทั้งสิ้น

ตุลาคม พ.ศ.2523 อิทธิพลของคณะทหารหนุ่มจึงไม่มีผู้ใดกล้าท้าทาย…

แต่ความไม่พอใจได้เกิดขึ้นแล้ว โดยมี จปร.5 เป็นแกนนำ

 

จปร.5 ท้าทาย จปร.7

พล.อ.สุจินดา คราประยูร แกนนำ จปร.5 ยอมรับว่ามีความขัดแย้งระหว่าง จปร.5 และ จปร.7 จริง โดยกล่าวกับ วาสนา นาน่วม และมีบันทึกไว้ใน “กำเนิดและอวสาน รสช.” ตอนหนึ่งว่า

“ในขณะนั้นเขาทำไม่ถูก เพราะว่าสิ่งที่เขาทำนั้น เขาไม่ได้ให้เกียรตินายทหารชั้นผู้ใหญ่ สมัยนั้นจำได้ไหม ขนาดเขายศพันตรี พันโท เขายังข้ามหน้านายพล ข้ามอะไรต่างๆ หมด ซึ่งเราบอกว่าอย่างนี้มันอยู่ไม่ได้ กองทัพมันอยู่ไม่ได้ กองทัพต้องมีวินัย มันต้องฟังกันมาตามลำดับ แต่เขามีผู้ใหญ่มาให้ท้ายมันก็สภาพเป็นอย่างนั้น สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราทนไม่ได้ และเราก็บอกรุ่นพี่หลายคนนะว่าอย่างนี้มันไม่ได้นะ เคยพูดกับ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา เคยคุยกับท่าน ท่านก็เห็นด้วยอย่างเรา แต่ท่านบอกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ เราก็พยายามแก้ไข”

การรวมตัวผนึกกำลังของ จปร.7 และขยายไปยังนายทหารระดับล่าง จนสามารถเป็นตัวแปรสำคัญของการเมืองการทหารไทยตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และสืบต่อมาถึงสมัย พล.อ.เปรม ได้สร้างความไม่พอใจแก่นายทหารที่ไม่ได้เข้าร่วมโดยเฉพาะ จปร.รุ่นก่อนหน้ามาตามลำดับ เพราะเห็นว่าเป็นการทำลายระบบอาวุโส และเป็นการรวมตัวเพื่อสร้างพลังต่อรองให้แก่ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันแนวความคิดของคณะทหารหนุ่มเรื่องเกษียณอายุราชการที่อายุ 55 ปี ยิ่งสร้างความไม่พึงพอใจจนเป็นตัวเร่งแก่นายทหารรุ่นก่อนซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากแนวความคิดนี้แล้วพัฒนากลายเป็นเงื่อนไขสำคัญไปสู่การเริ่มต้นรวมตัวของ จปร.5 ขยายไปสู่การรวมตัวของทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจภายใต้รหัส 0143 จนกระทั่งขยายการรวมตัวไปยัง จปร.1-8 เว้น จปร. 7

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอันสืบเนื่องจากการรวมตัวและเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ จปร.7 ทั้งสิ้น

การรวมตัวอย่างกว้างขวางและนำไปสู่การโดดเดี่ยว จปร.7 จะปรากฏชัดอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปลายปี พ.ศ.2523 จนถึงต้นปี พ.ศ.2524 หลังการดาหน้าขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญของ จปร.7 จากคำสั่งโยกย้ายประจำปี พ.ศ.2524 ที่ลงนามโดยผู้บัญชาการทหารบกนาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์