To แดนสรวง

และแล้วดีลลับที่ลือๆ กันก็ปรากฏชัดเป็นจริงในที่สุด

ครม.เศรษฐา 1 ตั้งข้ามขั้ว จับมือ 2 ลุง ด้วยอ้างรัฐบาลในสถานการณ์พิเศษ มีการตกลงเก้าอี้กันลงตัว ประกาศขอเป็นรัฐบาลแห่งการสลายความขัดแย้ง เดินหน้าประเทศไทย ทิ้งพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 คะแนน 14.5 ล้านเสียง ให้กลายเป็นฝ่ายค้าน ท่ามกลางความมึนงงของประชาคมโลก

คนระดับทำงานของพรรคก็มีหลายระดับ ระดับที่มองว่าไม่ผิดอะไรก็ยังอยู่ ระดับที่รับไม่ได้ก็ทยอยลาออก ระดับที่รับไม่ได้แต่ไม่ออก พร้อมโชว์จุดยืนอ้างความจำเป็นเชิงปฏิบัตินิยม การเมืองแห่งความเป็นจริง

และระดับสุดท้ายคือ รับได้แต่ลาออกเพื่อลดเสียงวิจารณ์ อย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเตรียมไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี

 

จังหวะเดียวกับที่การเมืองไทยกำลังร้อนแรง ในวงการภาพยนตร์ไทยก็มีเรื่องร้อนแรงไม่แพ้กัน จากการเข้าฉายของภาพยนตร์เรื่อง “แมนสรวง” ฮิตระดับทำเงินเปิดตัววันแรกสูงสุดของปี

เรื่องราวในหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นช่วงบรรยากาศการผลัดแผ่นดินช่วงปลายรัชกาลที่สาม ปี พ.ศ.2393 เป็นภาพยนตร์เสียดสีสังคมผ่านชีวิตของไพร่ หนังฉายให้เห็นภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจของชนชั้นนำ ระหว่างชนชั้นปกครอง พระบรมวงศานุวงศ์ เหล่าขุนนางเสนาบดี ขั้วสำคัญในการปกครองระบอบราชาธิปไตยสมัยนั้น

บทภาพยนตร์ช่วงท้ายก็ทำให้เรานึกถึงบริบทการเมืองไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ว่า การเมืองชนชั้นนำก็คือการเมืองของชนชั้นนำ ไม่ว่าจะต่อสู้ทั้งบนดินใต้ดิน กระทั่งมีชีวิตไพร่ (ชีวิตประชาชน) สังเวย แต่สุดท้ายก็พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจที่ตนเองต้องการ โดยอ้างว่าทำเพื่อแผ่นดิน

คนชมหนังเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่าได้เห็นภาพการเมืองแห่งความอลหม่านเมื่อปี 2393 ก็อดไม่ได้ต้องมาเทียบกับความอลหม่านของการต่อรองอำนาจ จัดสรรประโยชน์ทางการเมืองในห้วงการตั้งรัฐบาลปัจจุบันพอดี

 

การจัดตั้ง ครม.ครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับพรรคเพื่อไทยพยายามขับเน้นวาทกรรมใหม่ในความจำเป็นต้องจับมือกับขั้วอำนาจเก่า ต้องฝืนเจตนารมณ์คนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องการปิดสวิตช์ 3 ป. โดยอ้างเรื่องสลายขั้วความขัดแย้ง

ขนาดที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เป็นนายกฯ ว่า ต้องลืมวาทกรรม มีเราไม่มีลุง เพื่อให้ประเทศเดินหน้า หนังคนละม้วนกับช่วงก่อนเลือกตั้ง

ด้วยเชื่อว่าจะกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ไม่มากก็น้อยด้วยประสบการณ์การเมืองยี่ห้อเพื่อไทย เน้นนโยบายทางเศรษฐกิจ หากทำนโยบายปากท้องสำเร็จ คนก็จะลืมเรื่องการเมือง หรือเหลือความสนใจน้อยที่สุด พอครบ 4 ปี เพื่อไทยก็จะกลับมาสู้ใหม่อีกครั้งได้

เรื่องเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องหลักที่รัฐบาลเพื่อไทยพยายามพูด ด้วยความฝันจะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

หวังเปลี่ยนประเทศไทย จากดำเป็นขาว เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนคอปริ่มน้ำ เป็นคอพ้นน้ำ เปลี่ยนจากแดนนรก สู่แดนสวรรค์ ด้วยวาระทางเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญๆ เพื่อไทยจึงพยายามยึดเก้าอี้ไว้ให้ได้มากที่สุด เช่น คลัง คมนาคม ท่องเที่ยว พาณิชย์ เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็เป็นการจัดตั้งรัฐบาลโดยประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษ์และขั้วอำนาจเก่า พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของการกดทับและจัดการกับฝ่ายเสรีนิยมก้าวหน้า ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้

 

แต่ต้องมาดูว่าการจัดการตั้ง ครม.ครั้งนี้อยู่ภายใต้โจทย์เก่าที่คุ้นเคยของการเมืองไทย คือ

1. เป็นการตั้ง ครม.ในระบบโควต้าแบบเดิม แต่ละพรรคที่จับมือกันได้เก้าอี้ตามความสามารถในการต่อรองด้วยคณิตศาสตร์การเมือง

2.ตั้ง ครม.บนฐานคิดของระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดิม กล่าวอย่างตรงไปตรงมาคือความสัมพันธ์ที่ตั้งบนฐานของคอนเน็กชั่น ใครรู้จักใคร ยังมีความสำคัญอยู่

3. หลายเก้าอี้สะท้อนทายาททางการเมือง ตั้งคนในครอบครัว ญาติสนิทนักการเมืองดัง

4. หลายเก้าอี้สะท้อนชัดว่ามาจากระบบกลุ่ม-มุ้ง-ซุ้ม พูดอย่างตรงไปตรงมาอีก ก็เป็นส่วนใหญ่ของ ครม.นี้

5. รัฐมนตรีเกือบ 10 คน ที่เป็นรัฐมนตรีหน้าเดิมจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

คําถามคือ ต่อให้ไม่ผิดกฎอะไรเลย แต่อย่างที่รู้กันว่าภายใต้บริบทโลกปัจจุบัน การเมืองแบบนี้ที่สืบทอดกันมาหลายทศวรรษยังฟังก์ชั่นดีอยู่หรือเปล่า ตอบโจทย์ประเทศไหม? ตอบโจทย์กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุมล้อมประเทศไทยขณะนี้อยู่หรือไม่?

ต้องย้ำว่าโดยหลักการ ระบบโควต้าไม่ได้ผิด เป็นคณิตศาสตร์การเมืองปกติในระบอบประชาธิปไตย เพราะหากจะเอาแต่คนเก่ง คนดี มันก็ไม่มีมาตรวัด จะอ้างว่าเอาคนมีประสบการณ์เฉพาะด้านก็ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องมีเลือกตั้ง

แต่ปัญหาก็คือประสบการณ์การเมืองไทยที่ผ่านมามันแสดงให้เห็นว่า การเมืองระบบโควตาแบบไทยๆ แบบเดิม มันไม่ตอบโจทย์ประเทศ คนเขาเห็นเพราะพิสูจน์มาแล้ว 4 ปีที่ผ่านมานี้แหละ

การทำตามนโยบายที่เคยให้ไว้กับประชาชนของพรรคเพื่อไทยต้องเจอกับอุปสรรคหลักๆ ในการบริหาร อาทิ

1. การถูกต่อรองอย่างหนักจากพรรคร่วมรัฐบาล

2. ปัญหาความแตกต่างทางอุดมการณ์และแนวทางนโยบาย แม้จะพยายามประนีประนอม เจรจาต่อรองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสะท้อนความเปราะบางทางการเมืองซ้ำเติมไปอีกมากเท่านั้น

3. ปัญหาการจัดการงบประมาณที่มีลักษณะแบ่งแยก เฉพาะด้าน จัดการในลักษณะภาพรวมได้ยาก ด้วยความเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ต่างคนต่างห่วงผลประโยชน์ตัวเอง

4. ความไม่เด็ดขาดของอำนาจ ที่ไม่ใช่เรื่องเผด็จการ

แต่คือความสามารถในการสั่งการแก้ปัญหาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ ภาพลักษณ์นายเศรษฐ ทวีสิน ในแง่การบริหารจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับได้ แต่ครั้นจะหวังพึ่งนายกฯ เก่งคนเดียวในปัจจุบันคงยาก

การจะทำตามนโยบายหาเสียงของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าลืมว่ารัฐบาลเพื่อไทยวันนี้อำนาจต่อรองไม่เท่ากับไทยรักไทย หรือพลังประชาชนในอดีต ซ้ำร้ายยังเจอกระแสตั้งคำถาม ลามไปจนถึงต่อต้านจากประชาชนจำนวนไม่น้อยอย่างหนักตั้งแต่เริ่มก่อตั้งรัฐบาล

ขนาดยังไม่ประกาศชื่อคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ รัฐบาลใหม่ยังไม่ทำหน้าที่ คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยก็ตกกราวรูดในระดับทิ้งดิ่ง

ดูจากผลสำรวจของ ม.ศรีปทุม ชี้ชัดว่าหากวันนี้ประชาชนจะต้องเลือกพรรคการเมืองใด คำตอบ 62.9% จะเลือกก้าวไกล ส่วนพรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมลดไปถึง 62.24%

เช่นเดียวกับผลสำรวจของนิด้าโพล ที่มีประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่เพื่อไทยตั้งรัฐบาลโดยจับมือพรรค 2 ลุง และคนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าเป็นรัฐบาลสลายขั้ว สร้างปรองดอง

เมื่อ ครม.คลอดออกมาไม่ตรงปก ภาพลักษณ์ไปในทางติดลบตั้งแต่ยังไม่เข้าบริหารงาน แม้ภาพนายกฯ จะยังไม่ติดลบแต่ก็เป็นไปในลักษณะ “ขาลอย”

ทางรอดในอนาคตอย่างเดียวตอนนี้จึงอยู่ที่ความหวังจะสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรม 4 ปีจากนี้ ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง

 

เพื่อไทยก็พอรู้ชะตากรรม พยายามประชาสัมพันธ์ขายฝันว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ผ่านนโยบายเศรษฐกิจ ล่าสุด คือการประกาศจะลดราคาค่าไฟและค่าน้ำมันทันที ในการประชุม ครม.นัดแรก

แน่นอนเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชน แต่คำถามที่ประชาชนต้องการมากกว่านั้นคือ เพื่อไทยจะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ในระดับโครงสร้างอย่างไร ที่ไม่ใช่แค่การขายผ้าเอาหน้ารอด หรือซ่อมปะผุไปตามสถานการณ์ระยะสั้น

ยังมี เรื่องการขึ้นค่าแรง 600 บาท เงินเดือน ป.ตรี 2.5 หมื่น ใน 4 ปี เรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งก็ยังมึนงง ยังไม่ชัดเจนไม่รู้จะเอาเงินมาจากไหน และจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหภาคตามที่คาดหวังไว้หรือไม่

นโยบายการเมืองยิ่งหนัก การจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ถูกสกัดขัดขวางตั้งแต่ยังไม่กดปุ่มเปิดไมค์ประชุม ฝ่ายอนุรักษนิยมหน้าเดิมออกโรงดักคอตั้งแต่ยังตั้งรัฐบาลไม่เสร็จ

แน่นอน พรรค 2 ลุง ไม่ยอมให้แก้ง่ายๆ แน่นอน โดยเฉพาะการจะให้มีประชามติ ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การเลือกตั้ง สสร.ที่เสี่ยงจะทำให้ฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายก้าวหน้าแห่กันเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ลดบทบาทกลไก คสช.ที่เคยวางไว้ใน รธน.ปี 2560

อย่างการยกเลิกเกณฑ์ทหารที่ทั้งสังคมแทบจะเห็นตรงกันว่าถึงเวลาคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ พรรคเพื่อไทยวันนี้กลับพูดอีกแบบ จาก “ยกเลิก” เป็นการ “ลด” ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกับที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังทำ

หรือเรื่องปฏิรูปกองทัพ ที่คนพรรคเพื่อไทยเสียงแข็งทุกเวทีดีเบตก่อนการเลือกตั้ง วันนี้นายกฯ เศรษฐาเสียงอ่อน ขอไม่ใช้คำว่าปฏิรูปกองทัพ เกรงไปกระทบจิตใจเหล่าทัพ ขอใช้เป็น “การพัฒนาร่วมกัน” ดีกว่า

 

ดูท่าแล้ว รัฐบาลเศรษฐา 1 ที่ผ่านช่วงชุลมุน ชิงตั้งรัฐบาลสำเร็จ ร่วมมือฝ่ายขั้วอำนาจเก่า ล้มแชมป์พรรคก้าวไกล ทิ้งให้ไปยืนฝ่ายค้านแบบโดดๆ โดยสามารถคว้าเก้าอี้นายกฯ ไว้ได้ พร้อมกระทรวงเกรดเอนิดหน่อย จะต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างมากมายมหาศาลจากนี้

ต้องสู้กับพรรคร่วมที่หลากหลาย เชี่ยวกรากด้านการต่อรอง และยังต้องสู้กับประชาชนที่ตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมและการไม่ยอมรับ

เมื่อเจตจำนงของการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นเพียงเทคนิคหาเสียง ความฝันที่จะพาประเทศไทย ไปสู่ “แดนสรวง” ก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง วันนี้ยังเลือนราง และที่หวังว่าการเข้าสู่อำนาจครั้งนี้จะเป็นการเข้าสู่แดนสรวงด้วยนั้น ยังต้องลุ้นกันเหนื่อย

มีคำพูดหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “แมนสรวง” อธิบายการเมืองในการแย่งชิงอำนาจของขุนนางอำมาตย์ว่า “วันนี้ถึงแม้นว่าฟ้าจะยังไม่เปลี่ยน แต่ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเรือจะหันหัวไปในทิศทางใด”

ถ้ามาเปรียบกับประเทศไทย ก็ต้องบอกว่า วันนี้ฟ้าเปลี่ยนแล้ว แต่เรือกลับไม่ยอมหันไปในทิศทางที่ควรจะไป

รัฐนาวาลำนี้จึงต้องออกแรงพายเหนื่อยกว่าปกติ