‘ทักษิณ’ จากเรือนจำ สู่ ร.พ.ตำรวจ ดราม่าพักห้อง VVIP พักหรูอยู่สบายจริงหรือ เสียงวิจารณ์ เลือกปฏิบัติ หรือไม่

ประเด็นร้อนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล การเดินทางกลับมาประเทศไทยของอดีตนายกรัฐมนตรี “นายทักษิณ ชินวัตร” ก็ยังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจในทุกขณะ นับตั้งแต่ก้าวแรกบนแผ่นดินประเทศไทยจนถูกส่งตัวเข้าเรือนจำที่พบโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีภาพเจ้าตัวชกมวยโชว์ความฟิตของร่างกายให้เห็นหลายครั้ง

ก่อนจะมีรายงานข่าวออกมาว่ากลางดึกคืนแรกในเรือนจำ อดีตนายกฯ มีอาการป่วยกำเริบและแน่นหน้าอก จนต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ เข้าพักรักษาตัวอยู่ชั้น 14 หอผู้ป่วยรับรองระดับสูง ที่มีเสียงลือว่าเป็นห้องพักระดับวีวีไอพี

แน่นอนว่าไม่พลาดตกเป็นขี้ปากของสังคม ก่อนที่ทางกรมราชทัณฑ์จะออกมาชี้แจงว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นไปตามระเบียบ เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ไม่มีความพร้อมด้านผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์การรักษา

ไฟร้อนยิ่งโหมกระหน่ำหลังการกลับมาของนายทักษิณ หลัง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ตอบคำถามชาวเน็ตรายหนึ่งที่ตั้งคำถามว่า “นักโทษหรือเทวดาคะ” ด้วยคำตอบกลับว่า “เทวดาค่ะ” ราวกับเป็นการราดน้ำมันลงกองไฟ

อุ๊งอิ๊งถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงวุฒิภาวะในการแสดงความคิดเห็นในสถานการณ์ที่คุณพ่อของเธอกำลังตกเป็นเป้าของสังคม และถูกมองว่าเป็นนักโทษระดับอภิสิทธิ์ชน

จนต้องมาแก้ในเวลาต่อมาว่า เทวดาคือเทวดาในใจลูก เพื่อลดกระแสต่อต้าน

 

แต่ทำให้ “นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์” แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ต้องออกมาใส่ชุดดำไว้อาลัยให้กับกรมราชทัณฑ์ พร้อมกับยื่นหนังสือเปิดผนึกให้กับแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ช่วยคลายข้อกังขาให้กับสังคม หลังรับตัวนายทักษิณมารักษาและการได้รับสิทธิพิเศษเหนือผู้ต้องขังทั่วไป

โดย นพ.ตุลย์กล่าวว่า แม้ข้อมูลไม่ชัดเจน แต่ดูแล้วเป็นการรีบด่วนเกินไป เชื่อว่าป่วยจริง แต่อาการนี้เป็นที่ทราบกันดีว่านักโทษทั่วประเทศก็ป่วยด้วย 4 โรคนี้จำนวนมาก แต่ก็ยังรักษาตามอาการอยู่เรือนจำของเขาตามปกติ ส่วนห้องแอร์ ดูตามอาการของคุณทักษิณตามที่แถลงต้องอยู่ที่ไอซียู พร้อมอ่านจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการไขข้อสงสัยแก่สาธาธารณชน ดังนี้

1. หากมีอาการป่วยหนักจริง ควรรับไว้รักษาในห้องวิกฤตเท่านั้น ไม่ใช่อยู่ในห้องรับรองพิเศษ ดูแล้วไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างไร

2. โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเพียงสถานรักษาพยาบาลชั่วคราว ในกรณีที่ป่วยหนักจนโรงพยาบาลราชทัณฑ์รักษาไม่ได้ เมื่อโรงพยาบาลตำรวจรับนักโทษมารักษาแล้ว ควรเร่งรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ ให้มีอาการปกติเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อไป

3. การจัดให้พักในห้องรับรองพิเศษ ซึ่งปกติให้รักษาเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจเท่านั้น จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง แม้นักโทษชายทักษิณ จะเป็นอดีตนายกฯ แต่ถูกพิพากษาจำคุก 8 ปี การให้อยู่ห้องรับรอง จึงไม่สมควร เพราะได้รับสิทธิเหนือนักโทษทั่วไป

4. การจัดคิวให้ญาติเยี่ยมในวันที่ 28 สิงหาคม เป็นหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ไม่ใช่อำนาจโรงพยาบาลตำรวจ

 

ต่อมา 28 สิงหาคม หลังครบกำหนดการกักโรค กรมราชทัณฑ์ได้อนุญาตให้ครอบครัวและคนใกล้ชิดเข้าเยี่ยมได้ที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยกำหนดให้เข้าเยี่ยมได้ครั้งละ 10 คน โดยที่ 10 คนที่ลงชื่อครบประกอบด้วย “โอ๊ค พานทองแท้” และภรรยา, “เอม พินทองทา” และสามี, “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร” พร้อมสามี-ลูก 1 คน และทนายความ 3 คน

วันเดียวกันนี้ มีรายงานข่าวว่า “นายอนันต์ สาครเจริญ” เหรัญญิกพรรคไทยภักดี พร้อมด้วยตัวแทนพรรคไทยภักดีอีกประมาณ 10 คน เดินทางมาที่กรมราชทัณฑ์ เพื่อยื่นคัดค้านการขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีกระแสข่าวและมีความเป็นไปได้ว่านายทักษิณจะทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการพิเศษเฉพาะราย ด้วยเหตุผล 3 ประการ ได้แก่

1. นายทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุกในคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศมากถึง 4 คดี เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมหลายวาระ เป็นการทำลายหลักธรรมาภิบาลของประเทศอย่างย่อยยับ สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ ซ้ำร้ายยังมีพฤติกรรมหลบหนีการลงโทษไปต่างประเทศ ไม่เคารพยอมรับคำพิพากษาของศาล พร้อมทั้งกล่าวให้ร้ายกระบวนการยุติธรรมของประเทศตลอดมา การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการพิเศษเฉพาะรายของนายทักษิณ จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการผลักภาระความลำบากจากการกระทำความผิดของตนเอง ไปเป็นภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมิบังควรอย่างยิ่ง

2. จะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมของประเทศอย่างร้ายแรง เป็นการสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาในประเทศ เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันทางกฎหมายของประชาชน ทำให้วาทกรรมที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งกรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม จะต้องดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ยึดมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างเคร่งครัด

3. ในสมัยที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ยึดนโยบายที่จะไม่ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษในคดีทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อที่จะธำรงรักษาหลักธรรมาภิบาลแห่งรัฐไว้อย่างหนักแน่นมั่นคง ซึ่งควรเป็นนโยบายที่หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมจะต้องสืบทอดเอาไว้

การดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการพิเศษเฉพาะรายให้นักโทษจะเป็นแบบอย่างที่เลวร้ายต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะทำลายหลักธรรมาภิบาลแห่งรัฐซ้ำซ้อนซ้ำซาก

 

ซึ่งหลังจากโดนกระแสวิจารณ์รอบด้าน อุ๊งอิ๊งที่หลังเข้าเยี่ยมคุณพ่อเสร็จเป็นชุดแรกก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ระหว่างเดินทางเข้าพรรคเพื่อประชุมเกี่ยวกับนโยบายซอฟต์เพาเวอร์

โดยกล่าวว่าคุณพ่อมีอาการอ่อนเพลียและเครียดพอสมควร คืนที่ถูกส่งไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ก็ทราบพร้อมกับสื่อ

“ปี 2563 คุณพ่อเป็นโควิดรุ่นอู่ฮั่น มีอาการหนักมาก เข้าห้องไอซียูไป 9 วัน รวมเวลาอยู่โรงพยาบาลไป 1 เดือน ตอนนี้ก็ยังมีจุดอยู่ที่ปอด คุณพ่อพยายามออกกำลังกายเพื่อให้ฟื้นตัว ซึ่งถือว่ากลับมาได้เยอะแล้ว แต่สำหรับคนอายุ 74 ปี ยอมรับว่าท่านมีความเครียดและเหนื่อย ใครก็ตามหากต้องเปลี่ยนที่อยู่ ต่อให้ไม่ใช่ราชทัณฑ์หรือโรงพยาบาล การเปลี่ยนแปลงทำให้มีความรู้สึก และตนขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงคุณพ่อ ตอนนี้ทีมแพทย์มีความสามารถตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ต่างๆ และเราไม่ได้ขอย้ายไปที่โรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด” อุ๊งอิ๊งกล่าว

เมื่อถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ทางครอบครัวจะดำเนินการอย่างไร

อุ๊งอิ๊งกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวให้เป็นดุลพินิจของคุณพ่อ คุณพ่อทำคนเดียว ตนไม่ทราบรายละเอียด

ส่วนเรื่องเสียใจหรือไม่ที่สังคมมองว่านายทักษิณไม่ได้ป่วยจริง และมีอภิสิทธิ์ชนในการเข้ารับการรักษาตัว อุ๊งอิ๊งกล่าวว่า ตนไม่ได้รู้สึกเสียใจหรือไม่เสียใจ แต่เป็นห่วงคุณพ่อมากกว่า ห้องที่พักก็เป็นห้องปกติ เครื่องปรับอากาศเสียตอนนี้ซ่อมแล้ว

ส่วนที่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ ต้องขอโทษสื่อมวลชนมา ณ ที่นี้ด้วย เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นทางลาดที่มีรถวีลแชร์เข็นเข้าออก รวมทั้งทางเข้าออกโรงพยาบาลก็มีผู้ป่วยและญาติเดินทางเข้าออกอยู่ตลอดเวลา จึงไม่อยากไปรบกวนสถานที่และทำให้คนอื่นไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการที่โรงพยาบาล

 

ล่าสุดยอดนักร้อง (เรียน) อย่าง “นายศรีสุวรรณ จรรยา” ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การรับตัวนายทักษิณกลับประเทศไทย ว่าปฏิบัติตามระเบียบในการควบคุมผู้ต้องหาหรือไม่ หรือมีการละเว้นเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นที่เคลือบแคลงใจของสังคมในตอนนี้

ขณะที่ในโลกออนไลน์ก็ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ต่างกัน และมองว่าเรื่องนี้มีลับลมคมในไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกมองว่าใช้อภิสิทธิ์ชน ทั้งๆ ที่สังคมคาดหวังว่าจะเห็นนายทักษิณกลับมาต่อสู้คดีลบล้างมลทินอย่างตรงไปตรงมา จึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่านับตั้งแต่นายทักษิณกลับมา ข้อครหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

ไปจนถึงประเด็นความไม่โปร่งใสของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่นับวันยิ่งสร้างความสงสัยและไม่เคยมีคำตอบให้สังคม

เสียงวิจารณ์ถึงความเป็นนักโทษอภิสิทธิ์ชน จึงวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาจนถึงในตอนนี้ ซึ่งฝั่งฟากทางครอบครัวนายทักษิณคงต้องหาทางแก้ เพื่อที่ทำให้การกลับบ้านราบรื่นและไร้การต่อต้าน