ความหวัง และความกลัว ในโลกที่ไร้สวัสดิการ | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ผมมีโอกาสได้บรรยายประเด็น กลัวและความหวัง ให้แก่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประเด็นสำคัญที่ทางผู้จัดงานอยากให้ผมช่วยสรุปประเด็นคือ เราอยู่ในสภาวะความกลัวต่ออะไร

และอะไรเป็นหนทางที่เราสามารถเป็นอิสระจากความกลัวได้

ผมเริ่มด้วยประเด็นที่ว่ามนุษย์แต่ละคนล้วนมีความกลัวที่แตกต่างหลากหลายตามประสบการณ์ของตน

แต่ถ้ามองในภาพทั่วไป คนในสังคมทั่วไป สิ่งที่ทำให้เราเผชิญกับความกลัวได้ ประกอบด้วยเงื่อนไขเบื้องต้นคือ ความกลัวจากความไม่มั่นคงทางรายได้

ความกลัวจากการไร้ศักดิ์ศรีอำนาจที่เท่าเทียม

ความกลัวจากความไร้เสรีภาพ

และความกลัวจากการที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานภาพโดยกำเนิดของแต่ละคน

ความกลัวพื้นฐานเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่เท่าเทียม ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดกับผู้คนอย่างเสมอภาคกัน

บางคนทั้งชีวิตอาจไม่เคยมีความกลัวจากความไม่มั่นคงด้านรายได้ ขณะที่บางคนอาจเกิดจนตายไม่เคยพ้นจากความกลัวนี้

บางคนเกิดมาชีวิตเต็มไปด้วยการเคารพทั้งชีวิต แต่บางคนต้องคุกเข่าค้อมหัวขอความเมตตาทั้งชีวิต

ความกลัวจึงไม่เสมอภาคปราศจากชนชั้นแต่อย่างใด

 

ความกลัวจากความไม่มั่นคงด้านรายได้ เป็นความกลัวที่หลอกหลอนคนส่วนใหญ่ของประเทศมานานนับศตวรรษ เมื่อคนที่ทำงานหนักที่สุดกลับยากจนที่สุด

คนที่รักในงานที่ตัวเองทำแต่รายได้ไม่เพียงพอ

คนที่พยายามเสริมทักษะตลอดเวลา แบกรับความเสี่ยงจากการทำงาน เพื่อให้นายทุนร่ำรวยขึ้น แต่ไม่เคยพ้นจากความกลัวต่อรายได้ที่ไม่เพียงพอในแต่ละวันในแต่ละเดือน

ขณะเดียวกันระบบสวัสดิการที่แบ่งคนเป็นชนชั้น คนจนต้องต่อแถวรับสิทธิ์ ผลักดันให้เกิดความกลัวในไร้ศักดิ์ศรี ไม่มีใครอยากคุกเข่าค้อมหัวเพื่อให้ได้รับสวัสดิการหรือชีวิตที่ดี ไม่อยากประจานความจนเพื่อให้ได้รับการสงเคราะห์

ความกลัวในการไม่ได้รับสวัสดิการที่เท่าเทียม ความกลัวในความต่ำต้อยสามารถกัดกินชีวิตของผู้คนได้ทั้งชีวิต

เช่นเดียวกันกับความกลัวต่อภาวะไร้อำนาจ ไร้เสรีภาพที่ไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้

สังคมอำนาจนิยมจะส่งให้คนส่วนใหญ่วนเวียนอยู่กับความกลัวที่ต้องเติบโตและใช้ชีวิตในโลกที่ตนไม่สามารถกำหนดได้

สิ่งเหล่านี้ผลักเราให้เผชิญกับความกลัวต่อเงื่อนไขที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชาติกำเนิดได้ กลัวต่อสิ่งที่เราไม่ได้เลือกในจุดเริ่มต้นของชีวิต จะต้องอยู่กับเราทั้งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหนี้สิน ความยากจน หรือความไร้อำนาจที่ส่งต่อมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่

 

วิทยากรในงานถามผมว่า เรามีต้นทุนอะไรบ้างในสังคม ที่จะทำให้เราหลุดพ้นออกจากความกลัวได้บ้าง?

เรื่องที่สำคัญที่สุดคือการที่เราจะเป็นอิสระจากความกลัวพื้นฐานเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความไร้ศักดิ์ศรี ไร้เสรีภาพ หรือกักขังด้วยชาติกำเนิด แก้ไขได้ด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ระบบที่สามารถประกันชีวิตของผู้คน มันเป็นเรื่องที่ง่ายและยากพอๆ กัน

ความง่ายของมันคือมันเป็นเรื่องที่ไม่สลับซับซ้อน เป็นเรื่องที่พิสูจน์มาแล้วว่าใช้สำเร็จ ใช้ได้ดี เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

แต่ความยากคือ จะทำอย่างไรให้ชนชั้นนำยอมสละสิ่งที่เขามีเพียงเล็กน้อยเพื่อให้สังคมเท่าเทียมกันมากขึ้น

เพราะพวกเขาคุ้นชินกับความเหลื่อมล้ำเหล่านี้อยู่แล้วที่พวกเขาได้ประโยชน์โดยไม่ต้องสละอะไรเลย

ต้นทุนอีกด้านหนึ่ง หากถอดบทเรียนจากสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการผลักดันรัฐสวัสดิการมาหลายประเด็น ทุกนโยบายมีเสียงต่อต้าน

พอพูดเรื่องคนแก่ ก็จะมีคนบอกว่าทำไมไม่ให้เด็ก

พอให้คนท้อง ก็จะมีคนบอกว่าทำไมไม่ให้คนแก่

พอให้เด็กมหาวิทยาลัย ก็มีคนบอกว่าทำไมไม่ให้เด็กอนุบาล

ช่วยแรงงานข้ามชาติ ก็ถามว่าทำไมไม่ช่วยแรงงานไทย ฯลฯ

เป็นคำถามที่วนไปวนมา ส่วนมากเป็นคนกลุ่มเดิม

ซึ่งโดยสรุปแล้ว พวกเขาไม่ได้เป็นห่วงว่าคนกลุ่มไหนจะได้รับการดูแลมากกว่ากัน พวกเขามีปัญหากับการดูแลคนไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตาม

คนเหล่านี้ดูเหมือนมีจำนวนมากในโลกออนไลน์ และมองไม่เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ

บ่อยครั้งก็สร้างความรู้สึกบั่นทอนมากๆ

แต่ข่าวดีจากประสบการณ์ผม คนเหล่านี้มีน้อย มีน้อยมาก พวกเขาอาจเสียงดังเพราะความโกรธ หรือความไม่เข้าใจ

แต่ความจริงคือ พวกเขามีน้อยมาก ยิ่งเสียงพวกเขาดังเท่าไร เราก็ยิ่งรู้ว่าพวกเขากลัว เพราะเราต่างรู้ว่าสิ่งที่เราเสนอมันคือสิ่งที่เป็นไปได้ พวกเขาจึงกลัวว่ามันจะเกิดขึ้นจริง พวกเขาจึงโกรธและเสียงดัง

บ่อยครั้งเราคิดว่ามีคนกลุ่มนี้เยอะ แต่จริงๆ แล้วพวกเขามีน้อยมาก

แล้วคนจริงๆ พวกเขาเป็นอย่างไร?

 

จากประสบการณ์ของผม ความเห็นในออนไลน์แบ่งแยกแตกต่างเป็นปกติ แต่ในชีวิตจริง มนุษย์ไม่ได้โกรธเกรียวกับความเท่าเทียมขนาดนั้น

คนที่ไม่ได้ท้อง ก็อยากให้เพื่อนร่วมงานสามารถลาคลอดได้อย่างที่เหมาะสม

คนเป็นพนักงานรายเดือนแล้ว ก็อยากให้รุ่นน้องที่เป็นพนักงานรายวันได้โบนัสหรือได้เปลี่ยนสถานะเป็นรายเดือน

คนที่พ่อแม่เสียชีวิตไปหมดแล้ว ก็ยังอยากให้มีเงินบำนาญให้พ่อแม่ของคนอื่นที่ไม่ได้รู้จัก

คนที่ใช้หนี้ กยศ.หมดแล้วก็ยังอยากให้คนที่เริ่มเรียนมหาวิทยาลัยไม่เป็นหนี้

นี่คือเนื้อแท้ของมนุษย์

มันทำให้มนุษย์เราต่างจากสัตว์ สมองของมนุษย์กับลิงชิมแปนซีต่างกันไม่มากนัก ลิงชิมแปนซีมีส่วนคล้ายมนุษย์คือในฝูงสามารถทำรัฐประหารยึดอำนาจกันได้ แต่สมองส่วนเล็กๆ ที่พัฒนาขึ้นและทำให้มนุษย์ต่างจากลิงเกิดขึ้น เมื่อแม่มาอุ้มลูกน้อยให้หยุดร้องไห้ ความสร้างสรรค์จึงเกิด

เมื่อความหวาดกลัวหายไป สมองส่วนนี้ทำให้ศิลปะ กวี วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ พัฒนาขึ้น เมื่อสังคมเราโอบอุ้มดูแลเรา ความสร้างสรรค์ที่ปราศจากความกลัวจึงพัฒนา

รัฐสวัสดิการคือกลไกสำคัญที่จะเปลี่ยนลิงให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หลุดพ้นจากความกลัวทั้งจากภาวะธรรมชาติ และความกลัวที่มนุษย์สร้างขึ้น