ต้องทบทวนเขียนใหม่ ประวัติศาสตร์ไทย ‘แห่งชาติ’ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ไทยขาดแคลนแรงงานอย่างยิ่ง จึงต้องพึ่งพิงแรงงานเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไทย แต่การพึ่งพิงแรงงานเพื่อนบ้านไม่ราบรื่น เพราะ

(1.) ไทยดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน

(2.) ต้นตอการดูถูกเพื่อนบ้านมาจากประวัติศาสตร์ไทย “แห่งชาติ” ซึ่งมีอำนาจครอบงำความคิดระบบราชการทั้งประเทศ

ประวัติศาสตร์ไทย “แห่งชาติ” เป็นวรรณกรรมเพิ่งสร้างไม่นานมานี้ มีลักษณะสำคัญ ดังนี้

(1.) ประวัติศาสตร์ของชน “เชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์” ซึ่งชนชั้นนำเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่ามีแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เป็นคนกลุ่มเดียวขนาดเล็กๆ

(2.) กีดกันคนกลุ่มต่างๆ ที่มีจำนวนมากไม่ให้มีพื้นที่ในประวัติศาสตร์

แต่แล้ว “เชื้อชาติ” ไม่มีจริงในโลก เพราะพิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ (ดีเอ็นเอก็พิสูจน์เชื้อชาติไม่ได้) ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในโลกยกเลิกแล้วเรื่องเชื้อชาติ แต่ยังพบในประวัติศาสตร์ไทย “แห่งชาติ” ที่ถูกเขียนเพื่อสนองแนวคิด “ชาตินิยม” ของชนชั้นนำแล้วใช้หล่อหลอมกล่อมเกลาและครอบงำสังคมไทยนับร้อยปีที่ผ่านมาว่า “คนไทย เชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์” มีแล้วตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยไม่มีหลักฐานวิชาการสนับสนุน (ดังพบในหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ และหนังสือประวัติศาสตร์โบราณคดีของกระทรวงวัฒธรรม)

แต่ประวัติศาสตร์ไทย “แห่งชาติ” สำนวนนี้ยังดำรงอำนาจอยู่ได้เนื่องจากได้รับการหนุนหลังแข็งแรงโดยรัฐราชการรวบอำนาจรวมศูนย์

ดังนั้น ถ้าต้องการสันติภาพและคุณภาพของคนในประเทศ สิ่งที่ต้องทำแรกสุดคือ “ยกเลิกเชื้อชาติไทย” แล้วจะพบความจริงที่มีหลักฐานวิชาการรองรับสนับสนุนว่า คนไทยมาจาก “คนไม่ไทย” ที่พูดภาษาไทยและมีวัฒนธรรมไทย

คนไทย และ “คนไม่ไทย” เป็นอะไรที่ต้อง “ผลิตซ้ำ” จนกว่าจะเข้าใจตรงกัน แล้วเปิดกว้างอย่างเสรีให้เขียนใหม่ประวัติศาสตร์ไทยของใครของมัน โดย “ไม่แห่งชาติ”

 

“คนไม่ไทย” กับภาษาและวัฒนธรรมไทยคืออะไร?

1.“คนไม่ไทย” คือ คนไม่พูดภาษาไทย และไม่มีวัฒนธรรมไทย เป็นคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ทางใต้ของจีนและทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว

คนเหล่านี้ถูกจีน (ฮั่น) เรียกว่าคนป่าเถื่อน คือ เยว่ หรือไป่เยว่ มีร้อยจำพวก ประกอบด้วย ม้ง-เมี่ยน, จีน-ทิเบต, มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, และ ไท-ไต เป็นต้น

2. ภาษาไทย หมายถึง ภาษาไท-ไต (จากโซเมีย) ที่ผสมกลมกลืนกับภาษาของ “คนไม่ไทย” บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ตระกูลภาษามอญ-เขมร, ชวา-มลายู, บาลี-สันสกฤต และจีน

3. วัฒนธรรมไทย หมายถึง วัฒนธรรมไท-ไตที่ผสมกลมกลืนกับวัฒนธรมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันมี มอญ, เขมร, มลายู, อินเดีย, อิหร่าน (เปอร์เซีย), จีน ฯลฯ

 

ไท-ไต คืออะไร?

ไท-ไต (หรือ ไท-กะได) เป็นชื่อที่นักวิชาการสมมุติขึ้นเรียกตระกูลภาษาของคนจำนวนหนึ่งซึ่ง “ไม่ไทย” มีถิ่นฐานปะปนกับกลุ่มอื่นๆ อยู่ทางใต้แม่น้ำแยงซีในจีน หรือเรียกง่ายๆ ว่าบริเวณโซเมีย

ภาษาไท-ไต มีกำเนิดในโซเมีย บริเวณทางใต้ของแม่น้ำแยงซีในจีน เป็นภาษาที่ง่ายกว่าภาษาอื่นในการใช้งานสื่อสาร จึงถูกใช้เป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน จากนั้นแผ่ขยายถึงลุ่มน้ำโขง, สาละวิน, และเจ้าพระยา จากนั้นฟักตัวอยู่นาน บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง-น้ำเพชร กระทั่งมีอำนาจแผ่ไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วผสมกลมกลืนกับภาษาลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในที่สุดเรียกว่า “ภาษาไทย” แล้วถูกใช้เป็นภาษาทางการทำให้มีอำนาจเหนือภาษาอื่น จึงดึงดูดคนพูดภาษาอื่นเข้าสู่ภาษาไทย แล้วกลายตนเป็นไทย

ดังนั้น ไท-ไต ไม่ใช่ชื่อชนชาติ หรือชาติพันธุ์ จึงไม่มีชนชาติไทหรือไต และไม่มีชาติพันธุ์ไทหรือไต

คำว่าไท หรือไต แปลว่า ชาว เช่น ไทนุง แปลว่า ชาวนุง, ไตลื้อ แปลว่า ชาวลื้อ เป็นต้น ไท หรือไตจึงไม่ใช่คนไทย

คนพูดภาษาไท-ไต ไม่เรียกตนเองว่า “คนไทย” แต่เรียกตนเองตามชื่อกลุ่มของตนเอง เช่น นุง, ลื้อ,จ้วง, ยวน, ยอง เป็นต้น

ชาวสยามไม่ใช่คนไทย แต่พูดภาษาไท-ไต พบหลักฐานกลุ่มเก่าสุดมีศูนย์กลางอยู่เวียงจันท์ เป็นเครือญาติสนิทของกษัตริย์รัฐกัมพูชาเมืองพระนคร และมีภาพสลัก “เสียมกุก” บนระเบียงปราสาทนครวัด (ถอดแบบลายเส้นจากภาพสลัก โดย อ.คงศักดิ์ กุลกลางดอน คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

คนไทยเป็นใคร? มาจากไหน?

คนไทย คือ “คนไม่ไทย” หลากหลายชาติพันธุ์ทั้งในอุษาคเนย์และในโลก ที่พูดภาษาไทยและมีวัฒนธรรมไทย แล้วกลายตนเป็นไทย

ดังนั้น คนไทยไม่มาจากไหน? เพราะกำเนิดบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ศูนย์กลางเก่าสุดที่เมืองอโยธยา (จ.พระนครศรีอยุธยา) มีอำนาจมากสุดที่เมืองอยุธยา (จ.พระนครศรีอยุธยา)

เมืองอโยธยา ภาษาไทยกับภาษาเขมรเป็นภาษาทางการควบคู่ก้ำกึ่งกัน จึงพบหลักฐานวรรณกรรมภาษาไทยใช้อักษรเขมร เรียก “ขอมไทย”

เมืองอยุธยา ภาษาไทยเป็นภาษาทางการ มีอำนาจเหนือภาษาเขมร (แต่ยกภาษาเขมรเป็นภาษาเทวราช ใช้ในราชสำนัก ปัจจุบันเรียกราชาศัพท์)

ภาษาไทยมีอำนาจเบ็ดเสร็จในเมืองอยุธยา เมื่อแผ่นดินพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) จากรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) เมื่อเรือน พ.ศ.1952 พบหลักฐานจำนวนมากเป็นวรรณกรรมภาษาไทยใช้อักษรไทย (ที่ปรับปรุงจากอักษรเขมร) เขียนบนสมุดข่อย

 

ชาวสยาม “ไม่ไทย” แต่พูดภาษาไทย

สยาม ไม่ใช่ชื่อชนชาติเชื้อชาติ แต่เป็นชื่อดินแดนที่คนพวกอื่นซึ่งอยู่ภายนอกใช้เรียกบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขงตอนบนอย่างกว้างๆ หลวมๆ

ครั้นสมัยหลังมีขอบเขตแคบลงเหลือเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ที่บางครั้งยาวต่อเนื่องลงไปถึงนครศรีธรรมราช)

ไทยเป็นชาวสยาม แต่สยามไม่ใช่คนไทย เพียงแต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง

สยามไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์หนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่เรียกกลุ่มคนที่เกิดและมีหลักแหล่งอยู่ดินแดนสยามว่า ชาวสยาม โดยไม่จำกัดชาติพันธุ์หรือชาติภาษา

แต่ชาวสยามมักสื่อสารกันทั่วไปด้วยตระกูลภาษาไท-ไต (ซึ่งสมัยโบราณเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน)

คนเกิดมาไม่ว่าชาติพันธุ์อะไร (แม้เป็นตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ไท-ไต ฯลฯ) ถ้ามีหลักแหล่งอยู่ในดินแดนสยามแล้ว ถูกเรียกเหมาหมดว่าชาวสยาม

เช่น คนนานาชาติพันธุ์บริเวณสองฝั่งโขงที่มีเวียงจันท์เป็นศูนย์กลาง เคยถูกเรียกว่าพวกสยาม ด้วยคำเขมรว่า เสียมกุก หรือ เสียมก๊ก, สยามก๊ก เมื่อเรือน พ.ศ.1650 (มีคำจารึกและภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด)

ชาวยุโรปเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าสยาม หรือราชอาณาจักรสยาม ต่อมาเรียกกรุงรัตนโกสินทร์ว่าประเทศสยาม

สยามมีรากจากคำพื้นเมืองดั้งเดิมว่า ซัม, ซำ, หรือ สาม หมายถึงบริเวณที่มีน้ำซึมน้ำซับ เป็นตาน้ำพุน้ำผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน พื้นที่น้ำซึมน้ำซับหรือตาน้ำพุน้ำผุดเหล่านั้นเกิดจากน้ำฝนที่รากต้นไม้อุ้มไว้ทั้งบนภูเขาและบนเนินดอน แล้วค่อยๆ เซาะซอนใต้ดินมาพุมาผุดขึ้นบริเวณดินอ่อนหรือดินโคลนที่ราบเชิงเขาหรือเชิงเนินดอน จนบางแห่งกลายเป็นที่ลุ่มห้วยหนองคลองบึงบุ่งทาม เช่น หนองหารที่สกลนคร, หนองหานที่อุดรธานี, บึงบอระเพ็ดที่นครสวรรค์ เป็นต้น (ปรับปรุงจากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519) •