ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมนั่งไถ “ฟีด” ของเฟซบุ๊กแล้วพบว่า เพื่อนๆ จำนวนมากออกไปสักการะ “พระแม่ลักษมี” กันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทวสถานของชาวฮินดูอย่างวัดแขกสีลม วัดวิษณุ และเทพมณเฑียร รวมทั้งพระลักษมีบนดาดฟ้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ ด้วย
เพื่อนบางคนบอกว่า วันนั้นดอกบัวแดงอันเป็นของสักการะพระลักษมีราคาทะยานไปถึงดอกละสี่สิบบาท พอลองเช็กข้อมูลดูก็พบว่า วันดังกล่าวเป็นวัน “วรลักษมีวรัต” (Varalakshmi vratam) อันเป็นเทศกาลอันหนึ่งเกี่ยวกับพระลักษมีซึ่งนิยมปฏิบัติกันในอินเดียภาคใต้ เช่น ทมิฬนาฑุ กรรณนาท ฯลฯ
วัดแขกสีลมซึ่งเป็นวัดของชาวอินเดียใต้จึงมีพิธีบูชากันเต็มที่ แต่วัดทางอินเดียเหนืออย่างเทพมณเฑียรและวัดวิษณุไม่ได้จัดพิธีกรรมอะไรพิเศษ ทว่าก็มีผู้ศรัทธาชาวไทยเดินทางไปสักการะพระลักษมีกันเองอุ่นหนาฝาคั่งเช่นกัน
อันที่จริงชื่อของเทศกาลบอกว่าเป็นงาน “พรต” (วรัตหรือวรตัม) คือการถือศีลพรตขอพรจากพระลักษมีนั่นแหละครับ ต้องเข้าใจก่อนว่า ในเทศกาลต่างๆ ชาวฮินดูไม่ได้แค่ประกอบพิธีสักการบูชาเทพเจ้า แต่ยังมีพรตหรือข้อปฏิบัติละเว้นที่เข้มงวดมากน้อยต่างกันออกไป
พรตส่วนมากก็เป็นเรื่องการอดอาหารและละเว้นกิจกรรมทางเพศนั่นแหละครับ บางคนก็อาจงดอาหารบางประเภท หรือถ้าเคร่งครัดก็อดอาหารไปเลยตามเวลาที่กำหนด ถือกันว่าใครทำพรตในวันศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นย่อมได้รับพรเป็นพิเศษ
ตำนานอานิสงส์ของพรตเรียกกันว่า “วรัตกถา” นิยมเอามาอ่านเทศน์กันในพิธีกรรมเพื่อให้ศาสนิกชนทราบที่มาที่ไป และปีติที่จะได้รับพรพิเศษจากการถือพรตของตน
อย่างวรลักษมีพรตเล่าว่ามีนางพราหมณีชื่อปัทมาวตี เธอเป็นปดิวรดาคือซื่อสัตย์ต่อสามี ทั้งทำทานแก่ผู้ยากไร้อยู่เสมอจนพระลักษมีพอพระทัย พระองค์จึงแนะให้เธอถือพรตในวันศุกร์ก่อนถึงวันเพ็ญในเดือนศราวัณ สามีของเธอก็จะมีอายุยืนยาว ครอบครัวสุขสงบและในที่สุดเธอจะบรรลุโมกษะ
ส่วนอีกตำนานก็มีโครงเรื่องอย่างเดียวกัน เปลี่ยนแต่เป็นนางพราหมณีชื่อจารุมณี ส่วนผู้มาบอกแก่เธอในฝันคือพระวิษณุ สวามีของพระนางลักษมี
ดังนั้น อันที่จริงวรลักษมีพรต (น่าเสียดายที่บางแห่งเขียนว่า “วราห์ลักษมี” กลายเป็นพระแม่ลักษมีหมูป่า (วราหะ) ไป) จึงเป็นประเพณีที่ “พระลักษมีในบ้าน” อันได้ภรรยาผู้ที่สามียังมีชีวิตอยู่ (สุมังคลี) จะบำเพ็ญพรตและประกอบพิธีเพื่อให้สามีของตนและครอบครัวมีแต่ความสุขความเจริญ
แต่เราคนไทยนั้น เมื่อบูชาพระอย่างฮินดูเขา (หรือเทพเจ้าในวัฒนธรรมอื่นๆ) ก็มักเลือกเฉพาะส่วนที่เราชอบและพึงใจ หรือปฏิบัติได้ง่ายๆ โดยตัดทอนส่วนที่เราเห็นว่ายุ่งยากออกไป เผอิญบางครั้งก็ไปตัดทอนเอาส่วนที่เป็นแก่นแกนหรือสาระสำคัญเสียด้วย
อย่างกรณีนี้ เราไม่สนใจเรื่องพรตเพราะทั้งอาจไม่รู้หรือเห็นว่ายุ่งยากและเป็นเรื่องทาง “ศาสนา” ที่เราไม่ได้สมาทานโลกทัศน์และชีวทัศน์ของเขามา เนื่องจากเราส่วนมากนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบลัทธิพิธี (cult) คือเน้นส่วนที่เป็นพิธีกรรมโดยไม่ได้สังกัดตนเองลงในศาสนาและความเชื่อไหนเป็นพิเศษ
ยิ่งหากความเชื่อหรือลัทธิพิธีไหนไปกันได้กับคุณค่าของระบบทุนนิยม ก็ดูเหมือนจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พรที่เน้นจะเป็นเรื่องของความร่ำรวย โชคลาภ การงาน (และความรักดูเหมือนจะเป็นเรื่องรองลงไป แต่ก็สำคัญระดับต้นๆ)
อันที่จริงผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการที่ผู้คนจะสักการะพระลักษมีเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรอื่นนะครับ
ที่จริงการถือพรตมีความหมายและหน้าที่ของมันในระบบศาสนาอยู่ ถ้าศึกษาเทวตำนานแขกจะเห็นว่า พรตนี่แหละทำให้เกิด “พลัง” ความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในตัว
แล้วพลังนั้นดลบันดาลให้เทพเจ้าประสาทพรหรือกระทำต่างๆ ตาม “กฎ” ที่ต้องเป็น
พรตจึงกลายเป็นเงื่อนไขในเทศกาลบางอย่างเพื่อรับ “พรพิเศษ” มากกว่าเป็นการขอพรทั่วๆ ไป
มองในอีกทางหนึ่ง พรพิเศษที่ว่าเป็นแรงจูงใจให้คนกระทำพรตก็ได้ เพราะผลของพรตย่อมมีแก่คนคนนั้นอยู่แล้ว เช่น ได้สละละวาง ได้ฝึกขันติ มีบุญกุศลและพลังทางจิตใจเพิ่มมากขึ้น
ที่เขียนมายืดยาวเพียงแต่เห็นว่า พระแม่ลักษมีเริ่มกลายเป็นกระแสของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ “กำลังมา” อย่างน่าสนใจทีเดียวครับ
ผู้ที่ไปสักการะพระลักษมี เท่าที่ผมสังเกตอย่างคร่าวๆ (ที่สุด) ส่วนใหญ่คือชนชั้นกลางในเมือง เป็นคนหนุ่มสาวโดยเฉพาะวัยทำงานในระยะเริ่มต้น และส่วนมากเป็นผู้หญิง
ผมมีลูกศิษย์และเพื่อนผู้หญิงหลายคนที่หันมานับถือพระแม่ลักษมีหลังจากทำงานไประยะหนึ่ง ทั้งที่แต่เดิมก็ไม่ได้สนใจอะไรทางนี้
เมื่อลองสอบถามดูก็พบว่า งานของหลายคนเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ หรืออยู่ในองค์กรธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูง เธอทราบจากเพื่อนหรือจากสื่อว่า การบูชาพระลักษมีจะนำมาซึ่งโชคลาภ ความร่ำรวย การงานที่ก้าวหน้า รวมถึงพรด้านความรักด้วย
ดังนั้น พระลักษมีจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เหมาะสมที่สุดในวิถีชีวิตของพวกเธอ พระคเณศอาจเป็นที่รู้จักมากกว่า แต่พระองค์ก็ประทานพรหลายด้านมากไป (ในทัศนคติอย่างไทยๆ) พระแม่ลักษมีนั้นประทานพรที่ตรงกับความต้องการของคนหนุ่มสาวในเมือง คือเรื่องเงินทองและความรักโดยตรง
แถมคนยังรู้สึกว่าท่านเป็น “สายขาว” อันปลอดภัยในการเข้าหาหรือบูชา แม้แต่มือใหม่ก็ไม่ต้องกังวล
ซึ่งผิดกับสาย “แรง” ที่หลายคนอาจกลัว เพราะต้องอาศัยความชำนาญและมีลักษณะเฉพาะกลุ่มมากกว่า
ขณะเดียวกันบทบาทของนักบวชหรือผู้รู้ในองค์กรศาสนาเริ่มลดลง สวนทางกับการเข้าถึงองค์ความรู้ทางพิธีกรรมที่ง่ายขึ้น และมี “กูรู” เอกชนจำนวนมาก ทำให้การบูชาพระลักษมีไม่ใช่ของยากอีกต่อไป
อีกทั้งในปัจจุบัน ผู้คนสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สอดคล้องกับเพศวิถี (Gender) ของตนมากขึ้น ผู้หญิง รวมถึง LGBTQ จำนวนมากจึงสบายใจกว่าที่จะสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีเพศวิถีเดียวกับตนหรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ขัดกัน พระลักษมี (รวมถึงเจ้าแม่อื่นๆ) จึงเป็นที่นิยมมากขึ้นอีกประการหนึ่งด้วยเหตุนี้
บทบาทของ “อินฟลูฯ” ก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าทำให้ความนิยมพระแม่ลักษมีมีมากขึ้น ดาราสาวบางท่านนับถือพระลักษมีเป็นพิเศษถึงกับไปสร้างถวายไว้ในวัดพุทธแห่งหนึ่ง ยิ่งเธอทำธุรกิจด้านความงามด้วยแล้ว เธอก็ศรัทธามากขึ้นไปอีก และเข้าใจว่ายังชักชวนเพื่อนๆ ดาราในกลุ่มเดียวกันให้มานับถือด้วย
ดังนั้น ใครที่อยากจะสวยและรวยอย่างพวกเธอ มีหรือครับที่จะไม่สนใจพระลักษมี
อันที่จริงนี่เป็นประสบการณ์ตรงของผมเลยทีเดียว เมื่อผมต้องไปช่วยครูบาอาจารย์ทางอินเดียอธิบายพิธีกรรมบูชาพระลักษมีให้กับกลุ่มคณะของดาราท่านนั้น พอผมโพสต์รูปลงในเฟซบุ๊กได้ไม่กี่นาที ก็มีเพื่อนๆ ผู้หญิงโดยเฉพาะที่ทำธุรกิจความงามหลายคนทักมาว่าต้องการจะไปบูชาแบบนั้นบ้างเช่นกัน
ยังไม่นับการที่เทวรูปพระลักษมี-คณปติ ซึ่งภาควิชาของผมเคยจัดสร้างไว้เป็นที่ระลึกในเทศกาลทีปาวลีหลายปีก่อน มีผู้มาขอเช่าบูชามากกว่าพระคเณศที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเสียอีก
อ่อ คิดเล่นๆ ว่าในทางหนึ่งพระลักษมีเองก็เหมาะแก่การเป็น “อินฟลูฯ” เช่นกันครับ เพราะพระองค์ได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าที่มีหน้าตาสวยงาม อาภรณ์และเครื่องถนิมพิมพาก็ล้วนงดงามอลังการ เนื่องด้วยทรงเป็นเทพแห่งความงามด้วยนี่เอง สายศิลปะหรือนักสร้างรูปเคารพจึงสามารถนำเอาจุดเด่นนี้มาสร้างเทวรูปหรือผลงานให้วิจิตรตามความประสงค์ของตนเองหรือผู้ว่าจ้างได้
เราต้องไม่ลืมว่าความงามคือคุณสมบัติสำคัญของอินฟลูฯ ในโลกทุนนิยม ซึ่งรูปร่างหน้าตามีมูลค่าของมันอยู่นะครับ
ผมคิดว่าพระลักษมีจึงน่าจะกลายเป็นเทพเจ้าสำคัญต่อไปสำหรับ “สายมู” แม้ว่าพระองค์จะไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์สร้างใหม่และผู้คนรู้จักพอสมควรอยู่แล้ว กระนั้น โดยที่บรรยายมาข้างต้นทั้งหมดพระองค์ก็น่าจะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
ทว่า ท้ายนี้ ขอพูดแบบคนแก่วัดหน่อยเถิดครับ คือพระลักษมีในทางศาสนาฮินดูนั้นมีอะไรมากกว่าจะเป็นแค่ “เทพเจ้า” องค์หนึ่ง
พระลักษมียังมีความหมายอีกหลายอย่างที่พึงพิจารณา เป็นต้นว่า คุณสมบัติทางนามธรรมก็นับเป็นพระลักษมีได้ อย่างความงาม ความอุดมสมบูรณ์ สิริมงคล ความสว่างไสว ความร่ำรวย ซึ่งมิได้หมายถึงความมั่งมีเงินทองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอริยทรัพย์ เช่น ความรู้ ความดีและมิตรภาพด้วย
คุณสมบัติเหล่านี้เพิ่มพูนขึ้นเมื่อไหร่ก็แสดงว่าพระลักษมีมาประทับแล้ว
นอกจากนี้ คนเรานี่แหละก็กลายเป็นพระลักษมีได้ อย่างแรกคือเมียและแม่ในบ้านของเรา คือพระลักษมีที่พึงเคารพดูแลไม่ให้ขาดพร่อง เพราะเมื่อพระลักษมีในบ้านได้รับการเคารพและดูแลดีแล้ว เธอก็ย่อมทำให้ครอบครัวสมบูรณ์พูนสุข
ใครผู้มอบความสุข เงินทอง ข้าวปลาอาหารแก่ผู้ยากไร้ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระลักษมีเช่นกัน และพระลักษมีย่อมประทานพรแก่คนคนนั้นเอง
โดยมิต้องร้องขอ •
ผี พราหมณ์ พุทธ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022