ปทุมวัน

พิชัย แก้ววิชิต

เสียงแจ้งเตือนจากโทรศัทพ์มือถือดังขึ้นแต่เช้าตรู่ บอกให้รู้ว่าเช้า 9 โมงของวันนี้ผมมีนัดหมาย ณ ใจกลางเมืองในย่านปทุมวัน กับกิจกรรม MIC Walkiing Trip ในตอนที่ว่าด้วย “วัด-วังใหม่ปทุมวัน ประวัติศาสตร์ลางเลือนในย่านศูนย์การค้า”

ปทุมวันเป็นย่านศูนย์การค้าหลากสีสันของความทันสมัย กับอีกด้านของประวัติศาสตร์ที่รางเลือน เรื่องราวในอดีตที่ข้องอยู่กับ “วัดและวังใหม่ของย่านปทุมวัน” เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นพื้นที่นอกพระนครของบางกอก ถึงตอนนี้ได้กลายมาเป็นย่านธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ ท่ามกลางแหล่งรวมแฟชั่นชั้นนำ ยังคงมีสถานที่เก่าแก่ที่ยังอยู่ร่วมสมัยกับศิลปะ-สถาปัตยกรรมที่มีอายุราวสองร้อยปี ที่รู้จักกันในชื่อ “วัดปทุมวนาราม”

“วัดปทุมวนาราม” เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ.2400 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมเหสี

รูปแบบศิลปะ-สถาปัตยกรรมภายในวัดมากด้วยสัญลักษณ์ของความเป็นดอกบัวในหลายจุด ตั้งแต่ประตูทางเข้า โดยหน้าบันของพระอุโบสถเป็นรูปพระมหามงกุฎ ด้านล่างเป็นรูปกอบัว พระประธานภายในอุโบสถเป็น “พระสายน์” พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านช้าง

เดินถัดออกอีกไปไม่ไกลนัก จะพบกับพระวิหารขนาดใหญ่ ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์แท่งหินสีเทาแกะสลักเป็นหน้าสตรีทั้งสี่ด้าน ที่สื่อถึงการสำรวม ตา หู วาจา ใจ เป็นที่ระลึกถึงคุณหญิงมโนปกรณ์นิธิดา ภริยานายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ภายในวิหารประดิษฐาน “พระเสริมและพระแสน” สองพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง ที่ได้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันท์

และในส่วนของจิตรกรรมฝาฝนังภายในวิหารจะเป็นเรื่องราวของ “ศรีธนญไชย” หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “เซี่ยงเมี่ยง”

กับสิ่งที่ยังคงความทันสมัย คือความเข้าใจช่วงเวลาและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เมื่อรู้แล้วจนได้เห็น สิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็จะชี้ให้เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมให้ชัดเจนขึ้น แม้จะรางเลือนตามกาลเวลาไปบ้างแล้วก็ตามที / เทคนิค : F8 1/1600s ISO100 / สถานที่ : วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร

เมื่อออกจากวัดปทุมวนารามมุ่งหน้าต่อไปที่ “สนามศุภชลาศัย” สนามกีฬาแห่งแรกของประเทศไทย เดิมใช้ชื่อว่า “กรีฑาสถานแห่งชาติ” กับงานสถาปัตยกรรมแบบ ART DECO ที่เน้นการออกแบบที่ใช้เส้นสายแนวตรง เป็นรูปทรงเรขาคณิตหนักแน่น และก่อนหน้าที่จะเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นวังวินด์เซอร์ หรือวังใหม่ที่ปทุมวัน (วังกลางทุ่ง) เป็นวังที่รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2424 เพื่อพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อเจาะเวลาหาอดีต ย้อนย่านปทุมวันกว่าสองร้อยปีที่ผ่านมา จากพื้นที่ท้องทุ่งกว้างนอกเขตพระนคร พื้นที่เปล่าเปลี่ยว สงบเงียบ มีเพียงผู้คนอาศัยอยู่เพียงไม่กี่ครัวเรือน พออยู่พอกินกับการทำนาอยู่ริมคลองแสนแสบ และหากจำต้องไปมาหาสู่กัน ก็มีเพียงสายน้ำจากลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมเดียวที่ใช้เดินทาง ถึงตอนนี้ “จากท้องทุ่งสู่ย่านธุรกิจ” พื้นที่ทำกินเปลี่ยนไปไกลเกินกว่าคนยุคก่อนจะจินตนาการถึงกับวิถีแห่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตัวเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนต่างยุคต่างสมัย

กับสิ่งที่ยังคงความทันสมัย คือความเข้าใจช่วงเวลาและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เมื่อรู้แล้วจนได้เห็น สิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็จะชี้ให้เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมให้ชัดเจนขึ้น แม้จะรางเลือนตามกาลเวลาไปบ้างแล้วก็ตามที

ขอขอบพระคุณ รศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พาเดินชมและนำบรรยายให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในย่านปทุมวัน MIC ศูนย์ข้อมูลมติชน และทีมงาน พี่ๆ น้องๆ ที่มาร่วมเดินทาง และขอบพระคุณนักอ่านทุกๆ ท่านครับ

ขอบคุณมากมายครับ

 

เอกภาพ | พิชัย แก้ววิชิต