เทพเจ้าผู้สำแดงความเป็นชาย | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

เทพเจ้าในอารยธรรมโบราณหลายแห่งแสดงรูปอวัยวะเพศชายอย่างโดดเด่น แต่การให้ความหมายอาจคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันออกไปในรายละเอียด ลองมาชมกันครับ

Min : http://global.britannica.com/media/full/143994

มิน (Min)

มินเป็นเทพเจ้าของอียิปต์โบราณ เก่าแก่มาก เพราะเริ่มจากยุคก่อนราชวงศ์ (predynastic times) ในช่วงราว 3,000-4,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช

พระกรขวาของเทพมินชูสูงขึ้นถือไม้นวดข้าว แต่จุดเด่นสะดุดตาคือ อวัยวะเพศที่แข็งตรงซึ่งพระองค์ทรงถือเอาไว้ด้วยพระหัตถ์ซ้าย โดยจะเห็นได้ชัดเจนในประติมากรรม (แต่ไม่เห็นหากเป็นภาพเขียนและภาพแกะสลัก)

คงไม่น่าแปลกใจหากบอกว่า มินเป็นเทพเจ้าแห่งการเจริญพันธุ์ (god of fertility)

มีเกร็ดเล็กๆ คือ ชาวอียิปต์โบราณถือว่าผักกาดหอม (lettuce) เป็นสัญลักษณ์ของเทพมินด้วย เนื่องจากผักกาดหอมของอียิปต์มีรูปร่างยาวเป็นแท่งตรง และหากใช้มือถูๆ ก็จะมีของเหลวสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมซึมออกมา! (เข้าใจว่าผักกาดหอมของอียิปต์น่าจะเป็นสายพันธุ์ลำต้นยาวที่เรียกว่า stem lettuce)

มินยังเป็นเทพเจ้าแห่งทะเลทรายฝั่งตะวันออก (god of Eastern Desert) อีกด้วย ดังนั้น พ่อค้าและผู้ที่จะไปยังทะเลแดง (Red Sea) ทางทิศตะวันออกของอียิปต์จะสวดมนตร์บูชาพระองค์เพื่อให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ

Osiris : http://en.wikipedia.org/wiki/File:Osiris_statuette_cropped.jpg

โอไซริส (Osiris)

เทพปกรณัมของอียิปต์โบราณเล่าไว้ว่า ก่อนที่เทพโอไซริสและเทพีไอซิส (Isis) จะขึ้นครองราชย์นั้น คนในอียิปต์ยังป่าเถื่อน ล่าสัตว์และต่อสู้เข่นฆ่ากัน

ครั้นเมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นฟาโรห์ ก็ทรงพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น โดยทรงสอนวิธีปลูกพืชไร่ ปลูกองุ่น ทำไวน์จากองุ่น และทำขนมปังจากแป้งสาลี

ด้วยเหตุนี้เองจึงถือกันว่า เทพโอไซริสเป็นเทพเจ้าแห่งการเพาะปลูก (god of vegetation)

ต่อมาพระองค์ถูกพระอนุชาคือ เซ็ต (Set หรือ Seth) แย่งชิงราชบัลลังก์ โดยใช้อุบายลวงให้ลงไปนอนในหีบไม้ (ซึ่งได้กลายเป็นโลงพระศพของพระองค์) และนำหีบไม้นั้นโยนลงในแม่น้ำไนล์ เมื่อเทพีไอซิสติดตามจนหาพบ เซ็ตก็ยึดคืนและสั่งให้ทหารนำพระศพมาหั่นเป็นชิ้นๆ จำนวน 14 ชิ้น โดยนำไปทิ้งกระจัดกระจายทั่วดินแดนไอยคุปต์ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้โอไซริสกลับมาเกิดใหม่

ตำนานเวอร์ชั่นหนึ่งเล่าต่อว่า เทพีไอซิสสามารถตามหาชิ้นส่วนจนครบเกือบทุกชิ้น ยกเว้นเพียงชิ้นเดียวนั่นคือ อวัยวะเพศของเทพโอไซริส เนื่องจากถูกเขมือบโดยปลา ดังนั้น เทพีไอซิสจึงทรงเนรมิตอวัยวะเพศชายขึ้นมาใหม่ด้วยเวทมนตร์

ชื่อเทพโอไซริส ผมถอดเสียงตาม www.forvo.com ส่วนคนไทยมักสะกดเป็น ‘โอซีริส’ หรือ ‘โอซิริส’

Priapus : http://en.wikipedia.org/wiki/Priapus

ไพรเอพัส (Priapus)

ในเทพปกรณัมของกรีก ไพรเอพัส หรือไพรเอพอส (Priapos) เป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่ไม่ได้พำนักอยู่บนภูเขาโอลิมปัส แต่อยู่ในชนบทบนพื้นพิภพเพื่อคอยดูแลเรือกสวน พืชผักผลไม้และปศุสัตว์

ที่น่ารู้ก็คือ ไพรเอพัสยังเป็นเทพที่คอยปกป้องอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้ชายอีกด้วย 😉

สาเหตุที่ไพรเอพัสมีอวัยวะเพศใหญ่โตผิดสัดส่วน ทั้งยังมีรูปร่างอัปลักษณ์และจิตใจต่ำทราม เนื่องจากเทพองค์นี้ถูกเทพีเฮียรา (Hera) สาป ตำนานเวอร์ชั่นหนึ่งเล่าว่า เทพีเฮียราสาปไพรเอพัสตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของเทพีอะโฟรไดที (Aphrodite) (ที่โรมันเรียกว่า วีนัส) เพื่อเป็นการล้างแค้นที่ปารีสตัดสินว่าเทพีอะโฟรไดทีสวยงามกว่าตนและเทพีอะเธนา (ใครสนใจเหตุการณ์ตอนนี้ ให้อ่านเรื่อง The Judgement of Paris หรือคำตัดสินของปารีส)

ในทางการแพทย์ เรียกอาการ “โด่ไม่รู้ล้ม” ของผู้ชายโดยไม่สัมพันธ์การเร้าอารมณ์ทางเพศว่า priapism หรือ ภาวะองคชาตแข็งค้าง (ศัพท์ราชบัณฑิตยสภา)

Herm : http://en.wikipedia.org/wiki/Hermes

เฮิร์ม (Herm)

ชาวกรีกโบราณในยุคแรกๆ แสดงความสักการะต่อเทพเจ้าในรูปของกองหิน แท่งหินหรือแท่งไม้ (ที่ไม่มีรูปทรงแน่นอน) กองหินเหล่ามักจะอยู่ตามริมทาง แยกชุมทาง หรือเส้นแบ่งเขตที่ดิน ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาจะแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าโดยโยนก้อนหินเล็กๆ เข้าไป หรือเจิมก้อนหินหรือแท่งหินดังกล่าวด้วยน้ำมัน

ต่อมามีการแกะสลักรูปศีรษะเข้าไปบริเวณส่วนบนของแท่งหิน (ซึ่งมักเป็นเสาหน้าตัดสี่เหลี่ยม) เรียกว่า เฮิร์ม (Herm) หรือเฮอร์มา (Herma)

ทั้งนี้ เฮิร์มอาจมีลำตัวส่วนบน หรือมีอวัยวะเพศชายที่ชูชันปรากฏอยู่ด้วย อวัยวะเพศชายของเฮิร์มเป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งการให้กำเนิด

ปศุปติ : http://en.wikipedia.org/wiki/Pashupati

ปศุปติ (Pashupati)

ภาพบนตราประทับชิ้นหนึ่งที่พบในเมืองโมเฮนโจดาโร มีลักษณะเป็นบุรุษสวมเครื่องประดับศีรษะรูปเขาสัตว์ อยู่ในท่านั่งคล้ายการนั่งแบบโยคะ แวดล้อมด้วยสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง เสือ แรด ควาย ทำให้ได้ชื่อว่า ปศุปติ หรือ เจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง (Lord of all animals) (คำว่า ‘ปศุ’ คือ สัตว์ ส่วน ‘ปติ’ คือ เจ้า)

ประเด็นสำคัญก็คือ เครื่องเพศที่ตั้งตรงของปศุปติมีความสัมพันธ์กับหินสลักรูปลึงค์ตามคติความเชื่อในอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ ลึงค์ที่ตั้งตรง หมายถึง การให้กำเนิดและความอุดมสมบูรณ์ (fertility)

ต่อมาเมื่อมีการจัดระเบียบทางปรัชญาและเทววิทยาในศาสนาฮินดู ได้มีการนำแห่งหินรูปลึงค์มาใช้เป็นตัวแทนของพระศิวะด้วย นี่เองที่ทำให้มีผู้เสนอว่าพระปศุปติแห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นต้นเค้า (หนึ่ง) ของพระศิวะ

น่าสังเกตด้วยว่า “โยคะ” ยังเป็นหลักปฏิบัติสำคัญสู่การหลุดพ้นของไศวนิกาย ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งของศาสนาฮินดูที่ถือว่าพระศิวะเป็นใหญ่กว่าเทพทั้งปวง

พระศิวะ: https://hinducosmos.tumblr.com/image/648282535005126656

พระศิวะ (Shiva)

เทวรูปพระศิวะบางชิ้นมี “อูรธวลึงค์” หรือ ลึงค์ที่ตั้งตรง อันหมายถึง การให้กำเนิด หรือการสร้างจักรวาล ตามคติของไศวนิกายถือว่าศิวลึงค์ หรือศิวลิงคะ (Shivalinga) เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระศิวะ และการบูชาศิวลิงคะจะได้รับผลเช่นเดียวกับการบูชาองค์พระศิวะเอง

คำว่า ลิงคะ เป็นคำของพวกออสตรอยด์ (Austroid) แปลว่า ไถ (plough) คือเครื่องมือเตรียมพื้นดินเพื่อเพาะปลูกข้าวให้ขยายแพร่พันธุ์ต่อไป คำคำนี้ยังใช้เรียกอวัยวะเพศชาย (phallus) ซึ่งทำหน้าที่สืบพันธุ์ให้เกิดมีมนุษย์สืบทอดกันต่อๆ มา ดังนั้น ลิงคะจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างสรรค์ด้วย

พระศิวะมีอวตารปางหนึ่ง ชื่อว่า ลกุลิศะ (Lakulisha) ซึ่งมีประติมากรรมที่แสดงอวัยวะเพศเด่นชัดเช่นกัน ใครสนใจลองค้นอินเตอร์เน็ตด้วยคำว่า Sandstone Stele of Lakulisha ดูได้

 


ที่มาของภาพ

– Min : http://global.britannica.com/media/full/143994

– Osiris : http://en.wikipedia.org/wiki/File:Osiris_statuette_cropped.jpg

– Priapus : http://en.wikipedia.org/wiki/Priapus

– Herm : http://en.wikipedia.org/wiki/Hermes

– ปศุปติ : http://en.wikipedia.org/wiki/Pashupati

– พระศิวะ: https://hinducosmos.tumblr.com/image/648282535005126656