ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
การไปดูงานที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา ทำให้ผมรู้จักสงขลามากขึ้น
จากเอกสารที่แจกให้มีเนื้อหาว่า อำเภอเมืองสงขลา ตามประวัติศาสตร์ เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งเมืองครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.700 ที่อำเภอสทิงพระ ปัจจุบันเรียกชื่อในสมัยนั้นว่า “สทิง” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2198 ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านหัวเขาแดงปากทะเลสาบฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ ที่ตำบลบ่อยาง ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในปัจจุบัน
อำเภอเมืองสงขลา มีเนื้อที่ทั้งหมด 368.825 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบต่ำมีภูเขาบ้างเล็กน้อย การปกครองในเวลานั้น แบ่งออกเป็น 17 ตำบล เทศบาล 1 แห่ง คือ ตำบลบ่อยาง ตำบล 16 ตำบล 116 หมู่บ้าน จำนวนประชากรทั้งหมด 180,224 คน (นับถึง 20 พฤษภาคม 2525)
อาชีพของราษฎร
ทำนา ประมาณ 48%
ทำการประมง ประมาณ 32%
ทำสวน ประมาณ 17%
อื่นๆ ประมาณ 3%
การนับถือศาสนา
นับถือพุทธประมาณ 79%
นับถืออิสลาม ประมาณ 21%
ประเพณีท้องถิ่น
ประเพณีต่างๆ ที่ราษฎรได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ทำบุญวันสารทเดือนสิบ, ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีชักพระ, ประเพณีลอยกระทง
งานนโยบายของจังหวัด กรม และกระทรวงของรัฐบาล มีดังนี้
งานเกี่ยวกับความมั่นคง และความสงบเรียบร้อย คือ
ฝึกอบรม ทส ปช. จำนวน 10 รุ่น สมาชิก 943 คน
ฝึกอบรม ลส.ชบ. จำนวน 10 รุ่น สมาชิก 1,500 คน
ทหารกองหนุน จำนวน 1 รุ่น สมาชิก 176 คน
เยาวชนอาสารักษาดินแดน จำนวน 1 รุ่น สมาชิก 145 คน
กลุ่มแม่บ้านอาสาพัฒนา จำนวน 1 รุ่น สมาชิก 135 คน
ฝึกอบรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 1 รุ่น สมาชิก 130 คน
มีโครงการปรับทุกข์ผูกมิตร โดยการนำของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ออกพบปะเยี่ยมเยียน พร้อมกับหัวหน้าส่วนราชการประจำของจังหวัดสงขลา และนายอำเภอเมืองสงขลา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสังกัดอำเภอเมืองสงขลา เพื่อสอบถามทุกข์สุขและแก้ปัญหาต่างๆ ในท้องที่เพื่อหาทางช่วยเหลือราษฎรในด้านบำบัดทุกข์บำรุงสุข (ตามนโยบายของ ผวจ.สงขลา)
แผนรวมใจช่วยเหลือพัฒนาประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้มีนโยบายให้ปลัดอำเภอ ผู้รับผิดชอบประจำตำบล พัฒนากรตำบล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ออกพบปะเยี่ยมเยียนราษฎร ภายในหมู่บ้านทั่วทุกตำบล อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้งต่อตำบล จำนวน 116 หมู่บ้าน
ทำให้ราษฎรเข้าใจเจ้าหน้าที่ทางราชการในด้านการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือด้านอื่นๆ ดียิ่งขึ้น เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในด้านมวลชน และสร้างความสามัคคีระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน
งานบริการอำเภอเคลื่อนที่ (นโยบายของกรมการปกครอง) ได้กำหนดให้ทุกแผนกการ ออกพบปะเยี่ยมเยียนและบริการประชาชนอย่างน้อยเดือนละครั้ง ในวันหยุดราชการ คือ วันเสาร์-อาทิตย์ โดยออกไปบริการเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรส แจกบัตรประจำตัวประชาชน เก็บภาษีบำรุงท้องที่ แก้ไขรายการในทะเบียนบ้าน จดทะเบียนสัตว์พาหนะ การป้องกันโรคและรักษาพยาบาลให้กับราษฎรที่มารับบริการ
งานจัดเวรบริการประชาชน (นโยบายของกรมการปกครอง) เพื่อเป็นการสร้างความอบอุ่นใจและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ผู้ที่มาติดต่อราชการ เสร็จแล้วได้รับความประทับใจเมื่อกลับไป จึงได้จัดให้มีปลัดเวร บริการเป็นประจำทุกวัน พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในด้านอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติราชการ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2525 เป็นต้นไป
งานการปรับปรุงบทบาทหน้าที่ของปลัดอำเภอ (นโยบายของกรมการปกครอง) ได้กำหนดให้ปลัดอำเภอทุกๆ คน รับผิดชอบเป็นปลัดตำบลแต่ละตำบล ประจำตำบล จำนวน 16 ตำบล เพื่อออกศึกษาสภาพท้องที่ เขตการปกครองพบปะเยี่ยมเยียน ส่งเสริมการอาชีพตลอดถึงการสร้างความมั่นคง การปกครอง การเศรษฐกิจ และสังคม ได้ถือเป็นภารกิจเป็นประจำทุกเดือนแล้ว
งานนโยบายของอำเภอเมืองสงขลา
เนื่องจากปี 2525 เป็นปีแห่งการฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อำเภอเมืองสงขลา จึงได้มีโครงการในด้านอำนวยความสะดวกประชาชน ความเป็นระเบียบเรียบร้อย การสุขลักษณะอนามัย การส่งเสริมอาชีพ และการป้องกันโรคระบาดสัตว์ รวม 14 โครงการ
เช่น โครงการสัมผัสผู้นำท้องถิ่น โครงการปรับปรุงการจัดเก็บเอกสารของที่ทำการปกครอง โครงการจัดทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์พาหนะนอกที่ว่าการอำเภอ โครงการอำนวยความสะดวกในการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน โครงการเร่งรัดจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ โครงการหมู่บ้านพัฒนาตัวอย่าง โครงการสะสางงานค้าง ออก นส.3 หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.1 คือ หนังสือแจ้งการครอบครอง) โครงการปรับปรุงสุขาภิบาล (จัดหาน้ำสะอาด) โครงการหมู่บ้านหลักในการส่งเสริมการเกษตร โครงการส่งเสริมปลูกพืชหมุนเวียนในนาข้าว โครงการสาธิตการเลี้ยงกบ ปลาไหล โครงการป้องกันกำจัดโรคระบาดสัตว์ โครงการบริการเกี่ยวกับกิจการสรรพสามิตร โครงการมอบสมุดประจำตัวทหารกองหนุนประเภทที่ 1 เป็นต้น
โครงการต่างๆ มีหน่วยงานสังกัดอำเภอเมืองสงขลารับผิดชอบ คือ ที่ทำการปกครองอำเภอ ที่ทำการพัฒนาชุมชนอำเภอ สำนักงานที่ดินอำเภอ สำนักงานสาธารณสุข สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานสรรสามิตอำเภอ และสำนักงานสัสดีอำเภอ
อำเภอเมืองสงขลาในเวลานั้นได้แจ้งถึงปัญหาอุปสรรค ดังนี้
1. สถานที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลาคับแคบไม่เพียงพอกับหน่วยราชการงานประจำอยู่ขณะนี้ ขาดความสวยงาม และความเป็นระเบียบเรียบร้อย
2. การทำนาของราษฎรไม่ได้ผลในพื้นที่ 11 ตำบล ทางฝั่งเขาแดงเนื่องจากสภาพดินฟ้าเปลี่ยนแปลง มีน้ำใช้ไม่เพียงพอ น้ำในทะเลก็เค็ม ไม่อาจสูบเข้าช่วยเหลือการทำนาได้ จึงทำให้ราษฎรประกอบอาชีพการเกษตรกรรมต้องได้รับความเดือดร้อน
มีทางแก้ไข คือ
1. ของบประมาณไปกรมการปกครอง เพื่อขยายและต่อเติมที่ว่าการอำเภอ ซึ่งจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2526
2. ของบประมาณขุดคลองเก็บน้ำ และทำเขื่อนกั้นน้ำในท้องที่ ต.สทิงหม้อ อ.เมืองสงขลา โดยคลองส่งน้ำสายนี้เริ่มแต่ ต.สทิงหม้อ อ.เมืองสงขลา ผ่าน อ.สทิงพระไปจด อ.ระโนด ระยะทางยาว 60 กิโลเมตร ได้ขอเงินสนับสนุนไปแล้ว 8 ล้านบาท
การทำงานจะต้องใกล้ชิดประชาชนสร้างศรัทธากับประชาชน ประชาชนก็รักใคร่นับถือ เป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และทำชื่อเสียงให้ปรากฏเป็นผลงาน
นี่คือ สาระที่พวกผมไปดูงานที่ อ.เมืองสงขลา กลับมาพร้อมเอกสาร รายละเอียดตามที่ผมเล่ามา
อาหารมื้อเที่ยง พล.ต.ท.ณรงค์ อัลภาชน์ ผบช.ภ.4 ได้ให้เกียรติมาร่วม พร้อมกับ พล.ต.ต.ปรีชา พรรคพิบูลย์ ผู้ช่วย ผบช.ภ.4 ซึ่งคืออดีตผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ทำให้ย้อนระลึกถึงอดีตอีกครั้งหนึ่ง
จากนั้นจึงได้ขึ้นรถไปดูงานที่ สภ.อ.หาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นโรงพักที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ในยุคนั้น แล้วไปดูศูนย์วิทยุ ซึ่งเวลานั้นกองบัญชาการตำรวจภูธร 4 ใช้นามเรียกขานหรือรหัส เป็นชื่อนกทั้งหมด
เช่น ผบช.ภ.4 ใช้นามเรียกขานว่า สกุณา 1 ส่วนจังหวัดต่างๆ มี สาลิกา โพระดก แขกเต้า นางนวล เป็นต้น
ที่หมายสุดท้ายทุกคนตรงไปที่ห้องทักษิณา โรงแรมโฆษิต เพื่อทำพิธีปิด ประธานคือ พ.ต.อ.สุเทพ จันทนะ รอง ผบก.ภ.12 เสร็จพิธีปิดทุกคนต้องรับหนังสือส่งตัวกลับต้นสังกัด ไปทำหน้าที่ต่อ การปฐมนิเทศครั้งนี้ ทำให้ผมได้รู้จักกองบัญชาการตำรวจภูธร 4 เป็นอย่างดี พบผู้บังคับบัญชาระดับสูงจำนวนมาก รู้จักพื้นที่บางส่วนของภาคใต้ ประเพณีวัฒนธรรมของปักษ์ใต้ ได้ฟังสำเนียงคนในพื้นที่พูดภาษาใต้ ที่ผมยังฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง และมีโอกาสได้ทบทวนความรู้วิชาตำรวจอีกครั้ง จากนายตำรวจที่เป็นวิทยากรมาบรรยาย
เมื่อปี พ.ศ.2525 กองบัญชาการตำรวจภูธร 4 (บช.ภ.4) ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา มี 3 กองบังคับการที่อยู่ภายใต้การปกครองบังคับบัญชา คือ
1. กองบังคับการตำรวจภูธร 10 (บก.ภ.10) ตั้งอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ควบคุม 5 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต
2. กองบังคับการตำรวจภูธร 11 (บก.ภ.11) ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ควบคุม 4 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง
3. กองบังคับการตำรวจภูธร 12 (บก.ภ.12) ตั้งอยู่ที่จังหวัดยะลา มีพื้นที่ควบคุม 5 จังหวัด คือ ยะลา สงขลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022