เบื้องหลังและเบื้องหน้า-รัฐบาลเศรษฐา | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

เสียงโหวตอย่างท่วมท้น 482 เสียง ส่งนายเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แบบโล่งสะดวก พร้อมกับรัฐบาลที่มีเพื่อไทยเป็นแกนนำเดินหน้าจัด ครม. เพื่อเข้าบริหารประเทศให้เร็วที่สุด โดยแน่นอนว่า คงมุ่งฟื้นเศรษฐกิจให้คืนชีพ เร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนให้ได้

ในขณะที่เพื่อไทย กำลังโดนกระแสสังคมต่อต้าน เพราะผิดหวังที่จัดรัฐบาลโดยร่วมมือกับการเมืองแบบเก่าๆ ทำลายความหวังในการเปลี่ยนแปลงการเมืองใหม่

ทางออกของเพื่อไทยในสถานการณ์นี้ จึงอยู่ที่ว่าจะเร่งสร้างผลงานได้หรือไม่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจอันเป็นจุดเด่น

 

จะกู้ศรัทธากลับคืนมาได้แค่ไหน

ขณะเดียวกัน การได้เป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ด้วยเสียงสนับสนุนล้นหลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ส.ว. ที่เทเสียงให้ถึง 152 เสียง ทะลุเป้าที่ต้องการแค่ 60 เสียงเศษๆ ก็พอแล้ว

อีกทั้งเสียงที่เทให้ เป็น ส.ว.ในสายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นส่วนใหญ่ แต่จะตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่เบื้องหลังการโหวตนายเศรษฐาก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะชัดเจนว่าอดีตนายกฯจาก คสช. ต้องวางมือจากการเมืองอย่างแน่นอนแล้ว กลับไปเลี้ยงหลานแล้วแน่ๆ

เสียง ส.ว.สายนี้ เป็นผลมาจากการดึงพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมรัฐบาลมากกว่า ซึ่งต้องมองไปยังนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค แล้วโยงไปถึงคน 2 คนที่อยู่เบื้องหลังเป็นสำคัญ

เมื่อรวมเข้ากับการดึงพรรคพลังประชารัฐเข้ามาร่วม ซึ่งช่วยให้ปลอดภัยจากการยื่นร้ององค์กรอิสระทั้งหลาย เป็นอีกจุดสำคัญที่ทำให้นายเศรษฐาขึ้นเป็นนายกฯและรัฐบาลเพื่อไทยเดินหน้าไปอย่างมั่นคง

เมื่อพิจารณาจากภาพความร่วมมืออย่างมากมายจาก 152 ส.ว.ดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่า ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับฝ่ายอำนาจอนุรักษนิยมการเมือง สามารถร่วมมือกันได้อย่างแนบแน่น

จนเปรียบกันว่า จากนี้ไป เพื่อไทยคงไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปไตยแนวประนีประนอมเท่านั้น แต่กำลังเป็นหัวขบวนของเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมืองไปแล้ว

เพื่อไทยกำลังเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองที่มากวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจและการบริหารอันทันสมัย

ขณะที่เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกรุนแรง แต่การเมืองในวันนี้ มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง จากการจับกลุ่มก้อนใหม่ทางอำนาจ

 

วันที่ 22 สิงหาคม ได้กลายเป็นวันสำคัญของการเมืองไทยที่ต้องบันทึกเอาไว้ เพราะได้เกิด 2 เหตุการณ์สำคัญ และผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่มีอะไรพลิกล็อก นั่นคือ ช่วงเช้า นายทักษิณ ชินวัตร บินกลับมาไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปิดฉากชีวิตที่ต้องไปลี้ภัยอยู่ต่างแดนมา 17 ปี

ต่อมาในช่วงสาย รัฐสภาเปิดประชุมเพื่อโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ลงเอยมีมติอย่างท่วมท้นให้นายเศรษฐา จากเพื่อไทย ขึ้นเป็นนายกฯ อย่างสะดวกโยธิน

เสียง ส.ส.เดิมมี 314 เสียง จาก 11 พรรค โหวตจริงๆ มีเติมเข้ามาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประชาธิปัตย์ถึง 16 เสียง รวมกับส.ว.ล้นหลามอีก

กล่าวสำหรับประชาธิปัตย์ การร่วมโหวตให้นายเศรษฐา น่าจะนำไปสู่การแตกหักภายในพรรคอย่างแน่นอน เพราะหลังการเลือกตั้ง ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค นำมาสู่การต่อสู้กันภายใน เพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคใหม่ ระหว่างกลุ่มนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค และกลุ่มผู้นำเก่านำโดยนายชวน หลีกภัย

แต่การเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ล่มแล้วล่มเล่า เพราะมีฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ประชาธิปัตย์อยู่ในสภาพสมบูรณ์แบบ โดยเชื่อว่ากลุ่มนายเฉลิมชัยจะเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแน่นอน ขณะนี้กลุ่มนายชวนยอมไม่ได้

สุดท้ายจึงเกิดกลุ่มเพื่อนต่อŽหมายถึงเพื่อนเฉลิมชัย มี 21 ส.ส.จาก 25 ส.ส. แสดงท่าทีเตรียมตัวสนับสนุนเพื่อไทย และเกิดเป็นเสียงโหวต 16 เสียงดังกล่าวนั่นเอง

นี่คือการแสดงไมตรีล่วงหน้าจากประชาธิปัตย์กลุ่มนี้ มองไปถึงในอนาคตหากรัฐบาลเพื่อไทยมีการปรับเปลี่ยน ครม.

แต่ขณะเดียวกัน มองความสำเร็จของนายเศรษฐาและเพื่อไทย ในการชิงนายกฯ และตั้งรัฐบาล ต้องมองไปยังจุดเริ่มต้นที่สำคัญ คือ การชิงจับมือกับพรรคภูมิใจไทยที่มี 71 เสียง ในช่วงเริ่มจัดรัฐบาลใหม่

เมื่อภูมิใจไทยแยกจากขั้วรัฐบาลเดิม มาร่วมกับเพื่อไทย ส่งผลให้ขั้วรัฐบาลเดิม 188 เสียง หดหายไปทันที เป็นการหยุดเกมชิงนายกฯ ของฝ่ายลุงอย่างได้ผล เพราะ 188 เสียง เมื่อเหลือเพียง 117 เสียง ต่อให้เอาทั้ง 250 ส.ว.มาร่วมโหวต ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ 2 สภาอยู่ดี

นั่นจึงทำให้เพื่อไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบ พรรค 2 ลุงจึงทยอยมาเข้าร่วมสนับสนุนเพื่อไทย เป็นการปลดล็อกเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ไปพร้อมกัน

อีกทั้งไปๆ มาๆ การเขามาของพรรค 2 ลุง ทำให้ 1 ลุงถึงกับเดือดดาล เนื่องจากเสียงของอีก 1 ลุงที่เคยทรงพลังเริ่มแผ่วทันที ส่งผลให้อำนาจต่อรองกับเพื่อไทยลดน้อยลงไป

การขัดกันระหว่าง 2 ลุงในขณะเข้าร่วมกับเพื่อไทย เห็นได้จากเสียง 152 ส.ว.ที่มาโหวตให้เศรษฐา เป็น ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่ ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ งดออกเสียงเป็นส่วนใหญ่

รวมทั้ง พล.อ.ประวิตรเองก็ไม่มาร่วมประชุมที่รัฐสภาด้วย

 

นอกจาก นายเศรษฐาได้ขึ้นเป็นนายกฯ และรัฐบาลเพื่อไทยเร่งเดินหน้าเข้าสู่อำนาจแล้ว ในวันเดียวกันนั้น 22 สิงหาคม ยังเป็นวันได้กลับบ้านของนายทักษิณ ชินวัตร พร้อมกันด้วย ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ต้องถูกควบคุมตัว ไร้อิสรภาพ

แต่ก็อธิบายให้เห็นได้ว่า นายทักษิณได้รับความไว้วางใจแล้ว เครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง ยอมร่วมมือด้วยแล้ว

ด้วยความร่วมมือนี้เอง ก็ทำให้การโหวตนายเศรษฐาและการตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย ลุล่วงไปพร้อมๆ กัน

แน่นอนว่า นี่คงเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทย ถ้านับจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อโค่นทักษิณ จนทำให้ต้องกลายเป็นคนต่างแดน จากนั้นก็นำมาสู่ความขัดแย้งแตกแยกภายในสังคมยาวนาน

จนกระทั่งผ่านไป 17 ปี ก็มาเปลี่ยนแปลงในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นี่เอง

แต่แน่นอน นักวิเคราะห์ที่มองสถานการณ์เลวร้ายสุด ยังคาดการณ์ว่า รัฐบาลเพื่อไทยและนายเศรษฐา รวมทั้งตัวนายทักษิณที่กลับมารับโทษ ทั้งหมดนี้จะตกอยู่ในอุ้งมือของฝ่ายอนุรักษนิยม จะถูกกำหนดถูกบีบคั้น จนสุดท้ายก็ไปไม่รอด ทั้งเพื่อไทยและนายทักษิณ

นั่นคือมองด้วยสายตาที่ไม่เชื่อว่านายเศรษฐา เพื่อไทย และนายทักษิณจะประสบความสำเร็จ

พร้อมๆ กันยังมีสายตาของประชาชน ที่โกรธแค้นและต่อต้านเพื่อไทย ในการเดินการเมืองแบบย้อนกลับไปหาพรรคแบบเก่าๆ

เท่ากับว่า รัฐบาลเพื่อไทยที่มีนายเศรษฐาเป็นนายกฯ คงจะต้องเร่งทำงาน เร่งฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนกลับมายอมรับให้ได้

ทั้งการเดินหน้านโยบายสำคัญๆ ของเพื่อไทย หากทำให้เห็นได้สำเร็จ จะเป็นการพิสูจน์ข้อวิเคราะห์ที่มองด้านร้ายว่า คือการเข้าสู่กับดัก เข้าไปอยู่ในอุ้งมือของฝ่ายอำนาจเก่านั้น เป็นจริงหรือไม่

จากนี้ไปเมื่อรัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ สามารถทำงานตามนโยบายได้มากน้อยเพียงใด จะเป็นคำตอบต่อข้อสงสัย ต่อศรัทธาของชาวบ้านได้ดีที่สุด

หากมองไกลไปกว่านั้น เส้นทางที่เพื่อไทยเลือกร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษนิยม จะสอดคล้องกับโลกที่มีแต่ก้าวเดินไปข้างหน้าหรือไม่!?