หนุ่มสาวชาวจีน กับความฝันที่หายไป

มนุษย์ทุกคนย่อมมีความฝัน มีความคาดหวังต่อวิถีและรูปแบบของชีวิตในอนาคตของตนเอง บางคนฝันไกลและใหญ่โต ในขณะที่อีกหลายคนฝันถึงชีวิตในรูปแบบพื้นฐานเท่าที่กลไกของสังคมจะอำนวยให้

ในสหรัฐอเมริกา มีสิ่งที่เรียกว่า “อเมริกันดรีม” เช่นกันในจีนก็ย่อมมี “ไชนีสดรีม” รูปแบบและขนาดอาจแตกต่างกันออกไป แต่โดยพื้นฐานแล้วนั่นคือ “ความฝัน” เดียวกันนั่นเอง

ผู้สันทัดกรณีเกี่ยวกับจีน ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า นับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์เปิดรับเอาวิถีเศรษฐกิจแบบตะวันตกมาปรับใช้ เริ่มต้นเปิดประเทศ ไม่ปิดตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป “ความฝัน” ในรูปแบบของหนุ่มสาวชาวจีนก็คลี่คลายขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ

เคียงคู่ไปกับพลวัตทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้ขนาดของเศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกๆ 10 ปี มานับตั้งแต่ปี 1978

 

เชื่อกันว่า บรรยากาศที่ค่อนข้างเปิดและเป็นเสรีที่ส่งอิทธิพลต่อ “ไชนีสดรีม” มากที่สุด เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เจียง เจ๋อหมิน (1989-2002) และหู จิ่นเทา (2002-2012) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดในจีน

จีนในห้วงเวลานั้น แม้ยากจะเทียบเคียงได้กับสภาวะอิสระและเสรีตามนัยของโลกตะวันตก และยังคงอยู่ภายใต้ “การนำ” ที่กำหนดโดย “อุดมการณ์” ของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่บรรดาแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังเว้นช่องให้ว่างไว้ช่องหนึ่ง สำหรับให้สังคม, ปัญญาชน และสื่อมวลชน ได้เคลื่อนไหวในขอบเขตที่แม้จะจำกัดแต่ก็ไม่เคยปรากฏมาก่อนหน้า

ในช่วงเวลานี้นี่เองที่บรรดาบริษัทจากจีนได้รับการกระตุ้นส่งเสริมให้ก้าวออกสู่โลกกว้าง แข่งขันและเรียนรู้จากตะวันตก คนจีนได้รับโอกาสให้เดินทาง ทั้งเพื่อท่องเที่ยวและศึกษาในต่างแดน บ่มเพาะให้เกิดสังคมการบริโภคที่เต็มไปด้วยพลวัตและความทะยานอยาก

ที่สำคัญก็คือ ก่อกำเนิด “วัฒนธรรมดิจิทัล” ขึ้นตามมา

 

ภายใต้บริบทของสังคมจีนในเวลานั้น เยาวชนในเมืองสามารถทุ่มเท อุทิศตัวอย่างหนักให้กับการศึกษา เป้าหมายเพื่อการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยดีๆ ด้วยคาดหวังถึงการได้หน้าที่การงานเป็นชนชั้นมันสมองระดับหัวหน้างานในอนาคต เด็กๆ จากหัวเมืองก็อาจใช้วิธีเดียวกัน สำหรับไต่บันไดทางสังคมขึ้นสู่ชนชั้นกลางได้เช่นเดียวกัน

คนหนุ่มสาวในชนบท แม้จะมีทางเลือกน้อยกว่า แต่ก็ยังสามารถเดินทางไปสู่หัวเมืองใหญ่ ฝังตัวอยู่กับโรงงานการผลิตหรือกลายเป็นแรงงานภาคการก่อสร้างที่ค่าแรงไต่สูงขึ้นตามลำดับ เพื่อเก็บหอมรอมริบจนได้มากพอที่จะสร้างตัว สร้างครอบครัวใหม่ได้

เหล่านั้นคือพื้นฐานของไชนีสดรีม ที่ติดมากับตัวคนหนุ่มสาวชาวจีนซึ่งถือกำเนิดในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000

ปัญหาก็คือ นับตั้งแต่สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด และทรงอิทธิพลที่สุดในรอบหลายทศวรรษในปี 2012 ช่องว่างที่เคยเปิดไว้ให้อย่างจำกัดจำเขี่ย ค่อยๆ ถูกรูดม่านปิดลง

การควบคุมจากรัฐและพรรค ยิ่งมายิ่งแน่นหนา ถี่ยิบมากยิ่งขึ้น สังคมถูกลดทอน ความมีชีวิตชีวาลงเรื่อยๆ การเซ็นเซอร์ลุกลามออกไปไม่เพียงแต่สำหรับบุคคลทั่วไปในสื่อสังคมบนอินเตอร์เน็ต แต่ยังรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงบันเทิง

ซ้ำร้าย โควิด-19 ย่างกรายเข้ามาถึง ลงเอยด้วยการทรุดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แล้วประสบภาวะชะงักงันมานับแต่นั้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือ อัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 16-24 ปี ในเมืองใหญ่ต่างๆ พุ่งสูงถึงกว่า 21 เปอร์เซ็นต์ สูงจนทางการทนรับไม่ได้ ตัดสินใจเลิกเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ความเป็นจริงในโลกที่เป็นจริง ทำให้ความฝันของเยาวชนคนหนุ่มสาวในจีนเลือนหายไปมากขึ้นตามลำดับ แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วยังยืนยันว่ายังคงมีศรัทธาต่อพรรคและยังสนับสนุนสี จิ้นผิง อยู่ต่อไป

แต่ลึกลงไป สิ่งที่ฝังอยู่ในใจในความรู้สึกนึกคิดก็คือ ความทุกข์ วิตกกังวลต่ออนาคตของตนเองและพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย

 

สิ่งที่พวกเขาเผชิญในยามนี้ก็คือ ความจริงที่ว่า ทักษะที่เฝ้าเพียรพยายามศึกษามานานปี กลับไม่ใช่ทักษะที่นายจ้างต้องการ หน้าที่การงานหายากมากขึ้นตามลำดับ ถึงขนาดที่คนจบปริญญายังจำเป็นต้องทำงานคัดแยกขยะ

คนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จำต้องรับงานประจำสายการผลิตบุหรี่

งานราชการที่เคยอยู่ในระดับล่างสุดของเป้าหมายในชีวิต เพราะค่าตอบแทนน้อย แม้จะมีความมั่นคงสูง กลับเป็นที่ต้องการ และกลายเป็นเวทีการแข่งขันกันสูง ทั้งสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นและต่างถิ่น

ว่ากันว่าตำแหน่งครูในโรงเรียนหัวเมืองในเวลานี้ ต้องแก่งแย่งกันสูงมากถึงระดับ 1 ต่อ 70 คนเลยทีเดียว

ในเวลาเดียวกับที่ค่าจ้างยังคงถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำ ภาวะเงินเฟ้อและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในตัวเมืองสูงขึ้น ยิ่งทำให้ความฝันที่จะทำงาน มีบ้าน มีครอบครัว แทนที่จะเอื้อมถึง กลับถอยห่างออกไปมากขึ้นและมากขึ้นทุกที

คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งเลือกที่จะดิ้นรนออกไปแสวงหาหนทางในต่างแดน อีกไม่น้อยเลือกที่จะ “ยกธงขาว” ยุติสิ่งที่ใฝ่ฝัน ปล่อยชีวิตไปวันๆ

 

คนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 16-35 ปีในจีนในเวลานี้มีมากถึง 360 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ “ความฝันที่หายไป” ของผู้คนเหล่านี้ ส่งผลผูกพันต่ออนาคตของจีนอย่างมีนัยสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

ในทางหนึ่ง ปัญหานี้อาจก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการขึ้น เหมือนเมื่อครั้งที่คนหนุ่มสาวในจีนก่อให้เกิดเหตุการณ์ในจัตุรัสเทียนอันเหมินอันลือลั่น หรือแม้กระทั่งการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยๆ ประท้วงมาตรการโควิดและสี จิ้นผิง เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

แม้ว่าในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โอกาสที่จะเกิดเหตุทำนองเดียวกันนี้ขึ้นในจีนในอนาคตมีน้อยเต็มทีก็ตาม

ในอีกทางหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาว จะยิ่งทวีความรุนแรงให้กับสภาวะสังคมชราภาพของจีนมากยิ่งขึ้น เพราะความเชื่อมั่นต่ออนาคตที่หมดไป ส่งผลให้อัตราการแต่งงานในจีนลดฮวบ สถิติล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว มีคนจีนแต่งงานเพียง 6.8 ล้านคู่เท่านั้น ลดลงจากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาราว 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

สิ่งนี้จะส่งผลสูงยิ่งต่ออัตราการเกิดของประชากรจีนซึ่งลดลงถึงระดับต่ำสุดที่ 1.2 คนต่อคู่แต่งงาน ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2021 ซึ่งทำให้ภาวะสังคมสูงอายุยังคงรุนแรง และส่งผลกระทบต่อเนื่องทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

นี่ต่างหากที่เป็นประเด็นให้ทางการจีนต้องหาทางแก้ไขปัญหานี้ให้ได้โดยเร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด