เปิดโผ ครม.เศรษฐา 1 พรรคลุงตู่ได้ดีลพิเศษ ป.ป้อม เจอ ‘ลดขั้น’ ภูมิใจไทยต่อรองเพื่อไทยหนัก

ที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ลงมติแบบม้วนเดียวจบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง หนุน “เดอะนิด” เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย

ตามโรดแม็ปการจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค ที่มีพรรค พท. เป็นแกนนำ 314 เสียง โดยมีพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 71 ที่นั่ง, พรรคพลังประชารัฐ 40 ที่นั่ง, พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง, พรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง, พรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง, พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 ที่นั่ง, พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง, พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง, พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง, พรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง

ผ่านแถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาล ด้วยเงื่อนไข ไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล พร้อมกับเดินเกมกดดันแบ่งโควต้ารัฐมนตรี โดยพรรค พท. แกนนำ ซึ่งพรรค พท. คว้าไป 17 ที่นั่ง แบ่งเป็น รัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง รัฐมนตรีช่วยว่าการ 8 กระทรวง และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง

พรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง

พรรคพลังประชารัฐ (40 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง

พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง

พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง

พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง

ขณะที่พรรคอื่นๆ อีก 5 พรรค ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง, พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง, พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง, พรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง ได้รับโจทย์ให้รวมกันเพื่อแลกกับเก้าอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการ 1 ตำแหน่ง

 

ขณะที่การจัดโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา 1 นั้น หลังจากแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่างพรรค พท. ถือแต้มต่อสำคัญที่ได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีไว้ในมือแล้ว จึงจะเร่งปิดเกมจัดโผ ครม.ให้เร็วที่สุดเพื่อแก้เกมการต่อรองที่ดุเดือดของพรรคร่วมรัฐบาล

โดยเฉพาะกระทรวงระดับ “เกรดเอ” ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน ที่พรรคแกนนำอย่าง พรรค พท. ต้องเผชิญกับแรงกดดันต่อการแย่งชิงของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรค ภท. พรรค พปชร. และพรรครทสช. ที่ต่างหมายปองกระทรวงเกรดเอดังกล่าว

โดยกระทรวงคมนาคม ที่มาแรงคือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแกนนำพรรค พท. แต่พรรค ภท. ยังต่อรองขอนั่งกระทรวงคมนาคมด้วย โดยอาจจะส่ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค ภท. นั่งเก้าอี้ดังกล่าวด้วย

ตำแหน่งที่ชัดเจนคือ “เศรษฐา” นายกฯ จะควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยตัวเอง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรค พท. เพื่อหวังฟื้นความเชื่อมั่นและเรียกคืนต้นทุนทางการเมืองที่เสียไปกับการจัดตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้วแบบประเมินค่าไม่ได้

ส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรค พท. สลับจากโผเดิมที่มีรายชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ขณะที่ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค คาดว่าจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ภายหลังถูก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ใช้กำลังภายในเบียดนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแทน

ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วางตัวไว้ที่ชื่อ “เสี่ยหนิม” จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. บุตรชาย “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” อดีตหัวหน้าพรรค พท. สำหรับคีย์แมนคนสำคัญมือประสานจัดตั้งรัฐบาล อย่าง “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. ยังเต็งหนึ่งในเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ด้านมาดาม กทม.ของพรรค พท. อย่าง “เจ๊แจ๋น” พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านพื้นที่กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับ “สุทิน คลังแสง” อดีต ส.ส.มหาสารคาม หลายสมัย ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) คาดว่าจะนั่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จากเดิมที่จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางตัวให้ ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพปชร. เป็นรัฐมนตรีนั้น

แต่จากกรณีที่ ส.ว.สาย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไม่ยอมโหวตให้นายเศรษฐา เหมือนที่ตกลงกันไว้ จึงทำให้พรรค พท.ต้องพิจารณาว่าจะให้ตำแหน่งดังกล่าวกับพรรค พปชร.เหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา เพราะอาจยกตำแหน่งดังกล่าวให้พรรค ภท. เพื่อดึงกระทรวงมหาดไทยกลับมา

ส่วนอีกตำแหน่งที่พรรค พปชร.จะได้รับคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวางตัว พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรค พปชร. ดำรงตำแหน่ง โดยอาจจะควบเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี พร้อมกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย

สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) คาดว่าตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” หรือ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค รทสช. นั่งเก้าอี้

และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีชื่อของ “สุชาติ ชมกลิ่น” อยู่ในข่ายเข้ารับตำแหน่ง

 

ส่วนพรรค ภท. มีแนวที่จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ต้องดูการเจรจาระหว่างพรรค พท.กับพรรค พปชร. เกี่ยวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าจะจบลงอย่างไร

เพราะหากพรรค พท.ไม่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับพรรค พปชร. อาจยกกระทรวงดังกล่าวให้กับพรรค ภท. นอกจากนี้ ยังจะได้ดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยวางตัว “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นั่งสานงานต่อ

สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะเป็นโควต้าของพรรคประชาชาติ (ปช.) เต็งหนึ่งเดียวที่มีชื่อมาแบบไม่พลิกโผ คือ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ปช. มาดำรงตำแหน่ง

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) คาดว่าจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีชื่อของ “เดอะท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ชทพ. มานั่งเก้าอี้

ขณะที่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือเป็นหนึ่งในกระทรวงด้านความมั่นคง ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการชี้ทิศทางการเมืองของรัฐบาล มีชื่อ “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ถือเป็นโควต้าคนนอก ในสัดส่วนของพรรค พท.

โดย “บิ๊กเล็ก” ถือเป็นบิ๊กทหารที่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ พล.อ.ประยุทธ์เลือกมานั่งเป็นเลขาธิการ สมช. ในปี 2563 ดูความมั่นคงให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเดียวกับ “บิ๊กเล็ก” ยังเป็นเตรียมทหารรุ่นที่ 20 (ตท.20) เพื่อนร่วมรุ่น “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ซึ่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีเสียงร่ำลือว่าเป็นดีลพิเศษ

ครม.เศรษฐา 1 ด้วยต้นทุนแบบเทหมดหน้าตักในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พท. จึงต้องเดินหน้าลุยสร้างผลงานเพื่อให้เข้าตาแฟนคลับและโหวตเตอร์ของพรรค พท.ให้มากที่สุด

โดยมีผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นเดิมพัน